Exchange Rate – การแสดงศิลปะมัลติมีเดียหลากหลายวัฒนธรรม

Exchange rate
© EUNIC

วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งยืนอยู่หน้าโทรทัศน์ย้อนยุคเครื่องสีชมพูขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าหม้อหุงข้าว ถ้อยคำสนทนาภาษาอังกฤษและภาษาไทยปลิวว่อนไปทั่วห้องมืดๆ ผู้คนพูดคุยกัน หัวเราะ มันผ่อนคลายเหมือนกับอยู่ในมหาวิทยาลัย ต่างกันที่ตรงนี้มีนักศึกษา 14 คนทั้งจากเมืองไทยและยุโรปมายืนอยู่ด้านหน้างานศิลปะของตัวเองและใช้เวลาไม่นานเพื่อเปิดงานนิทรรศการ "Exchange Rate"

คลิปวิดีโอหนึ่งกำลังถูกฉายอยู่ในทีวี หญิงสาวชาวไทยคนหนึ่งกำลังพูดถึงความรักอย่างตั้งใจและจริงจังมาก “ความรักไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว” นั่นก็ประโยคหนึ่ง และ “ความรักเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งในชีวิตของเรา” หลายคนพยักหน้า หัวข้อนี้เข้าถึงทุกคน ทีนี้เป็นเรื่องของความกลัวบ้าง “ผมไม่เชื่อว่าความกลัวจะทำให้เราเปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้นได้ แต่ความกลัวทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมันก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” ชายในโทรทัศน์เครื่องสีดำกล่าว เปลี่ยนหัวข้ออีกครั้ง คราวนี้เป็นโทรทัศน์เครื่องสีเขียวเหมือนกบ “ความโกรธก็เหมือนกับอาวุธ หากเราใช้มันในช่วงเวลาที่เหมาะสม” ผู้บรรยายกล่าว และอธิบายว่าเขาจัดการกับความโกรธที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้อย่างไร กลับไปที่โทรทัศน์เครื่องสีชมพูอีกครั้งซึ่งยังคงพูดเรื่องความคิดเกี่ยวกับเรื่องความรักต่อไป เป็นคลิปวิดีโอที่เปิดวนซ้ำๆ พูดเกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์

"Emotivity" คือชื่อของการติดตั้งโทรทัศน์ย้อนยุคสามเครื่องเช่นนี้ มันคืองานศิลปะที่ฮาน่า (ภัทธรียา ฤทธิ์งามนักศึกษาศิลปะไทย และเมโลดี้ พีค็อก นักศึกษาด้านการถ่ายภาพชาวอังกฤษ ร่วมกันสร้างขึ้นในเวลาเพียงสองสัปดาห์โดยที่ทั้งสองคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อน

Fernseher © EUNIC

แนวคิดที่กล้าหาญ

พวกเขาคือสองนักศึกษาจากทั้งหมด 14 คนที่มารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้มารวมตัวกันที่นี่นั้น ต้องขอบคุณกิจกรรมริเริ่มของ "สถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติสมาชิกสหภาพยุโรป" (EUNIC) ไม่เพียงแค่ตัวนิทรรศการเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งโครงการที่มีชื่อว่า “Exchange Rate” หรือ "อัตราแลกเปลี่ยน" คำนี้มีอะไรมากกว่าความหมายที่ว่าชาวไทยและชาวยุโรปได้มาแลกเปลี่ยนความคิดทางศิลปะซึ่งกันและกัน

นักศึกษาชาวไทยจำนวน 7 คนจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรในกรุงเทพฯ ที่กำลังศึกษาการออกแบบการสื่อสารดิจิทัล รวมถึงศิลปินวัยหนุ่มสาวจากเยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสเปนจำนวนเจ็ดคนถูกเลือกเข้ามาในโครงการนี้ พวกเขามาจากสาขาวิชาต่างๆ เช่น การถ่ายภาพ วิดีโออาร์ต สถาปัตยกรรม การออกแบบกราฟิก และสาขาดนตรี พวกเขามีเวลาเกือบสองสัปดาห์ร่วมงานกันในทีมที่จับคู่กันเองสองคน หนึ่งคนจากยุโรปและอีกหนึ่งคนจากประเทศไทย เพื่อพัฒนาความคิดและถ่ายทอดมันออกมา - โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นทั้งรูปแบบและหัวข้อในเวลาเดียวกัน

Gruppen ©EUNIC

Exchange Rate ในทางปฏิบัติ

“ตอนแรกเราก็คิดว่ามันคงจะยากด้วยภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วตรงกันข้ามเลย: เราสังเกตเห็นว่าเรามีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ อย่าง” ฟีนิกซ์ เเนเวียร่า หนึ่งในศิลปินชาวฟิลิปปินส์กล่าว เธอกับชาร์ลอตตา เออแบร์ก นักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะในกรุงเวียนนาได้ร่วมกันสร้างผลงานศิลปะที่ทั้งคู่ตั้งชื่อว่า "Translations": ม่านที่มีบทกวีภาษาสวีเดน (ภาษาแม่ของชาร์ลอตตา) ตากาล็อก (ภาษาแม่ของฟินิกซ์) และภาษาอังกฤษ (ภาษากลางของทั้งสองคน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นจอฉายภาพไปในขณะเดียวกัน "เมื่อคุณแปลอะไรบางอย่าง จะมีความหมายบางส่วนที่หายไปเสมอ" ชาร์ลอตตากล่าว "นั่นคือหัวข้อของเรา" พวกเขาใส่ภาษาภาพให้กับบทกวีสามภาษาด้วยวิดีโอ เราจึงสามารถมองเห็นฉากท้องถนนในกรุงเทพฯ บนจอผ้าม่านที่มีบทกวีติดอยู่


Stoffbahnen © EUNIC
หนึ่งในผู้จัดโครงการที่สำคัญก็คือสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งผู้อำนวยการ คุณโยฮันเนส โฮสส์เฟลด์กล่าวว่า “ช่างน่าประทับใจที่นักศึกษาจากสาขาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นมารวมตัวกันที่นี่ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะนี่คือกระบวนการทำงานร่วมกันที่แท้จริงซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง” เขากล่าว

อันนิกา เยห์นิเชน นักศึกษาสถาปัตยกรรมชาวเยอรมันจากแฟรงก์เฟิร์ตรู้สึกหลงใหลในหัวข้อ "Exchange Rate" “มะเน็ต (รหัท บุญวิภาส) เพื่อนร่วมทีมของฉันมองชีวิตของเขาในกรุงเทพฯ ด้วยมุมมองที่ต่างกับฉันอย่างสิ้นเชิง ที่นี่ฉันได้เรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย”

เพื่อบอกเล่าว่าสังคมพึ่งพาซึ่งกันและกันมากน้อยเพียงใด ทั้งในวงแคบและวงกว้าง รวมถึงผู้คนที่แม้จะแตกต่างกันนั้นมีความเหมือนกันมากน้อยเพียงใด สถาปนิกรุ่นเยาว์และนักศึกษาด้านการถ่ายภาพจึงได้ร่วมกันสร้างผลงานที่พวกเขาเรียกว่า "it-all-flows-in-you" ชิ้นงานโครงสร้างไม้ที่เปราะบาง (ผลงานขออันนิกาที่ตั้งใจจะทำให้นึกถึงตึกระฟ้าในกรุงเทพ) พร้อมรูปถ่ายผู้คนที่เดินผ่านไปมาซึ่งมาเนต์ถ่ายบนถนนในกรุงเทพฯ

เฟลิเป้ เดอ ลา โมเรนา เอกอัครราชทูตสเปน มีความยินดีกับโครงการนี้อย่างยิ่ง “คนหนุ่มสาวนั้นช่างน่ามหัศจรรย์” เขากล่าว “คุณสามารถสัมผัสได้ว่าพวกเขามีศักยภาพซ่อนอยู่มากแค่ไหน ตราบใดที่เรามีคนหนุ่มสาวแบบนี้อยู่ เราก็วางใจได้” ส่วนทิม วัลซ์ จากสถานทูตเยอรมันกล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกประทับใจกับการจัดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ดีๆ แบบนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์จากมัน”


Fagott © EUNIC เห็นได้เลยว่าศิลปินหนุ่มสาวนั้นมีความสุขแค่ไหนกับความสำเร็จในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ สำหรับบางคน มันเป็นคืนสุดท้ายของพวกเขา เพราะในวันรุ่งขึ้น พวกเขาต้องกลับไปยังมหาวิทยาลัยที่เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ เอโวราในโปรตุเกส แฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี เวียนนาในออสเตรีย กัมโปบัสโซในอิตาลี บาร์เซโลนาในสเปน และอาร์ลส์ในฝรั่งเศส เพราะเปิดเทอมใหม่แล้ว "เราทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน" โรซา เอวานเจลิสตา สาวชาวอิตาลีกล่าว “ไม่เพียงแต่ในแง่ศิลปะ แต่ยังรวมถึงชีวิตประจำวันของเราด้วย บีมเพิ่งอายุแค่ 21 ปี แก่กว่าฉันแค่สองปี แต่เธอเป็นนักธุรกิจตัวจริงแล้ว ฉันได้เรียนรู้อะไรจากเธอมากมาย” แพนด้า (ชมตะวัน เกลื่อนถนอม) ซึ่งได้ร่วมงานกับริต้า ซิลวา นักศึกษาหญิงชาวโปรตุเกส รู้สึกประหลาดใจอยู่เสมอในมุมมองอันแตกต่างที่มีต่อกรุงเทพฯ ของเพื่อนชาวยุโรป “ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอ ฉันคิดว่าชีวิตของเราในช่วงสองสัปดาห์นั้นมันพลิกเป็นคนละเรื่องไปเลย”

 


สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือกลุ่มแชทที่ทุกคนยังต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไป เส้นทางหลังเรียนจบจะไปทางไหน? ใครจะไปหาใครไหม? การแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นที่ผสมผสานระหว่างการสนทนาทางวัฒนธรรมและการทำงานร่วมกันส่งผลให้เกิดมิตรภาพมากมาย พวกเขาสัญญาว่าจะมาพบกันอีกในไม่ช้า อาจเป็นในยุโรปหรือในประเทศไทยก็ได้


Exchange rate ©EUNIC