วรรณกรรมเด็กและเยาวชน
อ่านอะไร ได้โตมาเป็นอย่างนั้น

วรรณกรรมเด็กและเยาวชนนั้นควรเป็นประตูเปิดโลกแห่งความเป็นไปได้และเผยแพร่อุดมคติ ขนบธรรมเนียมและค่านิยมตามจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย แต่มันควรมีขอบเขตหรือไม่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หนังสือถูกแปลงความหมายเชิงอุดมการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าและพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านวัยเยาว์คิดไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งด้านการเมืองอยู่เสมอ

“หนังสือเด็กนั้นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยทุกรูปแบบ หากเราอยากให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบแล้ว หนังสือดีๆ นั้นสำคัญที่สุด เพราะด้วยหนังสือเหล่านี้เองพวกเขาจะเรียนรู้โลกกว้างได้จากในห้องนอน” อูเลอ นีมาน ผู้เป็นหลานของแอสตริด ลินด์เกรนได้พูดถึงมรดกทางวรรณกรรมของคุณยายของเขาและบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมเยาวชนในบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Die Zeit การสัมภาษณ์นี้ไม่ได้อยู่ในวาระโอกาสการฉลองครบรอบใดๆ ของแอสติด ลินด์เกรน แต่แต่เขาพูดถึงเรื่องนี้จากเรื่องที่นักการเมืองฝ่ายขวาสวีเดนได้นำผลงานของลินด์เกรนไปอ้างถึงเมื่อต้นปีค.ศ. 2019
 
อูเลอ นีมาน ประธานบริษัทแอสตริด ลินด์เกรน ที่ดูแลลิขสิทธิ์งานเขียนของเธอพยายามต่อต้านกระแสการนำงานเขียนของคุณยายของเขาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง การนำตัวละครดังในวรรณกรรมของลินด์เกรนไปตีความเข้าข้างฝ่ายตนของนักการเมืองฝ่ายขวายิ่งเป็นสิ่งไร้เหตุผล เพราะลินด์เกรนเองนั้นเคยย้ำอยู่บ่อยครั้งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อดทนและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม นี่มิใช่กรณีตัวอย่างกรณีเดียว วรรณกรรมเด็กและเยาวชนถูกนำไปสร้างความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนาและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแปลงความหมายเช่นกรณีข้างต้น หรือการจงใจแต่งเรื่องราวตามบริบทเพื่อมุ่งผลประโยชน์ในแนวทางที่ต้องการ

มองย้อนกลับไป

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเยอรมันสำหรับเด็กและเยาวชน ก็จะพบตัวอย่างการนำงานเขียนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ไม่ยาก มีการซ่อนสัญญะไว้ตามอุดมการณ์แนวทางต่างๆ วรรณกรรมเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมักจะสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความบันเทิงเชิงศิลปะ มีคุณค่าเหมาะกับวัยผู้อ่านและมีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกชนิดทุกประเภท แต่ขณะเดียวกันก็จะมีเรื่องราวที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจในตนเอง เป็นจุดมุ่งหมายตามค่านิยมแบบที่ไม่พบในช่วงต้นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี(เยอรมันตะวันออก)และช่วงที่รัฐบาลนาซีปกครองเลย
 
แม้อุดมการณ์เบื้องหลังและจุดประสงค์ทางการเมืองในสองช่วงเวลาที่กล่าวถึงจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลับส่งผลกระทบต่อวงการวรรณกรรมในทิศทางเดียวกัน หากจะมีข้อยกเว้นก็เพียงเล็กน้อย นั่นก็คือ การจงใจโน้มน้าวและเซ็นเซอร์วรรณกรรมเด็กและเยาวชนตั้งแต่การขึ้นมาครองอำนาจของพรรคนาซีในเดือนมกราคม ค.ศ. 1933 ให้เป็นวรรณกรรมเพื่อสั่งสอนหลักการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติ การสงครามและการเชื่อฟังอย่างไม่โต้แย้ง ส่วนหนังสือเด็กและเยาวชนที่ตีพิมพ์ในเยอรมนีตะวันออกหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองก็เน้นจุดประสงค์เพื่อบ่มเพาะอุปนิสัยตามแบบสังคมนิยมอย่างเป็นระบบ
“ถ้าหนูได้เป็นทหารนะ หนูจะเอาลูกซองและปืนใหญ่ยิงพวกศัตรูให้ตายแหงแก๋ให้หมด” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในค.ศ. 1915 พยายามชักจูงกระทั่งเด็กเล็กให้มีความฝันสูงสุดว่าอยากเป็นทหาร “ถ้าหนูได้เป็นทหารนะ หนูจะเอาลูกซองและปืนใหญ่ยิงพวกศัตรูให้ตายแหงแก๋ให้หมด” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในค.ศ. 1915 พยายามชักจูงกระทั่งเด็กเล็กให้มีความฝันสูงสุดว่าอยากเป็นทหาร | ภาพ: CC BY-NC-SA 3.0 Loewes Verlag
แนวคิดและอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์สองช่วงเวลานี้เคยส่งผลต่อวรรณกรรมเด็กและเยาวชนมาก่อนหน้านี้แล้วในยุคของสาธารณรัฐไวมาร์และสมัยจักรวรรดิ แต่ในช่วงเวลาเหล่านี้ผลกระทบออกมาในหลายรูปแบบในวงการหนังสือ ขณะที่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์มักจะมีเนื้อหาเน้นการสอนให้รักในปิตุภูมิและเห็นพ้องกับการร่วมรบในสงครามและชวนเชิญให้คนศรัทธาลัทธิคลั่งชาติตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ส่วนวรรณกรรมเด็กและเยาวชนแบบสังคมนิยมอันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษนั้น เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเน้นแนวคิดอุดมการณ์เรื่องภราดรภาพ ความสมานฉันท์และความรักในเสรีภาพของชนชั้นแรงงาน

อุดมคติและการชักจูง

การมองกลับไปในอดีตแสดงให้เราได้เห็นภาพว่า เส้นแบ่งระหว่างอุดมคติและการสร้างอุดมการณ์ในบางช่วงนั้นเบาบางแค่ไหนและการสรุปสั้นๆ เป็นสิ่งที่ยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นเราควรคอยจับตาและตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อพัฒนาการของแวดวงหนังสือเด็กและเยาวชน รวมทั้งส่วนที่ไม่เป็นกระแสหลักหรือเป็นที่นิยมด้วย
 
การมองย้อนกลับไปทำให้เราเห็นได้ว่า วรรณกรรมเด็กและเยาวชนมาได้ไกลเพียงใดแล้วตั้งแต่เริ่มมีมา เกิดการเปลี่ยนแปลงตามจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยมามากเพียงใดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านการเมืองและที่ขาดไม่ได้คือด้านคุณค่าทางศิลปะ จนกลายมาเป็นวรรณกรรมเด็กและเยาวชนที่เปิดกว้างและหลากหลายตามที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันและตามที่อูเลอ นีมานได้นิยามเอาไว้ เราอาจกำหนดหัวข้อเรื่องความใจกว้าง ความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ความสมานฉันท์ การปลดแอกจากการถูกกดขี่ ความกล้าหาญและการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ไว้เป็นประเด็นและคุณค่าร่วมสมัยในเรื่องราวสำหรับเด็กและเยาวชน