เวิร์กชอป อาร์ตเกมส์ - เกม แจม

Art Games - Game Jam © Goethe-Institut

16 มีนาคม 2561 เวลา 16.30 น. ถึง 18 มีนาคม 2561 เวลา 16.30 น.

CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายเกมแจมระดับโลก! แล้วคว้ารางวัลไปเบอร์ลิน เยอรมนี!

สถาบันเกอเธ่ฯ ได้ปิดรับสมัคร การเข้าร่วมเวิร์กชอป “เกม แจม” (Game Jam) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการกำลังทำการคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมเวิร์คชอปและจะแจ้งผลการคัดเลือกให้ท่านทราบภายในวันที่ 1 มีนาคม 2561

เป็นไปได้ไหมที่เกมคอมพิวเตอร์ออกใหม่และฮิตไปทั่วโลกจะมาจากประเทศไทย เราเชื่อว่าเป็นไปได้เพราะโอกาสนั้นมาถึงแล้ว เมื่อสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยและCommDe ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญชวนคนเขียนเกม นักสร้างเกม นักพัฒนาเกม โปรแกรมเมอร์ ศิลปิน นักวาด นักออกแบบ นักดนตรี และนักสร้างสรรค์ มาร่วมโครงการอาร์ตเกมส์ (ART GAMES) เพื่อสร้างและพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ แบบนอกกระแส ด้วยการสมัครเข้าเวิร์กชอป “เกม แจม” (Game Jam) ซึ่งเป็นค่ายพัฒนาเกม ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 48 ชั่วโมงเต็ม ระหว่างวันที่ 16 – 18 มีนาคม 2561 ผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจะได้เดินทางไปนำเสนอและแสดงผลงานที่เบอร์ลิน เยอรมนี

เราขอชวนคุณมาพบกับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่จะมารวมตัวกันเพื่อแจมกับงานเกม งานศิลปะกราฟิก แนวคิดทางการเมือง เพื่อสร้างเกมใหม่ๆ สุดท้าทายและอยู่นอกกระแส พร้อมรับโอกาสที่จะได้พาตัวเองเข้ามาอยู่ในแวดวงเกมของเยอรมนีและนานาชาติ
 
เวิร์กชอป “เกม แจม” (Game Jam) ดำเนินงานและปฏิบัติการโดยทีมงานของ Maschinen-Mensch สตูดิโอพัฒนาเกมจากเบอร์ลินที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ทั้งนี้ เกมคอมพิวเตอร์ทุกเรื่องที่สร้างและพัฒนาขึ้นในเวิร์กชอปจะได้รับการโปรโมทในเว็บไซต์อาร์ตเกมส์ ( ART-GAMES-Website) ของสถาบันเกอเธ่ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก
 
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเวิร์กชอป “เกม แจม” ได้ฟรี จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 โดยเราจะแจ้งผลการคัดเลือกเข้าเวิร์กชอปให้ท่านทราบภายในวันที่ 1 มีนาคม 2561

รายละเอียด
 
สิ่งที่ต้องเตรียม: เวิร์กชอป “เกม แจม” ใช้เวลา 48 ชั่วโมง ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์กชอปจะใช้เวลานี้ในการสร้างและพัฒนาดิจิทัลเกมในหัวข้อที่เกี่ยวกับศิลปะและ/หรือการเมือง ซึ่งจะมีการพูดคุยหารือเพื่อสรุปหัวข้อกันก่อนที่จะเริ่มงาน โปรดนำอุปกรณ์ทำงานของคุณติดมือมาด้วย เช่น แล็ปท็อป สายชาร์จ ถุงนอนและเสื่อสำหรับนอนด้วย
 
สถานที่: CommDe ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
วัน/เวลา: วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2561 เวลา 16.30 น. ถึง วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561 เวลา 16.30 น.
 
ผู้ที่สามารถสมัครได้: โปรแกรมเมอร์ นักคิด นักเขียน นักออกแบบ ผู้สร้างเกม ศิลปิน นักวาด นักดนตรี ผู้สร้างภาพยนตร์/วิดีโอ และนักสร้างสรรค์หรือผู้ที่อยู่ในสายงานใกล้เคียง เปิดรับทั้งผู้ที่มีประสบการณ์และมือใหม่ ทีมผู้ดำเนินงานจะเป็นผู้คัดเลือกตัวแทนจากผู้สมัครทั้งหมด
 
ค่าใช้จ่าย: ไม่มีค่าใช้จ่าย มีอาหารและพื้นที่สำหรับพักผ่อน
 
การตัดสินและรางวัล: ในรอบแรก คณะกรรมการตัดสินที่กรุงเทพฯ จะคัดเลือกทีมผู้ชนะออกมา 3 ทีม หลังจากนั้น คณะกรรมการจากอาร์ตเกมส์นานาชาติจะทำการตัดสินว่าทีมใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ทีมผู้ชนะจะได้ทำงานกับโค้ชชาวเยอรมัน (เช่น ลินดา เรนเดล, แบร์นด์ ดีมเมอร์, สตูดิโอ คอลเลคทีฟ ฟัวร์ หรือกับสตูดิโอ ไวเทอร์เอนวิคลุง) เพื่อพัฒนาเกมให้สมบูรณ์ ตัวแทนสองคนจากทีมผู้ชนะจะได้เดินทางไปเยอรมนีเพื่อนำเสนอและแสดงผลงานพร้อมกับตัวแทนผู้ชนะเกมแจมจาก 7 ประเทศทั่วโลก ซึ่งงานนำเสนอผลงานนี้จะจัดให้มีขึ้นในเทศกาล A Maze. ที่โด่งดัง ซึ่งจะจัดขึ้นที่เบอร์ลิน ระหว่างวันที่ 23- 29 เมษายน 2561

ความเป็นมา: อาร์ตเกมส์ (ART GAMES) เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานนิทรรศการเกมแบบอินเทอร์แอคทีฟในหัวข้อ Games and Politics” ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันเกอเธ่ริเริ่มจัดขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2016 โดยร่วมมือกับสำนักงาน ZKM ประจำเมืองคาร์ลสรูเฮอ นิทรรศการสัญจรที่ตระเวนไปเปิดงานในหลายประเทศนี้นำเสนอเกมคอมพิวเตอร์ที่มีแนวทางแน่วแน่และชัดเจนในการสำรวจถึงผลกระทบจากโลกาภิวัตน์
 
ตัวนิทรรศการถือเป็นกิจกรรมเปิดตัวโครงการอาร์ตเกมส์ (ART GAMES) ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านทุนจากสำนักงานการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยจัดแสดงเกมคอมพิวเตอร์ 18 เกม และทำเวิร์กชอปพัฒนาเกมภายในเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อสร้างผลิตผลเกมทางเลือกที่มีคุณค่า หรือที่เรียกกันว่า “เกมนอกกระแส”
 
เวิร์กชอป “เกม แจม” เปิดปฏิบัติการใน 7 ประเทศในเมืองต่างๆ ได้แก่เม็กซิโกซิตี้ โซล จาการ์ตา บอสตัน โนโวซีบีรสค์ เซาเปาโล เอเธนส์ และกรุงเทพฯ
 
พิธีเปิดนิทรรศการ “Games and Politics” ที่กรุงเทพฯ จะมีขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2561 เวลา 18.30 น. ที่ CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
“อาร์ตเกมส์” เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเกอเธ่ ร่วมกับ Maschinen-Mensch โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนจากสำนักงานการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ย้อนกลับ