ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน
การอธิบายโจทย์และกิจกรรมในห้องเรียน

Getting the message across
©Adobe Stock

การใช้รูปแบบภาษาแบบไหนที่สามารถช่วยให้เรากำหนดทิศทางการสอนภาษาได้อย่างประสบผลสำเร็จ รวมเทคนิกการใช้รูปแบบภาษาที่มีประสิทธิภาพ และตัวบ่งชี้สามประการสำหรับการอธิบายโจทย์และกิจกรรมในห้องเรียนได้อย่างประสบผลสำเร็จ

นอกจากการใช้ภาษากายในการสื่อสารแล้ว การพูดสื่อสารก็นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการสอนภาษาที่สำคัญสำหรับตัวผู้สอนในแง่มุมต่างๆ เช่น การกำหนดทิศทางการสอน การอธิบายการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำศัพท์ การอธิบายโครงสร้างภาษา โดยเฉพาะการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจโจทย์และกิจกรรมในห้องว่า ต้องทำโจทย์อย่างไร กับใคร นานเท่าไหร่ เป็นต้น

ดนตรีจะเพราะฉันใด เสียงจังหวะก็ต้องเข้ากันฉันนั้น – เรื่องที่เราต้องตระหนักเวลาพูดสื่อสาร

การทำงานของภาษาสามารถแบ่งออกเป็นสองระดับ โดยต่างก็จะช่วยเสริมกันและกันเพื่อช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระดับกายภาพซึ่งหมายถึง ระดับความดังเสียง ตำแหน่งเสียง ความเร็วและวิธีการพูด และระดับเนื้อความซึ่งหมายถึง การเลือกใช้คำ การจัดวางตำแหน่งคำในประโยค และเจตนาการพูด ในระหว่างสื่อสารผู้พูดจะสลับระดับทางทำงานของภาษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งบางครั้งผู้พูดอาจทำการสลับโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น หากเราสังเกตการใช้น้ำเสียงหรือการใช้สำเนียงกับคำและประโยค เราก็จะสามารถระบุได้ทันที ว่าระดับภาษาทางกายภาพ (ระดับเสียง เสียงสูงต่ำ จังหวะเสียง) จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจคำพูดที่ผู้พูดสื่อสารออกมาตามเจตนารมณ์ของตัวผู้พูด

เราสามารถกำหนดระดับเสียงและความเร็วในการพูดอย่างถูกต้องได้อย่างไร

หากพูดถึงลักษณะทางกายภาพของภาษา เราก็จะสังเกตเห็นว่า การพูดเสียงเบาหรือเสียงดังจนเกินไปอาจทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกต่อตัวสารในแง่ลบ เพราะผู้ฟังอาจฟังสารไม่ชัด หรือตีความสารไปในทางที่หยาบคายหรือถึงขั้นรุนแรงก็เป็นได้ สำหรับคนที่พูดเร็วเกินไป บ่อยครั้งผู้ฟังจะไม่เข้าใจสารและอาจรู้สึกสับสนได้ ในทางกลับกัน คนที่พูดช้าเกินไปก็อาจฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ และทำให้ผู้เรียนภาษารู้สึกว่า ผู้สอนประเมินความสามารถความเข้าใจทางภาษาของผู้เรียนต่ำเกินไป ด้วยเหตุนี้ เราจึงแนะนำให้ผู้สอนเลือกใช้ความเร็วในการพูดและระดับเสียงในแบบที่ไม่ซ้ำกันในระหว่างการสอน โดยเฉพาะเวลาที่ผู้สอนต้องการเน้นย้ำเนื้อหาบางจุด และเรียกความสนใจจากผู้เรียนในห้อง (อ้างอิงจาก Heidemann2009)

การใช้ภาษาที่มุ่งเน้นไปที่ผู้รับสาร การใช้ภาษาที่มุ่งเน้นไปที่ผู้รับสาร | ©Adobe Stock

เทคนิกการเลือกใช้คำด้วยการตั้งวัตถุประสงค์ทางการสื่อสาร

ในแง่ของระดับเนื้อความของภาษา เราจำเป็นต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะฟังชั่นการทำงานและบริบทของทุกการสื่อสาร หากผู้สอนอธิบายโจทย์แบบฝึกหัดแบบปากเปล่า ผู้สอนก็ต้องตระหนักว่า จะต้องเลือกใช้คำที่ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของการอธิบายคำสั่งโจทย์ โดยผู้สอนสามารถหรืออาจจะต้องเลือกใช้คำที่ต่างออกไปจากรูปแบบประโยคที่มักใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะวัตถุประสงค์ในการตั้งโจทย์ไม่ได้อยู่ที่การทำให้บทสนทนาดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง หรือการริเริ่มบทสนทนาใหม่ หากแต่เป็นการสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจสารอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อบิดเบือน ว่าผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมตามบทเรียนกิจกรรมไหนและอย่างไร การอธิบายโจทย์จึงเป็นการสื่อสารที่เน้นการออกคำสั่งอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำตัวบ่งชี้เฉพาะทางมาใช้ เพื่อช่วยให้ผู้สอนสามารถคิดโจทย์และกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนได้อย่างรวบรัดและมีประสิทธิภาพ

สามตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการวางรูปแบบกิจกรรมในการเรียนการสอนอย่างประสบความสำเร็จ

เราสามารถเข้าถึงตัวผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้ การอธิบายโจทย์และกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

  1. ภาษาจะต้องมีความกระชับ คำกล่าวที่ว่า “ยิ่งสั้นยิ่งดี” ถือเป็นกฎหลักที่สำคัญ ประโยคกล่าวนำต่างๆ เช่น “ตอนนี้ครูขอให้นักเรียนทุกคน ...” (Jetzt möchte ich, dass ihr...) หรือ “เพราะอย่างนั้นครูจึงอยากจะขอให้นักเรียนทุกคนช่วย ...” (Nun würde ich euch gern darum bitten, ...) จึงถือเป็นประโยคที่ไม่เพียงแต่จะไม่จำเป็น แต่อาจจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจยากขึ้นด้วย บางคนอาจโต้แย้งว่า ประโยคดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของภาษาที่ใช้ มีความสุภาพ และก็สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนได้ด้วยในสถานการณ์ที่เราต้องการขอให้คนอื่นช่วยทำอะไร อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรลืมว่า ยิ่งประโยคที่พูดออกมามีความซับซ้อนและยาวมากแค่ไหน ผู้ฟังก็จะฟังประโยคเหล่านั้นออกได้ยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ฟังต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจคำสื่อสารสารทุกสาร แค่โครงสร้างของอนุประโยค (Nebensatz) ที่มีคำกริยาต่อท้ายประโยคก็อาจจะทำให้ผู้ฟังต้องใช้เวลามากขึ้นในการเข้าใจสารที่สื่อออกมาด้วย
     
  2. ภาษาจะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายของผู้เรียน หากภาษาที่สอนเป็นภาษาที่ใช้ในอธิบายบทเรียนในห้อง และผู้สอนจะต้องตั้งโจทย์และกิจกรรมเป็นภาษาดังกล่าว ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงการเลือกใช้คำซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และควรตระหนักถึงคลังศัพท์ของตัวผู้เรียนด้วย หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ที่ใหม่และยังไม่ได้เรียนได้ ผู้สอนจะต้องนำอวัจนะภาษา เช่น ภาพ สัญลักษณ์ การแสดงท่าทาง หรือการทำท่าเลียนแบบ มาใช้อธิบายร่วมหรือก่อนการตั้งโจทย์กิจกรรมให้แก่ผู้เรียน โดยไม่เพียงแต่ความหมายของคำศัพท์ดังกล่าวเท่านั้นที่สำคัญ หากแต่ผู้สอนยังต้องให้ความสำคัญกับดัชนีการใช้คำศัพท์ด้วย เพื่อที่ผู้เรียนจะได้ไม่ใช้แต่คำศัพท์ที่ผู้เรียนกำลังเรียนอยู่ ที่มีความใกล้เคียงกับภาษาแม่หรือภาษาต่างประเทศอื่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถึงคำศัพท์บางคำจะมีความหมายคล้ายกัน แต่ตัวเจ้าของภาษาที่ผู้เรียนกำลังเรียนอยู่นั้น อาจจะไม่ได้ใช้หรือใช้คำเหล่านั้นในบริบทเดียวกันน้อยมาก ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ คำที่มีความหมายใกล้เคียงที่มาจากภาษาละติน
     
  3. ภาษาจะต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน การตั้งและอธิบายโจทย์และกิจกรรมควรจะตอบคำถามต่อไปนี้ได้ เช่น โจทย์คืออะไร ทำโจทย์อย่างไร และมีเวลาทำโจทย์นานเท่าไหร่ หรือมีเวลาถึงเมื่อไหร่ เป็นต้น หากเป็นไปได้ การอธิบายโจทย์จะต้องตอบคำถามตามลำดับดังกล่าวด้วย อันดับแรกผู้เรียนจะต้องเข้าใจว่าโจทย์อยากให้ทำอะไร เช่น ให้อ่านหรือเขียนข้อความ ให้ขีดเส้นใต้คำศัพท์ ให้วางเรียงภาพตามคำศัพท์ เป็นต้น หลังจากนั้นผู้สอนก็จะได้อธิบายว่า เป็นงานกลุ่มหรืองานเดี่ยว แล้วถึงค่อยแจกโจทย์ให้นักเรียนทำ ทั้งในรูปแบบกระดาษแบบฝึกหัด แผ่นข่าว และอื่นๆ (อ้างอิงจาก Ziebell/Schmiidjell 2012)
สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือการแบ่งเวลาให้นักเรียนไปพักและการรอรับฟังความเห็นของผู้เรียนว่าเข้าใจหรือไม่ เพื่อที่ตัวผู้สอนสามารถทราบได้ว่าผู้เรียนเข้าใจคำอธิบายโจทย์ในห้องเรียนอย่างแท้จริง
 

อ้างอิง

  • Heidermann, Rudolf (2009). Körpersprache im Unterricht, 9. Auflage. Kempten: Quelle & Meyer Verlag.
  • Ziebell, B. & Schmidjell, A. (2012). Unterrichtsbeobachtung und kollegiale Beratung NEU. Fernstudieneinheit 32. Kassel/München: Langenscheidt.