วรรณกรรมในรูปแบบเกมกระดาน
เมื่อวรรณกรรมกลายเป็นเกม จากแผ่นกระดาษสู่แผ่นกระดาน

Board game “The Hobbit” | © Kosmos Verlag
Board game “The Hobbit” | Photo (detail): © Kosmos Verlag

ในปัจจุบันมีเกมกระดานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ วางขายตามร้านหนังสือ บริษัทผลิตเกมต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากงานวรรณกรรม จึงได้สรรสร้างเกมขึ้นเพื่อเอาใจแฟนๆ ของหนังสือแต่ละเล่ม ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เป็นผู้เขียนและดำเนินเรื่องราวของตนเอง

ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างเกมและวรรณกรรมยังปรากฏให้เราเห็นไม่มากนัก ถึงแม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง เช่น สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้คนในยามว่าง ตลอดจนพาผู้เล่นและผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้บรรดาบริษัทผลิตเกมได้หันมาสนใจวรรณกรรมในรูปแบบของเกมกันมากขึ้น จึงเริ่มผลิตและจัดจำหน่ายเกมกระดานที่อิงจากงานวรรณกรรม มีการนำเอาตัวละครต่าง ๆ จากวรรณกรรมมาสร้างเป็นตัวละครในเกมกระดาน เช่น ฟิเลียส ฟอกซ์ (80 วันรอบโลก) บาทหลวงวิลเลียม (สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ) รวมถึงตัวละครโด่งดังอย่างแดรกคูลา  ในเกมกระดานของวรรณกรรมแฟนตาซีคลาสสิกอย่างเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นเหล่าฮอบบิทที่ต้องแบกรับภารกิจต่อสู้กับปีศาจเซารอนและทำลายแหวนมหันตภัย ซึ่งเนื้อหาของตัวเกมอิงมาจากคำถามสำคัญในหนังสือของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่ว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว คณะเดินทางนี้จะทำภารกิจสำเร็จหรือไม่” “จิตวิญญาณแห่งมิตรภาพ ความเป็นทีม และการร่วมมือร่วมใจกันในวรรณกรรมไตรภาคนี้ได้สะท้อนอยู่ในเกมกระดานที่ว่า เพราะหากผู้เล่นทั้งหมดไม่ชนะด้วยกันก็จะต้องเผชิญความพ่ายแพ้ด้วยกันทั้งทีม  เมื่อกติกาการเล่นแบบร่วมมือร่วมใจกันนี้ผนวกเข้ากับเนื้อเรื่องของวรรณกรรมที่น่าติดตาม เกมที่ผลิตออกมาจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก แม้แต่ในครอบครัว” บาร์บารา ชมิตทส์ บรรณาธิการเกมของสำนักพิมพ์คอสมอส เมืองชตุทท์การ์ทกล่าว  อีกตัวอย่างหนึ่งคือเกม The Pillars of the Earth ซึ่งเป็นการนำเอาแนวคิดของหนังสือวรรณกรรมของเคน ฟอลเลตต์ มาดัดแปลงเป็นเกมกระดานชวนเพลิดเพลิน เนื้อหาของเกมเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์วิหารขนาดใหญ่ในเมืองสมมตินามว่า คิงสบริดจ์ โดยผู้เล่นจะต้องเผชิญหน้ากับตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ จากนิยายเรื่องนี้ “พวกเขาจะได้สัมผัสมุมหนึ่งของชีวิตในสมัยยุคกลาง” บาร์บาร่า ชมิตทส์กล่าว

เมื่อเกมสนุกผนวกกับกลยุทธ์ตลาด

ทั้งเกมกระดานเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ซึ่งได้รับการโหวตให้เป็นเกมแห่งปีและได้รับรางวัลพิเศษ “วรรณกรรมในรูปแบบเกม” จากคณะกรรมการ รวมถึงเกม The Pillars of the Earth ซึ่งได้รับรางวัลเกมเยอรมันดีเด่นนั้น ล้วนเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของสำนักพิมพ์คอสมอสซึ่งนอกจากจะผลิตหนังสือโดยปกติแล้ว ยังมีแผนที่จะจัดทำเกมต่างๆ ออกจำหน่ายอีกด้วย  ในมุมมองของสำนักพิมพ์ เหตุผลที่พวกเขาสนใจนำหนังสือมาดัดแปลงเป็นเกมมีอยู่ว่า หากผู้ซื้อรู้จักวรรณกรรมดีอยู่แล้ว พวกเขาจะสามารถเห็นภาพและเข้าใจเกมที่สร้างจากวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ ได้ดี  ด้วยเหตุนี้เอง เกมที่ผลิตออกมาย่อมดึงดูดความสนใจของนักอ่านเป็นอย่างมาก “ถ้าหากตรงกับที่คาดหวังไว้ พวกเขาก็จะซื้อเกมที่สร้างจากหนังสือเล่มโปรดติดมือกลับไป และสามารถนำไปเล่นกับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย” บาร์บาร่า ชมิตทส์เอ่ยถึงข้อดีของเกมที่อิงจากวรรณกรรม “สำหรับผู้อ่านแล้ว การได้สวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ในหนังสือเล่มโปรดย่อมเป็นเรื่องสนุก” นอกเหนือจากนี้ เกมอิงวรรณกรรมจะเปิดตลาดใหม่ให้กับธุรกิจหนังสือ เพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกมที่สร้างขึ้นควบคู่ไปกับหนังสือต้นฉบับนั้นจะทำให้ทางสำนักพิมพ์ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่เคยสนใจซื้อสื่อจำพวกเกมมาก่อน ในการนำหนังสือมาสร้างเป็นเกม ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาลักษณะเฉพาะของสื่อทั้งสองประเภทและคำนึงถึงความคาดหวังของผู้เล่น   ทั้งนี้ แก่นและประเด็นหลักของเกมจะสามารถอิงจากหนังสือต้นฉบับได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม การดำเนินเรื่องในเกมจะแตกต่างจากในหนังสือ เนื่องจากโดยปกติหนังสือมักมีตอนจบปลายเปิดหรือคลุมเครือ ในขณะที่เกมจะต้องจบลงด้วยชัยชนะหรือความพ่ายแพ้เท่านั้น เกมที่ประสบความสำเร็จคือเกมที่สามารถรักษาอารมณ์ของหนังสือต้นฉบับ และในขณะเดียวกันสามารถเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมีอิสระที่จะตีความหรือพัฒนาเรื่องราวต่อในแบบของเขาเองตามกฎที่เกมกำหนด ปัจจัยดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดเกมแนวที่ผู้เล่นดำเนินเรื่องด้วยตนเอง ในขณะที่หนังสือจะทำหน้าที่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่กำหนดสิ่งต่างๆ ให้ผู้เล่นเท่านั้น

จากแผ่นกระดานสู่หน้าจอ

เนื่องจากเกมในรูปแบบดิจิตอลสามารถใช้เป็นสื่อในการเล่าเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนทำให้ผู้เล่นสามารถบังคับควบคุมตัวละครได้อย่างอิสระ จึงเริ่มมีการดัดแปลงงานวรรณกรรมเป็นเกมคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น เซารอน เจ้าแห่งความมืด จากเรื่อง
เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์สามารถต่อสู้กับผู้เล่นผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ หรือเกม
แอคชั่นผจญภัย The Last of Us  ซึ่งมีฉากวันสิ้นโลกที่อิงมาจากนิยายเกี่ยวกับวันอวสานโลกของคอร์แม็ค แม็คคาร์ธี เรื่อง The Road หรือเกมยิงมุมมองบุคคลที่สาม Spec Ops: The Line ซึ่งนำเนื้อเรื่องมาจากหนังสือของโจเซฟ คอนราด เรื่อง Heart of Darkness  การดัดแปลงวรรณกรรมเป็นเกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นขั้นตอนการพัฒนาที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเกมดิจิตอลเหมาะสำหรับใช้บอกเล่าเรื่องราว การนำเอาวรรณกรรมมาประยุกต์เป็นเกมคอมพิวเตอร์จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการพาผู้เล่นเข้าสู่โลกคู่ขนานแห่งจินตนาการ ซึ่งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงการร่วมเดินทางกับกลุ่มเพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันรอบเกมกระดานเท่านั้น แต่เป็นการผจญภัยไปพร้อมๆ กับผู้เล่นทุกคนในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต