ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

บทวิจารณ์วรรณกรรมจาก Zeit โดย David Hugendick
เซลล์ประสาทที่ระเบิดเป็นเสี่ยง

ผู้เขียน Thomas Melle
ภาพ: Dagmar Morath

Thomas Melle เล่าเกี่ยวกับอาการไบโพลาร์ของเขาใน “Die Welt im Rücken” หนังสือที่ว่าด้วยชีวิตที่แตกเป็นเสี่ยงของเขาเล่มนี้เป็นบทอ่านที่กร่อนกินพลัง ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณกรรมอันทรงค่า

น้อยครั้งที่เราจะอ่านหนังสือสักเล่มด้วยความรู้สึกอับอายอันซับซ้อน เราอับอายไปกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง เพราะเรารู้สึกเหมือนถูกเหยียบย่ำทับถม ตะลึงอึ้งงันและกลับรู้สึกสนุกสนานครั้งแล้วครั้งเล่า เราอับอายเมื่อเกิดอารมณ์ร่วมและตระหนักในทันใดว่าตัวเองเป็นเหมือนพิธีกรรายการทอล์คโชว์สะเทือนอารมณ์ที่คอยถามคนทั้งโลกไม่หยุดหย่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเราอับอายที่มั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่มันเองอาจไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น หากแต่เป็นการค้นหาตนเอง อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวที่เศร้าและเป็นเรื่องจริงที่เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของผู้อ่าน และไม่ได้มีเพื่อความฮือฮาสนใจของนักวิจารณ์

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Thomas Melle หนังสือของเขามีชื่อว่า Die Welt im Rücken ซึ่งเล่าถึงความขัดแย้งและความอับอายอันหนักหน่วงยิ่งกว่าที่เราจะสามารถสัมผัสได้ในฐานะผู้อ่าน หนังสือว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับอาการเรื้อรังของโรคไบโพลาร์ที่นักเขียนวัย 43 ปีผู้นี้เคยเผชิญ เรื่องของอาการซึมเศร้า-ฟุ้งพล่านที่กำเริบสามรอบ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงความเปราะบางของตัวตนมนุษย์ เล่าว่าใครบางคนกลายเป็นปีศาจในร่างคนได้อย่างไร เล่าถึงความสุขอันไม่จีรัง และความทุกข์ที่โถมทับอย่างหนัก เล่าถึงช่วงปีที่ใช้ชีวิตเป็น “ตัวตลกหัวร้อน” ซึ่งสำหรับเขาแล้วแต่ละวันขุ่นมัวราวแก้วที่เต็มไปด้วยฝ้า และแต่ละสัปดาห์ราวเขาวงกต ที่แย่กว่านั้นก็คือ เขาคือตัวตลกคนนั้น และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่

ขณะเดียวกันมันคือการหยามศักดิ์ศรีอย่างมาก ที่จู่ ๆ วันหนึ่ง Melle ไม่ได้เป็นนายของตนเองอีกต่อไป เขาผู้เป็นนักเรียนทุนผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์และเป็นนักเขียนอัจฉริยะ เป็นผู้เขียนหนังสือ “Sickster” และ “Raumforderung”  เติบโตมาใน “Haribo-slum“ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมยากลำบากและเต็มไปด้วยกลิ่นถ่านหิน เขามองว่าตนเองเป็น “เหยื่อของจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย” ที่เซลล์ประสาทในหัวระเบิดสะบั้น เขาเคยเกิดอยากจะซื้อไม้เบสบอลจากห้างสรรพสินค้า เพื่อมาฟาดทำลายย่าน  Berlin-Mitte (แต่ท้ายที่สุดเขาได้ซื้อเพียงลูกบาสเกตบอลเท่านั้น)  เขาเคยทุบกระจกรถไฟ เพราะไม่อาจทนสภาพปะทะระหว่างตนเองกับโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้ และมีความเชื่ออย่างหลงตัวเองว่า ศิลปินนักเขียนชื่อดังที่เสียชีวิตไปแล้วปรากฏอยู่ตรงหน้าของเขา

Picasso ในไนท์คลับ Berghain

เขาเห็น Foucault ในร้านอาหาร  Thomas Bernhard ในแมคโดนัลด์ตรงสถานีรถไฟที่ เมือง Wuppertal และคืนหนึ่งที่ Berghain เขาเจอ Picasso ศิลปินที่เขาไม่ปลื้มและได้ทำไวน์หกรดกางเกง เขาเชื่อว่าตัวเองเคยมีเซ็กซ์กับ Madonna และ Björk ร้องเพลงให้เขาโดยเฉพาะในบาร์ที่อยู่ติดกัน Thomas Melle เขียนไว้ว่า “ชีวิตผมเหมือนโศกนาฏกรรมที่มาจากเรื่อง Hulk und Hybris” ในช่วงเวลาที่อาการฟุ้งพล่านกำเริบ ตัวเขาพองคับโลก ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเขา จนถึงกับเชื่อว่า "นกกระจอกบนหลังคากำลังส่งเสียงร้องเรียกพวกเรา"

มันเป็นเหมือนการสมคบคิดของเหล่าสัญลักษณ์ต่างๆ : ใบหน้าผู้คนตามท้องถนนที่โถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน บทความในอินเตอร์เน็ท ข่าวต่างๆ สุนทรพจน์ของ Gerhard Schröder เหตุการณ์ 9/11 แม้กระทั่งผู้นำเผด็จการทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างพูดกับเขา หัวเราะเยาะเขา ทุกสิ่งทุกอย่างคือสารส่งถึงเขา ดำรงอยู่เพื่อตัวเขาแต่เพียงผู้เดียว โลกทั้งใบที่น่าหวาดกลัวและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ขณะเดียวกันก็ประหนึ่งดิสนีย์แลนด์ ที่ราวกับสร้างขึ้นมาเพื่อเขาคนเดียวเท่านั้น

“เมื่อเป็นเช่นนั้น วันและคืนก็ถูกกลืนหายไป” Melle เขียนไว้เช่นนั้น: ความคลุ้มคลั่ง การลักขโมย การหวีดร้อง โทรทัศน์เปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา จนกระทั่งเขาเข้าสถานบำบัดทางจิตเป็นครั้งแรก อยู่ท่ามกลางผู้คนที่สถาปนาตนเองเป็น “กษัตริย์แห่งเยอรมนี”
และ “ทูตสวรรค์ของหมู่คนเลว” ที่นั่นประหนึ่งเรือนจำที่เต็มไปด้วยสายตาไร้สัญลักษณ์สื่อสารใดๆ ณ ที่นั้น การเสียดสีเพื่อป้องกันตนเอง ทฤษฎีทางวัฒนธรรมที่เคยคร่ำเคร่งเรียนมาก็ไม่อาจช่วยเขาได้   ที่ตรงนี้ไม่มี Foucault ไม่มี Derrida และไม่มีดนตรีของ Trent Reznor ที่โผล่มาในหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่า  สำหรับ Thomas Melle นั้นความหวังหนึ่งเดียวในการรักษาคือ “ระยะเวลา” ที่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าในตัวเขากำลังมีสงครามทำลายล้างปะทุอยู่ สงครามระหว่างสองขั้วอันน่าสะพรึงกลัว กล่าวคือ ความฟุ้งพล่านกับความหดหู่ซึมเศร้า

สิ่งที่ตามมาคือการแอดมิทเข้ารักษาตัว การออกจากสถานบำบัด ยาที่กินแล้วอ้วน ชื่อของผู้คนที่ยังคงจำได้และอีกมากมายที่ลืมไปแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขานั่งอยู่ในความโดดเดี่ยวอันมืดมนและเข้าเว็บเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมในการปลิดชีพตนเอง เขาปรารถนาที่จะ “หายไป” แต่ไม่ต้องการ “เน่าเฟะ”  เขาเคยเอาหัวใส่เข้าไปในห่วงสายไฟในห้องน้ำ ขณะเดียวกันก็นึกถึงกลุ่มก่อการร้าย Stammheim และ RAF นอกจากนี้ในหัวมีเพลง “Fernando“ ของวง ABBA ก้องอยู่ เขาซ้อมเหตุการณ์นี้เผื่อเอาไว้ และหวังว่านักบำบัดจะไม่สังเกตเห็นรอยรัดตรงคอของเขาในภายหลัง

“ความบิดเบี้ยวและผิดพลาด”

การคว้านลึกเข้าไปในตัวตนและเรื่องราวต่างๆ อันหนักหน่วงนี้กลายมาเป็นบทอ่านอันแสนหนัก นั่นเป็นเพราะ Thomas Melle ตั้งใจเขียนถึงอาการป่วยของเขาในลักษณะค้นหาและพยายามเข้าใจตนเอง เขาเรียกหนังสือของเขาว่าเป็น “วรรณกรรมกระบวนการเรียนรู้อันล้มเหลว” (gescheiterter Bildungsroman) ความสับสน หรือ “ความบิดเบี้ยวและผิดพลาด” ของเขาไม่ได้ถูกหยิบยกมาเปรียบเปรยหรือยกระดับให้จรรโลงใจมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ตรงไปตรงมา ไร้ความปรานี โดยเล่าถึงเรื่องการต่อสู้อันไร้ผลของตัวผู้เขียนกับโรคนี้ในแบบที่ไม่ใช่การกระทำของผู้กล้า ไม่ใช่สิ่งชวนน่าสงสารอันเป็นผลมาจากชีวิตยากลำบากก่อนหน้านั้น หากแต่เป็นช่วงเวลาโดดเดี่ยวที่ไม่น่าอภิรมย์  ความตรงไปตรงมาและความหยาบแรงของหนังสือเล่มนี้มิใช่ลักษณะท่าทีของงานวรรณกรรม

ประโยคต่างๆ ที่ เขากลั่นออกมาจากการใช้ชีวิตที่แตกเป็นเศษเสี้ยวของเขาบนท้องถนน ชีวิตในช่วงราตรี ในการซ้อมละครเวที ในระหว่าง “มื้ออาหารเช้าแบบมีวัฒนธรรม” และในห้องสันทนาการของสถานบำบัด จนถึงจุดที่ข้นแค้นและกลายเป็น
“ตัวตลก” --- ประโยคต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีร่องรอยฟกช้ำและบาดแผล บ่อยครั้งมีกระทั่งกรงเล็บและคมเขี้ยว  เขาบรรยายภาพช่วงปี 1990s ภาพพิธีกรรายการ MTV ที่มี “ใบหน้าฉายกัมมันตภาพรังสี” ความไม่เกรงอกเกรงใจในซูเปอร์มาร์เก็ต และดวงตาอันว่างเปล่าของนักดื่มในเบอร์ลิน อย่างหลักแหลมพินิจพิเคราะห์แบบที่เราไม่ค่อยจะ
ได้พบเห็นในงานวรรณกรรมเยอรมัน  ใน “Die Welt im Rücken“ เรายังจะได้เห็นภาพของเบอร์ลินในช่วงปลายปี 1990s และช่วงต้นทศวรรษ 2000 อย่างคร่าวๆ อีกด้วย

ภาษาทางการของโลก

เวลาที่ Thomas Melle บรรยายช่วงฟุ้งพล่าน เขาจะกระชากภาษาให้ตรงกับความรู้สึกของเขาให้มากที่สุด และพยายามเรียบเรียง “ความฟุ้งคลั่งของประสาทสัมผัส” เช่นเดียวกับช่องว่างของความทรงจำที่ความฟุ้งพล่านได้ทิ้งไว้ให้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเข้าใจหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นการเขียนจากความทรงจำ  อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นในลักษณะประวัติชีวิตที่ควบคุมวางแผนได้  หากแต่เป็นงานเขียนที่สะท้อนช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่ตัวผู้เขียนได้หลงลืมไป (นับเป็นความปรานีอันแดกดันของโรคนี้) แต่ในตอนนี้ไม่ต้องการที่จะลืมอีกต่อไปแล้ว  ภาษาของเขาแรงกร้าว เจ็บปวด ร้ายกาจ อ่อนไหว เร่งเร้า และขณะเดียวกันยังยั้งให้อยู่ในความพอดีได้อย่างน่าประทับใจ และเรารู้สึกได้ว่าภาษาของเขาดูเหมือนมาจากความหวาดกลัว การหาที่ยึดเหนี่ยวในประโยคและถ้อยคำที่ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ขับไล่โรคนี้ไปในชั่วขณะหนึ่ง หากแต่ยังพยายามสร้างสิ่งที่ถาวรยั่งยืนขึ้นมา สิ่งที่จะยังมีผลอยู่ในช่วงแห่งความวุ่นวายที่อาจบังเกิดขึ้นในหัวเขาได้อีกในเสี้ยวนาที

และในหนังสือเล่มนี้ยังมีหลายประโยคที่ไม่ได้แรงเข้มข้นมากพอที่จะแบกรับความเหงาและเศร้าโศก ความเหนื่อยล้าและอารมณ์ร้อนร้าย: “ผมนั่งอยู่ตรงนั้นและเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมนุษย์อีกต่อไป แต่อยู่ในกลุ่มวัตถุที่ไร้ชีวิต” ช่วงท้ายของอาการกำเริบครั้งที่สาม เขาไร้ที่อยู่ ไร้ทรัพย์สิน จมทับอยู่ในกองหนี้และคดีต่างๆ ตกเป็นเป้าของโลกที่รุกล้ำและเต็มไปด้วยภาษาราชการที่ฟังแล้วเหมือนบทพูดคนเดียวอันก้องกังวานของ ”เหตุผล” ที่กำลังแย้งกับ ”ความคลุ้มคลั่ง” : ข้อเสนอการผ่อนชำระ สัญญาการให้บริการ รายงานการจัดการผู้ป่วยรายกรณี การแจ้งขอรับความช่วยเหลือ เอกสารการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

มาตรการตรึงให้นิ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังที่ Thomas Melle เขียนไว้ เราคงคิดไม่ออกว่าชีวิตแบบไหนที่จะเต็มไปด้วยความน่าอับอายมากไปกว่าชีวิตของผู้ป่วยฟุ้งพล่านและซึมเศร้า หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยความอับอาย ความสำนึกเสียดาย และความไร้ที่พักพิง อันเป็นความรู้สึกน่าอึดอัด เพราะเป็นการไร้ที่พักพิงแบบที่ตัวเองไม่ได้อยู่ข้างใน แต่ก็ไม่ได้อยู่ข้างนอกเสียทีเดียว “โรคนี้ได้พรากบ้านที่พักพิงไปจากผม แต่ตอนนี้โรคนี้ล่ะครับที่เป็นบ้านที่ผมคุ้นเคยผูกพัน” โรคนี้เป็นโศกนาฏกรรมชีวิตของ Thomas Melle การที่เราสามารถอ่านเรื่องที่ว่านี้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ได้ นับเป็นปรากฏการณ์กัดกร่อนพลังทางวรรณกรรม