ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

เขียนโดยดร. พรพรรณ ไวทยางกูร
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย

ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคุโณปการของสถาบันเกอเธ่ต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 60 ปี สถาบันเกอเธ่ ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 นี้ ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศเยอรมนีและไทยได้เป็นอย่างดี

สถาบันเกอเธ่ริเริ่มการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในครั้งนั้น เทศกาลได้เข้าถึงผู้คนกว่า 5,000 คนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ผ่านการจัดฉายภาพยนตร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับการจัดงานในครั้งแรก ทั้งครูผู้สอนและผู้ชมรุ่นเยาว์ต่างประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
 
ในปีต่อมา เทศกาลได้ริเริ่มพัฒนาการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับภาพยนตร์ อาทิ สถาบันเกอเธ่ได้เชิญผู้กำกับภาพยนตร์มือชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มาจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในประเทศไทย การสนับสนุนเชิงบวกนี้ได้ช่วยสร้างผลที่หยั่งรากลึกในแวดวงของผู้ผลิตเนื้อหาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีในปีต่อๆ มา การริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวยังนำไปสู่ความร่วมมือกับพันธมิตรหลักของเทศกาล อันได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA) รวมไปถึงศูนย์วิทยาศาสตร์ของศูนย์การศึกษานอกระบบอีก 20 แห่ง, ศูนย์การเรียนรู้ Nanmeebooks Learning Center, อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช (CLP), หอภาพยนตร์, อุทยานการเรียนรู้ TK park และหน่วยงานอื่นๆ

ปัจจุบัน เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ได้ขยายออกไปกว่า 20 ประเทศใน 4 ทวีป หากจะกล่าวว่าเทศกาลได้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ครูและนักเรียนก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เนื่องด้วยเหล่าศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ได้มีส่วนในการช่วยขยายพื้นที่ในการฉายภาพยนตร์ให้กระจายไปทั่วโลก และทำให้เข้าถึงผู้ชมงานกว่าห้าแสนคนในประเทศไทยทุกๆ ปี และมากกว่าล้านคนทั่วโลก ด้วยสถิติดังกล่าวจึงทำให้เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นงานกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรูปแบบดังกล่าวและเป็นโครงการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ที่จัดโดยสถาบันเกอเธ่อีกด้วย

นอกเหนือไปจากนั้น การสอนวิทยาศาสตร์แนวทางเลือกที่ก้าวหน้าไปมากด้วยโครงการต่างๆ ตัวอย่างในที่นี้คือการใช้ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ผนวกกับกิจการการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง ได้ช่วยส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้ซึมซับและเรียนรู้ทฤษฎีการสอนแบบรูปแบบใหม่ๆ บ่อยครั้งวิชาวิทยาศาสตร์ก็เป็นวิชาที่ยากสำหรับนักเรียนและทำให้ขาดความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานไป ซึ่งมักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากแนวทางที่ใช้ในการสอนของโรงเรียนในแต่ละท้องถิ่น ด้วยแผนการสอนที่เน้นเนื้อหามากจนเกินไปทำให้ครูผู้สอนไม่อาจที่จะสอนวิทยาศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็นได้และทำให้นักเรียนไม่ได้ทำกิจกรรมเสริมทักษะหรือการทดลองที่ได้ลงมือทำจริง ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้ครูบางส่วนทำได้เพียงการสอนเนื้อหาทั้งหมดในแผนการสอนโดยการบรรยายให้ผ่านไป โดยที่ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนต่างก็ต้องประสบกับปัญหาด้านการจัดสรรเวลาและข้อจำกัดด้านเนื้อหาเรียนรู้ การใช้ภาพยนตร์เพื่อการศึกษาในการสอนวิทยาศาสตร์จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสอน ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไม่เพียงช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนามุมมองเชิงบวกต่อวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อีกทั้งภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยังมีส่วนเสริมสร้างจินตนาการของนักเรียนและสร้างบันดาลใจให้นักเรียนหันมาสนใจประเด็นปัญหาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันเกอเธ่ยังได้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลสะเต็มศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEADSTEM มานำเสนอพร้อมกับการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแหล่งสื่อการเรียนการสอนวิชาสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพ (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่พัฒนาโดยเหล่านักการศึกษาผู้มีประสบการณ์จากประเทศสมาชิก สื่อดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้และผสมผสานให้เข้ากับแผนการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนได้ตามความเหมาะสม นอกจากนั้น แพลตฟอร์มดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนในหมู่ประเทศที่ร่วมโครงการเพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนสะเต็มศึกษาแก่นักเรียนเพื่อเป็นแนวทางไปสู่อาชีพในอนาคตในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหนึ่งในพันธมิตรของสถาบันเกอเธ่ที่ได้ร่วมภารกิจเพื่อประเทศในภูมิภาคดังกล่าว

ผลงานดังกล่าวช่วยพิสูจน์ให้เห็นถึงคุโณปการและความพยายามของสถาบันเกอเธ่ที่ได้ทำเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และการเข้าถึงความรู้ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนตลอดช่วงเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการพัฒนาต่อยอดโครงการที่มีอยู่เหล่านี้ รวมไปถึงการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในอนาคตของสถาบันเกอเธ่ต่อไปในสาขาที่มีความสำคัญอย่างวิทยาศาสตร์นี้
 
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร
อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ
ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED)