เทรนดืใหม่ในหนังสือเรียนภาษาเยอรมัน
เรียนภาษาเยอรมันทั้งในหนังสือเรียนและสมาร์ทโฟน

ทุกวันนี้ สื่อรูปแบบดิจิตอลมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการเรียน  อีกทั้งสมาร์ทโฟนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะสื่อการเรียนรู้ ไม่เว้นแม้แต่ในชั้นเรียนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ (หรือที่เรียกสั้นๆ ในภาษาเยอรมันว่า DaF) บรรดาสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ผลิตหนังสือเรียนเยอรมันได้เริ่มผลิตสื่อการสอนแบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นมาด้วย
 

ริต้า เพเทอร์ส สอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาที่สอง (DaZ) ในกรุงเบอร์ลิน ใช้ประโยชน์จากบทฟังพร้อมภาพประกอบในหนังสือเรียน Schritte Plus ของสำนักพิมพ์ Hueber ในชั้นเรียนของเธอสม่ำเสมอ ผู้เรียนดูรูปภาพทั้งแปดที่มาพร้อมกับบทสนทนาในแผ่นซีดี ตั้งแต่ต้นปี 2016  บทฟังพร้อมภาพประกอบดังกล่าวมีอยู่ในรูปแบบ DVD ฉบับล่าสุดของหนังสือเรียน Schritte Plus Neu ทุกวันนี้ริต้าสามารถฉายเรื่องราวบนจอฉาย “นักเรียนของฉันชอบสื่อนี้มาก” เธอกล่าว “ฉันฉายมันบนจอแล้วทุกคนก็จดจ่อกับมันในทันที”

 สิ่งที่นักเรียนของเธอชอบมากกว่าคือการที่พวกเขาสามารถดูเรื่องราวประกอบการเรียนนี้ที่บ้านได้ในสมาร์ทโฟนของตัวเองโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า augmented reality app ริต้าสาธิตให้นักเรียนดูว่ามันทำงานอย่างไร ขั้นแรกให้ติดตั้งแอพพลิเคช่นนี้ และถือโทรศัพท์ให้อยู่เหนือหน้าที่ต้องการและสื่อการเรียนที่อยู่ในหนังสือเรียนเช่น บทอ่านมีเสียงประกอบและคลิปวีดีโอขนาดสั้นที่เสริมเข้ามา ทั้งหมดจะแสดงบนหน้าจอและนักเรียนสามารถดูได้ด้วยการแตะสัญลักษณ์ที่กำหนด “นักเรียนที่ขยันเรียนดูสื่อเสริมนี้ที่บ้านตลอดเลย พวกเขาตื่นเต้นกับมัน” ริต้าบอก “การเรียนภาษาเยอรมันผ่านสมาร์ทโฟนทำให้การเรียนรุดหน้าอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ผู้เรียนวัยรุ่นชอบ”

สมาร์ทโฟนในฐานะสื่อการเรียน

ไม่เฉพาะสำนักพิมพ์ Hueber ในประเทศเยอรมนียังมีสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ผลิตหนังสือเรียนต่างขานรับโปรแกรมดิจิตอลและการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเรียนที่ทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในวงการภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ (DaF) ที่พุ่งเป้าไปที่ผู้เรียนที่ใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศเยอรมนี และภาษาเยอรมันในฐานะภาษาที่สอง (DaZ) สำหรับผู้เรียนที่ใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี ชุดหนังสือเรียน Linie 1 ของสำนักพิมพ์ Klett Sprachen และ Panorama ของสำนักพิมพ์ Cornelsen มีบทฟัง สไลด์ที่มีเสียงประกอบ รวมถึงวีดีโอเสริมเข้ามาที่ผู้เรียนสามารถดูได้ผ่านแอพพลิเคชั่น นี่เป็นการสนองความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้เรียนที่มีต่อสื่อการเรียนการสอน มาริโอ แคร์เนอร์ รักษาการบรรณาธิการสาขา DaF และ DaZ ของสำนักพิมพ์ Hueber ในมิวนิคได้อธิบายไว้ “ผู้เรียนยุคนี้หวังอยากเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องพึ่งพาหนังสือเรียน พวกเขามีสมาร์ทโฟน อยู่ในมือตลอดเวลา นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราสรรค์สร้างสื่อการเรียนเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมให้พวกเขา”
 
สำนักพิมพ์ Cornelsen อยู่ในระหว่างการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง “เราสังเกตมาตลอดว่าสถาบันหลายแห่งกำลังทำโครงสร้างชั้นเรียนของตัวให้ยืดหยุ่นกว่าในอดีต อีกทั้งนักเรียนก็ต้องการเรียนด้วยตัวเองด้วย” โยอัคคิม ลาเช่ผู้จัดการแผนกการตลาด รับผิดชอบด้านการศึกษาระดับผู้ใหญ่กล่าว “ในชั้นเรียนภาษา เวลาที่นักเรียนต้องนั่งอยู่แต่ในห้องเริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่การเรียนรู้ด้วยตัวเองเริ่มถี่ขึ้น” สิ่งนี้จะนำไปสู่การผลิตสื่อสำหรับสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างในหนังสือเรียน “พวกแบบฝึกหัดที่เน้นไวยากรณ์โดยตรงที่นักเรียนสามารถฝึกได้ด้วยตัวเองกำลังจะหายไปจากหนังสือเรียน” เขาคาด “หนังสือเรียนจะมุ่งกระตุ้นการสื่อสารในกลุ่มมากขึ้น”
 
ชั้นเรียนภาษาที่มิได้เน้นการเข้าเรียนในห้องเป็นหลัก หากแต่ผู้เรียนต้องศึกษาด้วยตัวเองมีชื่อเรียกว่า “Blended Learning” สำนักพิมพ์ Cornelsen กำลังเน้นและส่งเสริมการใช้เครื่องมือพกพาและผลิตสื่อที่เรียกว่า mobile learning มากขึ้นเรื่อยๆ ในหนังสือเรียน Panorama และ Studio 21 สำนักพิมพ์ดังกล่าวได้ “พลิกโฉมในหลายๆ ด้าน” ลาเช่กล่าว ยกตัวอย่างเช่น แบบฝึกหัดเสริมแบบออนไลน์และวีดีโอคลิปขนาดสั้นที่สามารถดูได้ในสมาร์ทโฟน สื่อดังกล่าวนำเสนอคำศัพท์ การออกเสียง หลักไวยากรณ์และเรื่องราวต่างๆ ในภูมิภาค” ไม่ช้าเราจะรู้ว่าผู้เรียนชอบสื่อรูปแบบใดมากที่สุด “จากนั้นเราจะพัฒนาสื่อนั้นต่อ” 

หนังสือยังยืนพื้น

อย่างไรก็ดี ในอนาคตหนังสือเรียนจะยังเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชั้นเรียนภาษาเยอรมันส่วนใหญ่ สำนักพิมพ์ทั้งสามต่างเห็นพ้องต้องกัน “เรามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของตัวหนังสือเอง” สักเคีย วาน ฮัสซิน  หัวหน้าฝ่ายการตลาดแผนการศึกษาระดับผู้ใหญ่ประจำสำนักพิมพ์ Ernst Klett Sprachen กล่าว เพียงแค่ว่าตอนนี้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งใน “สายธารผลิตภัณฑ์” มาริโอน แคร์เนอร์จากสำนักพิมพ์ Hueber กล่าว “เราต้องผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนศึกษาได้ด้วยตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม”

แคร์นเนอร์มิได้เห็นอิทธิพลใหม่ๆ ที่มีต่อหนังสือเรียนในอนาคตในขอบเขตของดิจิตอลเท่านั้น “ข้อมูลใหม่ๆ ด้านการสอนทิ่อิงความรู้ด้านประสาท หลั่งไหลเข้ามาทุกวัน เช่นว่ากระบวนการเรียนเกิดในสมองอย่างไร หรือการที่เรารู้ว่าสมาธิของมนุษย์นั้นสั้น ทำให้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนอยู่ตลอดเวลาเป็นต้นว่าจากการสอนที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลางมาเป็นการทำงานเดี่ยว ทำงานเป็นกลุ่ม หรือทำงานเป็นคู่ นอกจากนั้นเธอเห็นอีกด้วยว่าเราต้องเบนเข็มหนังสือเรียนให้ตอบสนองความต้องการผู้เรียนแต่ละกลุ่มมากขึ้นด้วย ปัจจุบันมีหนังสือเรียนสำหรับหลักสูตรบูรณาการและหลักสูตรอื่นๆ ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เนื้อหาในหนังสือเรียนประเภทนี้จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าปกติมาก “เหนือสิ่งอื่นใด นักเรียนปัจจุบันคาดหวังให้ชั้นเรียนภาษาตอบสนองความต้องการส่วนตัวได้มากกว่าในอดีต พวกเขาเรียนภาษาเพื่ออาชีพการงาน นี่เป็นเหตุให้เราต้องผลิต สื่อการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในอาชีพเฉพาะทางเพิ่มเติมควบคู่กับหนังสือเรียนภาษาทั่วไป”

ทักษะด้านสื่อเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด

ไม่ว่าโปรแกรมดิจิตอลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับการสอนภาษาได้มากกว่าเดิมหรือไม่นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับสื่อการสอนเพียงอย่างเดียว ในมุมมองของสำนักพิมพ์ต่างๆ ผู้สอนจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้สื่อการสอนในชั้นเรียนด้วย นี่ยังไม่รวมทักษะด้านการใช้สื่อประเภทเสียง ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ การจัดอบรมครูจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นก็ตามผู้เรียนเองก็ต้องพยายามและใส่ใจมากขึ้นกว่าเดิมด้วย “แนวคิดของ blended learning คือการสร้างความรับผิดชอบให้กับผู้เรียนที่ต้องจัดระเบียบกระบวนการเรียนของตัวเอง” โยอัคคิม ลาเช่กล่าว ในส่วนของโปรแกรมทีทำออกมาเพื่อใช้กับสมาร์ทโฟน สักเคีย วาน ฮัสซิน  แสดงความเห็นว่า “แน่นอนว่ามันจะทำให้การเรียนภาษาสนุกสนานมากขึ้นและกระตุ้นความตั้งใจของผู้เรียน อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องไม่เบนความสนใจของพวกเขาจากการเรียน”