ความเป็นจริงเสมือน
โปรเจกต์ VR จากเยอรมนี

ว่ายวนอยู่ในโลกเสมือนจริง
ว่ายวนอยู่ในโลกเสมือนจริง | ภาพ (ตัดต่อ): © Adobe

โปรเจกต์ความเป็นจริงเสมือนและโปรเจกต์ 360 องศาทั้ง 10 จากเยอรมนีที่คุณควรรู้จัก

ว่ายวนและดำดิ่งลงไปในโลกแห่งความจริงอีกใบที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ทุกหนทุกแห่งต่างก็มีการทดลองทางเทคโนโลยีและศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์หรือโรงเรียน โฆษณาหรือการตลาด ในสื่อหรือในวงการจิตบำบัด และในเยอรมนีเองก็มี 10 กลุ่มบริษัท สถาบัน และนักวิจัยเหล่านี้ที่กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นจริงเสมือน (VR)

VR-Nerds

การรวมเกมคอมพิวเตอร์และกีฬาเข้าด้วยกันถือเป็นความฝันของเหล่าเกมเมอร์ตัวจริง และ Tower Tag เกมแนวยิงปืนในรูปแบบ VR จาก VR-Nerds บริษัทผู้ผลิตจากเมืองฮัมบวร์กก็ให้ผู้เล่นได้มาดวลกันในโลก VR ด้วยปืนเลเซอร์เสมือน ซึ่งมีฉากหลังที่ปรับมาให้เข้ากับพื้นที่เล่นจริงมากที่สุด โดยผู้เล่นจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ตัวเองเห็นผ่านแว่น VR เช่น เมื่อไปปักหลักหาที่กำบังอยู่หลังเสา VR-Nerds ยังจัดงาน vSports Tower Tag Tournaments ในโลกความจริงผสมนี้อีกด้วย แม้ VR-Nerds จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเกม VR แต่ก็ยังมีศูนย์ข่าวยอดนิยมที่นำเสนอข่าวสารวงการความเป็นจริงเสมือนและเทคโนโลยี 360 องศาด้วยเช่นกัน

gamelab.berlin

เราจะเต้นในโลกเสมือนได้อย่างไร นักออกแบบท่าเต้นไอนาฟ คาทาน-ชมิด (Einav Katan-Schmid) ตอบคำถามนี้ด้วยการจับมือกับ gamelab.berlin เพื่อร่างแนวคิดการแสดงในรูปแบบ VR ที่ให้นักเต้นเคลื่อนไหวร่างกายในโลกของตัวเองได้ โดยได้ศึกษาเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายของนักเต้นมืออาชีพในการประชุมเกี่ยวกับการเต้นรำใน VR ที่ผ่านมา gamelab.berlin คือโปรเจกต์ของแล็บสหวิทยาการ “Bild Wissen Gestaltung” ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮุมโบลท์ (Humboldt Universität) แห่งกรุงเบอร์ลิน ศูนย์วิจัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยโทมัส ลิลเกอ (Thomas Lilge) นักวิชาการด้านการละครและปรัชญา เพื่อศึกษาวิจัยทุกสิ่งที่เกี่ยวกับความเป็นจริงเสมือนและเกม ตั้งแต่การเล่าเรื่องข้ามสื่อ เกมที่เล่นกันจริงจัง ไปจนถึงการสร้างเกมขึ้นจากสิ่งต่างๆ

SEHSUCHT Berlin

โมเดอราท (Moderat) วงดนตรีจากเบอร์ลินต้องการสร้างโลกอันเลวร้ายในจินตนาการขึ้นในมิวสิควิดีโอ ในปี 2016 ผู้กำกับและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ มาเทอ ชไตน์ฟอร์ท (Mate Steinforth) จึงได้ร่วมมือกับโปรดักชั่นเฮาส์ Sehsucht ทำการถ่ายทำ “Reminder” แอนิเมชั่น 360 องศาในเบอร์ลิน แทนที่จะเป็นภาพเคลื่อนไหวทั่วๆ ไป มิวสิควิดีโอชิ้นนี้กลับแสดงออกเป็นสุนทรียภาพในรูปแบบวิดีโอเกม และเมื่อชมใน VR จะยิ่งเห็นความประดิษฐ์ได้ชัดเจนขึ้น Sehsucht ถนัดการถ่ายทำโฆษณาแบบ 360 องศา เช่น โฆษณายานยนตร์

Vragments

Vragments สตาร์ทอัพจากเบอร์ลินพร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ Deutsche Welle และ Euronews พัฒนา Fader เครื่องมือที่ใช้งานได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งทำให้บรรดานักข่าวรังสรรค์โปรเจกต์ 360 องศาร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในแวดวงนักข่าว เพราะเป็นครั้งแรกที่จะสามารถผลิตเนื้อหาในรูปแบบดังกล่าวออกมาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาโปรดักชั่นเฮาส์ นอกจากนี้ Vragments ยังผลิตสารคดีและรายงานข่าวเองอีกด้วย รวมถึงได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุ Deutschlandradio Kultur สร้างห้องสอบสวนของ Stasi ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบเสมือน เพื่อให้ผู้ใช้สัมผัสประสบการณ์การสอบสวนที่ใช้กันในสมัยเยอรมนีตะวันออกได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

WDR & ARTE

สถานีโทรทัศน์สาธารณะ WDR และ ARTE ให้ผู้ใช้สัมผัสกับเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยการรายงานข่าวผ่าน VR โดยสถานี Westdeutscher Rundfunk (WDR) นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของโลก 360 องศาที่น่าประทับใจ อย่างเช่น สารคดี 360 องศาเรื่องค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grimme Online Award หรือสารคดี VR เรื่องเหตุโจมตีในกรุงปารีส ส่วนสถานีโทรทัศน์สัญชาติเยอรมัน-ฝรั่งเศสอย่าง ARTE ก็ให้ผู้ใช้ได้ว่ายวนในโลก VR พร้อมรับประสบการณ์ในอีกรูปแบบ เช่น การดำดิ่งสู่ท้องทะเลลึกไปกับนักดำน้ำแบบฟรีไดฟ์วิ่ง หรือการสัมผัสประสบการณ์การแสดงในรูปแบบ VR ของศิลปิน โยนาธาน เมเซอ (Jonathan Meese) และแม่ของเขา บริกิตเทอ (Brigitte)

Julia Leeb

ยูเลีย ลีบ (Julia Leeb) นักข่าวในรูปแบบ VR ชาวมิวนิครายงานข่าวจากพื้นที่สงครามและถ่ายทำสารคดีจาก เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน และเกาหลีเหนือ โดยลีบ (Leeb) จะนำผู้ใช้ออกจากพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองและมุ่งตรงไปสู่เหตุการณ์ เช่น รายงานข่าวอย่างเจาะลึกในรูปแบบ 360 องศาเมื่อปี 2016 ที่นำผู้ใช้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตในหมู่บ้านผู้ต่อต้านรัฐบาลในประเทศคองโก

INVR.SPACE GmbH

ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีเฮฟวีเมทัล Wacken ในประสบการณ์แบบ VR การชมเอนเตอร์เทนเนอร์ ฟรีดริช ลีชเทนชไตน์ (Friedrich Liechtenstein) ผ่าน VR หรือโปรเจกต์ศิลปะ Eating Refugees ในรูปแบบ 360 องศาของศูนย์เพื่อความงามทางการเมือง ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของ INVR.SPACE โปรดักชั่นเฮาส์จากเบอร์ลิน ที่พัฒนาวิดีโอ แอปพลิเคชัน VR และ 360 องศาเชิงโต้ตอบทุกประเภท โดยทั้งนักข่าว VR อย่างยูเลีย ลีบ (Julia Leeb) และกองบรรณาธิการ รวมถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ต่างก็เคยใช้บริการ INVR.SPACE ในโปรเจกต์ของตัวเองมาแล้ว บริษัทแห่งนี้ยังได้พัฒนาโปรเจกต์ส่วนตัวที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะใหม่ล่าสุดและโดรน ซึ่งได้รับรางวัล German Design Award 2018 อีกด้วย

Frank Steinicke

การทดลองกับตัวเองที่เป็นสถิติโลกนั้นทำสำเร็จในปี 2014 เมื่อ ฟรังค์ ชไตน์อิกเคอ (Frank Steinicke) ดำดิ่งลงไปในโลกเสมือนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม หลังจากนั้นเขาต้องต่อสู้กับอาการคลื่นไส้ อาจารย์ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก (Universität Hamburg) เผยกับหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung ว่า ตัวเขาเองรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงไม่ต่างกับการนั่งเครื่องบินไฟลท์ยาวเลยทีเดียว ฟรังค์ ชไตน์อิกเคอ (Frank Steinicke) คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ด้าน VR แถวหน้าของเยอรมนีและวิจัยด้านความสามารถของการรับรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางความเป็นจริงที่มีคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลาง เขาเชื่อมั่นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจะเลือนหายไป

Egbert van Wyngaarden

เทคโนโลยีจะไม่มีความหมายหากไม่มีเนื้อหาส่งผ่าน นี่คือแนวคิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านสื่อเสมือนจริงที่สะท้อนออกมาจาก เอกแบร์ท ฟาน วินการ์เดน (Egbert van Wyngaarden) อาจารย์ด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์และการเขียนบทภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาโครมีเดีย เมืองมิวนิค และผู้ก่อตั้งเครือข่ายสหวิทยาการ “Transmedia Bayern” ฟาน วินการ์เดน (Van Wyngaarden) มองหาความเป็นไปได้จากการเล่าเรื่องอย่างลึกซึ้งและความเป็นจริงเสมือน และศึกษาหาวิธีการผสานเกมและภาพยนตร์เข้าด้วยกัน

Fraunhofer Virtual Reality Solution Center

เมื่อพูดถึงโลกเสมือนแล้ว ก็ต้องพูดถึง ศูนย์พัฒนาด้านความเป็นจริงเสมือนแห่งสถาบันเฟราน์โฮเฟอร์ (Virtual Reality Solution Center des Fraunhofer-Instituts) สำหรับสายการผลิตและการออกแบบวิศวกรรม ศูนย์ฯ นี้พัฒนาแนวทางการทำให้เห็นภาพและเทคนิคการผลิตต้นแบบอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและการผลิตเครื่องมือ 3 มิติ เช่น ในสายวิศวกรรมเครื่องกล โดยทำงานกับโซลูชันโมดูล ซึ่งทำให้ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรได้ทั้งชิ้นใน VR