บทนำ
สถานการณ์ดนตรีคลาสสิกในเยอรมนี

เยอรมนีได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งดนตรี” เนื่องด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ รวมไปถึงวงออร์เคสตรา วงประสานเสียง โรงโอเปร่า สถานที่จัดคอนเสิร์ต เทศกาลต่างๆ สถานศึกษาด้านดนตรีทั้งในและนอกระบบ และนักดนตรีที่มีอยู่จำนวนมากซึ่งทำให้ที่นี่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใดในโลก บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันรักษาความหลากหลายนี้เอาไว้

เยอรมนีเป็นดินแดนแห่งกวี นักคิด และยังรวมไปถึงนักดนตรีด้วย ไม่ว่าจะเป็น เฮนเดิล บาค เบโธเฟนและบรามส์ ชูมันน์และชูสท์ วากเนอร์ ฮินเดอมิท ไวล์และชต็อคเฮาเซิน แทบไม่มียุคใดเลยที่เยอรมนีจะไม่มีนักดนตรีคลาสสิกชั้นนำระดับโลก
มีเพียงออสเตรีย อิตาลีและฝรั่งเศสเท่านั้นที่พอจะแข่งขันกับเยอรมันได้ โดยต่างก็อ้างตนว่ามีศิลปะการดนตรีที่ดีที่สุด ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป  ความสามารถด้านสติปัญญาของคนเรามักสิ้นสุดที่พรมแดนประเทศเสมอ หากเราตัดสินสิ่งใดตามมาตรฐานของเหล่าผู้รักชาติ
 
 
 
 
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีในฐานะที่เคยเป็นประเทศศูนย์กลางด้านความคิดของยุโรปกลางก็ยังมีข้อได้เปรียบเสมอ เยอรมนีเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น มีเมืองใหญ่มากมาย จึงดึงดูดให้นักดนตรีมาพำนักถาวรหรือเดินทางมาหาแรงบันดาลใจอยู่ตลอดเวลา ราชสำนักของกษัตริย์และเจ้าผู้ครองแคว้นต่างแย่งกันสร้างท่วงทำนองอันยิ่งใหญ่ แม้แต่ศาสนจักรก็ยังนำดนตรีมาช่วยในการประกาศพระวจนะของพระเจ้า และในเวลาต่อมา แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากเบื้องสูง แต่ประชาชนคนธรรมดาก็ยังสร้างสรรค์ดนตรีเองด้วย ประวัติศาสตร์ของประเทศจึงสะท้อนอยู่ในประวัติศาสตร์ดนตรีเช่นกัน และประชาธิปไตยก็มักปรากฏในตัวโน้ตเช่นกัน แม้อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปก็ตาม
 
 
 
ดนตรีสุดประทับใจแต่ไร้การสนับสนุน
การอนุรักษ์วัฒนธรรมในเยอรมนีมีเครือข่ายที่ไม่เหนียวแน่นมานานแล้ว อีกทั้งยังไม่ถือเป็นหน้าที่ของรัฐ สถานการณ์ของดนตรีก็ไม่ต่างกันนัก ความรับผิดชอบจะกระจายไปยังเมือง ชุมชนและรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่มีรัฐใดสามารถดูแลวงออร์เคสตราที่ต้องการความช่วยเหลือทั้ง 130 วงได้ การจัดการแบบนี้จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในรัฐที่มีเมืองใหญ่จำนวนน้อย เช่น เฮสเซินหรือบาวาเรียจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้ง่ายกว่าในรัฐอย่างนอร์ธไรน์เวสต์ฟาเลินซึ่งกล่าวได้ว่ามีจำนวนมากเสียจนแทบทุกๆ สี่ช่วงถนนหลวงจะต้องมีโรงโอเปรา สถานที่จัดคอนเสิร์ต วงออเคสตรา หรือคณะประสานเสียงอีกนับไม่ถ้วนอยู่และต้องมีงานเทศกาลอย่างน้อยหนึ่งงาน นักการเมืองต่างใช้จำนวนที่ล้นหลามข้างต้นนี้ไว้อวดผลงานแก่ผู้มาเยือนจากภายนอกด้วยความภาคภูมิใจ
 
 
 
 
 
 
แต่เมื่อมาถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณอันน้อยนิดในยุครัฐบาลรัดเข็มขัดเช่นนี้กลับไม่มีผู้ใดสนใจให้เงินสนับสนุนทางด้านศิลปะการดนตรี จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐไม่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนวัฒนธรรม เรามาลองดูตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกากัน ที่นั่นวงออร์เคสตราค่อยๆ จากไปทีละวง ผู้ที่ต้องการจำกัดวัฒนธรรมให้เป็นแค่วิชาบังคับตามแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่มักจะชอบลืมไปว่า วัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่แข็งและอ่อนที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้แก่ชุมชนได้ เวลาที่ผู้คนไปชมโอเปรา พวกเขาไม่ได้ชมเพียงแค่การแสดง แต่ยังออกไปทานอาหารในภัตตาคาร ขึ้นรถไฟและซื้อสูทใหม่หรือเดรสสั้นสีดำตัวใหม่ และแน่นอนว่าครอบครัวหนุ่มสาวก็มักย้ายไปอยู่ในเมืองที่มีโรงเรียนดนตรีด้วย แต่ที่แย่ก็คือว่า โรงเรียนบางแห่งก็แอบลดชั่วโมงเรียนดนตรีแบบเงียบๆ โดยไม่บอกใคร
 
 
ความสามารถที่หลากหลายของนักดนตรีนั้นกระตุ้นให้ใครๆ ก็อยากเป็นนักดนตรี และความสามารถเหล่านี้ก็ได้รับการสนับสนุนบนพื้นฐานที่หลากหลายเช่นกัน โรงเรียนดนตรีและมหาวิทยาลัยดนตรีมีเครือข่ายที่เหนียวแน่นมาก หากใครได้เข้าไปเรียนในสถาบันเหล่านี้ ในตอนเริ่มต้นก็จะรู้สึกทึ่งกับสถาบันที่เหมือนครอบครัวที่มีหลากหลายเชื้อชาติ  ต่อมาพวกเขาก็จะรู้สึกว่าความหลากหลายด้านเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว นักศึกษาจากจีน อุซเบกิสถาน เปรูหรือซีเรียที่มาเยอรมนีเพื่อศึกษาที่นี่ล้วนต้องการจะสัมผัสรัศมีของปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ พวกเขายังต้องการที่จะได้รับการเรียนการสอนตามหลักการที่ทำให้ผลงานของชาวเยอรมันเกรียงไกรไปทั่วโลก ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะด้านฟุตบอลเท่านั้น หลักการเหล่านั้นคือ ความอุตสาหะ ความละเอียดถี่ถ้วน วินัยและการรักษาขนบประเพณีเอาไว้
 
 
 
ธุรกิจดนตรีคึกคัก
สถาบันต่างๆ ที่มีเครือข่ายที่ดีเยี่ยมตั้งอยู่ล้อมรอบวิหารแห่งศิลปะและการศึกษาศิลปะซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจดนตรีและรักษาโครงสร้างของมันเอาไว้ มีตัวแทนมากมายคอยช่วยหานักดนตรีมาป้อนให้แก่ผู้จัดงานเพื่อนำไปแสดงในเวทีทั้งใหญ่และเล็ก ทั้งนักดนตรีเดี่ยว วงดนตรีแชมเบอร์ วาทยากร และนักร้อง อีกทั้งสำนักพิมพ์อีกมากมายได้พิมพ์โน้ตเพลงให้นักดนตรีได้ใช้เล่น มีบริษัทหลายแห่งคอยผลิตเครื่องดนตรีให้นักดนตรีเล่น มีสวัสดิการสำหรับนักดนตรีและสมาคมเพื่อการแสดงดนตรีและสิทธิในการผลิตเครื่องมือ (GEMA) ซึ่งคอยดูแลให้ศิลปินได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม  แต่เพื่อให้ดนตรีส่งเสียงไพเราะดังกึกก้อง ก็จำเป็นต้องมีสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีบรรยากาศเหมาะสม ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองมีการสร้างสถานที่จัดคอนเสิร์ตใหม่ เช่น สถานที่จัดคอนเสิร์ตของคณะเบอร์ลินฟิลฮาโมนิคให้ความรู้สึกเหมือนอัฒจันทร์สมัยกรีกโรมันทั้งที่มีอายุไม่ถึง 50 ปีเท่านั้น บางที่ก็ชวนให้นึกถึงหอคอยบาเบลซึ่งทำให้คนทั้งเมืองแตกแยกเป็นสองฝ่ายได้แม้ว่าทุกคนคาดหวังที่จะได้เห็นมัน ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างของสถานที่จัดคอนเสิร์ตฮัมบวร์กเกอร์ เอลบ์ฟิลฮาร์โมนี และหากดูจากตามสถานการณ์ตอนนี้ ผู้จ่ายภาษีจะต้องจ่ายเงินหลายร้อยล้านยูโรเลยทีเดียวเพื่อสร้างอาคารอันทรงเกียรติหลังนี้
 
 
 
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในวงการดนตรีเยอรมันตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่ามีกรรไกรที่คอยตัดแบ่งระหว่างความคาดหวังกับงบประมาณที่มีอยู่ กรรไกรที่จะตัดสิ่งอันเป็นที่รักออกจากเรา นักวิจารณ์คอนเสิร์ตคลาสสิกในหนังสือพิมพ์รายวันเริ่มหาได้ยากขึ้น บางคนพูดถึงวิกฤตในดินแดนแห่งกวีและนักคิดแห่งนี้ สำหรับเยอรมนี คำทำนายว่าดนตรีคลาสสิกจะตายกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทว่าเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าตัวคนไข้เองยังกระฉับกระเฉงดี
 
โวลฟรัม เกิร์ซ
ศึกษาด้านดุริยางคศิลป์ ปรัชญาและดนตรีทางศาสนา เป็นนักวิจารณ์ดนตรีและสอนด้านการนำคณะประสานเสียง ออเคสตราและวิเคราะห์การตีความที่มหาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ดึสเซลดอร์ฟ