เฉลิมฉลองวันครบรอบเคอร์รี่วัวสท์
เคอร์รี่วัวสท์ – ดาวเด่นในบรรดาอาหารเยอรมัน

ซุ้มขายเคอร์รี่วัวสท์ในเบอร์ลิน แหล่งกำเนิดเมนูเด็ดไส้กรอกจานด่วนของเยอรมัน
ภาพ (บางส่วน): © picture-alliance / imageBroker / Karl F. Schöfmann

ลองนึกถึงอาหารประจำชาติเยอรมันที่ไม่ใช่สเต๊กหมูพร้อมแป้งก้อนอบ ไม่ใช่ขาหมูและเซาเออร์เคราท์ ไม่ใช่สลัดมันฝรั่งดูสิ นึกอะไรออกอีกไหม แน่นอนว่าจะต้องมีเคอร์รี่วัวสท์ อาหารจานด่วนโรยเครื่องเทศที่ถูกคิดค้นขึ้นกว่า 70 ปีมาแล้ว

ในเพลงชาติด้านอาหารของเยอรมันจะเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้นอกจากเรื่องของไส้กรอก “เข้าเมืองไป หาอะไรเติมใส่ท้อง ก็ต้องเคอร์รี่วัวสท์น่ะสิ ... เลิกงานก็ออกมา โหยหาอะไรดีๆ  ต้องจัดเคอร์รี่วัวสท์สักที” นักดนตรีชื่อดัง แฮร์แบร์ท เกรินเนอไมเออร์ ได้สร้างหมุดหมายสำคัญทางดนตรีให้เคอร์รี่วัวสท์ในฐานะเทพธิดาผู้ปลอบประโลมและกับแกล้มคู่กับเบียร์ แม้เขาจะไม่ได้แต่งเนื้อร้องหรือทำนองเองก็ตาม เขาถึงกับออกตัวไว้ว่า ตนเองไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเคอรรี่วัวสท์แต่อย่างใด ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนในเยอรมนี ในแต่ละปีมีการทำเคอร์รี่วัวสท์กว่า 800 ล้านจาน เฉลี่ยแล้วเป็นจำนวน 10 ชิ้นต่อประชากรแต่ละคน นักการเมืองคนใดก็ตามที่อยากแสดงตัวว่าเข้าถึงประชาชนในการเลือกตั้ง จะต้องมีภาพถือส้อมพลาสติกจิ้มเคอร์รี่วัวสท์อยู่หน้าซุ้มขาย  อ้างกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์เคยกล่าวไว้ว่า เขาชนะการเลือกตั้งในปีค.ศ. 2002 ได้อีกครั้ง ก็เพราะเขายอมรับว่าเคอร์รี่วัวสท์เป็นอาหารจานโปรดของเขา อย่างน้อยก็มีความเป็นสหายกันก็เรื่องกินนี่แหละ

อ้างกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์เคยกล่าวไว้ว่า เขาชนะการเลือกตั้งในปีค.ศ. 2002 ได้อีกครั้ง ก็เพราะเขายอมรับว่าเคอร์รี่วัวสท์เป็นอาหารจานโปรดของเขา
อ้างกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์เคยกล่าวไว้ว่า เขาชนะการเลือกตั้งในปีค.ศ. 2002 ได้อีกครั้ง ก็เพราะเขายอมรับว่าเคอร์รี่วัวสท์เป็นอาหารจานโปรดของเขา | ภาพ: © picture-alliance/dpa/dpaweb / Andreas Altwein
เป็นมากกว่าแค่เพียงไส้กรอกย่างราดซอส

เคอร์รี่วัวสท์กลายมาเป็นดาวเด่นของอาหารเยอรมันได้อย่างไร เป็นเพราะมันมีรสชาติแปลกไปจากอาหารอื่นๆ ในประเทศนี้ หรือเป็นเพราะใส่เครื่องเทศจากเอเชียใต้ลงไปหรือ

อูเวอ ทิมม์เชื่อในทฤษฎีที่ว่า เคอร์รี่วัวสท์คิดค้นขึ้นในฮัมบวร์ก เขาเขียนในนวนิยายเรื่อง “สูทไส้กรอก” อันโด่งดังที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1993 เลนา บรึคเคอร์ ตัวละครหลักจากงานเขียนของเขาไม่ได้คิดค้นเคอร์รี่วัวสท์ในปีค.ศ. 1947 ที่เมืองท่าแห่งนั้น  แต่ผู้ที่ควรได้รับการยกย่องก็คือแฮร์ทา ฮอยเวอร์ ชาวเบอร์ลินผู้คิดค้นเคอร์รี่วัวสท์ขึ้นมาในสองปีให้หลัง อย่างไรก็ดี เนื้อเรื่องในนวนิยายก็ยังมีพื้นของเรื่องจริงอยู่มาก ในฤดูร้อนของปีค.ศ. 1949 แฮร์ทา ฮอยเวอร์ เริ่มทำกิจการซุ้มขายอาหารที่มุมถนนคันท์และฟรีดริคชตราสเซในเขตเบอร์ลิน-ชาร์ล็อทเทนบวร์กและได้คิดค้นเคอร์รี่วัวสท์ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายนในปีเดียวกัน ถ้าจะลงรายละเอียด ก็คือเธอคิดค้นซอสเคอร์รี่วัวสท์สำหรับราดไส้กรอกย่างนั่นเอง และในปีค.ศ. 1959 เธอก็ได้จดลิขสิทธิ์ซอสนี้ในนาม “ชิลลัพ” (Chillup) เป็นการผสมคำจาก Chili (พริก) และ Ketchup (ซอสมะเขือเทศ) หญิงชาวเบอร์ลินผู้นี้ยืนยันว่าซอสมีส่วนผสมเพียงซอสมะเขือเทศและเครื่องเทศเท่านั้น
ป้ายรำลึกถึงมารดาแห่งเคอร์รี่วัวสท์ทั้งหลายในเบอร์ลิน
ป้ายรำลึกถึงมารดาแห่งเคอร์รี่วัวสท์ทั้งหลายในเบอร์ลิน | ภาพ: picture-alliance/dpa/Alina Novopashina
ฟังดูดีเกินจริงใช่ไหม แต่นี่ยังไม่จบเรื่องนะ 
ยังมีตัวละครอีกคน คือ มักซ์ บรึคเนอร์ พ่อค้าเนื้อจากเมืองโยฮันเกออร์เกนชตัดท์ในเขตเทือกเขาแอร์ซ เขาได้ผลิตไส้กรอกที่ไม่ใช้ไส้ขึ้น มีชื่อว่า “ชปันเดาเออร์ โอเนอ พิลเลอ” เพราะในยุคนั้นไส้ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการทำไส้กรอกมีราคาสูง แต่เมื่ออยากนำเข้าสู่ตลาดให้ประชาชนทั่วไปได้บริโภคกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด นิโคไล วอยท์โคจึงได้เสนอแนะทางออกที่ยอดเยี่ยมลงนิตยสารสำหรับอาหารและบริการ “เอพิคัวร์” ไว้ว่า “บรึคเนอร์น่าจะได้รู้จักกับแฮร์ทา ฮอยเวอร์นักประดิษฐ์ดูบ้าง” หุ้นส่วนรุ่นน้องของมักซ์ บรึคเนอร์จึงได้ร่วมกับฮอยเวอร์พัฒนาซอสปรุงรสที่ใช้ซอสมะเขือเทศเป็นหลัก แล้วนำมาราดไส้กรอกให้ชายผู้นั้นลองชิม น้ำซอสนั้นท่วมไส้กรอกจนคนไม่สังเกตเห็นว่า ไส้กรอกไม่ได้หุ้มด้วยไส้  เมื่อเคอร์รี่วัวสท์ได้รับความนิยมติดตลาดแล้ว ไส้กรอกไร้ไส้ที่เกิดจากยุคขาดแคลนจึงแสดงตัวแบบที่มันเป็นได้ ไส้กรอกประกอบไปด้วยวัตถุดิบตามที่เหล่าพ่อค้าเนื้อสืบทอดกันมา ได้แก่ เนื้อสัตว์สับละเอียด เพราะชื่อ “บราทวัวสท์” (ไส้กรอกย่าง) นั้นมาจากชื่อเรียกส่วนประกอบภายในก็คือเนื้อสับละเอียด มิได้มาจากวิธีการย่างแต่อย่างใด “แฮร์ทา ฮอยเวอร์ ได้คิดค้นซอสเคอร์รี่วัวสท์เองก่อนก็จริง แต่ความสำเร็จนั้นมาจากการปรับสูตรผ่านการทำงานร่วมกันต่างหาก”

สัญลักษณ์แห่งเอกเทศทางอาหาร

เคอร์รี่วัวสท์ได้ประกาศตัวเป็นเอกเทศมานานแล้ว แม้กระทั่งในดินแดนแห่งสิทธิบัตรและขนบธรรมเนียม ดินแดนที่มีกฎเกณฑ์การทำสวนหย่อมและกฎเข้มงวดในการผลิตเบียร์ แต่สำหรับเคอร์รี่วัวสท์นั้นไม่มีข้อบังคับใดๆ เลย เมนูนี้เกือบได้เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกเทศทางอาหาร ไม่มีข้อกำหนดตายตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนผสม น้ำหนักหรืออุณหภูมิในการทำ หรือปัญหาที่ว่าจะใช้ไส้กรอกมีไส้หรือไร้ไส้ ส่วนจะใช้ซอสเย็นหรืออุ่น หรือจะเพิ่มซอส เพิ่มผงกะหรี่ก็แล้วแต่เลย จะใส่เห็ดทรัฟเฟิลหรือทองคำเปลวก็ยังได้  ส่วนมากเคอร์รี่วัวสท์จะเสิร์ฟมาในจานกระดาษ แต่บางครั้งก็ใส่จานกระเบื้องเคลือบพร้อมแกล้มแชมเปญ พ่อครัวกระทะเหล็กอย่างทิม เมลเซอร์หรือฟรังค์ โรซินก็มีสูตรเคอร์รี่วัวสท์สุดโต่งแบบเป็นของตัวเองเผยแพร่ เคอร์รี่วัวสท์นั้นอยู่เหนือชนชั้น การศึกษาและรายได้ แม้กระทั่งมุกตลกยังมีเคอร์รี่วัวสท์กับมหาวิทยาลัยดังที่ว่า “นักฟิสิกส์ที่ตกงานจะพูดกับนักฟิสิกส์ที่มีงานทำว่าอย่างไร” “ขอสั่งเคอร์รี่วัวสท์กับเฟรนช์ฟรายส์ที่นึงครับ“ เยอรมนี สามัคคีไส้กรอกชุมนุม
ปิดท้ายด้วยเคอร์รี่วัวสท์ - คู่หูสายสืบแห่งโคโลญจน์จากละครชุดประจำคืนวันอาทิตย์ยอดนิยม Tatort (ที่เกิดเหตุ) จะต้องกินเคอร์รี่วัวสท์ที่ริมแม่น้ำไรน์ในฉากจบเกือบทุกตอนมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
ปิดท้ายด้วยเคอร์รี่วัวสท์ - คู่หูสายสืบแห่งโคโลญจน์จากละครชุดประจำคืนวันอาทิตย์ยอดนิยม Tatort (ที่เกิดเหตุ) จะต้องกินเคอร์รี่วัวสท์ที่ริมแม่น้ำไรน์ในฉากจบเกือบทุกตอนมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว | ภาพ: picture-alliance/ Sven Simon