วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน
ห้องสมุดสิ่งของ

© Jonathan Bookmeyer

สิ่งของที่นานๆ ทีจะได้ใช้ เราจะต้องซื้อหามาเพื่อครอบครองมันจริงหรือ ร้านยืมสิ่งของไลลาในเมืองไลพ์ซิกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมการบริโภคเกินความจำเป็น

ค่าเฉลี่ยของสิ่งของที่คนยุโรปหนึ่งคนควรจะมีก็คือ หนึ่งหมื่นชิ้น ตัวเลขนี้แสดงการอยู่ดีกินดีหรือความฟุ่มเฟือยกันแน่ เมื่อถึงเวลาต้องย้ายบ้าน คนก็มักเจอของที่เก็บกองสุมไว้เป็นปี ไม่ว่าจะเป็นเต๊นท์ที่อยู่ในห้องใต้ดินมาครึ่งปีแล้ว ชุดไม้แบดที่อยู่โยงเฝ้าห้องเก็บของเกือบตลอดเวลา หรือเครื่องอบขนมปังที่ใช้แค่เดือนละครั้ง แม้แต่พวกของที่ระลึกก็เป็นที่น่าสงสัยว่าจะจับจองพื้นที่ในห้องใต้ดินหรือห้องใต้หลังคาไว้อย่างเหนียวแน่นนานเป็นปีๆ พอมองกลับไปยังข้าวของทั้งหลายที่มีก็จะรู้ตัวว่าว่าเราได้ใช้จริงๆ แค่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แล้วเราจะเกิดคำถามต่อตัวเองว่า เราจำเป็นต้องซื้อและเป็นเจ้าของสิ่งของที่เราไม่ค่อยได้ใช้จริงๆ หรือ
 

ใช้สอยแทนที่จะครอบครอง

“กินที่ ดักฝุ่น และผลาญเงิน” เป็นคำนิยามที่ลาร์สและยานาใช้เรียกสิ่งของต่างๆ ที่ถูกทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่ในห้องใต้ดิน  เมื่อทั้งสองเกิดความคิดที่จะหาทางเลือกในการลดความฟุ่มเฟือย พวกเขาก็ได้เปิดห้องสมุดสำหรับให้ยืมสิ่งของในปี 2014 ที่เมืองไลพ์ซิก และภายในเวลาไม่นาน สถานที่สำหรับยืมคืนของใช้ร่วมกันก็เกิดขึ้น
 
  © © Jonathan Bookmeyer Leila Leihladen © Jonathan Bookmeyer

บนชั้นวางในร้านยืมสิ่งของไลลา สิ่งของต่างๆ ได้หลบลี้ความเลวร้ายของการถูกลืม เป้สะพายหลังได้ออกเดินทางอยู่บ่อยๆ สว่านก็ได้ใช้งานหลายต่อหลายครั้ง หนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่ต้องค้างเติ่งอยู่บนชั้นวางหลังจบทริป แต่กลับได้ไปอยู่ในมือนักผจญภัยคนใหม่ “เราต้องการให้ผู้คนตระหนักถึงการบริโภค” ทั้งสองอธิบาย “คนเราไม่ต้องซื้อไปเสียทุกอย่าง แต่เราแบ่งปันการใช้สิ่งของร่วมกันได้”  เมื่อจ่ายค่าสมาชิกของร้านไลลา 3 ยูโรต่อเดือนก็สามารถยืมของที่มีอยู่ในร้านไปใช้ได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ และเพื่อเป็นการเพิ่มข้าวของในร้าน สมาชิกที่มาสมัครใหม่ก็ควรนำของหนึ่งชิ้นเข้าร้าน “เราอยากสร้างแนวคิดใหม่ ไม่ให้ผู้คนยึดติดกับสิ่งของ แต่แบ่งปันการใช้สอยสิ่งของร่วมกัน”

ขั้นตอนแห่งการปลดปล่อย

บนเว็บไซต์ของร้านไลลาปรากฏข้อความรณรงค์ อย่างเช่น “จงปลดปล่อยตัวเอง” หรือ “เราเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นของเราหรือมันเป็นเจ้าของเรากันแน่”
 
“ไลลาคือการบำบัดทางหนึ่งสำหรับฉัน และสำหรับคนอื่นๆ ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการปลดปล่อยตัวเองออกจากสิ่งของเหมือนกัน” ยานาเล่าถึงแรงจูงใจของเธอ “ฉันมีความสุขที่ได้เห็นคนอื่นมีช่วงเวลาที่มีความสุขและออกจากร้านไปพร้อมประกายตาที่สดใส เมื่อพวกเขาได้พบกับสิ่งของที่กำลังหาอยู่” เธอเล่าอย่างมีความสุข แต่กระนั้นตัวยานาเองก็มีปัญหาเรื่องการแยกจากสิ่งของอยู่บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดใจจากของแทนความทรงจำชิ้นโปรด แต่ปัญหานี้ก็มีทางออก “ภาพถ่ายที่เก็บในลิ้นชักก็เพียงพอแล้วต่อการเก็บไว้ในความทรงจำ” เธอบอกพร้อมรอยยิ้ม สำหรับยานาแล้ว แบบนี้ก็สามารถเก็บความทรงจำไว้ในสมองและในหัวใจได้

ไลลาเป็นดังชุมชนและสถานที่พบปะ

  © © Jonathan Bookmeyer Leila Leihladen © Jonathan Bookmeyer
เรื่องสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่การละทิ้งความยึดติดเท่านั้น ลาร์สและยานายังสร้างให้ร้านไลลาเป็นการกลับคืนสู่ความเป็นชุมชนอีกด้วย การแบ่งปันการใช้สิ่งของไม่ได้ให้ความสุขแก่ผู้ใช้เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังให้นำความสุขมาสู่ผู้ที่ยอมยกของใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกด้วย สิ่งของที่นำมาแลกเปลี่ยนกันใช้เป็นสื่อให้เกิดการสนทนาและความรู้สึกร่วมของชุมชน ทำให้ผู้คนในชุมชนได้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น
 
“เราคิดว่า ความคิดร่วมของชุมชนได้หายไปในสังคมปัจจุบัน เราไม่รู้จักเพื่อนบ้านเลย และไปร้านขายเครื่องมือแทนที่จะขอยืมกันเอง” พวกเขากล่าวด้วยความคิดที่ว่าจะสร้างชุมชนขึ้นมา ให้เป็นชุมชนที่รวมผู้คนจากหลากหลายชนชั้นเข้าด้วยกัน ยานาและลาร์สเชื่อว่า แม้ในเมืองใหญ่อย่างไลพ์ซิกก็เกิดขึ้นได้
 
ไม่เพียงในไลพ์ซิกและเบอร์ลินเท่านั้นที่มีโครงการลักษณะนี้ แต่ยังมีอีกหลายเมืองในยุโรป  ในฤดูร้อนทั้งสองคนจะออกเดินทางไปเยี่ยมโครงการแบบนี้ในที่ต่างๆ “เรากำหนดร้านยืมของให้เป็นจุดหมายการเดินทาง” ลาร์สบอก การเดินทางปีนี้จะเริ่มที่อังกฤษ ส่วนปีที่ผ่านมาพวกเขาไปสโลวีเนีย “ที่ลูบลิยานามีให้ยืมแม้กระทั่งชุดเจ้าสาว” เขาพูดยิ้มๆ
 
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ goethe.de/tudoalemao , คำแปลภาษาไทยโดย ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ