วันนักแปลสากล
การแปลนั้นเป็นมากกว่าการถอดความทางภาษา

การแปลนั้นเป็นมากกว่าการถอดความทางภาษา
© สถาบันเกอเธ่

สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา งานสนทนาวันนักแปลสากลประจำปี 2564 โดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จึงจัดงานผ่านรูปแบบดิจิทัลทาง Facebook live เพื่อเป็นการยกย่องและให้ความสำคัญแก่บทบาทในการเป็นทูตทางวัฒนธรรมของนักแปลทั่วโลก เพราะการแปลนั้นเป็นมากกว่าการถอดความทางภาษา นักแปลจึงถือเป็นผู้ที่ส่งผ่านความรู้และบริบททางวัฒนธรรมไปยังผู้รับสาร

โดยปีนี้ได้เชิญนักแปลและบรรณาธิการมาเล่าถึงประสบการณ์ ความท้าทายในการทำงานแปล และความแตกต่างในการแปลหนังสือแต่ละประเภท โดยมีคุณอิทธิณัฐ สีบุญเรือง วิทยากรและล่ามอาชีพ ชวนพูดคุยสนทนาเป็นภาษาไทย วิทยากรได้แก่ Dr. Renate Birkenhauer จากอาศรมนักแปลแห่งยุโรป เมืองชตราเล็น, คุณเฉิดฉวี แสงจันทร์ ผู้แปล รวมเรื่องสั้น“โทษ” ของแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค และคุณเรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการ, อาจารย์สุดาวรรณ สินธุประมา ผู้แปล “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช: เซ็ท การกำกับฉาก สถานการณ์, ผลงานปี 1987 – 2005” ของเยอร์น ชาฟอัฟฟ์ และคุณปิยะกัลย์ สินประเสริฐ ผู้แปล “เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน” ของดานีเอลา ครีน

อาศรมนักแปล : สถานพำนักแห่งการแปล

Das Europäisches Übersetzer-Kollegium หรือ อาศรมนักแปลแห่งยุโรป ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1978 เพื่อเป็นที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนแหล่งข้อมูลงานแปล ที่เก็บตัวทำงานของนักแปลวรรณกรรม สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพในนานาประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพการแปลร่วมกัน แรกเริ่มยังไม่มีคอมพิวเตอร์บริการ ห้องสมุดจึงเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล มีหนังสือที่จำเป็นต่อการแปลไว้บริการ อาทิ พจนานุกรม หนังสืออ้างอิง นักแปลมาพร้อมกับจิตวิญญาณและแรงบันดาลใจ ทำงานของตัวเองอย่างมุ่งมั่น ขณะเดียวกันก็ดำเนินชีวิตอย่างอิสระ เรียนรู้และพัฒนาตนเองร่วมกัน  ภายใต้ความสงบเงียบของอาศรมจึงเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา ห้องครัวจะเป็นที่พบปะของบรรดานักแปลในเวลามื้อเที่ยงและมื้อเย็น จากนั้นจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนถึงค่ำมืด นอกจากนี้ ทุกปีอาศรมแห่งนี้จะเชิญนักเขียนมาพบปะกับนักแปลจากประเทศต่าง ๆ ที่แปลงานของนักเขียนคนนั้น นักเขียนกับนักแปลเก็บตัวร่วมกันนาน 1 สัปดาห์ เพื่อที่นักแปลจะได้แปล ตีความและทำความเข้าใจต้นฉบับร่วมกับนักเขียน

อาศรมนักแปลแห่งยุโรป อาศรมนักแปลแห่งยุโรป | © โปรดปราน อรัญญิก

Dr. Renate Birkenhauer กล่าวถึงบทบาทของนักแปลและการทำงานแปลว่าเป็นงานที่เสียสละ ทุ่มเท แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสร้างทางลัดในการแปล แต่นักแปลหรือมนุษย์เท่านั้นที่สามารถตัดสินใจเลือกสรรคำที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดภาษาต้นฉบับไปสู่อีกภาษา งานเขียนคลาสสิกหลายเล่มที่แปลแล้วแปลอีก เช่น เรื่องเฟาสต์ ของเกอเธ่ นักแปลแต่ละรุ่นต้องหาคำของตัวเองในการถ่ายทอด ต้องรู้รูปแบบภาษา กลวิธีของนักเขียนในศตวรรษก่อน ๆ การรู้ภาษาอื่นไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะเป็นนักแปลได้ พื้นฐานการอ่านและศึกษาวรรณกรรมจำเป็นต้องมีควบคู่กัน อีกสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องเชี่ยวชาญภาษาแม่ของตัวเอง

อัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมของเยอรมันสะท้อนอยู่ในกวีนิพนธ์ นวนิยาย วรรณกรรมเหล่านี้นำเสนอภูมิทัศน์ ประวัติศาสตร์ น้ำเสียงอันแตกต่าง ความคิด ภาษาถิ่น ดังนั้น นักแปลและการแปลจึงเป็นผู้นำสารของนักเขียน

หัวใจในงานแปล   

ภาษาเป็นหัวใจสำคัญในงานแปล การเลือกใช้ภาษาไทยให้เหมาะสมกับงานแปล นักแปลควรศึกษาภูมิหลังของเรื่องกับภูมิหลังของนักเขียน ทำความเข้าใจต้นฉบับ เลือกใช้ภาษาให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงบริบททางภาษาของภาษาไทยด้วย การทับศัพท์ควรใช้ในกรณีที่คำนั้นเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในไทย หรือยังไม่มีการบัญญัติคำไทย ต้องมีความรู้ภาษาเฉพาะทาง แปลตามต้นฉบับ ไม่เพิ่มเติม ไม่ตัดทอน ธรรมชาติของภาษาต้นฉบับและภาษาไทยแตกต่างกันจึงต้องหาจุดร่วมที่ลงตัว นักแปลควรศึกษาค้นคว้าเทียบเท่านักเขียนหรือมากกว่าเพื่อเลือกภาษาที่เหมาะสม การหมั่นหาความรู้และเข้ากลุ่มนักแปลของเครือข่ายต่าง ๆ ช่วยพัฒนาการแปลและภาษา การทำงานแปลทุกครั้งเปิดโลกทัศน์ของนักแปลไปยังความรู้ใหม่เสมอ

การแปล : การทำงานกลุ่ม

กระบวนการทำงานแปลของสำนักพิมพ์ในไทย เป็นการทำงานกลุ่มระหว่างสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ นักแปล นักออกแบบปก การแปลงานแต่ละเล่มนักแปลควรศึกษาแนวทางของสำนักพิมพ์ เลือกสำนักพิมพ์ให้ถูกเมื่อนำเสนองานแปล บรรณาธิการคือผู้ทำงานควบคู่ไปกับนักแปล ปกและชื่อหนังสือเป็นด่านแรกสำหรับสื่อสารกับคนอ่าน ดังนั้น การอ่านกับการตีความเรื่องจะช่วยในการออกแบบปกกับการตั้งชื่อเรื่อง การวิเคราะห์คนอ่านก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

รับชมงานสนทนาวันนักแปลสากลย้อนหลังได้ที่นี่