บทสัมภาษณ์ เคลาเดีย มารีอา รีห์ล
พหุภาษาสร้างโอกาส

Mehrsprachigkeit fördern, statt sie einzudämmen
© คลาวเดีย มารีอา รีห์ล

เราเชื่อกันมานานว่าการที่ผู้อพยพใช้ภาษาหลายภาษานั้นเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว แต่ผลการวิจัยล่าสุดกลับพบความจริงที่แตกต่างออกไป

นักการเมืองเยอรมันเพิ่งจะอภิปรายกันไปในเรื่องเงื่อนไขที่ต้องการให้ผู้อพยพพูดภาษาเยอรมันที่บ้าน  ในฐานะนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ คุณมีความเห็นอย่างไรกับแนวคิดนี้
 

แนวคิดนี้ค่อนข้างโง่เขลาด้วยหลายเหตุผล เพราะค้านกับสิ่งที่พวกเรา นักวิจัยพหุภาษาเห็นตรงกันมานานหลายปี เห็นได้ชัดว่าพวกเขาแค่ตอบสนองคนที่สนับสนุนบางส่วน และก็มารู้ตัวเอาเมื่อสายว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นจริงๆ แล้วแทบไม่มีสาระอะไรเลย


แต่เหตุผลเบื้องหลังความพยายามนี้ก็คือการพักภาษาเดิมไว้ เพื่อที่จะได้มีศักยภาพในการเรียนภาษาเยอรมันมากยิ่งขึ้น

เราทราบกันดีในปัจจุบันว่านั่นเป็นวิธีคิดที่ผิด   โดยเฉพาะสำหรับเด็กพหุภาษา จำเป็นมากที่เด็กควรจะโตมาด้วยภาษาเดิมของพ่อแม่ก่อน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องคำศัพท์หรือไวยากรณ์เท่านั้น แต่เด็กควรจะเข้าใจโลกได้ผ่านภาษาของพ่อแม่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะพูดกับลูกด้วยภาษาที่พวกเขาถนัดมากที่สุด ภาษาแม่ที่มั่นคงแล้วจะช่วยส่งเสริมการเรียนภาษาอื่นๆ ต่อไป

 แสดงว่าพหุภาษาเป็นข้อได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด

แน่นอน พหุภาษาไม่ใช่การขาดดุลแต่กลับเป็นกำไร งานวิจัยหลายชิ้นทำให้เรารู้ว่าเด็กพหุภาษามักจะมีศักยภาพเหนือกว่าเด็กภาษาเดียวในด้านทักษะการสื่อสารและกลยุทธ์การใช้ภาษา จากการวิจัยด้านประสาทวิทยา เด็กพหุภาษาจะมีการจัดระบบสมองที่ต้องใช้สำหรับภาษาได้กระชับกว่า ซึ่งหมายความว่าในการเรียนภาษาใหม่แต่ละภาษาหลังจากนั้น สารตั้งต้นในสมองจะถูกกระตุ้นน้อยลง

นอกจากนี้ พหุภาษาดูเหมือนจะส่งเสริมความสามารถในการควบคุมสมาธิด้วย เด็กพหุภาษาจะสามารถ “ปรับเปลี่ยน” ไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้ดีกว่า เพราะพวกเขาฝึกฝนกลไกที่จะรับมือการสลับใช้สองภาษาหรือหลายภาษาอยู่ตลอดเวลา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กพหุภาษามากมายมีปัญหากับภาษาเยอรมัน

แน่นอน คุณพูดถูก แต่จริงๆ แล้วเรื่องนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับความเป็นพหุภาษา มีเด็กมากมายที่มาจากครอบครัวผู้อพยพมักมาจากชนชั้นด้อยโอกาสทางสังคมและมีระดับการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สถานการณ์คือเด็กเหล่านี้ไม่ได้เรียนภาษาแม่อย่างถูกต้องเสียด้วยซ้ำ และเนื่องจากความสามารถทางภาษาของพ่อแม่ไม่เพียงพอ จึงมักเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเหล่านี้ที่จะเรียนภาษาเยอรมันด้วย

แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร                               

เราทำได้โดยการสนับสนุนพหุภาษาแทนที่จะไปจำกัดมันเสีย เราควรจะให้มีการเรียนการสอนทวิภาษาตั้งแต่ในโรงเรียนอนุบาลเพื่อสนับสนุนเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนภาษาแม่ที่บ้านอย่างสมบูรณ์ และต้องให้โอกาสเด็กเติบโตมากับสองภาษา ด้วยวิธีนี้เท่านั้น เด็กจึงสามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของพหุภาษาได้อย่างแท้จริง
 
ความคิดนี้ได้รับการนำไปใช้จริงมากน้อยแค่ไหนแล้ว

มีโปรแกรมระดับประเทศและสากลมากมายที่น่าจะนำไปปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องโรงเรียนยุโรปในเบอร์ลินที่มีการเรียนการสอนทวิภาษาตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่ง ในแคว้นนอร์ธไรน์เวสต์ฟาเลินมีโรงเรียนประถมบางโรงเรียนที่สอนด้วยระบบทวิภาษา และแนวทางที่ถือเป็นอุดมคติของผู้เชี่ยวชาญคือมีการสอนภาษาแม่หนึ่งในสาม อีกหนึ่งส่วนสอนแบบทวิภาษาและอีกส่วนเป็นนักเรียนจากครอบครัวเยอรมัน
 

แสดงว่าเราค่อนข้างเตรียมตัวได้ดีในระดับหนึ่งใช่ไหม

ไม่หรอกค่ะ นั่นเป็นแค่บางกรณี นอกเหนือจากนี้สถานการณ์ในแต่ละรัฐยังแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในบาวาเรีย การศึกษาแบบทวิภาษายังมีอะไรต้องปรับอีกมาก แบบที่ดีที่สุดคือการทำให้เด็กได้เรียนภาษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ถ้าเด็กเคยเรียนในอนุบาลเยอรมัน-อิตาลี ก็น่าจะมีทางเลือกให้เขาได้เรียนในโรงเรียนประถมสองภาษาและโรงเรียนที่ต่อเนื่องกันต่อไป

ขอย้อนกลับไปตรงข้อเสนอให้ผู้อพยพพูดภาษาเยอรมันที่บ้าน เราจะมองเรื่องนี้เป็นอาการกลัวความล้มเหลวในการปรับตัวได้ไหมซึ่งก็มีเหตุผลอยู่

แน่นอน เราอาจเข้าใจว่าคนกลัวจะเกิดสังคมคู่ขนาน (parallel society)  กลัวว่าบางย่านอาจถูกแบ่งแยก แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องมองว่าตั้งแต่คนรุ่นที่สองเป็นมา ผู้อพยพก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาเยอรมันและถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการศึกษาแล้ว ซึ่งตามหลักแล้วภาษาเยอรมันจะมีอิทธิพลเหนือกว่าภาษาแม่ ไม่ใช่ภาษาแม่มีอิทธิพลมากกว่า ดังนั้นใครที่ต้องการปรับตัวให้สำเร็จโดยใช้ความสามารถทางภาษา ก็ไม่ควรพยายามจำกัดการใช้ภาษาแม่ แต่ควรสนับสนุนให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับผู้อพยพเท่านั้น แต่ในสังคมส่วนใหญ่ด้วย
 
คุณหมายความว่าอย่างไร

เราต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม แต่ภาษาแม่ก็คือส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเช่นกัน ถ้าคุณไปตอบโต้ด้วยการจำกัด ก็เท่ากับคุณกำลังไปปลุกปั่นกระแสนั้น แต่หากคุณพยายามให้กลุ่มคนส่วนใหญ่เรียนภาษาของผู้อพยพบ้าง อย่างน้อยก็ระดับพื้นฐาน คุณก็จะรับมือกับกระแสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในท้ายที่สุดสังคมส่วนใหญ่จะเปิดกว้างรับภาษาและวัฒนธรรมอื่นได้ พหุภาษาไม่ใช่อุปสรรคในการปรับตัวของผู้อพยพ แต่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ต่างหาก
 

Claudia Maria Riehl © Claudia Maria Riehl Claudia Maria Riehl iเป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศและศูนย์วิจัยสากลด้านพหุภาษา (IFM) ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก และเป็นหนึ่งในผู้ลงนามแสดงความคิดเห็นด้านภาษาศาสตร์ของ IFM ต่อร่างข้อเสนอของพรรค CSU ว่าด้วย “การปรับตัวโดยใช้ภาษา”