ภาพลักษณ์ของโลก © Christian Pauschert / Adobe Stock

ภาพลักษณ์ของโลก

มนุษย์เราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกอย่างมากมายในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา ในช่วงแรก มนุษย์ต่างก็ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการเกษตรและการปศุสัตว์ ทิวทัศน์แบบไร่นาจึงค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้น ในปัจจุบัน มนุษย์ได้ใช้พื้นที่บนบกทั้งหมดถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด โดยส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้เพื่อการเกษตรกรรม

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตรกรรมแบบมุ่งเน้น ที่ส่งผลเสียต่อทั้งภูมิทัศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของโลกเราเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรเช่นเดียวกัน การที่มีผู้คนหลายล้านคนอาศัยแออัดในเมืองใหญ่ๆ อย่าง โตเกียว เซาเปาโล นิวยอร์ค ไคโรหรือเซี่ยงไฮ้ ทำให้เราเห็นถนนและเส้นทางรถไฟเป็นเส้นยาวลากไปตามทุกหนทุกแห่งบนโลก และสิ่งที่พวกเราทุกคนทิ้งให้ไว้ ตั้งแต่พลาสติกขนาดอนุภาคไปจนถึงขยะปรมาณู ก็จะอยู่กับคนรุ่นต่อๆ ไปนานแสนนาน

ผืนทะเลพลาสติก

ในแคว้นอัลเมเรียทางตอนใต้ของประเทศสเปน มีการปลูกพืชพันธฺ์ชนิดต่างๆ หลายล้านตัน เช่น แตงกว่า มะเขือเทศ พริกหยวก อโวคาโด้และสตรอเบอรี่ เพื่อส่งออก โดยหนึ่งในสามของผักทั้งหมดจะถูกส่งมาที่ประเทศเยอรมนี พืชผักดังกล่าวแทบจะทั้งหมดมักจะได้รับการปลูกในเรือนกระจก โดยมีระบบรดน้ำข้างใน พื้นที่เรือนกระจกที่มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตรเปรียบเสมือน “ผืนทะเลพลาสติก” เพราะพื้นที่ทั้งหมดถูกปกคลุมไปด้วยเรือนกระจกที่ทำจากพลาสติกนั่นเอง โดยไม่มีพื้นที่ให้สัตว์ป่าหรือพืชพรรณที่โตเองในธรรมชาติเลย นอกจากนี้ระบบการรดน้ำแบบมุ่งเน้นยังทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลง พื้นที่โดยรอบจึงค่อยๆ แห้งแล้งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยสังเคราะห์ที่ยิ่งทำให้ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนสามารถมีชีวิตรอดภายนอกเรือนกระจกดังกล่าว


สายธารใต้การบงการของมนุษย์

Mississippi © Meandering Mississippi. Map by Harold N. Fisk, U.S. Army Corps of Engineers, 1944 | Geological Investigation of the Alluvial Valley of the Lower Mississippi River

สมัยอันโทรโพซีนหรือสมัยที่มนุษย์ครองเป็นมากกว่าแค่เรื่องของภาวะโลกร้อน การกระทำต่างๆ ของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงพื้นที่และทิวทัศน์อย่างเป็นวงกว้าง หนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวคือแม่น้ำมิสซิซิปปี้ หนึ่งในแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดบนโลก โดยมีลุ่มน้ำครอบคลุมถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือ แม่น้ำดังกล่าวที่มีความยาวถึง 3,778 กิโลเมตรไหลผ่านพื้นที่แนวกลางของอเมริกาทั้งหมดและยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งทางระบบนิเวศน์ สังคม อุตสาหกรรมและประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน มิสซิซิปปี้เป็นเหมือนทางขนส่งขนาดใหญ่ของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเราจะพบเห็นส่วนที่เหลือของสารกัมมันตภาพรังสีจากการผลิตสารยูเรเนียม โรงกลั่นน้ำมันและโรงผลิตเหล็กกล้าขนาดใหญ่ รวมถึงเมืองต่างๆ อย่าง เซนต์หลุยส์ที่ยังมีความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเก่าให้เห็น นอกจากนี้ ผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมยังทิ้งร่องรอย ติดต่อสัมพันธ์และความไม่เท่าเทียมกันจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงมีให้เห็นอีกด้วย ในโครงการแบบสหวิทยากรที่ชื่อ “มิสซิซิสปี้ แม่น้ำที่มนุษย์ปกครอง” ทีมนักวิจัยจากประเทศเยอรมนีและอเมริกาต่างก็ร่วมกันวิจัยแม่น้ำดังกล่าว ในฐานะตัวอย่างที่สำคัญของการศึกษาความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์



© Haus der Kulturen der Welt/Max Planck Institute for the History of Science
แม่น้ำเอมเชอร์ถือเป็นแม่น้ำที่สกปรกที่สุดในประเทศเยอรมนีในช่วงปี 1980 โดยจะไหลผ่านบริเวณรัวเกบีท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ มีความสำคัญทางด้านการทำเหมืองแร่และการอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นอย่างมาก เป็นเวลานานมากที่ไม่สามารถสร้างทางระบายน้ำใต้ดินได้ เพราะการขุดเจาะทำเหมืองใต้ดินมักจะทำให้เกิดเหตุการณ์ “เหมืองล่ม”  เพราะฉะนั้นจึงปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ในสมัยนั้นแม่น้ำดังกล่าวจึงเป็นเหมือนเพียงอ่างกักเก็บน้ำเหม็นเน่าในเมืองที่มีแต่ตึกปูนซีเมนต์

การเริ่มปรับสภาพแม่น้ำเอมเชอร์และแม่น้ำสายย่อยต่างๆ ในพื้นที่รัวเกบิทในเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว โดยความยาวครึ่งหนึ่งของความยาวของแม่น้ำทั้งหมดประมาณ 326 กิโลเมตรก็ได้กลับมามีสภาพตามธรรมชาติที่เคยเป็นอีกครั้ง และในปัจจุบันก็มีนกกระเต็นหายากหลายชนิดกลับมาอาศัยอยู่ตามชายฝั่งอีกครั้ง การเปลี่ยนปรับสภาพทางระบบนิเวศน์ดังกล่าวถือเป็นโปรเจคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในด้านดังกล่าวและต้องใช้เงินไปกว่าห้าพันล้านยูโร ผู้แทนรัฐจากหลายประเทศต่างที่มีปัญหาคล้ายกันต่างก็มาที่รัวเกบีทเพื่อศึกษาและเรียนรู้จากโครงการที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว
 

ผู้ร่วมจัดงาน

GI-Logo MPG Logo