IKAT/ECUT
อุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อความยั่งยืน

งานสัมมนาอภิปรายแบบซิมโพเซียม “กรีน ไซเคิล” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 12 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันแสวงหาแนวคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสิ่งทออย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งในงานนี้ยังเป็นการเปิดโครงการ “IKAT/eCUT” ซึ่งสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยมุ่งนำเสนอหัวข้อ “สิ่งทอ” ให้เป็นสัญลักษณ์ของปัญหาระดับโลกและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมๆ กัน นีนา บริงก์ ผู้ดำเนินรายการจากสถานีวิทยุ Deutschlandradio Kultur ได้พูดคุยกับ ดร. มาร์ลา ชตูเคินแบร์ก ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยในหัวข้อดังกล่าว
 

เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ ทำให้เราต้องหันมาพลิกดูป้ายที่ติดอยู่บนเสื้อของเรากันว่า “เสื้อผ้าที่เราซื้อผลิตที่ไหน” และคำถามที่กลายเป็นข้อถกเถียงมากขึ้นก็คือ “เราจะผลิตสิ่งทออย่างยั่งยืนได้อย่างไร” หรือ “แนวทางใดที่เราจะนำมาใช้พัฒนาสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้บ้าง” คุณคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมงานได้อะไรกลับไปบ้างจากโครงการ IKAT/eCUT ในครั้งนี้

Marla Stukenberg Marla Stukenberg | Foto: Goethe-Institut Bangkok โครงการนี้มีภารกิจในหลากหลายแง่มุมที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งทอ เนื่องจากเรากำลังอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ที่สิ่งทอมีบทบาทสำคัญมากๆ ในหลายภาคส่วน
 
เนื่องจากภูมิภาคของเราประกอบด้วยประเทศบางส่วนที่มีอุตสาหกรรมสิ่งทอในระดับมหัพภาพ อีกทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ จาการ์ตา หรือฮานอยก็ยังเติบโตไปอย่างรวดเร็วมาก ปัจจัยเหล่านี้จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นโครงการของเรา เรามุ่งเน้นการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับหัวข้ออุตสาหกรรมสิ่งทอ อาทิ บทบาทของสิ่งทอในงานศิลปหัตถกรรมหรือในงานออกแบบ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการที่เราต้องการนำเสนอก็คือเรื่องความยั่งยืน ด้วยการตั้งคำถามเช่น เราจะผลิตสิ่งทออย่างไรในอนาคตให้ประหยัดทรัพยากรยิ่งขึ้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ และเทคโนโลยีแห่งอนาคตมีบทบาทอย่างไรในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

โครงการนี้ได้เปิดตัวในประเทศไทยด้วยงานสัมมนาอภิปรายแบบซิมโพเซียมในหัวข้อ “กรีน ไซเคิล -อุตสาหกรรมสร้างสรรค์แห่งโลกตะวันออกและตะวันตก ร่วมก้าวสู่ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้เปิดประเด็นเรื่องความสร้างสรรค์และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้น คุณได้เชิญใครมาร่วมงานบ้าง

เราได้เชิญทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์กในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดมาจากทั้งเยอรมนี มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และออสเตรเลีย ซึ่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันตลอดสองวันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมงานบางส่วนยังได้นำตัวอย่างงานมาแสดงให้เห็นว่าเราจะสร้างอิทธิพลจากป้ายติดเสื้อผ้าตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการบริโภคในด้านบวกได้อย่างไรบ้าง”

ความสนใจในเรื่องสิ่งทอของคุณเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด

ฉันใช้ชีวิตอยู่ในเอเชียมานานเลยทีเดียว ฉันเคยทำงานอยู่ที่ปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย และปัจจุบันอยู่ที่ประเทศไทย การได้อยู่ในประเทศเหล่านี้ทำให้ฉันได้ไอเดียเรื่องสิ่งทอไปโดยปริยาย เมื่อเวลาผ่านไป ความหลงใหลในเรื่องผ้าของฉันก็เริ่มพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ และฉันก็เริ่มรู้สึกได้ว่าผ้านั้นมีบทบาทที่สำคัญมากๆ ในวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ไม่ว่าจะในงานพิธีต่างๆ หรือกิจกรรมทางศาสนา อีกทั้งผ้าเหล่านี้ยังมีความสวยงามอย่างมากอีกด้วย ในขณะเดียวกันฉันก็ตระหนักว่ามีประเด็นปัญหามากมายในเรื่องสิ่งทอเช่นกัน

IKAT/eCut will das Publikum für Themen und Probleme rund um Textilien sensibilisieren. IKAT/eCut will das Publikum für Themen und Probleme rund um Textilien sensibilisieren. | Foto: Goethe-Institut Bangkok เราจะต้องไม่ลืมเหตุการณ์อันน่าเศร้าในบังคลาเทศ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอย่างรุนแรงจนทำให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าถล่มและได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าพันคน เราไม่อาจปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ ได้ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นภายใต้โครงการ IKAT/eCUT เพื่อหวังให้กิจกรรมเหล่านี้ช่วยกระตุ้นความสนใจของคนในสังคมในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับปลุกความตระหนักรู้ถึงกระบวนการเหล่านี้ด้วย

ถ้าเป็นเช่นนั้น กิจกรรมคุณอาจจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ยากหรือไม่ กิจกรรมนี้อาจเข้าถึงผู้คนที่มีความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วอย่างแน่นอน แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงอย่างพวกแกะดำในภาคธุรกิจ คุณทำอย่างไร

ผู้เข้าร่วมงานของเรามาจากหลากหลายกลุ่มเลยทีเดียว เฉพาะในสื่อเพียงอย่างเดียว งานของเราก็ได้รับความสนใจมากแล้วเนื่องจากหน่วยงานของเราเป็นผู้จัดงาน และแน่นอนว่าเราไม่ได้เชิญเฉพาะผู้คนในแวดวงที่มีความสนใจและอยู่ในกระแสอีโคเพียงเท่านั้น แต่เรายังเชิญคนจากแวดวงอื่นๆ ด้วย ทั้งตัวแทนจากภาคธุรกิจและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ทำงานในด้านการรีไซเคิลและสร้างมูลค่าเศษวัสดุ เราหวังว่างานนี้จะเป็นสะพานเชื่อมคนจากสองแวดวงนี้เข้าหากันได้และช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงลักษณะการซื้อให้มีความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น ไม่เป็นเพียงการบริโภคแบบ Fast fashion ดังเช่นที่ผ่านมา

Die Teilnehmer des Symposiums IKAT/eCut Die Teilnehmer des Symposiums IKAT/eCut | Foto: Goethe-Institut Bangkok

โครงการนี้มีชื่อว่า IKAT/eCUT ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร

IKAT (อิ-กัด) เป็นคำจากภาษามลายู ใช้เป็นชื่อเรียกลายผ้าทอที่มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชาวไทยเรียก “ผ้ามัดหมี่”) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในด้านเทคนิคการย้อมและรูปแบบของลาย ส่วนคำว่า eCUT นั้นย่อมาจากคำว่า “electronic cutting” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอแห่งอนาคต

ชื่อนี้ช่วยกระตุ้นความสนใจให้กับโครงการของเราได้ดีทีเดียว เราไม่ได้นำเสนอสิ่งทอแค่เพียงในด้านงานหัตถกรรม งานศิลปะ งานออกแบบ และความยั่งยืนเพียงเท่านั้น แต่ยังนำเสนอเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “Smart Textiles” หรือ “สิ่งทออัจฉริยะ” สิ่งทอที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่เราไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก “สิ่งทออัจฉริยะ” ที่ว่านี้จะส่งอิทธิพลและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ตลอดจนรูปแบบการสื่อสารของเราในอนาคตเป็นอย่างมาก หัวข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่สถาบันเกอเธ่ของเรามองว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรมศึกษา

บันทึกจากการสัมภาษณ์ ดร. มาร์ลา ชตูเคินแบร์ก โดยนีนา บริงก์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 (Deutschlandradio Kultur)