คูเรทโดย อันนา-คัทธารินา เกบเบอร์ส ภัณฑารักษ์หอศิลป์เยอรมัน ฮัมบวร์กเกอร์ บาห์นฮอฟ – พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย - เบอร์ลิน นิทรรศการถือกำเนิดจากแนวคิดของคุณมาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
ครูลล์เป็นทั้งพลเมืองโลก เป็นศิลปิน นักปฏิวัติ นักข่าวสงคราม และเป็นหนึ่งในผู้จัดการโรงแรมในกรุงเทพฯ คนแรกๆ ที่เป็นผู้หญิง แกร์ไมเนอ ครูลล์ เกิดปีค.ศ. 1897 ที่เมืองโพเซ่น เยอรมนี เส้นทางชีวิตพลิกผันให้เธอต้องรับบทบาทใหม่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเหลือเชื่อ ผลงานภาพสุดประทับใจที่นักถ่ายภาพชั้นยอดเยี่ยมได้ทิ้งไว้เบื้องหลังนั้นเรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลย เช่นเดียวกับยุคสมัยในห้วงศตวรรษที่เธอมีชีวิตอยู่ มันสะท้อนให้เห็นถึงการแสวงหาเสรีภาพทางศิลปะและทางสังคมของนักบุกเบิกหญิงผู้กล้าหาญไม่หวั่นเกรง และแล้วผลงานภาพถ่ายจากมุมมองของเธอก็ได้นำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนชาวไทยเป็นครั้งแรก ที่กรุงเทพฯ – เมืองหลวงที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเธอมานานร่วมยี่สิบปี
แกร์ไมเนอ ครูลล์ถือเป็นศิลปินหญิงระดับตำนาน เธอเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานการถ่ายภาพสมัยใหม่ในประเทศตะวันตก แต่เส้นทางไปสู่อาชีพและความใฝ่ฝันปรารถนาของเธอก็ถูกจัดวางมาให้แบบบังเอิญมาก เนื่องจากว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มิวนิก เพราะเธอไม่มีประกาศนียบัตรมัธยมปลาย ด้วยเหตุนี้เธอจึงหันเหความสนใจไปเรียนวิชาชีพช่างภาพ และที่นครมิวนิกนี่เองที่ทำให้เธอกลายเป็นนักปฏิวัติทางการเมืองด้วยอายุแค่ยี่สิบปี หลังจากนั้นไม่นานเธอก็ไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ที่รัสเซีย จากนั้นในยุคทศวรรษ 1920 ได้ใช้ชีวิตที่กรุงเบอร์ลินอยู่ในแวดวงใกล้ชิดกับ แบร์ทอลด์ เบรคท์ (Berthold Brecht ) และ เกออร์ก กรอสซ์ (George Grosz) จนในที่สุด ที่ปารีส ในปีค.ศ. 1929 เธอก็ได้ค้นพบตัวตนและความสามารถที่แท้จริงของเธอ:
ด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้กับสิ่งที่เธอเรียกว่า «เจ้าดำ» เธอเล่นมุมกล้องแบบบิดเบนแนวเอ็กซเพรสชั่นนิสม์รอบๆ หอไอเฟล ถ่ายภาพเก็บรายละเอียดเชิงเทคนิค เล่นกับแสงและพลังอันแท้จริงของโครงสร้างโลหะที่หนักเป็นตันๆ ในปีค.ศ. 1927 เธอได้นำภาพถ่ายเหล่านี้มาพิมพ์เผยแพร่บนกระดาษอัดภาพแบบแผ่นเดี่ยวโดยตั้งชื่ออัลบั้มภาพว่า " Métal" (เมทัล) ซึ่งสไตล์ถ่ายภาพของเธอก็ได้กลายมาเป็นแนวทางใหม่ที่ชี้นำวงการถ่ายภาพ ผลงานนี้ถึงกับส่งให้แกร์ไมเนอ ครูลล์ มีชื่อเสียงโด่งดังทันใดในชั่วข้ามคืน
ครูลล์เดินทางไปทั่วโลกอย่างไม่หยุดนิ่ง ใช้ชีวิตอยู่ที่บราซิล แอฟริกา ลาว และกัมพูชา จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ ในปีค.ศ.1947 ด้วยวัยเกือบห้าสิบปี ห้วงเวลาพักร้อนช่วงสั้นๆ ที่เธอวางแผนไว้เพื่อพักผ่อนจากการทำงานในฐานะนักข่าวสงคราม กลายเป็นบทชีวิตที่ยาวที่สุดบทหนึ่งของเธอ หลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ไม่นาน ครูลล์ได้ถ่ายรูปพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 (ครองราชย์ พ.ศ. 2478-2489) ในขณะที่พระอนุชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ร่วมพิธีเเละเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์ในนามรัชกาลที่ 9 (ครองราชย์ พ.ศ. 2489-2559)
ที่กรุงเทพฯ เธอกับจิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันผู้มีเสน่ห์ดึงดูด ได้เข้าถือครองโรงแรมโอเรียนเต็ลที่ซึ่งในช่วงเวลานั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมยับเยิน โดยเธอได้เข้าไปบริหารจัดการตั้งแต่ปีค.ศ. 1947 จนถึง ค.ศ. 1967 ภายใต้การดูแลของนักถ่ายภาพหญิงผู้นี้กับจิมพ่อค้าผ้าไหม โรงแรมได้ตื่นขึ้นสู่ความเย้ายวนใจอีกครั้ง หน่มสาวและผู้คนในสังคมพากันมาพบปะสังสรรค์ที่แบมบูบาร์ ตัวครูลล์เองก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคนั้น
ยี่สิบปีต่อมา เมื่ออายุได้ 70 ปี เธอโบกมือลากรุงเทพฯ และย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งสุดท้าย คราวนี้ไปทางภาคเหนือของอินเดียที่เธอได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยชาวทิเบตในความคุ้มครองขององค์ดาไลลามะ หลังจากที่ครูลล์มีอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง สตรีผู้เป็นพลเมืองโลก ช่างภาพหญิงผู้เลื่องลือนาม ก็ได้สิ้นชีวิตลงในปีค.ศ. 1985 ในบ้านพักคนชราเมืองเวทซลาร์ รัฐเฮสเซ่น เยอรมนี หลุมฝังศพของเธออยู่ที่สุสานเมืองนี้
และขณะนี้ก็นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานของครูลล์กำลังย้อนรอยสู่กรุงเทพฯ เมืองที่เธอเคยใช้ชีวิตอยู่มานานและได้ทิ้งร่องรอยไว้อย่างน่าประทับใจ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จัดนิทรรศการที่หอศิลป์ จิม ทอมป์สัน อาร์ตเซนเตอร์ โดยนำเสนอภาพถ่ายคัดสรรจากผลงานของแกร์ไมเนอ ครูลล์ ที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอสเซ่นเนอร์ ฟอล์ควาง มิวเซียม ผู้ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผลงานศิลปะของเธอ นิทรรศการให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่หมดเกี่ยวกับงานภาพถ่ายแนวทดลองและชีวิตที่ไม่ธรรมดาของช่างภาพหญิงผู้ยิ่งใหญ่ รวมทั้งเหตุการณ์ในสังคมสมัยที่เธอมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังนับเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงผลงานภาพถ่ายที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทยด้วย
ไม่มีการหวนคืนสู่กรุงเทพฯ ครั้งไหนจะเหมาะเจาะเท่ากับครั้งนี้อีกแล้ว สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยซึ่งผู้ริเริ่มโครงการ และได้รับการสนับสนุนการคัดสรรภาพถ่ายผลงานของครูลล์โดยพิพิธภัณฑ์เอสเซ่นเนอร์ ฟอล์ควาง มิวเซียม ทำให้แกร์ไมเนอ ครูลล์ ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งที่ประเทศไทย ในนามแขกพิเศษของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน หอศิลป์ที่เป็นมรดกจากเพื่อนเก่าและผู้บริหารร่วมของเธอนามว่าจิม ทอมป์สัน
คุณมาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าวว่า ”สำหรับดิฉันแล้ว แกร์ไมเนอ ครูลล์ เป็นบุคคลที่น่าสนใจชวนให้ค้นหามากๆ ผลงานของครูลล์ชวนให้ทึ่งด้วย มันสะท้อนว่าผู้หญิงก็มีวิสัยทัศน์และบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในยุคศตวรรษที่ 20 เช่นกัน แต่ก็มักถูกลืมและถูกมองข้ามไป”
คุณอันนา-คัทธารินา เกบเบอร์ส ภัณฑารักษ์หอศิลป์เยอรมัน ฮัมบวร์กเกอร์ บาห์นฮอฟ – พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย – เบอร์ลิน กล่าวว่า “ด้วยความที่เธอเป็นผู้หญิงแนวใหม่ที่มีความมั่นใจในตัวเอง แกร์ไมเนอ ครูลล์ ก็ได้ทำการปฏิวัติวงการศิลปะภาพถ่ายเสียใหม่ด้วย นั่นคือมีการคิดค้นสร้างสรรค์ภาพจากมุมมองที่แปลกออกไป และทำการถ่ายภาพแนวทดลองโดยไม่ยึดถือทฤษฎี ซึ่งเราจะเห็นว่ามันเป็นแนวทางหลักที่ปรากฏในงานของเธอมาตลอด แม้กระทั่งในงานล่าสุดที่ถ่ายในภูมิภาคเอเชีย และนี่คือสารัตถะสำคัญที่เราตั้งใจสื่อและแสดงให้ประจักษ์ในนิทรรศการครั้งนี้”
ย้อนกลับ