สำนักพิมพ์อิสระ
ความหลากหลายของตลาดหนังสือ

เทศกาลหนังสือเมืองแฟรงเฟิร์ต 2013 | © เทศกาลหนังสือเมืองแฟรงเฟิร์ต นูเรแตง ซีเซก
เทศกาลหนังสือเมืองแฟรงเฟิร์ต 2013 | รูปภาพ (รายละเอียด): © เทศกาลหนังสือเมืองแฟรงเฟิร์ต นูเรแตง ซีเซก

พวกเขาค้นหานักเขียนที่มีพรสวรรค์ ตีพิมพ์หนังสือชุดหรือบทกวีที่แม้จะมีจำนวนครั้งละไม่มาก หากได้รับการออกแบบรูปเล่มอย่างประณีต สำนักพิมพ์อิสระในเยอรมนีมีส่วนช่วยสร้างความหลากหลายให้แก่ตลาดหนังสือ แต่ทว่าสำนักพิมพ์อิสระก็ยังต้องต่อสู้กับการแปลงเป็นดิจิตอล (Digitalization) ไม่ต่างจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ชเตฟาน ไวด์เลอ ประธานมูลนิธิควร์ท โวล์ฟฟ์กล่าว

ในสายตาของกลุ่มผู้อ่านชาวเยอรมัน สำนักพิมพ์อิสระเสมือนยืนอยู่ในเงามืด หากเปรียบเทียบกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เช่น สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ (Penguin Random House) แล้ว ดูเหมือนว่า สำนักพิมพ์อิสระเป็นเพียงเรือกู้ชีพล่องลอยอยู่ท่ามกลางกระแสหนังสือขายดี ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือนักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเฉพาะที่ไม่ว่าจะถูกละเลย ปรับแต่งใหม่ หรือแปลกแหวกแนวก็ตาม  อย่างไรก็ดี สำนักพิมพ์อิสระยังมีโอกาสแสดงคุณประโยชน์ของตนที่มีต่อวัฒนธรรมหนังสือ เยอรมันผ่านกิจกรรมอย่างงานสัปดาห์หนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ต

ชเตฟาน ไวด์เลอ ประธานมูลนิธิควร์ท โวล์ฟฟ์คาดว่า มีสำนักพิมพ์อิสระอยู่ราว 1,000 แห่งทั่วทั้งประเทศเยอรมนี มูลนิธิควร์ท โวล์ฟฟ์มีพันธกิจมุ่งสนับสนุนส่งเสริมความหลากหลายในวงการสำนักพิมพ์และวงการวรรณกรรม ในจำนวนสำนักพิมพ์กว่า 1,000 แห่ง มีไม่น้อยที่ตีพิมพ์หนังสือไม่สม่ำเสมอหรือเคยตีพิมพ์หนังสือเพียงหนึ่งเล่มเท่านั้น สำนักพิมพ์อิสระอีกราว 120 แห่งได้พัฒนาโครงสร้างอย่างจริงจัง มีการตีพิมพ์หนังสือสม่ำเสมอ เนื้อหามีความหลากหลายตั้งแต่วรรณคดีไปจนถึงตำรา

ตีพิมพ์น้อย แต่มากคุณภาพ

จุดเด่นของสำนักพิมพ์อิสระ คือ การที่สำนักพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือจำนวนไม่มาก ไวด์เลอกล่าวว่า “สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ต้องการหนังสือที่สามารถขายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ยูโรต่อเดือน แต่หนังสือส่วนใหญ่ขายไม่ได้มากเท่านั้น” สำนักพิมพ์อิสระหลายแห่งยินดีตีพิมพ์หนังสือจำนวนตั้งแต่ 500 เล่มขึ้นไป ซึ่งช่วยให้บทกวีหรือผลงานของนักเขียนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมีโอกาสได้ตีพิมพ์เผยแพร่ ไวด์เลอเองประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อครั้งที่เขานำนวนิยายเรื่อง Die Manon Lescaut von Turdej ของนักประพันธ์ชาวรัสเซียที่ชื่อ Wsewolod Petrow มาตีพิมพ์  ในตอนแรกนวนิยายของนักประพันธ์ชาวรัสเซียที่แทบจะถูกลืมคนนี้ได้รับการตีพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม และขายได้ถึง 10,000 เล่มในเวลาต่อมา กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงว่า สำนักพิมพ์อิสระมีส่วนเติมเต็มตลาดหนังสือได้ดีเพียงใด  “มีคนอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังเชื่อมั่นในความสามารถของนักเขียนที่ไม่โด่ง ดังหรือประสบความสำเร็จ และคอยหยิบยื่นโอกาสให้แก่นักเขียนเหล่านั้น” ไวด์เลอกล่าว

ปัญหาสำคัญด้านการตลาดของสำนักพิมพ์อิสระ คือ การวางแผงในร้านหนังสือ ร้านหนังสือในเครือใหญ่ๆ มักไม่ยอมวางขายหนังสือจากสำนักพิมพ์อิสระ ไวด์เลอมองว่า ร้านหนังสือขนาดใหญ่ในปัจจุบันขาดความหลากหลายที่มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก “ร้านหนังสือส่วนใหญ่หาทางแก้โดยนำวรรณกรรมสมัยนิยมภาษาอังกฤษที่มียอดขาย จำนวนมากมาวางขายแทน” 

เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของความจริงในวงการวรรณกรรม ไวด์เลอเชื่อว่า ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยรู้สึกชื่นชมร้านหนังสือที่มีความหลากหลายมาก ถึงแม้ว่าในตอนนี้แทบจะไม่มีสำนักพิมพ์อิสระเกิดใหม่เลย แต่ก็ถือได้ว่าจำนวนสำนักพิมพ์อิสระในเยอรมนียังคงรักษาระดับไว้ได้ดีมาโดยตลอด

การรวมกลุ่มสำนักพิมพ์อิสระ

ความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงคุณภาพของเนื้อหาในหนังสือ เท่านั้น หนังสือที่มาจากการตีพิมพ์ต่อเนื่องส่วนมากเย็บเล่มไม่เรียบร้อย การพิสูจน์อักษรก็ไม่ละเอียดถี่ถ้วน “เห็นแบบนี้ผมก็หมดอารมณ์อ่านแล้วครับ” ไวด์เลอกล่าว  หนังสือของสำนักพิมพ์อิสระที่แม้จะตีพิมพ์ครั้งละไม่มาก แต่ใส่ใจทุกรายละเอียดสามารถทำคะแนนส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการสร้างเว็บไซต์ใหม่ชื่อ Indiebook.de เพื่อใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์หนังสือให้แก่ผู้อ่านในอนาคต สำนักพิมพ์กว่า 60 แห่งทั้งจากเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ จะได้แสดงหนังสือของตนบนเว็บไซต์เร็วๆ นี้  สำนักพิมพ์จำเป็นต้องรวมกลุ่มกัน ไวด์เลอกล่าว “เพราะร้อยละ 60-70 ของการซื้อหนังสือในร้านเป็นการซื้อแบบไม่มีการวางแผนมาก่อน” เพราะฉะนั้น หนังสือของนักเขียนคนใดไม่ได้วางอยู่บนหิ้งโชว์ก็อาจขายได้ไม่ดีนัก แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่อาจสวนกระแสโลกได้ ในยุคที่ผู้คนเติบโตมาพร้อมกับระบบดิจิตอล หนังสือที่เคยเป็นสื่อสำคัญจึงถูกแทนที่ด้วยอินเตอร์เน็ต ไวด์เลอกล่าวว่า “สมัยก่อนเวลาที่ผมอยากรู้เรื่องอะไร ผมก็จะค้นจากหนังสือ ช่วงเวลานั้นมันผ่านไปแล้ว”

จากสื่อสำคัญไปสู่ของสะสม

การจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น วันหนังสืออินดี้ ช่วยดึงความสนใจกลับมาที่ความหลากหลายของวัฒนธรรมสำนักพิมพ์เยอรมัน กลุ่มนักอ่านจะได้รับการเชื้อเชิญให้ซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์อิสระและโพสต์ ข้อความพร้อมแฮชแท็ก #Indiebookday ลงในโซเชียลมีเดีย การจัดงานวันหนังสืออินดี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกิจกรรมงานวันร้านแผ่นเสียง (Record Store Day) ซึ่งมีจุดประสงค์คล้ายกัน คือ เพื่อสนับสนุนผลงานของศิลปินอินดี้ในตลาดดนตรีในเวลาหลายปีที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด การจัดกิจกรรมเช่นนี้ในหมู่สำนักพิมพ์อิสระก็ช่วยให้หนังสือที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสื่อสำคัญเปลี่ยนสถานะมาเป็นของรักของนักสะสม ซึ่งชเตฟาน ไวด์เลอรู้สึกพอใจมาก “สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องการหากำไรให้ได้รวดเร็ว และมุ่งแต่จะสร้างตลาดในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น นักเขียนชาวยุโรปจำนวนมากจึงถูกละเลย” ไวด์เลอเชื่อว่า หากปราศจากสำนักพิมพ์อิสระแล้ว ตลาดหนังสือเยอรมันคงจะแห้งแล้งกว่านี้มากนัก