เกมกระดานและเกมไพ่
กิจกรรมยามว่างแสนสนุก

เยอรมนีประเทศแห่งเกม
เยอรมนีประเทศแห่งเกม | ภาพ (รายละเอียด): © ebednarek - Fotolia.com

ในยุคสมัยที่เกมคอมพิวเตอร์ครองเมือง การเล่นเกมกระดานและเกมไพ่หาได้เสื่อมความนิยมตามไปไม่ ในทางกลับกัน เกมสัญชาติเยอรมันกลับได้รับความนิยมไปไกลถึงต่างแดน

บรรดาผู้ที่หลงใหลการเล่มเกมค่อยๆ เดินเข้ามาด้านใน ทักทายกันและกัน คุยกันบ้างเล็กน้อย ปล่อยให้เจ้าหมาน้อยลูน่านอนใต้โต๊ะอย่างสบายใจ ไม่ช้าหญิงสี่คนอายุต้น 50 ไปจนถึงต้น 80 ก็เคลิบเคลิ้มไปกับการเล่นเกมไพ่  Barbara Böhlke เล่าให้ฟังว่า “พวกเรารู้จักกันทางประกาศในหนังสือพิมพ์เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นมาเราก็นัดเจอกันทุกๆ 14 วันเพื่อเล่นเกมการ์ด Doppelkopf ด้วยกัน” แล้วปาร์ตี้เกมก็กลายมาเป็นนัดประจำในปฏิทินของเธอกว่า 25 ปีแล้ว

ความโหยหาการเล่นเกมมิได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มนักเล่นเกม Doppelkopf ในเยอรมนีตอนเหนือเท่านั้น เพราะชาวเยอรมันถึงร้อยละ 47 ต่างใช้เวลาไปกับการเล่นเกมกระดาน การ์ดเกม หรือเกมเข้าสังคมอื่นๆ ตามที่สถาบันวิจัยตลาด Ipsos ได้สำรวจและเผยแพร่ไว้ในปี 2015

เสน่ห์และมนต์ขลังของเกม

มนุษย์เราต่างมีความโหยหาการเล่นหยั่งรากลึกอยู่ในตัว เพราะการเล่นสร้างความเพลิดเพลิน กระตุ้นความสนใจ และขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ไปข้างหน้า  Friedrich Schiller นักแต่งบทละครและกวีได้ตระหนักและให้ความสำคัญของเกมไว้ว่า “มนุษย์จะเป็นมนุษย์ด้วยการเล่น และในขณะที่มนุษย์เล่นก็จะเผยความเป็นมนุษย์ออกมา”

อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้เรายังไม่มีคำจำกัดความของสิ่งเรียกว่า “เกม” ที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าทำไมการเล่นจึงสร้างความเพลิดเพลิน  การที่เกมหนึ่งๆ มีกติกาที่แสนยากอาจเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในตัวของมันเอง กล่าวคือ ในแง่หนึ่งเราสามารถหลีกหนีชีวิตประจำวันได้ แต่อีกแง่หนึ่งผู้เล่นก็ต้องปฏิบัติตามกฎการเล่นที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นเราก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าความเพลิดเพลินที่เกิดจากการเล่นนั้นเคียงคู่มากับความเครียดที่มีระหว่างเล่น  ประการสุดท้าย เกมมีพื้นที่ให้สิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสวมบทบาทผู้อื่น การเสี่ยงภัยโดยไม่ต้องยอมรับผลที่ตามมา และสามารถได้มาซึ่งชัยชนะและการยอมรับได้ไม่ยากเกินไปนัก

สำหรับ Harun Maye นักวิชาการแห่งวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีทางเทคนิคและปรัชญาสื่อ (IKKM) แห่งมหาวิทยาลัย Bauhaus เมือง Weimar กล่าวว่า เกมที่ดีคือเกมที่ “สามารถเล่นซ้ำได้หลายครั้ง แต่ถ้าเกมนั้นไม่ทำให้ผู้เล่นอยากกลับมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ชื่อได้ว่าเป็นเกมที่ไม่น่านำมาเล่น ถึงแม้ว่าจะครั้งหรือสองครั้งก็ตาม”

เกมในฐานะปัจจัยทางเศรษฐกิจ

เยอรมนีเป็นดินแดนแห่งเกม ไม่ใช่เพียงเพราะการพบปะของคอเกมอย่างกลุ่ม Doppelkopf ของ Barbara Böhlke เท่านั้น แต่ในประเทศนี้เองที่มีการมอบรางวัล “เกมประจำปี” ซึ่งถือเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมนี้  มหกรรมนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของเกมกระดานและเกมไพ่ที่ชื่อ SPIEL เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมและจัดขึ้นทุกปีในเมือง Essen  ส่วนในแถบ Upper Franconia ก็มีการพิมพ์ Spielbox ซึ่งเป็นนิตยสารเกมกระดานที่วางแผงทั่วโลก “ยอดขายของเกมที่มากกว่า 30 ล้านเกมต่อปีมีมูลค่าถึง 400 ล้านยูโร” Hermann Hutter ประธานสมาพันธ์สื่อสิ่งพิมพ์ด้านเกมกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาด  ด้วยยอดขายของเกมสัญชาติเยอรมันในต่างประเทศร้อยละ 20 ถึง 50 เกมถือเป็นสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่ง

แบบฉบับเยอรมัน

ชัยชนะระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นจากกระแสเกมนักบุกเบิกแห่ง Catan (Die Siedler von Catan) ที่ถือกำเนิดในประเทศเยอรมนี  เกมนี้มีอายุครบ 20 ปีในปี 2015 และมียอดขายมากกว่า 22 ล้านชิ้น ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 30 ภาษา ตั้งแต่นั้นมาเกมกระดานแบบเยอรมันลักษณะเดียวกับ Catan หรือ Carcassonne ต่างเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เราเรียกว่าเกม “สไตล์เยอรมัน” ในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงเกมสัญชาติเยอรมัน หากแต่ถือเป็นคำจำกัดความให้กับเกมที่ท้าทาย มีคุณค่าและคุณภาพ

การแข่งขันในยุคดิจิตอล

เกมกระดานยังไม่จำเป็นต้องหวั่นเกรงคู่แข่งอย่างเกมแบบดิจิตอลแต่อย่างใด  ปี 2015 ความต้องการเล่นเกมกระดานและเกมไพ่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  Hermann Hutter เฝ้าจับตา “การอยู่ร่วมกันอย่างสงบ” ของเกมกระดานและเกมดิจิตอล นอกจากนั้นยังมีเกมชนิดใหม่ที่เรียกว่าเกมลูกผสมซึ่งเกิดจากการรวมเกมกระดานแบบดั้งเดิมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ให้สมาร์ทโฟนทำหน้าที่อธิบายกติกาการเล่น เฝ้าสังเกตการเดินของผู้เล่น และนับคะแนนที่ได้ หรือใช้แท็บเล็ตเป็นกระดานสำหรับเล่น ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดประสบการณ์การเล่นที่แปลกใหม่ อีกทั้งยังมีเกมกระดานมากมายที่ปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของแอพพลิเคชั่นที่สามารถเล่นบนสมาร์ทโฟนได้

กฎระเบียบการเล่นอย่างอื่นที่ป้องกันเกมกระดานจากคู่แข่งแบบดิจิตอล เช่น สิ่งที่เรียกว่า การสวมบทบาทด้วยปากกาและกระดาษ ผู้เล่นสวมบทบาทสมมุติและเผชิญการผจญภัยร่วมกันผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้ปากกาและกระดาษเป็นอุปกรณ์การเล่นหลักเพื่อจดบันทึกตัวละครทั้งหลาย บ่อยครั้งที่มีการใช้ลูกเต๋าหรือการเสี่ยงดวงในการเล่นร่วมด้วย  Harun Maye มองว่า การผสมผสานของกระดานและการเล่าเรื่องแบบฉับพลันเช่นเกม เนตรทมิฬ (Das schwarze Auge) ก่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแบบใหม่ในเกมกระดานแบบดั้งเดิม การผจญภัยที่ผู้เล่นเผชิญร่วมกันผ่านการเล่าเรื่องนั้น “ไม่สามารถจำลองขึ้นโดยเกมคอมพิวเตอร์ได้ แต่ต้องนั่งลงที่โต๊ะเพื่อสัมผัสร่วมกันเท่านั้น” ปฏิสัมพันธ์มักเป็นส่วนหนึ่งของความเพลิดเพลินจากการเล่นเสมอ สิ่งนี้ Barbara Böhlke ยืนยันกับเราได้ “ฉันเติบโตมากับเกมการ์ด ฉันสนุกกับมัน แต่ทุกครั้งที่เรานั่งเล่นด้วยกัน มิตรภาพอันดีของเราจะเกิดขึ้นด้วย”

มาร่วมพูดคุยกับเรา

เกมกระดานยังได้รับความนิยมอยู่ไหม? คนในประเทศของคุณเล่นเกมอะไรกันบ้าง? มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันเถอะ