งานวิจัยด้านภาษา
การทำงานของเครือข่ายคำศัพท์

คำศัพท์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ถึงกันและกันได้ด้วย
คำศัพท์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ถึงกันและกันได้ด้วย | Photo (detail): © Petr Vaclavek - Fotolia.com

ทำไมเรามักจะรู้ว่าคนที่เราคุยด้วยจะพูดอะไรต่อก่อนที่จะพูดจบประโยค ทำไมเราถึงเข้าใจคำบางคำแม้ว่าเราพึ่งจะเคยได้ยินคำเหล่านั้นเป็นครั้งแรก และคำถามเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเรียนและแปลภาษาต่างประเทศได้อย่างไร

เราหลายคนอาจได้เรียนในโรงเรียนว่า คำนาม คำคุณศัพท์และคำกริยาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาและเราสามารถเอาคำหลายคำมารวมกันหรือยืมคำจากภาษาต่างประเทศอื่นๆ  เพื่อสร้างคำภาษาเยอรมันใหม่ได้ เช่นคำว่า เครื่องดายหญ้าไฟฟ้า (Elektrorasenmähler) ที่มาจากคำว่าเครื่องดายหญ้าและไฟฟ้า หรือคำใหม่ๆ เช่น “วอทส์แอป” และ ”ไลน์” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นถึงนักภาษาศาสตร์เพื่อจะเข้าใจว่าเรามักใช้คำทักทายหรือสำนวนต่างๆ ได้เฉพาะกับคำบางคำเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราได้ยินคนเริ่มต้นประโยคว่า “ถ้าไม่” เราก็จะคิดในใจว่าคนคนนั้นจะพูดคำว่า “ก็” ต่อไป หรือเวลาเราได้ยินคำว่า “อบ” เราก็จะคิดถึง ”ขนมปัง” ทันที แต่การเข้าใจภาษาเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายขนาดนั้น โดยในเดือนมีนาคมของปี 2017 สถาบันวิจัยภาษาเยอรมันของเมืองมันไฮม์ ประเทศเยอรมนี หรือ IDS ได้ค้นพบและประกาศผลวิจัยในงานประชุมประจำปีของสถาบันว่าแท้จริงแล้วระบบคลังคำศัพท์ในหัวของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้มาก

ลองทายดูสิว่าคนอื่นจะพูดอะไรต่อ

นักภาษาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์บทสนทนาและสังเกตเห็นว่าในระหว่างการสนทนาตัวผู้ฟังมักจะชอบพูดแทรกเพื่อช่วยให้อีกฝ่ายพูดจบประโยค โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าเรามักจะทายคำพูดของผู้พูดไปด้วยตลอดเวลาว่าเค้าจะพูดคำว่าอะไรต่อเพื่อช่วยในการเข้าใจบทสนทนามากขึ้น ศาสตราจารย์ Ludwig M. Eichinger อธิการบดีของสถาบันวิจัย ยกตัวอย่างว่า เวลาที่เราขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “รถราง” เราก็มักจะคิดล่วงหน้าว่าประโยคนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหว เราจึงเข้าใจประโยคที่ว่า “รถรางส่งเสียงดังเอี๊ยดตรงหัวมุมถนน”  ว่ามีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าประโยคนี้จะไม่มีคำกริยาที่สื่อถึงความเคลื่อนไหวเลยก็ตาม โดยคำแต่ละคำในประโยคจะมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน ทำให้คำขึ้นต้นประโยคสามารถช่วยให้เราคิดถึงความหมายของทั้งประโยคได้   

ศาสตราจารย์ Eichinger อธิบายต่อว่า โครงสร้างของประโยคไม่ได้มาจากการเอาคำหลายๆ คำมาเรียงต่อๆ กันเพียงเท่านั้น แต่คำในประโยคมีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นเครือข่าย ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักจะชอบเล่นคำเพราะเรามักใช้คำบางคำในบทสนทนาเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้นึกถึงคำหรือประโยคบางประโยคที่มักใช้กับคำเหล่านั้นได้ โดยการเรียนรู้คำหรือสำนวนใหม่ๆ ก็จะช่วยขยายโครงสร้างหรือรูปแบบประโยคมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่มีการฉายหนังเรื่อง “Same Same but Different” ในประเทศไทย ก็มีคนใช้ชื่อเรื่องหนังดังกล่าวคู่กับประโยคต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น  

เข้าใจความหมายแม้จะไม่รู้จักคำศัพท์นั้น

นอกจากนี้ ผลลัพธ์ของงานวิจัยดังกล่าวก็ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจว่าทำไมเราถึงพอเข้าใจคำศัพท์เฉพาะบางคำ ทั้งๆ ที่เราแทบจะไม่เคยใช้คำเหล่านั้นเลย โดยเราสามารถนำประวัติศาสตร์การบันทึกคำศัพท์ภาษาเยอรมันมาเป็นตัวอย่างประกอบได้ เมื่อ 15 ปีก่อนพจนานุกรมภาษาเยอรมัน Duden ได้รวมรวมคำศัพท์ถึงกว่า 200,000 คำในชุดพจนานุกรมที่มีถึง 10 เล่ม ในขณะที่ในปัจจุบันเราสามารถค้นหาคำศัพท์ต่างๆ ที่มีจำนวนมากขึ้นถึงประมาณ 5 ล้านคำด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แม้ว่าในชีวิตประจำวันเราจะได้ใช้หรือพบเจอคำศัพท์ดังกล่าวเพียงไม่กี่คำ อย่างไรก็ตามเราก็มักจะสามารถทายความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ ได้จากบริบทและสภาพแวดล้อม เช่นการใช้คำภาษาอังกฤษคำว่า “Kids” ในสังคมเยอรมันแทนคำว่า “Kinder” ที่เป็นคำศัพท์ภาษาเยอรมันแท้ๆ ในทางกลับกัน คำนิยามเป็นการอธิบายคำศัพท์เฉพาะด้วยคำอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ประกอบกับบริบทต่างๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจคำศัพท์นั้นๆ ได้มากขึ้น

การใช้การเชื่อมโยงของคำศัพท์ในการเรียนและแปลภาษาต่างประเทศ

กลุ่มผู้ทำหนังสือเรียนภาษาและครูสอนภาษาเยอรมันสำหรับคนต่างชาติต่างได้ปรับใช้ระบบการเชื่อมโยงคำศัพท์ในการทำงานด้วยการสอนคำศัพท์พร้อมกับบริบทและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่การใช้คลังคำศัพท์อีเล็กโทรนิกส์ ในการค้นหาบริบทต่างๆ ของคำศัพท์ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในการสอนภาษา ศาสตราจารย์ Eichinger อธิบายเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันเรามีคลังข้อมูลที่รวบรวมคำศัพท์หลายรูปแบบที่ช่วยในด้านการเรียนการสอนคำศัพท์และยังสามารถเข้าถึงได้จากทั่วโลกด้วย เช่น ระบบข้อมูลคลังศัพท์ภาษาเยอรมันแบบออนไลน์ (OWID) ของทางสถาบันวิจัยที่มีฐานข้อมูลอ้างอิง DeReKo พจนานุกรมภาษาเยอรมันดิจิตอลของสถาบันวิจัยเบอร์ลินบรานเดนบวก หรือเว็ปไซต์รวมคำศัพท์ของมหาวิทยาลัยไลป์ซิก

คลังเก็บข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนภาษาแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับนักแปลด้วย เพราะเรามักจะสามารถใช้คำศัพท์หนึ่งคำได้กับหลากหลายบริบท ยกตัวอย่างเช่น คำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคำว่า “fleur” ซึ่งสามารถแปลว่า ดอกไม้ (Blume) หรือกลีบดอกไม้ (Blüte) ในภาษาเยอรมันก็ได้ โดยเราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้ศัพท์แต่ละคำในหลายรูปแบบได้ในพจนานุกรมอีเล็กโทรนิกส์ อย่างไรก็ตาม ภาษาเยอรมันถือว่าเป็นภาษาที่สื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าภาษาทางแถบทวีปยุโรปอื่นๆ เพราะเป็นภาษาที่สามารถนำคำหลายๆ คำมารวมกันได้เพื่อสร้างคำศัพท์ใหม่ได้