กรุงเทพมหานคร

RTUS - Team Bangkok - The City in Our Eyes© RTUS - Team Bangkok

กรุงเทพมหานคร (ชื่อเต็ม: กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์  มหินทรายุธยา  มหาดิลกภพ  นพรัตนราชธานีบูรีรมย์  อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  อมรพิมานอวตารสถิต  สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์) เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร”

เดิมทีเคยขึ้นชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออก เนื่องด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทำให้ลักษณะทางกายภาพจึงอุดมไปดูคูคลอง ซึ่งชาวกรุงเทพฯ มักใช้วิถีชีวิตริมน้ำเป็นหลัก ทั้งการคมนาคม ค้าขาย และการเกษตร แต่มันก็เป็นเพียงเรื่องในอดีตหลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงจาก “เมืองน้ำ” มาสู่ “เมืองบก” จนแทบไม่เหลือร่องรอยของวิถีชีวิตดั้งเดิม 

กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของในทุก ๆ ด้านของประเทศ เช่น เศรษฐกิจ ขนส่ง หรือการศึกษา จึงมีส่วนทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นนครที่มีความโตเดี่ยวที่สุดในโลก (The most primate city on earth) โดยมีจำนวนประชากรมากกว่าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรเป็นอันดับสองของไทยถึง 35 เท่า

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ทั้งยามรุ่งและยามค่ำมีความคึกคักเต็มไปด้วยแสงสีเสียงตลอดเวลา มีพื้นที่ให้สามารถออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ และยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครันตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองสังคมพหุวัฒนธรรม มีชุมชนหลากหลายชนชาติ ศาสนา และความเชื่อ ที่ตั้งรกรากตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่อดีต จึงมีสถาปัตยกรรมทางด้านศาสนา ทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า และอาหารที่รสชาติจัดจ้าน โดยเฉพาะอาหารสตรีทฟู้ด (Street food) ที่เป็นของขึ้นชื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ชื่อทีม: ริทัศน์กรุงเทพ
เมืองในสายตาของเรา


กรุงเทพฯ มีโครงข่ายของคลองสายต่าง ๆ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นถนนและถมเป็นที่ดินในเวลาต่อมาตามการพัฒนาของเมืองที่ถูกกำหนดด้วยชนชั้นและนโยบายระยะสั้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เกิดเป็นการพัฒนาซึ่งขาดการเชื่อมต่อในภาพรวม เส้นทางน้ำในอดีตกลับกลายเป็นซอยตันจำนวนมากที่ยากและไกลเกินจะเดินถึง เปลี่ยนทางเดินของคนให้เป็นถนนของรถ และยังคงขยายอย่างต่อเนื่องจนขึ้นชื่อเรื่องรถติด ผังเมืองและประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้สั่งสมมาจนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ราคาที่อยู่อาศัยที่จับต้องยาก ชุมชนแออัด จนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมาย แต่การบริหารกลับไม่สามารถครอบคลุมไปถึงต้นเหตุและไม่ได้ทำเพื่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ช่องว่างในการบริหารเหล่านี้ทำให้เอกชนหรือนายทุนมีบทบาทและอำนาจที่มากเกินควรในการจัดการพื้นที่ เกิดเป็นการเติบโตแบบไม่ลืมหูลืมตาที่พัฒนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเฉพาะย่านการค้าเพียงไม่กี่แห่งเพื่อสนองชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวมากกว่าที่จะทำเพื่อคนในเมือง ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากขึ้น เราสามารถสังเกตได้จากการขนส่งและพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทางเดินเท้าที่ขรุขระและต้องแบ่งให้กับรถจักรยานยนต์ เป็นการพัฒนาที่ละเลยผู้คนจนกระทั่งสูญเสียคุณภาพชีวิตและอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ ไป กลายเป็น เมืองศิวิไลไร้ความทรงจำ (Placelessness) คนกรุงเทพฯ บางส่วนไม่เคยคิดและไม่พูดว่าคิดถึงหรือรักเมืองของตัวเอง และถึง

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการศึกษา แต่กลับเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างไร้แบบแผนจนมีความเหลื่อมล้ำสูง คนในเมืองต่างก็สิ้นหวังกับการพัฒนาจากภาครัฐจนต้องหันมาพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงานของตัวเองเพื่อให้กระทบกับโครงสร้างของสังคมได้

แม้พวกเราจะอยู่ท่ามกลางเมืองแห่งแสงสว่างที่ไม่เคยหลับใหล แต่แสงเหล่านี้กลับไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงและต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้พออยู่รอด อัตราความเครียดและอัตราการป่วยในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และกระทบไปถึงความสัมพันธ์ของผู้คน เมืองแห่งนี้พัฒนาแต่คอนกรีตและเศรษฐกิจ แต่ผู้อยู่อาศัยกลับยิ่งอยู่ยิ่งทุกข์ ยิ่งบั่นทอนจิตใจ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นว่ามีกลุ่มคนจำนวนมากที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชุมชน เยาวชน หรือองค์กร ที่พร้อมจะลงมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ สร้างความตระหนักในสิทธิที่ทุกคนควรได้อยู่ในเมืองที่ดี และร่วมกันใช้ความสามารถที่มีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีปัญหาอีกมากที่ยังรออยู่แต่ก็สามารถพูดได้ว่าเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทุกวัน อาจช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่พวกเราก็ยังคงมีความหวังที่จะทำต่อไป

กิจกรรมที่อยากทำในเมือง
‘Bottom-Up, not Top-Down’

  • เป็นเมืองสำหรับทุกคนมากขึ้น ทำให้อยากออกจากบ้าน ส่งเสริมพื้นที่ ที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพกับทุกคน โดยสร้างเมืองที่มีความปลอดภัยในการเดินทางด้วยทางเท้าที่ดีขึ้น รวมทั้งขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  สนับสนุนให้มีพื้นที่สาธารณะในการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พื้นที่เล่นกีฬา พื้นที่ทางศิลปะ และเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ห้องสมุด และอินเทอร์เน็ตได้
  • เปลี่ยนแปลงผังเมืองให้เอื้อต่อคนมากยิ่งขึ้น เราอยากจัดระเบียบผังเมืองให้ดีขึ้น โดยจัดการแบ่งโซนเป็นสัดส่วน สร้างระบบการจัดการขยะที่ครบวงจร เพื่อสร้างบรรยากาศเมืองที่่ดี เพื่อส่งเสริมสภาพอากาศในเมืองที่ไม่เป็นมลพิษ และมีสภาพแวดล้อมพื้นที่สีเขียว (Green city) สำหรับทุกคน
  • เมืองเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย และสร้างระบบในการส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วม ผู้คนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ และร่วมกำหนดนโยบายภายในเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง รวมถึงมีระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ลงมือทำให้แก้ไขได้จริง สร้างสำนึกความเป็นเจ้าของพื้นที่  (Sense of Belonging) เพื่อให้คนในกรุงเทพฯเกิดความรู้สึกอยากพัฒนาพื้นที่ของตน เกิดหวงแหนในถิ่นอาศัย จนสามารถใช้คำพูดที่ว่า “คิดถึงกรุงเทพฯจัง” “อยากกลับบ้านเราที่กรุงเทพฯ”

จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองได้อย่างไร

  1. พยายามสร้าง awareness ในกับคนในเมือง โดยอาศัยช่องทางออนไลน์ โครงการ และสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในเมือง ทำให้คนในชุมชนรู้ถึงสิทธิและสิ่งที่ตัวเองทำได้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มีการหันมามองความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เกิด sense of belonging ในชุมชนที่อยู่ สร้างภูมิคุ้มกันต่อภายนอกที่เข้ามา แก้ปัญหาภายในชุมชนได้ถูกจุด รวมไปถึงทำให้คนในเมืองตระหนักถึงคนอื่นและเคารพผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
  2. รวมตัวกันและส่งเสียงของเยาวชน ที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองในอนาคต โดยการสร้างเครือข่ายของเยาวชนพัฒนาเมือง
  3. ลงพื้นที่ สังเกต สอบถามคนในชุมชน ว่าพวกเขาต้องการอะไร เป็นกระบอกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ถึงปัญหาในชุมชน และนำปัญหาไปต่อยอดหาแนวทางการแก้ไขผ่านการทำโครงการต่าง ๆ รวมทั้งเข้าไปศึกษาแบบอย่าง แนวทางการแก้ไขที่ดีในชุมชน และนำไปส่งต่อเผยแพร่เพื่อปรับใช้ต่อยอดในชุมชนอื่น ๆ นอกจากนั้นก็เข้าไปสนับสนุนให้คนในชุมชนได้รู้จักกับชุมชนและอัตลักษณ์ของตนเองมากยิ่งขึ้น
  4. ให้ความสำคัญกับทุกอาชีพอย่างเท่าเทียม เช่น การให้ความสำคัญกับคนหรือหน่วยงานที่ดูแลเมือง หรือรักษาความสะอาดให้เมือง สร้างบรรยากาศที่ดีและความรู้สึกดี ๆ ให้กับคนในเมือง รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเมืองที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน

วิสัยทัศน์ของเรา
คนในย่านมี Spirit และมีความหวังในการร่วมกันแก้ปัญหา
เป็นย่านที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
ทุกคนในย่านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอย่างเท่าเทียม

คำขวัญของเมือง
ครั้งหนึ่งเป็นนครเทพสร้าง ต่อจากนี้ไปจะสร้างโดยมือของผู้คน

คำขวัญของเราตั้งใจที่จะสะท้อนกับคำขวัญของกรุงเทพฯตอนนี้ ซึ่งจะมีการเน้นถึงความใหญ่และสำคัญของกรุงเทพฯจากมุมมองของเหล่าเทพที่สร้างเมืองนี้ขึ้นมาโดยที่ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนข้างล่าง มันจึงเป็นเป้าหมายของพวกเราที่จะทำให้อนาคตของเมืองมาอยู่ในมือของเหล่าผู้คนที่อาศัยและขับเคลื่อนเมืองอย่างแท้จริง

สมาชิกในกลุ่ม

กรกมล ศรีวัฒน์ (นุ๊ก) - จันทกานต์ ไชยฤกษ์ (เปียโน) - จิรัฏฐ์ วรรัตนวงศ์ (ดี) - ชินกฤต อรุณธีรพจน์ (โอห์ม) - ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ (มิว) - ธนาวดี ธีรกุลวาณิช (อันดา) - นัชชา ทองธราดล (แอม) - ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ (จับอิก) - พิชชากร เลาลักษณเลิศ (เอินเอิน) - พิชชาภา หวังประเสริฐกุล (น้ำอุ่น) - พิชญาภา คณาพัฒนวงศ์ (พัตเตอร์) - ภาริศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (บาริศ) - ภูมิภากร สาระนันท์ (ภูมิ) - ฤทัยธัมม์ โสฬศ (ณัฐ) - วรากร สิทธิเนตรสกุล (เนี้ยบ) - วรานารถ จันทร์แจ่มใส (แป้ง) - วัชรพงษ์ วงษ์แก้ว (นอร์ธ) - สาธิตา บุษยบัณฑูร (จ๋อมแจ๋ม) - สุวรรณา จำแนกวงษ์ (ปู) - อชิระ ศิริมงคลเกษม (จอมยุทธ) - อนัคฆมณี กฤษฎาสิมะ (พลอย) - อภิสรา เฮียงสา (รวงข้าว) - อาภัสสร ประสงค์กิจ (บีม) - อารีนา หิริวิริยกุล (ฟ้า)