ห้องสมุด สื่อกลางในการแบ่งปัน
ห้องสมุดไม่เคยล้าสมัย

German National Library in Frankfurt am Main – also a part of the share economy

ไม่ว่าเมื่อไหร่ ในห้องสมุดจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และสิ่งของกันโดยตรงเสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Shareconomy แม้ว่าหลายคนจะไม่รู้ตัวก็ตาม แต่กระแส Sharing ทำให้ห้องสมุดพบกับความท้าทายใหม่

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ รถยนต์ หรืออาหาร การแบ่งปันคือการได้รับสิ่งใหม่ กระแสเศรษฐกิจแบ่งปันหรือ Shareconomy กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ผู้คนต่างแลกเปลี่ยนและแบ่งปันสิ่งของ ห้องพัก พื้นที่ รวมถึงข้อมูลและความรู้ซึ่งกันและกัน ห้องสมุดถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจแบ่งปันมานานแล้ว ทว่าบทบาทสำคัญของห้องสมุดมักไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าใดนัก
 
 “ห้องสมุดถูกมองว่าเป็นของธรรมดาที่มีอยู่แล้ว” อันเดรีย ครีก หัวหน้าห้องสมุดประจำเมืองคาร์ลสรูเฮอกล่าว “นั่นคือแนวคิดที่เรายึดถือและไม่ใช่เรื่องล้าสมัยอย่างแน่นอน บางทีเราอาจจะคิดคำเฉพาะใหม่ขึ้นมาเพื่ออธิบายแนวคิดนี้ให้ชัดเจนขึ้น”
 
ห้องสมุดคือจุดนัดพบ

ห้องสมุดเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงสื่อศิลปวัฒนธรรมและแหล่งข้อมูลในราคาย่อมเยา ห้องสมุดเป็นองค์กรสาธารณะที่ทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางในการแบ่งปันให้แก่ผู้ใช้ และทำให้การแบ่งปันเป็นระบบ  ห้องสมุดมีบริการหนังสือ ดีวีดี หรือซีดีโดยไม่คิดค่าบริการ นอกจากนั้นบริการยืมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถทำให้ผู้ใช้เข้าถึงสื่อมากมายได้โดยไม่จำกัดเรื่องเวลาและสถานที่อีกด้วย ห้องสมุดเป็นสถานที่แห่งที่สามนอกเหนือจากที่ทำงานและบ้านที่ผู้คนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น เรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ห้องสมุดสาธารณะขนาดใหญ่หลายแห่งใช้การจัดการในรูปแบบเช่น Co-Working เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายใหม่และจัดหาบริการที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนี้
 
การแบ่งปันหลากหลายรูปแบบ

ในเยอรมนี ห้องสมุดมีบริการด้านการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนหลากหลายรูปแบบมาก เช่น Shareconomy ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงบริการสตรีมสื่อ (Streaming) โดยห้องสมุดได้รับลิขสิทธิ์ให้เผยแพร่ดนตรีและภาพยนตร์ รวมทั้งลงทุนให้กับบริการเข้าถึงข้อมูลแบบ Open-Access เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงนิตยสารและฐานข้อมูลออนไลน์ได้ แต่แนวคิดเรื่องการแบ่งปันไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนส่วนตัวระหว่างผู้ใช้ด้วยกันอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดสาธารณะในเมืองมิวนิคที่มีบริการ Sprachtandem (คู่หูฝึกภาษา) ช่วยให้คู่สนทนาสามารถเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของกันและกันได้อย่างลึกซึ้งขึ้น หรือในการเวิร์คช็อป Makerspace ของห้องสมุดสาธารณะในเมืองโคโลญจน์ ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้จากกันและกันว่าจะสร้างหุ่นยนต์หรือบ้านนกได้อย่างไร เป็นต้น
 
ในห้องสมุดสาธารณะเมืองชตุทท์การ์ทและเบรเมน ลูกค้าสามารถยืมงานศิลปะกลับบ้านได้ฟรี ส่วน “ห้องสมุดมีชีวิต” อัม กาชไตก์ในเมืองมิวนิค ยังมีบริการกระทั่ง “ให้ยืม” คนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และให้สอบถามเกี่ยวกับอาชีพแปลกๆ หรือประเทศบ้านเกิดได้ เป็นต้น
 
บริการที่ผู้คนใช้กันมากเป็นพิเศษคือบริการแลกเปลี่ยนหนังสือมือสองซึ่งเคยเป็นสมบัติส่วนตัว ในตู้หนังสือ ตู้โทรศัพท์ที่นำมาปรับปรุงใหม่ และตู้โชว์เล็กในพื้นที่สาธารณะ  บ่อยครั้งที่ประชาชนเองเป็นผู้ริเริ่มโครงการให้เจ้าของหนังสือได้แลกเปลี่ยนหนังสือกันโดยไม่ต้องมีบัตรห้องสมุด ห้องสมุดยังเป็นที่พบปะทั้งในโลกเสมือนและโลกแห่งความจริงของกลุ่มนักอ่านและชมรมหนังสือ ตัวอย่างเช่น ในไลพ์ซิก  คณะกรรมการตัดสินวรรณกรรมเยาวชนซึ่งประกอบด้วยเยาวชน 20 คนจะเป็นผู้นำเสนอหนังสือคัดเลือกต่อเพื่อนเยาวชนในห้องสมุดด้วยตนเอง
 
แข่งขันด้วยบริการแห่งอนาคต


แม้ห้องสมุดจะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบ่งปันหรือ Shareconomy มานานแล้ว แต่กลับต้องแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ นอกห้องสมุดด้วย บริการ เช่น Free Little Library, Bookelo และบริการอื่นๆ ในโลกดิจิตอลเพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันหนังสือเช่นเดียวกัน แต่ห้องสมุดในฐานะที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็มีข้อได้เปรียบที่โดดเด่นกว่าบริการเน้นผลกำไรอื่นๆ และเนื่องจากห้องสมุดเฝ้าสังเกตการณ์วงการเศรษฐกิจแบ่งปันมาโดยตลอดทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และสามารถปรับปรุงบริการตามแบบเดิมของตนให้ตอบรับกับกระแสได้ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบใหม่ พื้นที่ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และคณะที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ  ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ห้องสมุดในการแข่งขันกับธุรกิจแลกเปลี่ยนหนังสือออนไลน์ได้เป็นอย่างดี