นิทรรศการภาพถ่ายและเปิดตัวหนังสือ ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน

Deutsche Spuren GI Thailand Main banner © Goethe-Institut Thailand

5 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2565

สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากการจัดแสดงที่ริเวอร์ซิตี้แกลเลอรี่เมื่อสองเดือนที่แล้ว

เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 160 ปีความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย พร้อมกับสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานคร และริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ขอต้อนรับทุกท่านร่วมชื่นชมและสำรวจ “ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน” ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าประทับใจชวนให้ทึ่ง ซึ่งบ้างก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าทะนุถนอม บ้างก็มีมิติยิ่งใหญ่ในแบบของวิวเส้นขอบฟ้า เสมือนมิตรภาพที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับเยอรมันซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่างๆ มากมาย อีกทั้งในแต่ละรูปแบบนั้น ต่างก็มีเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังที่ยังไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน ซึ่งบางเรื่องชวนเราย้อนอดีตไปไกลถึงทศวรรษ 1800 ทีเดียว

เรื่องราวจากสองเมืองหลวงที่แตกต่างในแบบเฉพาะตัวได้รับการบันทึกผ่านเลนส์กล้องโดยสองนักถ่ายภาพชื่อดัง ราล์ฟ โทเท่น กับ วอล์ฟกัง เบลวิงเคิล ผสานกันเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ยิ่งใหญ่อลังการ สะท้อนเสน่ห์เย้ายวนใจของสองเมืองหลวงที่โด่งดังของโลก งานภาพถ่ายของสองนักถ่ายภาพนำเสนอรายละเอียดเล็กน้อยๆ ที่ผู้คนไม่ค่อยได้สังเกตเห็น แต่มันจะเปลี่ยนแนวทางการรับรู้ของเราที่มีต่อเมืองกรุงทั้งสองได้อย่างคาดไม่ถึง และที่สำคัญ งานของนักถ่ายภาพคู่นี้จะเย้ายวนเราให้อดใจไม่อยู่จนต้องออกไปเดินซ่อกแซ่กสำรวจถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือในเบอร์ลิน เพื่อค้นพบ (หรือย้อนกลับไปพบ) ร่องรอยอันล้นเสน่ห์แบบนั้น

นิทรรศการครั้งนี้ถือกำเนิดจากแนวคิดและประสบการณ์ของคุณมาเร็น นีไมเออร์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเบอร์ลินถึง 28 ปีเต็ม ก่อนเดินทางมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันเกอเธ่ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ซึ่งในช่วงเวลาที่ทำงานและใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในมหานครอันเป็นเมืองหลวงของไทยจนถึงวันนี้ คุณมาเร็นได้พบเห็นและสัมผัสกับเสน่ห์ของบางสิ่งบางอย่างที่เธอรู้สึกคุ้นเคย แน่นอนว่าที่มาของบางสิ่งบางอย่างที่ว่านั้นย่อมเป็นที่อื่นใดไม่ได้นอกจากเบอร์ลิน ปีแล้วปีเล่าหลากหลายร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ได้รับการสั่งสมไว้ จนในที่สุดก็ได้ถูกนำมาเรียงร้อยและผนวกกับหลากหลายร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน

มาร์ติน ชัคท์ นักเขียนชาวเยอรมัน ซอกซอนสำรวจค้นหาเสน่ห์จูงใจที่ว่านี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และเบอร์ลิน เพื่อนำเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเร้าใจที่แสดงถึงความสัมพันธ์หลากหลายมิติระหว่างไทยกับเยอรมนีมาถ่ายทอดให้เราได้รับรู้ ตั้งแต่เรื่องราวของเจ้าชายสยามในสมัยปรัสเซีย ไปจนถึงการชุบชีวิตใหม่ให้โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ลอันเลื่องชื่อที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยมือของ เกอร์ไมเนอ ครูล (Germaine Krull) นักถ่ายภาพรุ่นบุกเบิกชาวเยอรมัน โดยนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้จะเปิดตัวควบคู่ไปกับหนังสือเล่มสำคัญภายใต้ชื่อ “German Traces in Bangkok and Thai Traces in Berlin” ตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ไทย และอังกฤษ มีความหนาถึง 200 หน้า ซึ่งจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านได้ดำดิ่งลงไปสัมผัสเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องราวที่นักถ่ายภาพได้สื่อไว้ในงานภาพถ่าย

หากสนใจซื้อหนังสือเรื่อง “ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยไทยในเบอร์ลิน” (ISBN 978-616-588-681-9) ในราคา 500 บาท ในประเทศไทย สามารถติดต่อมาที่อีเมล programm-bangkok@goethe.de หรือ โทร. 02 108 8233 หนังสือจะมีจำหน่ายที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง


เกี่ยวกับศิลปินและภัณฑารักษ์
ราล์ฟ โทเท่น (Ralf Tooten) เคยทำงานให้กับบริษัทที่มีชื่อเสียงในยุโรปหลายแห่ง ทั้งบริษัทตัวแทนโฆษณา สำนักงานนิตยสาร และแสดงงานในหลากหลายนิทรรศการศิลปะ ในฐานะช่างภาพโทเท่นเน้นสร้างงานภาพถ่ายเชิงสถาปัตยกรรม วิวทิวทัศน์ และภาพบุคคล ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าเขามีความหลงใหลในสุนทรียภาพทางการมองเห็น ในราศีสง่างามภาคภูมิของมนุษย์ และในสถาปัตยกรรมอันเลอเลิศของทุกศตวรรษ โทเท่นใช้เวลาหลายปีในการบันทึกภาพถ่ายกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน  โดยในปีพ.ศ. 2552 เขานำภาพถ่ายมาตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพชื่อ “แบงค็อก นัวร์” (Bangkok Noir) ร่วมกับ โรเจอร์ วิลเลมเซน (Roger Willemsen)  ผู้เป็นนักเขียนบทความ ต่อมาในปีพ.ศ. 2561/2562 โทเท่น ก็ได้เป็นศิลปินเยอรมันที่เข้าร่วมในงานแสดงศิลปะ Bangkok Art Biennale ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และปัจจุบันโทเท่นเองก็ย้ายถิ่นมาพำนักและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

วอล์ฟกัง เบลวิงเคิล (Wolfgang Bellwinkel) ใช้ชีวิตและทำงานเป็นนักถ่ายภาพ ภัณฑารักษ์ และวิทยากร ทั้งในเบอร์ลินและกรุงเทพฯ ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงทั้งในรูปแบบนิทรรศการเดี่ยวและนิทรรศการกลุ่ม อาทิ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Pinakothek der Moderne ( พินาโคเทค แดร์ โมแดร์นเนอ มิวนิก), Berlinische Galerie (แกเลอรี่เบอร์ลิน เบอร์ลิน), พิพิธภัณฑ์ภาพถ่าย Museum voor Fotografie (อันท์เวิร์ป), พิพิธภัณฑ์ศิลปะแดลิม Daelim (โซล), หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ) งานหลักของเขาเป็นงานถ่ายภาพสารคดี ซึ่งเป็นงานประเภทที่สื่อถึงความคิดความเข้าใจแบบหยั่งลึก และการถ่ายทอดสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างถ่องแท้ชัดเจน เบลวิงเคิลใช้กลยุทธ์ทางภาพที่อยู่เหนือบรรทัดฐานและแบบแผนดั้งเดิมของงานภาพถ่ายประเภทสารคดี

มาร์ติน ชัคท์ (Martin Schacht) มากรุงเทพฯ ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2532 โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เขาพบว่าเมืองหลวงของไทย ใหญ่โตมโหฬาร มีสีสันสดใสจัดจ้าน และแปลกตากว่าเมืองไหนๆ ในหลายประเทศที่เขารู้จัก ตั้งแต่นั้นมา เขาก็เดินทางไปกลับเบอร์ลิน-กรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ ด้วยเขามีอาชีพเป็นผู้กำกับสารคดีโทรทัศน์ นักเขียนคู่มือเดินทางท่องเที่ยว รายงานข่าวสถานการณ์ และนักแต่งนวนิยาย สำหรับเขา เบอร์ลินกับกรุงเทพฯ อาจเป็นเมืองหลวงที่โลดแล่นจนทำให้คนหมดแรง แต่ถึงยังไงก็ต้องกลับไปหาอีกจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่เยี่ยมที่สุดในช่วงเวลาที่เยอรมนีทั้งหนาวทั้งมืดทึม

มาเร็น นีไมเออร์ (Maren Niemeyer) ประสบการณ์เป็นนักหนังสือพิมพ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้จัดการด้านวัฒนธรรม โดยยึดเบอร์ลินเป็นบ้านอยู่ถึง 30 ปี อาชีพนักข่าวได้นำเธอสู่การเดินทางไปยัง 70 กว่าประเทศบนทวีปต่างๆ ทั่วโลก พร้อมกับได้รับการยกย่องด้วยหลากลายรางวัลอันแสนภาคภูมิ เช่น Grimme Award เธอทำรายงานข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ค่ายสำคัญของเยอรมนี อาทิ ARD, ZDF, Deutsche Welle TV อีกทั้ง ค่ายเยอรมัน--ฝรั่งเศส ARTE ซึ่งเป็นช่องแนวศิลปวัฒนธรรมคุณภาพดี โดยเธอได้ไปทำข่าวสงครามและวิกฤตสถานการณ์ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โคโซโว ซีเรีย ลิบานอน ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน กระทั่งในปีพ.ศ. 2559 เธอได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย พร้อมกับรับหน้าที่ประสานงานด้านวัฒนธรรมในลาวและกัมพูชา
 

ย้อนกลับ