การทำงานและเวลาว่าง
คนเยอรมันเป็นแชมป์โลกด้านการลาพักร้อนจริงหรือ

เป้าหมาย: ตัดขาดจากงาน
เป้าหมาย: ตัดขาดจากงาน | ภาพ (บางส่วน): © Jacek Chabraszewski

ภายใต้เศรษฐกิจโลกอันแสนวุ่นวาย แต่คนเยอรมันก็ยังมีเวลาพักร้อนมากมาย คนชาติอื่นต่างตั้งคำถามว่า “คนเยอรมันทำได้ยังไง” เรามาสำรวจเรื่องนี้กัน

ชีวิตของมักซ์ มุสเทอร์มันน์ ช่วยให้ตัวอย่างกับเราได้ เขาอายุ 30 ปี ทำงานอยู่บริษัทขนาดกลางที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเบอร์ลิน บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พนักงานทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัทข้ามชาติที่เป็นคู่แข่ง มักซ์เป็นพนักงานที่ขยันมาก กระนั้นก็ยังมีเวลาเหลือเฟือให้กับงานอดิเรกของเขา เพราะเขามีวันลาพักร้อนถึง 30 วัน ทำให้นอกจากจะมีเวลาไปเที่ยววันหยุดในต่างประเทศเป็นสัปดาห์ๆ ได้แล้ว เขายังได้มีระยะห่างจากงานอย่างเหมาะสมและได้ผ่อนคลายความเครียดไปด้วย

ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน ที่เราเพิ่งจะโกหกคุณไป เพราะเรื่องราวของมักซ์ มุสเทอร์มันน์ นั้นเป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมา อย่างไรก็ตาม คนเยอรมันก็เป็นชนชาติที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจสูงและก็ชอบให้คนชื่นชมว่าพวกเขามีวันหยุดมากมาย นี่จึงอาจทำให้ผู้คนสรุปได้อย่างรวดเร็วว่าคนเยอรมันนั้นเป็นแชมป์โลกด้านการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เพราะถึงแม้จะงานเยอะแค่ไหน พวกเขาก็ยังจัดสรรเวลาไปพักร้อนได้เสมอ

ปัจจัยอันหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปข้างต้นนี้อาจขาดการพิจารณาไปหลายประเด็น ประการแรก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจระดับนานาชาตินั้นมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเน้นการส่งออก ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงการทำวิจัย ประการที่สอง แม้ว่าเมื่อเทียบแล้ว ชาวเยอรมันจะมีวันลาพักร้อนมากกว่าชาติอื่น อาทิ เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ แต่หากเทียบกับชาติอื่นๆ ในยุโรปแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งยังมีประเด็นที่ต้องแยกออกจากกัน ระหว่างวันลาพักร้อนตามสิทธิ์กับวันลาพักร้อนที่ลาหยุดจริงด้วย โดยข้อแรกนั้นถูกกำหนดโดยสภานิติบัญญัติในเยอรมนี ด้วยเหตุนี้ ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์จึงต้องมีสิทธิ์ลาพักร้อนขั้นต่ำเทียบเท่ากับ 20 วัน นอกจากนั้น ยังมีวันหยุดราชการอีก 9-13 วัน ขึ้นอยู่กับรัฐที่อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยวันหยุดรวมอย่างน้อย 29 วันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เยอรมนีเป็นชาติที่มีวันหยุดมากที่สุด แต่ยังตามหลังอยู่หลายประเทศ อาทิ ออสเตรีย (38 วัน) ฝรั่งเศส (36 วัน) หรือฟินแลนด์ (35 วัน) หรืออย่างในประเทศแถบเอเชียอย่างไต้หวัน (28 วัน) และอินโดนีเซีย (26 วัน) ก็มีวันหยุดใกล้เคียงกับเยอรมนี

การเปรียบเทียบทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีผลก็เมื่อพิจารณาถึงข้อที่ว่า ในหลายๆ รัฐอุตสาหกรรม วันลาพักร้อนนั้นถูกกำหนดโดยข้อตกลงในการจ้างงาน ซึ่งมักตั้งมาตรฐานไว้สูงกว่าที่รัฐกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ นอกจากนั้น จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สิทธิ์วันลาทั้งหมดที่มีอยู่ อีกทั้งยังทำงานล่วงเวลาเป็นจำนวนหลายชั่วโมงในวันทำงานปกติอีกด้วย สรุปสั้นๆ คือ ชาวเยอรมันไม่ใช่แชมป์โลกด้านการลาพักร้อนอย่างที่ถูกนำเสนอ ตัวเลขเหล่านั้นไม่อาจนำมาอนุมานได้กับประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาเลย
 

เรื่อง (ไม่) ปกติ

หากมองจากมุมมองในปัจจุบันแล้ว วันลาพักร้อนตามสิทธิ์ในเยอรมนีนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในสมัยก่อนกลับไม่เป็นเช่นนั้น “เกือบช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลูกจ้างตามบริษัทเอกชนทั่วไปมักได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนแค่สอง สาม หรือมากสุดแค่หกวันต่อปีเท่านั้น” เฮ็นริก มึลเลอร์ บรรณาธิการประจำสหภาพแรงงานบริการ ver.di เล่าว่า การเพิ่มวันหยุดพักร้อนในสัญญางานนั้นเพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1903 “ที่ชตุทการ์ทและเทือริงเง็น สมาคมแรงงานผลิตเบียร์ได้ต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ได้วันหยุดพักร้อน 3 วันต่อปี”

ในสมัยไวมาร์ สหภาพแรงงานเหล่านี้ยังถือเป็นแรงสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อวันลาพักร้อนที่ยังได้รับค่าจ้างตามปกติ “ในเยอรมนีมักจะเป็นแบบนี้เสมอ สหภาพแรงงานเรียกร้องบางอย่าง กดดันไปยังบริษัทตนก่อน จากนั้นไปยังกลุ่มบริษัทใหญ่ แล้วก็เกิดเป็นข้อกฎหมายขึ้นมา” มึลเลอร์อธิบาย “ใน ค.ศ. 1963 ได้มีการออกกฎหมายเรื่องวันลาพักร้อนโดยรัฐอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งให้หลักประกันว่า ลูกจ้างทุกคนจะต้องได้สิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 3 สัปดาห์ต่อปี”

ต่อมาในปี 1975 ลูกจ้างเกือบครึ่งในเยอรมนีก็ได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนเพิ่มเป็น 4 สัปดาห์ต่อปี ปัจจุบันนี้ สหภาพแรงงานรายงานว่า ในบริษัทและอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่ง มีวันหยุดมาตรฐานอยู่ที่ 6 สัปดาห์
นอกจากข้อบังคับที่กล่าวมาแล้ว สัญญาจ้างงานก็ยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ “ในเรื่องวันลาพักร้อนนั้น กรรมการผู้จ้างงานก็มีสิทธิ์ในการกำหนดในเรื่องนี้” มึลเลอร์อธิบายเสริมว่า “ตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างเช่น กรณีที่เราเรียกว่า “วันพักร้อนโฟล์คสวาเกน” ที่บริษัทโฟล์คสวาเกนในเมืองโวฟส์บวร์ก เนื่องจากบริษัทนี้มีลูกจ้างกว่าแสนคน วันหยุดของบริษัทจึงจัดให้สอดคล้องกับการเดินทางเพื่อทำงานด้วย”

แยกงานออกจากเวลาพักผ่อน

ปัจจุบันเราแทบไม่เจอใครที่ร้องเรียนเรื่องวันลาพักร้อนกันแล้ว “การพักร้อนช่วยกระตุ้นกระบวรการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ” วลาดิสลาฟ ริฟกิน นักจิตวิทยาด้านการทำงานและอาชีพ ผู้ที่ทำงานวิจัยในหัวข้อนี้ที่สถาบันไลป์นิส แห่งมหาวิทยาลัย TU ดอร์ทมุนด์ ได้เสนอแนะ “สิ่งสำคัญคือ เมื่อไปพักร้อนจะต้องตัดขาดจากงาน” เขาเสริมว่า “นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า “การแยกออกทางจิต” (psychological detachment) ผู้ที่สามารถแยกงานและเวลาพักผ่อนออกจากกันได้เท่านั้นที่จะปกป้องตนเองจากความเครียดในที่ทำงานได้” การลาพักร้อนเป็นเวลาหลายสัปดาห์อาจไม่ได้หลายถึงการพักผ่อนที่มากขึ้นเสมอไป ริฟกินกล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องตัดขาดจากงาน ด้วยวิธีเช่น หยุดการเช็คอีเมลงานและงดการสนทนาโทรศัพท์เรื่องงานระหว่างลาพักร้อน”

การเปลี่ยนแปลงมากมาย

ริฟกินคิดว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเรื่องวันหยุดพักร้อน ปัจจัยหลักคือเรื่องของการที่สถานที่ทำงานและการทำงานค่อยๆ ถูกปรับระบบเป็นดิจิทัลมากขึ้น การทำให้เป็นดิจิทัล (digitalization) นั้นเข้ามาเปลี่ยนสถานที่และเวลาในการทำงาน รวมไปถึงเรื่องความต้องการในการลาพักร้อนอีกด้วย เขาเสนอตัวอย่างว่า “ถ้าผมทำงานอยู่ในโฮมออฟฟิศและในขณะเดียวกันก็ดูแลลูกที่กำลังป่วยไปด้วย ผมก็ไม่จำเป็นต้องขอลาหยุดเวลาที่ลูกป่วยอีกต่อไป” การทำงานทางไกลอาจไม่สามารถทำได้กับงานทุกประเภท” เขายกตัวอย่าง เช่น งานสายงานการผลิต เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นของเงื่อนไขการทำงานหลายอย่าง “แน่นอนว่าจะยังคงมีวันลาพักร้อนหลายสัปดาห์ต่อไป แต่แนวโน้มของการลาพักร้อนช่วงสั้นๆ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ”