Game Jams – เกมแจมส์
การแข่งมาราธอนหน้าจอคอม

การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงหรือ VR (Virtual Reality) ที่งาน InnoGames Game Jam ในเมืองโคโลญ
การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงหรือ VR (Virtual Reality) ที่งาน InnoGames Game Jam ในเมืองโคโลญ I ภาพจาก © InnoGames Game Jam

Game Jams โด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศเยอรมนี โดยผู้เข้าแข่งขันทีมต่างๆ จะแข่งกันพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเล่นได้จริงในเวลาที่จำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง และแน่นอนว่าการที่จะชนะได้ พวกเขาต้องเรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีมไปพร้อมกันด้วย

ในฮอลล์บรรยากาศการแข่งขันเต็มไปด้วยความตั้งใจจริง ทุ่มเทกันสุดกำลัง ผู้เข้าแข่งกันทั้งหมดกว่า 200 ชีวิตจาก 27 ประเทศ เข้าร่วมแข่งขัน InnoGames Game Jam ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Gamescom งานเกมคอมพิวเตอร์ ที่จัดขึ้นในเมืองโคโลญเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมนั่งจับกลุ่มกันโดยเอาโต๊ะเก้าอี้มาต่อเรียงกันอย่างง่ายๆ หลายคนจ้องจอมอนิเตอร์ตาไม่กระพริบเหมือนหลุดไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง บางส่วนกำลังปรึกษางานกันอย่างตั้งใจ อีกกลุ่มก็ลงมือติดกระดาษสีที่เต็มไปด้วยไอเดียบนฉากกั้น พวกเขากำลังแข่งกันสร้างเกมภายใต้หัวข้อ “หน้ากาก” เราสามารถรู้สึกได้ถึงพลังงานมหาศาลจากผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ทุ่มพลังทั้งหมดเพื่อพัฒนาเกม เพราะพวกเขามีเวลาแค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้นก่อนการนำเสนอผลงาน

ทีมขนาดเล็กสร้างไอเดียเกมที่แปลกใหม่

การสร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ภายในเวลาอันจำกัดและสนุกไปกับมัน คือแนวคิดหลักของ Game Jams แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาไม่นานหลังจากการขึ้นสหัสวรรษใหม่ เมื่อกลุ่มนักพัฒนาเกมกลุ่มเล็กๆ เริ่มรวมตัวกันเพื่อออกแบบต้นแบบเกมคอมพิวเตอร์ ต่อมาไอเดียการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเกมอย่างฉับพลัน หรือที่เรียกว่า Jamming เริ่มแพร่หลาย และมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก มีการแข่ง Game Jams ในแทบทุกประเทศทั่วโลกและมีหลายรายการที่แข่งกันออนไลน์ด้วย ในประเทศเยอรมนีก็เช่นกัน Game Jams โด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ มากขนาดที่ว่าในทุกสัปดาห์จะมีการจัดงาน Game Jams ขึ้นหนึ่งครั้งในประเทศเยอรมนี โดยผู้จัดมักจะเป็นบริษัทเกม มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ

กระแสความเป็นอิสระ (Independent Scene) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อความนิยมของ Game Jam ในเยอรมนี กระแสดังกล่าวทำให้ Start-up เกมที่ก่อตั้งโดยคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างสรรค์เกมที่ไม่เหมือนใครเกิดขึ้นในทุกที่ ไม่จำกัดแต่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างเบอร์ลิน ฮัมบวร์ค และมิวนิคเท่านั้น สำหรับ Start-ups เหล่านี้การเข้าร่วม Game Jams เป็นเหมือนใบเบิกทางให้พวกเขาได้ไปพบกับตัวแทนบริษัทเกมและสตูดิโอต่างๆ โดย InnoGames Game Jam ถือเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันผลิตเกมที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี เมื่อครบกำหนดเวลาการแข่งขัน 48 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันได้ส่งผลงานเกมจำนวน 39 เกมให้คณะกรรมการ โดยในการตัดสินจะมีการตัดสินโดยแยกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น เกม Virtual Reality ซึ่งผู้เล่นจะต้องบังคับตัวละครที่ใส่หน้ากาก และตามล่าตัวละครตัวเล็กๆ ซึ่งถูกบังคับด้วยผู้เล่นอีกคน (Panoptes) หรือเกมประเภทที่มีผู้เล่นได้สูงสุด 4 คน ที่ผู้เล่นสามคนจะเป็นแกะที่จะต้องหลบหลีกหมาป่าที่ปลอมตัวมาอยู่ในคราบแกะ (A Wolf in Sheep’s Clothing)

 เกม A Wolf in Sheep’s Clothing (ทีม NPSheeps) เกม A Wolf in Sheep’s Clothing (ทีม NPSheeps) I ภาพ (ภาพหน้าจอ): © InnoGames Game Jam

การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเวลาจำกัด

Game Jams อาจมีลักษณะต่างๆ กันไป “แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมพื้นฐานคือเวลาที่จำกัด” โยฮันเนส คริสต์มันน์ (Johannes Kristmann) กล่าว “แต่กำหนดเวลาอาจจะสั้นเพียง 8 ชั่วโมง หรือยาวนานถึง 1 สัปดาห์ก็ได้” คริสต์มันน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Start-up ที่ชื่อว่า Maschinen-Mensch ในกรุงเบอร์ลิน โดยเขาได้เข้าร่วม Game Jams แล้วหลายรายการ เช่น Ludum Dare ซึ่งเป็นการแข่งขันออนไลน์ และ Global Game Jam ซึ่งจัดขึ้นในหลายประเทศพร้อมๆกัน “เมื่อไม่นานมานี้มีการจัด ALT CTRL Game Jam เวอร์ชั่นเยอรมัน ที่กรุงเบอร์ลิน โดยการแข่งขันมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการป้อนข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากวิธีการที่ใช้กันอยู่” คริสต์มันน์กล่าวเสริม ในงานผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบอุปกรณ์ควบคุมด้วยตัวเอง เช่นอาจจะเป็นเครื่องดนตรี ผลไม้ หรืออย่างอื่นก็ได้ หัวข้อในการแข่งขันมักประกาศก่อนเริ่มการแข่งขัน Game Jams เล็กน้อย โดยมากจะเป็นสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถตีความได้อย่างอิสระ ตัวอย่าง เช่น “ทางหนี” หรือ “การค้นพบ” Game Jams บางรายการอาจจะจัดขึ้นในสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงเช่น ในรถไฟ เรือ หรือป้อมปราการ

จุดประสงค์ของ Game Jams ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน

แม้ว่า Game Jams อาจจะมีลักษณะต่างกันออกไป “แต่แนวความคิดพื้นฐานที่มีร่วมกันคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าร่วม” คริสต์มันน์ อธิบาย ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่เป็น  โปรแกรมเมอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักแต่งเพลงประกอบเท่านั้น แต่ Game Jams เปิดโอกาสให้มือสมัครเล่น หรือใครก็ตามที่สนใจเกมคอมพิวเตอร์เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้โดยปกติแล้วจะไม่ได้มีการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะแต่อย่างใด แต่การแข่งขันที่เมืองโคโลญถือเป็นข้อยกเว้น ทั้งนี้เนื่องจาก Game Jams ไม่ได้ต้องการเน้นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ แต่ต้องการก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีมิตรภาพ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมแข่งขัน “ทุกคนจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายจาก Game Jams ซึ่งไม่ใช่การเรียนรู้ทักษะการทำงานในหน้าที่เท่านั้น แต่จะเข้าใจถึงวิธีการบริหารโครงการ และทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ เช่น การเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งตัวเราเอง และผู้อื่นที่มีแนวความคิดแตกต่างจากเรา” คริสต์มันน์ กล่าว

คริสเตียน ยันเซน (Christian Janssen) ยืนยันเช่นเดียวกับคริสต์มันน์  ยันเซน และเพื่อนร่วมงานของเขาโทเบียส เวห์รุม (Tobias Wehrum) และ อีวาน กาโบวิทช์ (Iwan Gabowitsch) ได้จัดงาน Berlin Mini Jam อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2010 ด้วยระยะเวลาการพัฒนาเกมส์ที่จำกัดไว้ที่ 8 ชั่วโมง ทำให้พวกเขาสามารถจัดงานได้ไม่ยากนักเนื่องจากไม่ต้องกังวลกับการจัดหาที่พักค้างคืนให้กับผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งต่างจากงานที่มีระยะเวลาการแข่งขันหลายวัน โดย Berlin Mini Jam จัดในวันเสาร์ ที่บริเวณครอยซ์แบร์ก

คริสเตียน ยันเซนกล่าวถึงโปรแกรมของ Mini Jam ว่า “เราจะเริ่มรายการด้วยการเล่นเกมกันสั้นๆ ก่อน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้คุยกัน จากนั้นโทเบียสก็จะกล่าวแนะนำว่า Game Jam คืออะไร” หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมแข่งขันก็จะเสนอหัวข้อ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมโหวตเพื่อหาหัวข้อของการแข่ง Game Jam ในวันนั้นตามหัวข้อที่ได้รับการโหวตสูงสุด หลังจากนั้นเกมก็จะเริ่มโดยผู้เข้าแข่งขันจะกระจายตัวกันสร้างทีมที่มักจะประกอบไปด้วยสมาชิก 4 – 5 คน “แต่ก็มีบางคนที่เลือกที่จะทำงานคนเดียว” ยันเซ่นกล่าว ขั้นต่อมาคือการเริ่มระดมสมอง การลงมือสร้างเกม เช่น การสร้างโปรแกรม การออกแบบกราฟิก การสร้างเนื้อเรื่อง และการหาเสียง และดนตรีประกอบเกม “หลังจากเวลาผ่านไป 8 ชั่วโมง ทุกทีมก็จะนำเสนอผลงานของตัวเองผ่านจอโปรเจกเตอร์” เขาเสริม ช่วงเวลานำเสนอเกมครั้งแรกเป็นเวลาที่ตื่นเต้นมาก โดยเกมที่พัฒนาขึ้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกมคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ผู้เข้าแข่งขันอาจจะพัฒนาเกมไพ่ หรือบอร์ดเกมออกมาก็ได้

เกมที่ผลิตขึ้นใน Game Jams จำนวนมากเปิดให้เล่นฟรี

เกิดอะไรขึ้นกับเกมที่พัฒนาขึ้นหลังจาก Game Jams “70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของเกมที่พัฒนาขึ้นระหว่าง Game Jams มักจะไม่ได้รับการพัฒนาต่อ” โยฮันเนส คริสต์มันน์ กล่าว แต่สำหรับบางเกมที่เจ๋งๆ ก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าออกขาย ตัวอย่างเช่น เกม TRI ซึ่งเป็นเกมปริศนาเชิงผจญภัย (Puzzle Adventure Game) ที่พัฒนาขึ้นโดย Rat King Entertainment ในเมืองฮัลเล่อะ ซึ่งชนะรางวัลเกมคอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมของเยอรมนี (Deutscher Computerspielpreis) ในปี 2015 อย่างไรก็ตามเกมต้นแบบจำนวนมากที่ผู้เข้าแข่งขันได้สร้างสรรค์ขึ้นก็ถูกเผยแพร่ผ่านเวปไซต์เช่น itch.io โดยผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ โดยบางครั้งเราอาจจะเห็นไอเดียพื้นฐานของบางเกมไปปรากฏในเกมอื่นๆ ด้วย 


คริสต์มันน์ มองว่ากระแส Game Jams ในประเทศเยอรมนีจะยังคงเติบโตต่อไป ในปัจจุบันเขาเป็นทั้งผู้จัด และที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน โดยเขาได้ร่วมมือกับ ริอัด ดเจมลี่ (Riad Djemili) แห่ง Machinen – Mensch ในการจัด Game Jams ขึ้นเป็นซีรียส์ ให้กับ สถาบันเกอเธ่ ภายใต้หัวข้อ “การเมือง และศิลปะในเกม” โดยจะมีการจัดงานขึ้นใน 8 ประเทศ ในปี 2018