การผลิตวิดีโอในชั้นเรียน
เรียนภาษาหน้ากล้อง

การถ่ายทำวิดีโอเองในชั้นเรียนสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้
การถ่ายทำวิดีโอเองในชั้นเรียนสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้ | ภาพ (ตัดตอน) โดย Rasulov © Adobe Stock

คุณอาจเคยใช้วิดีโอเป็นสื่อการสอนในชั้นเรียนมาบ้างแล้ว แต่คุณเคยลองให้ผู้เรียนถ่ายทำวิดีโอกันเองในห้องเรียนบ้างแล้วหรือยัง เคล็ดลับและวิดีโอแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้คุณลองนำไปใช้ในชั้นเรียนได้

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทำให้การผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวและเสียงง่ายยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ใครๆ ก็สามารถถ่ายวิดีโอและแชร์ลงบนแพลตฟอร์มอย่าง YouTube และ Vimeo หรือแม้กระทั่งในแอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp ได้ทำให้การมีส่วนร่วมทางการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทว่า เราจะนำสิ่งนี้มาใช้ในการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศได้อย่างไร ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ครูผู้สอนมักใช้วิดีโอและภาพยนตร์ร่วมกับแบบฝึกหัดเสริมทักษะการอ่านและการฟังหรือใช้เป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนฝึกทักษะการพูด แต่ในปัจจุบัน ผู้เรียนสามารถสร้างเนื้อหาวิดีโอประกอบการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจึงเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือกัน การเรียนรู้ด้วยตนเองและการบันทึกความคืบหน้าของโครงงาน หน้าที่ของผู้สอนก็คือต้องชี้แจงรายละเอียดและคอยให้คำแนะนำกับผู้เรียนในชั้นเรียนในการผลิตวิดีโอดังกล่าว

ทำไมจึงต้องใช้วิดีโอในชั้นเรียนภาษา

นอกจากแง่มุมที่ได้นำเสนอไปข้างต้นแล้ว การนำวิดีโอมาใช้ประกอบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศยังมีข้อดีอีกหลายด้าน ดังนี้
  • วิดีโอสามารถนำมาใช้กับผู้เรียนได้ทุกระดับภาษา ใช้ได้ทั้งการฝึกทักษะการรับสาร (การอ่าน การฟัง) และการสื่อสาร (การเขียน การพูด) โดยผู้สอนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับความแตกต่างของผู้เรียน เช่นเดียวกับกิจกรรมในชั้นเรียนแบบอื่นๆ
  • วิดีโอได้รับความนิยมสูง จึงทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาของวิดีโอ ไปจนถึงการผลิตวิดีโอด้วยตัวเอง
  • ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนในแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้โดยใช้วิดีโอเป็นสื่อ นั่นคือ ผู้เรียนสามารถเลือกวิดีโอที่เป็นที่นิยมได้ตามความสนใจของตนเอง และยังสามารถถ่ายทำวิดีโอตามความสนใจของตนเองได้ด้วย
  • การเรียนรู้แบบเป็นทางการและไม่ทางการสามารถเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดีผ่านการผลิตวิดีโอ
  • ผู้เรียนสามารถเลือกดูวิดีโอบางช่วงบางตอนซ้ำๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนตามจังหวะการเรียนรู้ของตนเองได้
  • บทบรรยายใต้ภาพในวิดีโอสามารถนำมาเป็นกิจกรรมในชั้นเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนฝึกทักษะการออกเสียงและการฟังได้

ตัวอย่างการนำไปใช้ในชั้นเรียน 2 สถานการณ์

การเชื่อมโยงเรื่องวลีและคำศัพท์เข้าไว้ด้วยกันจากการนำบทสนทนาที่ให้มาถ่ายทำเป็นวิดีโอ

ทุกคนคงเคยเจอสถานการณ์ที่ว่า เนื้อหาในบทเรียนนั้นสำคัญ แต่ผู้เรียนกลับเบื่อหน่ายและไม่สนใจที่จะทำแบบฝึกหัดที่ตนเองได้รับมอบหมาย ผู้เรียนต้องท่องจำคำศัพท์และวลีให้ได้อย่างเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ยอมทำกัน หากเป็นเช่นนี้ คุณมีโอกาสที่จะทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนมีสีสันมากขึ้นโดยมอบหมายให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดจากวิดีโอที่มีอยู่แล้ว หรือให้ผู้เรียนถ่ายทำวิดีโอกันเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณสามารถรับชมตัวอย่างการเชื่อมโยงบทเรียน (ระดับ B1/หนังสือแบบเรียน Menschen/หัวข้อ Bewerbungen) ได้จากวิดีโอที่อธิบายแบบง่ายๆ ด้านล่างนี้
การใช้บทบรรยายใต้ภาพในวิดีโอช่วยฝึกทักษะการออกเสียงและการฟังจับใจความ

บ่อยครั้งที่ผู้เรียนผลิตสื่อวิดีโอออกมาแล้ว แต่วิดีโอนั้นฟังเข้าใจยาก ครูผู้สอนสามารถมอบหมายแบบฝึกหัดให้ผู้เรียนเติมบทบรรยายใต้ภาพให้วิดีโอของเพื่อนเพื่อฝึกความเข้าใจเรื่องการสร้างประโยคได้ วิดีโอด้านล่างนี้อธิบายวิธีการใช้งาน YouTube-Editor (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) เพื่อให้ผู้เรียนฝึกทักษะการออกเสียงและการฟังได้ดียิ่งขึ้น

เคล็ดลับในการผลิตวิดีโอ

เสียง: วิธีที่สะดวกที่สุดคือให้ผู้เรียนใช้ไมโครโฟนที่มาพร้อมกับโทรศัพท์ แต่บ่อยครั้งก็อาจเกิดปัญหาเสียงรอบข้างแทรกเข้ามาด้วยขณะถ่ายทำวิดีโอ คุณจึงควรแนะนำให้ผู้เรียนถ่ายทำวิดีโอในห้องที่เงียบ

การจัดองค์ประกอบภาพและการแพนกล้อง: ยิ่งน้อยก็ยิ่งดี องค์ประกอบภาพยิ่งมากเท่าใด จุดดึงความสนใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และทำให้ฉากหลังดูวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้การจัดองค์ประกอบภาพจึงควรมุ่งความสนใจไปที่ตัวละครเป็นหลัก ถือกล้องให้นิ่งที่สุดโดยไม่ให้มีการขัดจังหวะมากเกินไปและไม่ส่ายกล้องไปมาระหว่างการถ่ายทำ เพราะจะทำให้ผู้ชมชมแล้วไม่สบายตา การถ่ายทำแบบลองเทค (ถ่ายต่อเนื่องแบบไม่ตัดต่อ) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักกับการถ่ายทำวิดีโอ

การจัดแสง: การผสมกันระหว่างแสงธรรมชาติกับแสงไฟถือว่าเหมาะกับการถ่ายทำวิดีโอจากโทรศัพท์    มือถือที่สุด อย่างไรก็ตาม ควรเลี่ยงการจัดแสงให้ตัดกันมากเกินไป

เรื่องราว: เรื่องราวจะถูกถ่ายทอดผ่านวิดีโอเสมอ โครงสร้างของเรื่องจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้ผู้ชมภายนอกเข้าใจเรื่องราวด้วย ผู้เรียนจึงควรคำนึงถึงประเด็นนี้อยู่เสมอเวลาถ่ายทำ

ความท้าทายที่มากหรือน้อยเกินไป: ผู้สอนมักปรารถนาให้การผลิตวิดีโอนั้นมีคุณภาพดีมาก แต่เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมนี้ คุณควรเริ่มต้นด้วยการผลิตวิดีโอแบบง่ายๆ เสียก่อน และหลีกเลี่ยงการทำโปรเจ็ควิดีโอที่ยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากโปรเจ็คดังกล่าวนั้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง ความรู้ทางเทคนิคและการทำงานเป็นทีม ซึ่งในส่วนของการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศนั้นยังต้องมีความสามารถทางภาษาของผู้เรียนเพิ่มเข้าไปด้วย ดังนั้นการผลิตวิดีโอจึงควรมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาในบทเรียนเป็นหลัก ผู้สอนอาจเสนอทางเลือกให้กับผู้เรียนเพื่อไม่ให้ผู้เรียนนั้นรู้สึกว่าได้รับความท้าทายที่มากหรือน้อยเกินไป เช่น เสนอให้ผู้เรียนเลือกถ่ายทำวิดีโอโดยการอ่านบทสนทนาที่ให้มาในบทเรียน หรือปรับเปลี่ยนบทสนทนาตามสถานการณ์ ไปจนถึงการสร้างบทสนทนาขึ้นมาใหม่ เป็นต้น

ผู้สอนทำหน้าที่เป็นโค้ช: ควรให้คำแนะนำกับกลุ่มผู้เรียนในขั้นตอนการวางแผนและถ่ายทำวิดีโอ รวมถึงให้คำติชมกับผู้เรียนด้วย นอกจากนี้ผู้สอนยังควรเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้เรียนในด้านเนื้อหา เมื่อผู้เรียนมีปัญหากับโจทย์ที่ได้รับหรือตีโจทย์ไม่แตก

ลิขสิทธิ์: ผู้เรียนที่เป็นวัยรุ่นมักต้องการใช้เพลงที่เป็นที่นิยมเป็นดนตรีประกอบหรือตัดต่อบางช่วงบางตอนของภาพยนตร์เข้าไปในวิดีโอของตน อย่างไรก็ตาม การนำดนตรีหรือภาพเคลื่อนไหวมาประกอบวิดีโอนั้น สามารถนำมาประกอบได้เพียงสิ่งที่ตนเองผลิตขึ้นหรือมีแจกจ่ายในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น คุณสามารถแนะนำให้ผู้เรียนใช้ โปรแกรม Adobe Spark  เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ โดยสามารถใช้สื่อที่ไม่มีลิขสิทธิ์มาประกอบวิดีโอจากโปรแกรมนี้ได้

ระวังการกลั่นแกล้ง: ความคิดเห็นเกี่ยวกับวิดีโอทั้งจากภายในกลุ่มผู้เรียนเองและจากบุคคลภายนอกในอินเทอร์เน็ตอาจก่อให้เกิดผลในทางลบต่อกระบวนการการเรียนรู้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น คุณสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
  1. ไม่มีตัวบุคคลปรากฏขึ้นในวิดีโอ
  2. คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้ทุกคน รวมถึงบุคคลภายนอกมีสิทธิ์เข้าชมวิดีโอได้หรือไม่ และจะเปิดส่วนของการแสดงความคิดเห็นเป็นสาธารณะหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้เรียน
  3. อัปโหลดวิดีโอบนพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น บนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบปิด เป็นต้น
คุณได้ถ่ายทำวิดีโอในชั้นเรียนบ้างแล้วหรือยัง คุณสามารถแบ่งปันประสบการณ์กับเราได้ผ่านทางช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้