แอพพลิเคชั่นในห้องสมุด
โลกหนังสือในมือ(ถือ)เรา

แอพพลิเคชั่น Oriental Books
แอพพลิเคชั่น Oriental Books © หอสมุดประจำเมืองบาเยิร์น

ในประเทศเยอรมนี แอพพลิเคชั่นห้องสมุดที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีเพียงเพื่อสืบค้นรายชื่อหนังสืออีกต่อไป เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและเผยแพร่แอพพลิเคชั่นพร้อมลูกเล่นใหม่ๆ ที่ทันสมัยกว่า

ในปัจจุบัน เราสามารถพกห้องสมุดทั้งห้องติดตัวไปไหนมาไหนก็ได้ เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเราก็จะสามารถยืมหนังสือ เข้าถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ของรัฐบาวาเรีย หรือแม้กระทั่งค้นคว้าข้อมูลจากคลังหนังสือพิมพ์ในหัวข้อสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ได้สรรสร้างและพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่เรียกสั้นๆ ว่า “แอพ” โดยแต่ละแห่งได้คิดค้นแอพที่มีลูกเล่นมากมายแตกต่างกันออกไป พร้อมๆ กับที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีของวงการนี้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

แอพแค็ตตาล็อก แอพคลังข้อมูล และแอพความจริงผสานเสมือน

ยูเลีย แบร์กมันน์ ผู้อบรมและให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาสารสนเทศ มีความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนระบบดิจิตอลของห้องสมุดได้อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นห้องสมุดโดยหลักการแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แอพแค็ตตาล็อก ที่สามารถใช้เพื่อสืบค้นรายชื่อหนังสือของห้องสมุดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ประเภทที่สองเป็นแอพที่เรียกกันว่า แอพคลังข้อมูล ซึ่งสามารถใช้เข้าถึงคลังข้อมูลที่มีคุณค่า อาทิ ต้นฉบับเอกสารสำคัญต่างๆ  และประเภทสุดท้ายคือ แอพความจริงผสานเสมือน หมายถึงแอพพลิเคชั่นที่สามารถผสมผสานข้อมูลดิจิตอลเข้ากับข้อมูลที่จับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น การดึงข้อมูลต่างๆ จากระบบไปแสดงบนภาพในกล้องโทรศัพท์มือถือ

ยูเลียอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมองในเชิงเทคนิค ยังสามารถแบ่งแอพพลิเคชั่นออกเป็นประเภทที่ใช้บนเว็บไซต์และประเภทแอพพลิเคชั่นอิสระที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง แอพพลิเคชั่นประเภทที่สองนี้สามารถติดตั้งในเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยอาจต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตหรือไม่ก็ได้ แต่แอพประเภทนี้จะดึงเอาฟังก์ชั่นพื้นฐานต่างๆ ของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาร่วมใช้งานด้วย เช่น เข็มทิศ ระบบนำทางจีพีเอส กล้อง หรือไมโครโฟน แอพห้องสมุดเกือบทุกแอพมีให้บริการแก่ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการที่เป็นผู้นำตลาดทั้งสองค่าย ได้แก่ iOS ของ Apple และระบบแอนดรอยด์ของ Google

แอพพลิเคชั่นประเภทแค็ตตาล็อกจัดว่าเป็นแอพที่มีลูกเล่นน้อยที่สุด “โดยมากมักจะให้บริการแค่ในรูปแบบเว็บไซต์ที่ออกแบบและพัฒนาให้เข้ากับจอโทรศัพท์มือถือ” ยูเลีย แบร์กมันน์อธิบาย ห้องสมุดเฉพาะด้านและห้องสมุดสาธารณะจำนวนมากต่างนำเอาระบบพื้นฐานดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นอย่างพอดีพอเหมาะมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าแอพประเภทนี้มักจะมีหน้าตาแบบเดียวกัน ยูเลียกล่าวเสริมว่า มีเพียงไม่กี่แอพเท่านั้นที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับแอพแค็ตตาล็อก ดังเช่นแอพของห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์กซึ่งจัดว่าเป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน กล่าวคือ แอพ NYPL Mobile สามารถใช้เป็นที่สแกนบาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบว่าหนังสือตามร้านมีบริการในห้อง สมุดแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถให้บริการยืมข้อมูลดิจิตอล แจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อครบกำหนดคืนหนังสือ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและปรับแต่งบัญชีผู้ใช้ของตนเอง

เมื่อหนังสือเลื่องชื่อกลายเป็นแอพ

แม้ว่าการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นจะยังไม่ได้รับอนุมัติจากทางการในประเทศเยอรมนี แต่บรรดาห้องสมุดเยอรมันได้นำเอาลูกเล่นอื่นๆ มาใส่ไว้ในแอพของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังที่ห้องสมุดประจำรัฐแซกโซนี่ หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยเดรสเด็นได้ให้บริการสแกนบาร์โค้ดผ่านมือถือ หรือแอพ EconBiz ของหอสมุดกลางสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศเยอรมนีในเมืองฮัมบวร์กและคีลซึ่ง นอกจากจะมีฟังก์ชั่นสืบค้นต่างๆ แล้ว ยังให้บริการถาม-ตอบแบบออนไลน์กับทางบรรณารักษ์อีกด้วย

ในปี ค.ศ. 2010 เมื่อความนิยมและความสนใจที่มีต่อแอพพลิเคชั่นบนมือถือเริ่มเป็นที่ประจักษ์นั้น ทางห้องสมุดประจำรัฐบาวาเรียได้เริ่มต้นพัฒนาแอพพลิเคชั่นแรกของตนเองชื่อว่า Famous Books ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งเก็บทรัพยากรอันมีค่าในรูปดิจิตอล ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่งานเขียนชิ้นสำคัญของเยอรมนี Nibelungenlied ซึ่งมียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 80,000 ครั้ง “สำหรับแอพที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมแล้ว” เคลาส์ เซโนวา ผู้แทนผู้อำนวยการของห้องสมุดประจำรัฐบาวาเรียเน้นย้ำ “ถือว่าเป็นยอดที่สูงทีเดียว”  อย่างไรก็ดี แอพพลิเคชั่นในลักษณะเดียวกันที่ชื่อ Oriental Books ซึ่งนำเสนอหนังสือหายากอย่างคัมภีร์อัลกุรอานฉบับลายมือเขียนนั้นกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ บทเรียนที่ผู้ให้บริการได้รับก็คือ “เราต้องพัฒนาแอพจากความสนใจของผู้ใช้จริงๆ” เคลาส์กล่าว

ทางด้านมูลนิธิวัฒนธรรมปรัสเซีย ณ กรุงเบอร์ลินก็ได้เผยแพร่แอพที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมเช่นกัน ในแอพจะมีคำอธิบายวัตถุทรงค่าต่างๆ 24 ชิ้นพร้อมภาพและเสียงประกอบ ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับลายมือเขียนของนักประพันธ์ไฮน์ริช ฟอน ไคลสท์ (Heinrich von Kleist) เรื่อง Der zerbrochene Krug หรือหนังสือหมากรุกเล่มแรกของเยอรมนีที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1616

ตามรอยอดีตกษัตริย์ด้วยระบบดิจิตอล

แอพประเภทที่สามารถผสมผสานข้อมูลดิจิตอลกับสิ่งที่ปรากฏในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ย่อมมีลูกเล่นมากกว่าการนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟิกสวยงามตระการตา โดยห้องสมุดรัฐบาวาเรียก็ถือว่าเป็นผู้นำในด้านนี้อีกเช่นกัน เคลาส์กล่าวว่า “พัฒนาการของลูกเล่นที่ตอบโต้กับผู้ใช้งานในตอนนี้ใกล้จะถึงขีดสูงสุดแล้ว” ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น “ตามรอยลุดวิกที่ 2 - กษัตริย์แห่งนิทาน” (Ludwig II – Auf den Spuren des Märchenkönigs) เป็นแอพประเภทที่เรียกกันว่าแอพอิงสถานที่ โดยสามารถเรียกแสดงข้อมูลสถานที่ถึง 140 แห่งในรัฐบาวาเรียและทวีปยุโรปที่เกี่ยวกับพระเจ้าลุดวิกที่ 2  ซึ่งข้อมูลเกือบทั้งหมดจะปรากฏแบบเรียลไทม์บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้ทันที หรือแอพพลิเคชั่น “บาวาเรียในแผนที่ประวัติศาสตร์” (Bayern in historischen Karten) ที่ใช้เครื่องมือระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าจุดที่ยืนอยู่ ณ ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไรบนแผนที่กว่า 250 ฉบับที่จัดทำขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16-19 หรือแอพพลิเคชั่น bavarikon3D ที่ใช้แสดงมรดกทางศิลปะของหน่วยงานวัฒนธรรมบาวาเรียในรูปแบบสามมิติ สามารถซูมเข้าออก พลิก หรือปรับมุมมองตัววัตถุได้

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่น Weltbrand 1914 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยและรัฐฮัมบวร์กก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ผู้ใช้สามารถศึกษาค้นคว้าสาเหตุรวมถึงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านข่าวต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในเมืองฮัมบูกร์สมัยนั้นอย่างละเอียดทุกพาดหัวข่าว  ยูเลีย แบร์กมันน์มั่นใจว่า แอพพลิเคชั่นประเภทความจริงผสานเสมือนนี้จะนำมาซึ่งศักยภาพอันยิ่งใหญ่ให้กับห้องสมุดต่างๆ ในอนาคต ถึงแม้ว่าแอพต่างๆ เหล่านี้ที่ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทรับจ้างภายนอกจะไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรได้  เคลาส์ เซโนวากล่าวย้ำเช่นกันว่า “แอพเหล่านี้จะทำให้ห้องสมุดต่างๆ มีจุดยืนในมิติใหม่ มีภาพลักษณ์เป็นองค์กรให้ความรู้ที่ทันต่อยุคสมัย”