ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

บทวิจารณ์วรรณกรรมจากหนังสือพิมพ์ FAZ โดย อันเดรอัส พลัทท์เฮาส์
ถ้าจะเดินเรือไปแบบนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง

ผู้เขียน ยูดิท ชาลันสกี
ภาพโดย: ยือร์เกน เบาเออร์/สำนักพิมพ์ Suhrkamp

หนังสือเล่มล่าสุดของยูดิธ ชาลันสกี (Judith Schalansky) เป็นการรวบรวมเรื่องเล่าใต้หัวข้อใหญ่ที่ว่า “เรื่องของความสูญเสีย” หากแต่สิ่งที่เรากลับได้มาก็คือ วรรณกรรมในแบบที่เราไม่ค่อยได้พบเจอ

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไรหรือ? สำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์มิได้จัดหมวดหมู่ให้กับ Verzeichnis einiger Verluste (แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  บัญชีรายการบางสิ่งที่สูญหาย) ว่าเป็นวรรณกรรมประเภทใด ทว่าก่อนการตีพิมพ์หนังสือก็ได้รับรางวัลวิลเฮล์ม ราเบ (Wilhelm-Raabe-Preis) หนึ่งในรางวันอันทรงเกียรติด้านวรรณกรรมในเยอรมนี ซึ่งในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมามอบให้แต่วรรณกรรมประเภทนวนิยายเท่านั้น คณะผู้ตัดสินรางวัลกล่าวถึง “ข้อเขียนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย” แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงคำเรียก “เรื่องเล่า” ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้น ยูดิธ ชาลันสกีไม่ได้ทำเช่นนั้น ผู้อ่านจะต้องอ่านไปจนจบถึงหน้าสุดท้ายที่มีรายการภาพและแหล่งข้อมูล บทหนึ่งในหนังสือถูกบรรยายไว้ว่า “เรื่องเล่านี้คือการตัดต่อ” ส่วนเรื่องอื่นนั้นไม่ใช่ แต่ทุกๆ เรื่องเป็นเรื่องเล่า

เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้ ถูกจัดวางไว้ในรูปแบบที่มีกฎเกณฑ์เฉพาะ เมื่อเราได้ทราบว่าผู้เขียนเป็นนักออกแบบหนังสือด้วย (ซึ่งเราก็สามารถเห็นได้จากการวางรูปแบบเรื่องและเล่ม) เราก็จะเห็นถึงความสมมาตรในผลงานชิ้นนี้ อย่างเช่นว่า เรื่องเล่าทั้งหมด 12 เรื่องที่บรรจุอยู่ในเล่มมีจำนวนหน้าของแต่ละเรื่องเท่ากันหมด (คือ 16 หน้า)
 
ส่วนคำนำเองก็มีจำนวนหน้าเท่ากัน ข้อเขียนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายกลับถูกจัดวางภายใต้กฎเกณฑ์อันเคร่งครัด ซึ่งทำให้หนังสือทั้งเล่มไม่เพียงกลายเป็นรายการสิ่งของที่สูญหายที่ได้รวมเล่ม หากแต่ละบทยังถ่ายทอดตัวตนสู่บทถัดไปอีกด้วย เมื่อรวมคำนำ บทเริ่ม ดัชนีบุคคลและแหล่งอ้างอิงแล้ว “บัญชีรายการบางสิ่งที่สูญหาย” นับได้ว่ามีทั้งหมด 16 บท และเมื่อทั้งหมดถูกนำมาเล่าในภาพรวมโดนแสดงความใส่ใจผ่านการออกแบบจัดวางหนังสือเล่มนี้ อาจทำให้เราเจ็บปวดกับการสูญเสียมากยิ่งขึ้น
  Judith Schalansky: „Verzeichnis einiger Verluste“ © Suhrkamp Verlag
ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน “บัญชีรายการบางสิ่งที่สูญหาย” คือ การรวบรวมเรื่องราวชีวิตของยูดิธ ชาลันสกีผู้ถือกำเนิดในปีค.ศ. 1980 หนังสือแนวอัตชีวประวัติเล่มนี้ มี 4 เรื่องในเล่มที่ผู้เขียนเล่าในมุมมองของตนเองโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 และสองเรื่องในนั้นก็เกี่ยวกับบ้านเกิดของเธอ อันได้แก่พื้นที่แถบเมืองไกรฟสวัลด์ (Greifswald) เมืองท่าในเขตฟอร์พอมเมิร์น (Vorpommern) รวมทั้งข้อความแนวร้อยกรอง “Hafen von Greifswald“ ที่เกิดขึ้นจากการเรียบเรียงความประทับใจระหว่างการเดินทางเพื่อเรียนรู้ไปตามริมแม่น้ำรืค (Ryck) ทั้งสามครั้งของผู้เขียน สิ่งที่ถูกนำมาเป็นประเด็นของการสูญเสียอยู่ในเรื่องภาพของศิลปิน คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช (Caspar Davis Friedrich) ที่ถูกไฟไหม้ไปในค.ศ. 1931 แต่นั่นก็เป็นเพียงการจุดประกายของการบรรยายธรรมชาติและทิวทัศน์วัฒนธรรมอย่างมุ่งมั่นและลงรายละเอียด สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือน้ำเสียงในการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนทำให้ตัวเองเป็นตัวละครหลักตามแนวการเขียนแบบ nature writing อันถือเป็นการปลุกชีวิตให้กับแนวเขียนแบบนี้ในแวดวงวรรณกรรมเยอรมันขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้จะเห็นเทคนิคนี้ได้จากหนังสือชุด "Naturkunden"  ที่เธอเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักพิมพ์ Mattes & Seitz อีกด้วย
 
ขอยกตัวอย่างจากเรื่องเล่าเรื่องอื่นๆ ย่อหน้าที่ยกมานี้ไม่ใช่จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนเอง แต่มาจากงานวิจัยที่เธอเก็บไว้ “เรือเหล่านั้นมุ่งไปสู่ฝั่งที่มองเห็นแสงวิบวับเป็นทางอยู่ไกลลิบ และยังคงเดินเรือไปทั้งคืน จนถึงรุ่งสางเมื่อเข้าใกล้เกาะจนอยู่ในระยะประมาณ 4 ไมล์ ด้านใต้ของเกาะอาบไปด้วยแสงอรุณที่กำลังเบิกฟ้า เกิดเป็นภาพอันงดงามจับจิตจับใจ ทำให้เหล่าลูกเรือต่างพากันคว้าพู่กันและปากกาขนนกเพื่อเก็บรักษาภาพพาโนรามาอันวิจิตรเอาไว้ในความทรงจำด้วยสีน้ำและลายเส้นที่ได้ฝึกฝนมา” ยูดิธ ชาลันสกีแสดงความสามารถในการเสกสร้างภาษาผ่านการเลือกใช้คำศัพท์เฉพาะทางการเดินเรือและสร้างฉากแสดงสิ่งที่บรรยายออกมาไม่ได้
 
เธอเลือกใช้น้ำเสียงที่หลากหลายในการเล่า ผู้เขียนได้ทำสิ่งที่ตรงข้ามสุดโต่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทกวีที่สูญหายของแซฟโฟ กวีหญิงชาวกรีก บทนี้นับได้ว่าเป็นหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ แม้ว่ารูปแบบการเขียนจะเป็นเรียงความที่ตัดเป็นท่อนๆ แต่กลับเป็นเพลงที่เอ่ยชมความรักของหญิงสาว เนื้อเรื่องแนวนี้นำมาจากภาพยนตร์ดังเรื่อง “Der Knabe in Blau“ ของผู้กำกับที่เกรทา การ์โบ (Greta Garbo) ชื่นชมนามว่า ฟรีดริช วิลเฮล์ม มัวร์เนา (Friedrich Wilhelm Murnau) นอกจากนี้ยูดิธ ชาลันสกียังเคยใช้เนื้อเรื่องแนวนี้ในผลงานชิ้นก่อนๆ ได้แก่เรื่อง “Blau steht dir nicht“ ที่ตีพิมพ์ในปี 2008 ผ่านตัวละครหลักกึ่งหญิงกึ่งชาย และในบทต่อมาในหนังสือเล่มใหม่อีกด้วย โดยเป็นบทพูดกับตนเองในหัวของเกรทา การ์โบ ผู้เขียนได้ตั้งชื่อเรื่องว่า “Der Knabe in Blau” เหมือนชื่อภาพยนตร์และใช้สีน้ำเงินเป็นจุดเชื่อมโยงกับนวนิยายเกี่ยวกับชาวเรือผลงานเมื่อสิบปีก่อนของตัวเองอีกด้วย
 
เมื่อพลิกหน้าหนังสืออ่านไปเรื่อยๆ เราจะสัมผัสได้ถึงความสนใจของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกาะที่ห่างไกลที่แสดงออกผ่านผลงานที่ตีพิมพ์ในค.ศ. 2009 และประสบความสำเร็จได้รับการแปลในหลายภาษาอย่างเรื่อง “Atlas der abgelegenen Inseln" หรือจะเป็นการสืบหาข้อมูลด้านจิตใจและจินตนาการของชีวิตในเยอรมันตะวันออกตามที่เธอได้เขียนถึงในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอจากปีค.ศ. 2011 อย่างเรื่อง “Der Hals der Giraffe" เรื่องเล่าในหนังสือเล่มล่าสุดที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ก็คือ “Palast der Republik" ที่กระชับชัดเจนอย่างเหลือเชื่อ บรรยากาศใน „Atlas der abgelegenen Inseln" พบได้ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเกาะที่จมหายไปในศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุแผ่นดินไหวในทะเล “ฉันมองดูลูกโลกสีฟ้าซีดใบนี้อีกครั้ง ตาของฉันพบจุดจุดนั้นอย่างรวดเร็ว ที่นั่น ตรงนั้นแหละ ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตร ระหว่างหมู่เกาะที่กระจัดกระจาย หากเพียงผืนดินสมบูรณ์ชิ้นนั้นจะยังคงมีอยู่ อีกฝากฝั่งของโลกนี้ ฝั่งที่สิ่งที่เคยมีอยู่กลับถูกลืม โลกจะเศร้าเสียใจกับสิ่งที่มันเคยรู้จักเท่านั้น และไม่อาจล่วงรู้เลยว่า ตัวเองได้สูญเสียเกาะเล็กจิ๋วนั่นไปเสียแล้ว หรือแม้ว่าดาวทรงกลมใบนี้จะถือว่ารอยจุดที่หายไปเป็นสะดือของมัน แม้ว่าเกาะนั่นจะไม่ได้พันผูกโลกเอาไว้ด้วยเชือกฝั่นของการค้าและสงคราม หากแต่ด้วยด้ายที่ถักทออย่างดีด้วยความหวังก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าตำนานนั้นคือความจริงอย่างที่สุด จึงทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า แท้จริงแล้ว ห้องสมุดก็คือโรงละครที่เก็บรักษาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนั่นเอง”
 
และก็นับว่าเป็นโชคดีของห้องสมุดที่จะได้หนังสือเล่มใหม่ของยูดิท ชาลันสกีไปไว้บนชั้นหนังสือ

“เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ในหนังสือพิมพ์ Frankfurt Allgemeinen Zeitung © สงวนลิขสิทธิ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung GmbH, Frankfurt ให้เข้าถึงได้โดย Frankfurter Allgemeine Archiv”