ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

เขียนโดยถนอม ชาภักดี
จากถนนพระอาทิตย์อันเร่าร้อนสู่ร่มเงาเถาว์สาทรที่รื่นรมย์

นับตั้งแต่ปี 2518 ที่ได้ลอดรั้วมามหานครและเข้าไปเรียนรู้ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์ ถิ่นวังหน้า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวิทยาการที่ต่างจากถิ่นเกิดกายแห่งแรกของผู้เขียนที่ได้เปิดกะลาสู่โลกศิลปะที่ไม่เคยประสีประสามาก่อน ความตื่นตาตื่นใจกับความศิวิไรซ์ของสะดือใจกลางแห่งเมืองฟ้าอมรรัตนโกสินทร์นั้น แทบจะเรียกได้ว่าต่างกันราวฟ้ากับเหว วันวัยจากภาคอีสานในปลายทศวรรษ 2510 ที่ถูกกระพือด้วยแรงโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็นที่แต้มไปด้วยเรื่องราวของคอมมิวนิสต์ และความร้อนแล้งแรงเข็ญ ในขณะที่เมืองฟ้าอมร ที่เต็มไปด้วยรถราความเร็ว ความเจริญของตึกรามบ้านช่อง ปราสาท ราชวัง ละแวกวังหน้า ท่าพระจันทร์ ถนนพระอาทิตย์ สนามหลวง ถนนราชดำเนิน ที่อยู่ในรัศมีทางเดินของนักเรียนช่างศิลป์ สมัยนั้นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมมีให้เลือกเรียนรู้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่พระราชวัง วัดวาอาราม หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ยันสลัมหลังวัดชนะสงครามลามไปถึงตรอกข้าวสาร สำหรับผู้เขียนแล้ว นอกจากจะอิ่มเอมกับอรรถรสสุนทรีย์แห่งความเป็นเมืองแล้ว ก็มีสถานที่ไม่กี่แห่งที่แวะเวียน ไปจนกลายเป็นพื้นที่ประจำ ซึ่งไม่ใช่หอศิลป์  พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หรือ โรงละครอย่างแน่นอน แต่เป็นสถาบันเกอเธ่ ถนนพระอาทิตย์

ช่วงปลายทศวรรษ 2510 จนถึงทศวรรษ 2520 สถาบันเกอเธ่ ถนนพระอาทิตย์ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาและสุมรวมของบรรดานักกิจกรรมหลากหลายสาขา ทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปากร จุฬา อีกทั้งศิลปิน นักคิด นักเขียนผู้เร่าร้อนไปกับกระแสทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน นักคิด นักเขียน ได้แสดงออกทางสิทธิเสรีภาพได้อย่างงอกงาม ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ในวงการศิลปะ รวมทั้งการแสดงออกในด้านอื่นๆ ด้วย ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานนัดพบผู้คน ต่างก็แวะเวียนกันมาไม่ได้ขาดดุจดั่งสายน้ำเจ้าพระยาที่ไม่เคยเหือดแห้ง เรือนไม้หลังงาม ร่มไม้ชายคาบ้านเจ้าพระยาแห่งนี้ กระไดไม่เคยแห้งแม้แต่ในยามวิกาล เพราะมันคือแหล่งเพาะพันธุ์ศิลปวัฒนธรรม ที่ไหลรินไม่เคยเหือดหาย ได้พบปะหน้าตาศิลปินที่เคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ถวัลย์ ดัชนี  ประเทือง เอมเจริญ ได้ดูหนัง ดูละครจากเยอรมัน ได้ชมงานนิทรรศการศิลปะที่ไม่คาดฝันมาก่อน แน่นอนห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ กลายเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ได้รับรู้จากการเพ่งดูหนังสือภาพศิลปะ เพราะอ่านภาษาเยอรมันไม่ออก แต่ผลพลังแห่งการรับรู้จากภาพ กลายเป็นความจำที่สามารถไล่เรียงเรื่องราวทางศิลปะได้มาจนทุกวันนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้รู้ว่าเกอเธ่ เป็นนักปรัชญาผู้เรืองนามที่ถูกไถ่ถามถึงความยิ่งใหญ่ เอกอุจนกลายเป็นชื่อสถาบันอย่างนิรันดร์กาล

ในช่วงวันวัยที่อยากเรียนรู้ก็มักจะอาสาแสวงหาอย่างไม่ท้อถอย เคยเป็นอาสาสมัครร่วมกับกลุ่มทำละคร เรื่องมุกหนอก บทประพันธ์ของ ไรเนอร์ ฮัคเฟล ที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพของเด็ก ที่ถูกผู้ใหญ่มักใช้อำนาจ ความรุนแรง ละเมิดความเป็นเด็กอยู่เสมอๆ และนั้นคือสิ่งที่รับรู้ถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่อ่อนแอและไม่มีโอกาส
จากวันวัยในมุกหนอก จนถึงร่มเถาว์เงาสาทร ถึงแม้ว่าจะห่างเหินกันไกลตามกิจภาระ แต่วันหนึ่งก็ได้ย้อนกลับมาสู่ร่มเงาของสถาบันเกอเธ่ ซึ่งได้ร่วมกันจัดโครงการ “เยือนบ้านลานศิลปิน”  (Let’s Visit Artist Home) ในช่วงที่คุณ Katharina von Ruckteschell เป็นผู้อำนวยการสถาบัน โดยที่โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการนำร่องครั้งแรกในประเทศไทย ที่เปิดบ้านและห้องทำงานของศิลปิน ให้ประชาชนผู้สนใจเข้าไปสัมผัส เรียนรู้ถึงวิถีการทำงานของศิลปิน อันเป็นลักษณะของการมีส่วนร่วม และสร้างมิติความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับชุมชนให้ใกล้ชิด อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ดังเช่น ครั้งแรกไปเยือนบ้านของศิลปิน ปัญญา วิจินธนสาร และสมภพ บุตรราช ครั้งที่ 2 บ้าน ประเทือง เอมเจริญ ที่บางแค ครั้งที่ 3 บ้าน ช่วง มูลพินิจ โดยโครงการนี้จัดขึ้นเดือนละครั้งบ้าง สองเดือนต่อครั้งบ้าง นอกเหนือจากนั้น ยังมีการจัดเทศกาลศิลปะการแสดงสด (Performance Art Festival) ในงานเทศกาลเปิดบ้านเกอเธ่ ช่วงปลายปีเสมอมา
           
สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ เสมือนแหล่งน้ำโอเอซิสทางศิลปวัฒนธรรม ในยามที่แล้งเข็ญ และเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน สร้างปฎิสัมพันธ์เรียนรู้โลกกว้างทางไกล ให้กับผู้กระหายใฝ่รู้อย่างไม่ขาดตอน จากวันเวลาที่รุ่มร้อน ก็ยังมีร่มเงาทางศิลปวัฒนธรรมบนพื้นที่แห่งนี้ได้ใบบังให้ร่มรื่น ปัจจุบันสมัยแม้วิกฤตินานามาถาโถมแต่สถาบันเกอเธ่ก็ยังยืนหยัดในเจตนาของรุ่งอรุณ ที่จะขับขานท่วงทำนองของการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมให้เข้มแข็งดุจแรงปรารถนาของผู้ก่อการ