Coding da Vinci
วัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล

ผู้เข้าร่วมโครงการ Coding da Vinci นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเป็นโปรเจ็คท์ภายในเวลา 6 สัปดาห์
ผู้เข้าร่วมโครงการ Coding da Vinci นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเป็นโปรเจ็คท์ภายในเวลา 6 สัปดาห์ | ภาพ (บางส่วน): © Coding da Vinci

ปกติแล้วผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุมักจะได้ชมสิ่งของสำคัญทางวัฒนธรรมในตู้กระจกหรือห้องแสดงนิทรรศการแสงสลัว ทั้งๆ ที่ปัจจุบันน่าจะมีการจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้เข้าถึงมากขึ้น โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรม “Coding da Vinci” แสดงให้เห็นว่า ของสะสมในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวาขึ้นได้อย่างไรในรูปแบบดิจิทัล
 

ในพิพิธภัณฑ์ทั่วๆ ไป ผู้เข้าชมมักจะต้องใช้จินตนาการในการรับชม กล่าวคือ ของในห้องจัดแสดงอันควรค่าแก่การอนุรักษ์เหล่านั้น มักจะห้ามจับหรือห้ามลอง ความรู้สึกเมื่อสัมผัสหรือการใช้จริงเป็นอย่างไรนั้น ผู้เข้าชมจะจินตนาการเอาเอง แม้เอกสารและข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักจะเปิดให้เข้าถึงโดยการอ่านได้ แต่ผู้เข้าชมแต่ละคนก็ยังต้องใช้จินตนาการนึกภาพเหตุการณ์ด้วยตนเอง ตัวอย่างล่าสุดจากโครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรม มีการนำวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์มาจัดแสดงให้มีชีวิตชีวาในรูปแบบดิจิทัล และสร้างภาพจำลองจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์

ตัวอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือ การที่ผู้เข้าชมได้ลองชุดภาพเสมือนจริงผ่านโปรแกรม “Kleid-er-leben” (ปลุกชีวาให้อาภรณ์) จะได้รู้สึกถึงความยากลำบากในการเคลื่อนไหวในเสื้อผ้าอาภรณ์ในศตวรรษก่อนๆ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แฟรงก์เฟิร์ต โดยผู้ใช้โปรแกรมสามารถเลือกเสื้อผ้าแล้วลองขยับตัวในห้องที่สร้างภาพเสมือนในประวัติศาสตร์ และดูตัวเองในกระจกได้ ส่วนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และการโทรคมนาคมนั้น โทรศัพท์โบราณได้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยเกมทายเสียงเรียกเข้า โทรศัพท์ที่วางนิ่งเงียบอยู่บนชั้น เมื่อเปิดแอปพลิเคชันจะมีเสียงเรียกเข้าดัง ผู้เข้าชมจะต้องจับคู่เสียงกับโทรศัพท์ให้ถูกต้อง
ในแอปพลิเคชัน “Altpapier” (กระดาษเก่า) การเมืองจะมาพร้อมความบันเทิง โดยข่าวที่น่าสนใจในหนังสือพิมพ์จากปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 20 จะถูกรวบรวมไว้ ได้ประโยชน์ทั้งความบันเทิงและความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในที่เดียว ใช้ได้ถ้ามีสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

แม้แต่สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ที่หายไปตามกาลเวลาเกือบหมด อย่างกำแพงเบอร์ลิน ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพเสมือนจริงให้ได้สัมผัสกัน เหล่าโปรแกรมเมอร์ได้นำภาพจากหอจดหมายเหตุ “มูลนิธิกำแพงเบอร์ลิน” มาให้ดูกันได้ในแอปพลิเคชัน “Berliner MauAR” (กำแพงเบอร์ลินสื่อผสม) โดยผู้ที่ดาวน์โหลดสามารถดูภาพกำแพงเบอร์ลินในสถานที่จริงเมื่อเดินเที่ยวชมเมืองได้ ภาพประวัติศาสตร์แสดงบนจอมือถือตรงตำแหน่งที่ผู้ใช้ยืนอยู่อย่างถูกต้องโดย GPS หรือสามารถดูผังเมืองเบอร์ลินในอนาคตที่รัฐบาลเยอรมันตะวันออกได้เคยวางแผนไว้ในตอนนั้นในเว็บไซต์ “Aufbau Ost-Berlin” อีกทั้งยังมีการแนะนำการท่องเที่ยวในหัวข้อต่างๆ และแสดงภาพในรูปแบบของเยอรมันตะวันออกตามสถานที่นั้นๆ อีกด้วย

ตั้งแต่แอปฯ การท่องเที่ยวไปจนถึงหุ่นยนต์ด้วง ภาพถ่ายจากหน้าจอและภาพจากโปรเจ็คท์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “Coding da Vinci” ตั้งแต่แอปฯ การท่องเที่ยวไปจนถึงหุ่นยนต์ด้วง ภาพถ่ายจากหน้าจอและภาพจากโปรเจ็คท์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “Coding da Vinci” | ภาพโดย © Coding da Vinci

โปรเจ็คท์ใหม่ๆ มากมายผุดขึ้นมาในเวลา 6 สัปดาห์

โปรแกรมดิจิทัลเหล่านี้ทำให้ความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้นและยังสนุกขึ้นอีกด้วย แต่ก็ไม่ได้เกิดจากโครงการใหญ่ที่ใช้เวลานานหรืองบประมาณสูงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน โปรเจ็คท์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้นในช่วงของโครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมที่ชื่อว่า Coding da Vinci  โครงการนี้เป็นที่รวมของสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ เพื่อมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยปราศจากจุดมุ่งหมายทางการค้าและอยู่ในกรอบเวลาของโครงการที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน
 
การที่โปรแกรมใหม่ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็นเพราะมีแหล่งข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว สถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมส่วนใหญ่มีข้อมูลของสะสมในรูปแบบดิจิทัล  พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด และห้องแสดงภาพต่างก็จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายและเพื่อการจัดหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นสำเนาความละเอียดสูงของภาพวาด บันทึกเสียงทางประวัติศาสตร์ หรือภาพสแกน 3 มิติของโครงกระดูกไดโนเสาร์ ข้อมูลสำคัญจำนวนมหาศาลเหล่านี้เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้นำมาใช้ภายในองค์กรหรือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่โครงการ Hackathon ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ในรูปแบบใหม่
 
โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 โดยความร่วมมือขององค์กรวัฒนธรรมและการเปิดเผยข้อมูล ได้แก่ ห้องสมุดดิจิทัลเยอรมัน ศูนย์วิจัยและศักยภาพด้านดิจิทัลแห่งเบอร์ลิน (digiS) มูลนิธิ Open Knowledge เยอรมนีและ Wikimedia เยอรมนี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการจัดกิจกรรมปีละ 1-2 ครั้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเยอรมนี มูลนิธิวัฒนธรรมแห่งชาติสนับสนุนกิจกรรม 8 ครั้งระหว่างปี 2019 – 2022 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเริ่มกิจกรรม สถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เข้าร่วมโครงการจะมานำเสนอข้อมูลที่เก็บสะสมไว้ ทีมงานหลากหลายความเชี่ยวชาญที่ประกอบไปด้วย นักออกแบบ นักพัฒนาโปรแกรม กราฟิกดีไซเนอร์ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน นักแฮ็คโปรแกรมและนักพัฒนาเกม จะมาร่วมกันระดมสมอง รวบรวมความคิดสำหรับโปรเจ็คท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน เกม หรือภาพอินโฟกราฟิกต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาให้สำเร็จในเวลา 6 สัปดาห์ จากข้อมูลที่มีพร้อมเกิดเป็นผลผลิตใหม่ๆ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มีโปรเจ็คท์ใหม่ๆ มากมายผุดขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ใช้ประโยชน์ด้านวัฒนธรรมอย่างคุ้มค่า

ผู้จัดโครงการ Coding da Vinci ต้องการให้โครงการนี้เป็นการกระตุ้นให้สถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ นำข้อมูลดิจิทัลมาเปิดเผยให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ด้วยเหตุที่ว่า “เมื่อข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยเงินสาธารณะแล้ว ก็ควรจะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้” ถึงจะมีมรดกทางวัฒนธรรมบางชิ้นจัดแสดงในนิทรรศการ แต่ก็มีอีกหลายชิ้นที่ถูกเก็บไว้ในคลังของพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้ให้สาธารณชนเข้าถึง ผู้ร่วมโครงการ Coding da Vinci เชื่อว่า หากของสะสมในพิพิธภัณฑ์ให้เข้าถึงได้ทางดิจิทัล สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนแปลงไป จุดประสงค์ของโครงการ Hackathon ก็คือ สร้างความประทับใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ให้ผู้ชมวัยเยาว์ที่คุ้นเคยกับรูปแบบดิจิทัล ซึ่งก็ต้องใช้เครื่องมือในการแปรให้เป็นดิจิทัลเช่นกัน

ทีมงาน “Aufbau Ost-Berlin” สร้างการนำเที่ยวเมืองในรูปแบบดิจิทัลขึ้น โดยอิงจากข้อมูลภาพถ่ายของ กิเซลา ดุทช์มันน์ (Gisela Dutschmann) ช่างภาพผู้เก็บภาพการบูรณะเบอร์ลินตะวันออก ทีมงาน “Aufbau Ost-Berlin” สร้างการนำเที่ยวเมืองในรูปแบบดิจิทัลขึ้น โดยอิงจากข้อมูลภาพถ่ายของ กิเซลา ดุทช์มันน์ (Gisela Dutschmann) ช่างภาพผู้เก็บภาพการบูรณะเบอร์ลินตะวันออก | ภาพ Screensthot : Screensthot © Aufbau Ost-Berlin Aufbau Ost-Berlin ไม่มีปัญหาด้านเทคนิคในการเปิดข้อมูลดิจิทัล แต่กระนั้นสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายแห่งก็ยังชะลอไว้ เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลต่างๆ จะถูกนำไปใช้ในทางลบหรือในทางการค้า เอลิซาเบท ไคลน์ (Elisabeth Klein) ผู้ประสานงานโครงการ Coding da Vinci เขต Rhein-Main ตระหนักในข้อนี้ว่า เป็นหน้าที่ของโครงการที่จะทำให้สถาบันต่างๆ เชื่อถือในการควบคุมข้อมูล จึงได้มีการเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ เหล่านี้กับเครือข่ายชุมชนนักแฮ็คโปรแกรมของโครงการ มีช่องทางการติดต่อโปรแกรมเมอร์และนักคิดต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ยังมีอำนาจตัดสินใจว่า จะให้ข้อมูลส่วนไหนกับโปรเจ็คท์ใดบ้าง

รูท โรเซนแบร์เกอร์ (Ruth Rosenberger) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ณ กรุงบอนน์ มองการเข้าร่วมโครงการ Coding da Vinci ในแง่บวก “ฉันประทับใจจริงๆ กับมาตรฐานอันยอดเยี่ยมของโครงการนี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือการทำงานร่วมกันกับทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ที่มองภาพประวัติศาสตร์ในคลังภาพของเราด้วยสายตาสดใหม่ พิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยต้องมีที่ทางในอินเทอร์เน็ตด้วย […] โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมนี้ช่วยให้พวกเราได้ค้นพบโอกาสใหม่ๆ”