การอบรมบ่มเพาะ
(Incubation Workshops)

การอบรมบ่มเพาะรอบแรกถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 25 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมเยาวชน 40 คน (ผู้ชาย 18 ผู้หญิง 22) และพี่เลี้ยง 17 คนจากสาขาวิชาต่าง ๆ การอบรมนี้เป็นโอกาสที่เยาวชนจากเมืองต่าง ๆ จะได้มาพบกันแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรก หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ถูกบังคับใช้ตลอดปี 2564

การอบรมบ่มเพาะจัดเป็นมาตรการพัฒนาศักยภาพภายในโครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการนำโครงการที่นำโดยเยาวชนไปปฏิบัติ เอื้อให้เกิดกระบวนการสร้างเครือข่ายโดยกลุ่มเยาวชนในแต่ละเมือง และหาแนวทางร่วมในการสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายเยาวชนในประเด็นการพัฒนาเมืองและกำหนดนโยบายในเมืองที่เข้าร่วมโครงการ

ในการอบรมครั้งแรก ผู้เข้าร่วมมีโอกาสแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับโครงการของตนเองกับเพื่อน ๆ จากทั้งห้าเมืองและได้รับคำปรึกษาจากพี่เลี้ยงโครงการ นอกจากจะได้แปลงแนวคิดไปเป็นแผนปฏิบัติการแล้ว ผู้เข้าร่วมยังจะได้ทำงานจัดตั้งเครือข่ายชุมชนเยาวชนในเชิงโครงสร้างและหาจุดเชื่อมโยงกับโครงการในเมืองอื่น ๆ

หลังจากการอบรม ผู้เข้าร่วมมีเวลาสองสัปดาห์ในการพัฒนาแผนโครงการให้แล้วเสร็จและยื่นโครงการมายังทีมส่วนกลาง ก่อนที่จะได้เริ่มดำเนินการโครงการอย่างเป็นทางการตลอดปี 2565 ด้วยเงินสนับสนุนโครงการจากสหภาพยุโรปและโครงการ Inclusive Cities ของมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน

ตลอดเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2565 ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขนาดย่อมในแต่ละเมือง เพื่อติดตามการวางแผนและการดำเนินการโครงการของเยาวชน และเริ่มการเตรียมการสำหรับเทศกาลเยาวชนริทัศน์ (ReThink Urban Spaces Youth Festival) ในแต่ละเมืองในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 เยาวชนยังได้รับคำแนะนำและความเห็นเพิ่มเติมจากคณะพี่เลี้ยงจากสาขาวิชาและความเชี่ยวชาญต่าง ๆ อาทิ การรณรงค์ การออกแบบเมือง การกำหนดนโยบาย การบริหารโครงการ และการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีการจัดการอบรมทางออนไลน์ในเดือนกันยายน 2565 เพื่อให้เยาวชนจากทั้งห้าเมืองร่วมกันประเมินโครงการของตนเอง รวมถึงผลกระทบและความท้าทายของโครงการ พร้อมเตรียมการขั้นตอนสุดท้ายในการจัดเทศกาลเยาวชนริทัศน์
 

มาตรการพัฒนาศักยภาพดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมพลังให้แก่เยาวชนในฐานะผู้ดำเนินโครงการในแต่ละภูมิภาค ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน รวมถึงการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก การอบรมเอื้อให้เยาวชนในแต่ละเมืองหันมามองเมืองด้วยมุมมองใหม่ หาทางออกที่สร้างสรรค์ และสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายเยาวชนที่สนใจในประเด็นการพัฒนาเมือง
 

การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อการออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมือง
30 มีนาคม 2566


การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมือง” ถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองและภูมิภาคจากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน ผู้เข้าร่วมจำนวน 25 คนจากสาขาวิชาต่าง ๆ ได้แก่ สถาปัตยกรรม ธุรกิจ การพัฒนาสังคม และออกแบบ ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษนี้ ศ. ดร. อังเกลา มิลเลียน และดร. อันนา จูเลียนเนอ ไฮน์ไรค์ ได้นำเสนอวิธีการต่าง ๆ เพื่อการมีส่วนร่วมที่ประสบความสำเร็จผ่านการแสดงละคร ยกตัวอย่างเช่น การเล่นบทบาทสมมติสามารถเปิดทางใหม่ ๆ ในการให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เมือง ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด 5 ขั้นตอนของการมีส่วนร่วม อันประกอบด้วย “ดูและสำรวจ จินตนาการ ออกแบบ นำเสนอ และเปลี่ยนแปลง” และการใช้เกมส์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางผังและออกแบบเมืองแบบมีส่วนร่วม

ช่วงที่สองของการประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งเน้นไปที่การออกแบบและทดสอบเกมส์ โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสในการทดลองเล่นเกมส์ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน
 

TUB Workshop © ReThink Urban Spaces

​​​​​​​