ในความยำเกรงต่อธรรมชาติ
​โดย แอนเดรีย วูล์ฟ

นับวันข่าวเกี่ยวกับยุคแอนโทรโปซีนยิ่งเพิ่มมากขึ้นและน่ากลัวมากขึ้นทุกที บัดนี้ อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจนสูงกว่าในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1 องศาเซลเซียส ทุกๆ ปีที่ผ่านพ้นไป สถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่ได้ถูกบันทึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทวีปแอนตาร์กติกกำลังหดตัวเล็กลงรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราได้ยินข่าวเรื่องระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและปะการังกำลังตายลงที่แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ อีกทั้งข่าวน้ำท่วม ความแห้งแล้งและไฟป่าก็กลายเป็นเรื่องที่เราได้รับฟังประจำวันไปแล้ว

เราได้สร้างหายนะเอาไว้ให้แก่โลกใบนี้มากมาย และนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเราพบว่า อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ (Alexander von Humboldt) ได้เคยเตือนเรื่องนี้เอาไว้มาก่อนเมื่อ 150 ปีที่แล้ว “กิจกรรมของชุมชนมนุษย์ขนาดใหญ่ที่ไม่หยุดหย่อนกำลังทำลายโลกทั้งใบของเราไปทีละน้อย” ฮุมโบลท์เป็นผู้ที่เริ่มพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงอันมีต้นเหตุมาจากมนุษย์ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 1800 เลยทีเดียว เขาถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่น่ายกย่องที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น อีกทั้งยังเป็นนักคิดเปี่ยมวิสัยทัศน์และเป็นบิดาแห่งแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยมอีกด้วย คนร่วมสมัยของเขาต่างขนานนามเขาว่าเป็นชายที่โด่งดังที่สุดต่อจากนโปเลียนและเป็น “เช็คสเปียร์แห่งวิทยาศาสตร์”
 

ภาพ Alexander von Humboldt โดย Friedrich Georg Weitsch ค.ศ. 1806 ภาพ Alexander von Humboldt โดย Friedrich Georg Weitsch ค.ศ. 1806 | © New Philosopher

 

เราได้สร้างหายนะเอาไว้ให้แก่โลกใบนี้มากมาย และนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเราพบว่า อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ (Alexander von Humboldt) ได้เคยเตือนเรื่องนี้เอาไว้มาก่อนเมื่อ 150 ปีที่แล้ว “กิจกรรมของชุมชนมนุษย์ขนาดใหญ่ที่ไม่หยุดหย่อนกำลังทำลายโลกทั้งใบของเราไปทีละน้อย” ฮุมโบลท์เป็นผู้ที่เริ่มพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงอันมีต้นเหตุมาจากมนุษย์ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 1800 เลยทีเดียว เขาถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่น่ายกย่องที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น อีกทั้งยังเป็นนักคิดเปี่ยมวิสัยทัศน์และเป็นบิดาแห่งแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยมอีกด้วย คนร่วมสมัยของเขาต่างขนานนามเขาว่าเป็นชายที่โด่งดังที่สุดต่อจากนโปเลียนและเป็น “เช็คสเปียร์แห่งวิทยาศาสตร์”

ฮุมโบลท์เกิดปี ค.ศ. 1769 ในปรัสเซีย (เยอรมนี) เขาทิ้งชีวิตที่สุขสบายหรูหรา ออกเดินทางสำรวจไปยังดินแดนลาตินอเมริกาด้วยทุนทรัพย์ของตนเองถึงห้าปี การเดินทางนำพาเขาไปยังป่าฝนเขตร้อนและยอดสูงสุดของเทือกเขาแอนดีส ซึ่งถือเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตและแนวคิดของเขาไปตลอดกาล เขาเดินทางกลับบ้านพร้อมด้วยแนวคิดใหม่เรื่องธรรมชาติ ซึ่งยังคงกลายมาเป็นแนวคิดของพวกเราในทุกวันนี้ด้วย สำหรับเขาแล้ว ธรรมชาติเป็นข่ายใยแห่งชีวิตหรือที่เขาบรรยายเอาไว้ว่าเป็นดั่ง “ผ้าตาข่ายอันซับซ้อน” เขาเห็นว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นที่ซึ่งทุกสิ่งเชื่อมโยงกันอยู่ ตั้งแต่แมลงตัวจิ๋วไปยังต้นไม้สูงเสียดฟ้า ธรรมชาติของฮุมโบลท์นั้น “ถูกทำให้เคลื่อนไหวได้ด้วยลมหายใจหนึ่ง จากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลก ชีวิตนั้นมีอยู่ในก้อนหิน ต้นพืช สัตว์ หรือกระทั่งในอกที่กำลังพองลมของมนุษย์”

ฮุมโบลท์เป็นนักธรรมชาตินิยมยุคแรกๆ ที่รู้อะไรล่วงหน้า เมื่อครั้งที่โลกเพิ่งได้เปลี่ยนเอาที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นทุ่งนาอย่างเป็นระบบ เขาเป็นผู้ที่เขียนถึงผลกระทบอันเลวร้ายของการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการชลประทาน อีกทั้งยังได้เคยเตือนล่วงหน้าเอาไว้ถึงเรื่องการปล่อยก๊าซพิษจากศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้วย เขาเป็นผู้รู้รอบด้านที่มีความเป็นอัจฉริยะ ผู้มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา ระหว่างรอยต่อของยุคเรืองปัญญาและยุคโรแมนติก ฮุมโบลท์เป็นผู้ที่สนใจทั้งเรื่องของการเฝ้าสังเกตทางวิทยาศาสตร์และเรื่องการสนองตอบทางอารมณ์ต่อโลกธรรมชาติด้วย ธรรมชาติของเขาถูกทำให้เคลื่อนไหวด้วยชีวิต และไม่ใช่ “กองรวมของซากที่ตายแล้ว” เขาเขียนไว้ว่า “ทุกสิ่งทำให้เกิดโลกแห่งพลังที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่ตลอด”

เราอาจยกให้ฮุมโบลท์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการวัดได้เลยทีเดียว เพราะเขาได้เดินทางไปทั่วลาตินอเมริกาพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับการวัดถึง 42 ชิ้น แต่ทว่าเขากลับไม่ได้สนใจแต่เพียงตารางยาวเหยียดที่จดบันทึกอุณหภูมิ ความดันบารอมิเตอร์ หรือระดับความสูงเพียงเท่านั้น ฮุมโบลท์ถูกขับเคลื่อนด้วยความรักอย่างลึกซึ้งต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะอันตรายเพียงใด เขาก็ยังอยากที่จะไปสัมผัสความร้อนชื้นของป่าฝนและท่องไปในทัศนียภาพอันกว้างไกลบนเทือกเขาแอนดีส แม้เมื่อต้องถูกกระหน่ำด้วยลมเย็นเฉียบดั่งน้ำแข็งบนความสูงเกือบ 20,000 ฟุตก็ตาม เขาได้กล่าวเอาไว้ว่า การได้อยู่ในธรรมชาตินั้น “ช่วยสร้างแรงบันดาลใจที่สงบและปลอบประโลมใจ” ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ต่างเฝ้าค้นหากฎแห่งจักรวาล ความแม่นยำในการจำแนกพืชและสัตว์ หรือทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ ฮุมโบลท์กลับยืนกรานว่าเราจำเป็นต้องใช้จินตนาการในการสร้างความหมายให้กับโลกธรรมชาติ เขาเข้าใจธรรมชาติว่าเป็นเหมือนดั่งบทกวีและนักวิทยาศาสตร์ เขากล่าวไว้ว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึก ไม่ใช่การหาเหตุผล”

ฮุมโบลท์เคยเขียนเอาไว้ว่าธรรมชาตินั้น “เป็นการจับกลุ่มที่สลับซับซ้อน” เข้ากับความรู้สึกภายในของเรา เขายกตัวอย่างท้องฟ้าสีครามสดใสเอาไว้ว่า มันก่อให้เกิดอารมณ์ได้หลากหลายยิ่งกว่าผืนเมฆครึ้มสีดำก้อนใหญ่ ทัศนียภาพเขตร้อน หนาแน่นไปด้วยต้นปาล์มและกล้วยไม้ที่สวยงามราวแกะสลักส่งอารมณ์ให้เราได้มากกว่าป่าเปิดที่เต็มไปด้วยทิวแถวของต้นเบิชก้านผอม

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฮุมโบลท์ได้มองธรรมชาติแบบเพ้อฝันแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเลยทีเดียว เขาทุ่มทุนให้กับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์คุณภาพเยี่ยมและเชื่อมั่นในแนวทางการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างพิถีพิถัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้ละทิ้งการใช้จินตนาการไปจากการตรวจสอบความจริงเสียทีเดียว เขาเป็นผู้ที่ชอบพูดคุยอภิปรายในเรื่องการจดบันทึกทางอุตุนิยมวิทยา สนามแม่เหล็กโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ แต่ก็เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันเกี่ยวกับเรื่อง “เสน่ห์อัศจรรย์” ของกวีนิพนธ์ ความสำคัญของภาพวาดทิวทัศน์และความรื่นรมย์ของฤดูใบไม้ผลิเมื่อ “จิตใจของเรา...จะปลื้มปิติกับแรงบันดาลใจของธรรมชาติ” แรงขับเคลื่อนของฮุมโบลท์คือความรู้สึกประหลาดใจและความรักในโลกแห่งธรรมชาติก็ช่วยก่อร่างสร้างชีวิตและแนวคิดของเขาด้วย

ความยำเกรงต่อธรรมชาตินี้เองคือสิ่งที่วงอภิปรายเรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันยังขาดอยู่ (อย่างน้อยก็ในเวทีการเมือง) จากเวทีเสวนาระดับโลกอย่าง Paris Climate Summit 2015 ไปจนถึงการอภิปรายในระดับประเทศเรื่องเหมืองแฟร็กกิ้ง หรือปัญหาในท้องถิ่นอย่างการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ การอภิปรายทั้งหลายเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลแบบดิบ สถิติและการใช้คำทางกฎหมายอย่างระมัดระวัง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ทว่าการตระหนักว่าแท้จริงแล้วเราเลือกที่จะปกป้องเฉพาะสิ่งที่เรารักนั้นหายไปไหน
 

Alexander von Humboldt ในห้องหนังสือภายในอพาร์ทเม้นท์ของเขา ตั้งอยู่บนถนน Oranienburger Strasse ในกรุงเบอร์ลิน โดย Eduard Hildebrandt Alexander von Humboldt ในห้องหนังสือภายในอพาร์ทเม้นท์ของเขา ตั้งอยู่บนถนน Oranienburger Strasse ในกรุงเบอร์ลิน โดย Eduard Hildebrandt | © New Philosopher

 

เราจะช่วยโลกของเราได้อย่างไร หากยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ส่วนใหญ่มีชีวิตที่ตัดขาดจากธรรมชาติ คนรุ่นต่อไปจะเชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติได้อย่างไร หากกลิ่นชื้นของป่าหลังฝนพรำหรือเสียงร้องของนกยามเช้ากลายเป็นเพียงสิ่งเหนือจริงเหมือนกับเสียงในเกมคอมพิวเตอร์ เราจะปกป้องการกระทำต่อมหาสมุทร อากาศหรือผืนป่าของเราได้อย่างไร หากเรามีเพียงข้อมูลทางสถิติหรือภาพสรุปข้อมูลที่จำลองไว้ด้วยสีสันสดใสเท่านั้น

ความตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนั้นได้แทรกซึมอยู่ในงานเขียนของฮุมโบลท์อย่างมาก ในบรรดาหนังสือทั้งหมดที่เขาได้ตีพิมพ์ หนังสือชื่อ Views of Nature ถือเป็นเล่มโปรดของเขา ซึ่งเป็นงานเขียนประเภทวรรณกรรมแนวใหม่ที่รวมเอาการบรรยายภูมิทัศน์อย่างมีวรรณศิลป์เข้ากับการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันในปี ค.ศ. 1808 และยังตีพิมพ์ไปอีกถึง 11 ภาษาและกลายเป็นยอดหนังสือขายดีระดับโลก สำหรับฮุมโบลท์แล้ว งานเขียนร้อยแก้วที่อยู่ใน Views of Nature นั้นมีความสำคัญทัดเทียมกับตัวเนื้อหา เขากล่าวเอาไว้ว่า สำนักพิมพ์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงต้นฉบับแม้สักพยางค์เดียว มิเช่นนั้นแล้ว “ท่วงทำนอง” ในประโยคต่างๆ ก็อาจถูกทำลายไปได้

เขาเคยเขียนเอาไว้ว่าใบไม้ที่คลี่ใบออกนั้น “เพื่อทักทายอาทิตย์แรกแย้ม ดั่งบทเพลงรับอรุณของเหล่าวิหก” และเสียงร้องโหยหวนชวนหดหู่ของลิงในป่า เมื่อเวลาค่ำกลายเป็นรุ่งสาง เขามองเห็นดวงดาวสร้าง “ภาพซ้อนที่สั่นไหว” ในเมฆหมอกที่ลอยต่ำเหนือพื้นที่ว่างในเวเนซุเอลา ในขณะเดียวกัน สายรุ้งก็กำลังเต้นระบำอยู่ในหมอกเหนือสายน้ำไหลเชี่ยวของแม่น้ำโอริโนโก เขาเรียกมันว่า “เวทย์มนที่มองเห็นได้” ที่อยู่ในเกมซ่อนหา ฮุมโบลท์เขียนเอาไว้ในหนังสืออีกเล่มว่า “สิ่งใดก็ตามที่พูดคุยกับจิตวิญญาณ สิ่งนั้นจะหลีกหนีการชั่งตวงวัดของเรา” กวีและศิลปินต่างก็ได้เชื่อมโยงอยู่กับสิ่งนี้ แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์กลับไม่เคยสื่อสารกับสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ฮุมโบลท์จึงอยากกระตุ้นความรักในธรรมชาติให้เกิดขึ้น
 

The Heart of the Andes โดย Frederic Edwin Church (1826–1900), ค.ศ. 1859, จัดแสดงโดย Metropolitan Museum of Art, online collection The Heart of the Andes โดย Frederic Edwin Church (1826–1900), ค.ศ. 1859, จัดแสดงโดย Metropolitan Museum of Art, online collection | © New Philosopher

 

เขาได้เขียนเอาไว้ว่าการศึกษาธรรมชาตินั้น “ไม่ได้ประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงแยกส่วนเพียงอย่างเดียว” นักวิทยาศาสตร์คนอื่นอาจจะพอใจที่ได้ค้นพบลำดับผ่านการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตหรือกฎของจักรวาล แต่สำหรับฮุมโบลท์แล้ว จินตนาการมีความสำคัญเท่าๆ กัน เขากล่าวว่า เมื่อมีใครสักคนมองไปที่ท้องฟ้า ให้ลองพิสูจน์สิ่งที่เขาพูดว่า ดวงดาวระยิบระยับบนฟ้านั้น “สร้างความรู้สึกปิติยินดีและสร้างแรงบันดาลใจให้เรา” แต่ในขณะเดียวกันพวกมันก็กำลังเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางแห่งความเที่ยงตรงทางคณิตศาสตร์ด้วย

ด้วยแนวคิดสหวิทยาการที่กล่าวมานี้ ร่วมด้วยความยืนหยัดต่อการให้คุณค่ากับจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกเพื่อใช้ในการทำความเข้าใจธรรมชาตินี้เองที่ทำให้งานและแนวคิดของฮุมโบลท์ยังคงนำมาใช้ได้จวบจนปัจจุบัน

ฮุมโบลท์เขียนหนังสือเอาไว้มากมาย ซึ่งเป็นผลงานขายดีระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ศิลปินและผู้ที่เป็นกวีมาแล้วมากมาย อาทิ วอลท์ วิทแมน (Walt Whitman) ได้ประพันธ์บทกวีรวบรวมเอาไว้ในผลงานชื่อ Leaves of Grass โดยมีหนังสือเล่มหนึ่งของฮุมโบลท์วางเอาไว้บนโต๊ะทำงานขณะกำลังเขียน ส่วนจิตรกร เอ็ดวิน เชิร์ช (Edwin Church) ก็ได้เดินทางตามเส้นทางของฮุมโบลท์ไปทั่วอเมริกาใต้และผลงานชั้นเลิศของเขาชื่อ The Heart of the Andes (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ก) ก็กลายมาเป็นคำตอบทางศิลปะต่อแนวคิดใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของฮุมโบลท์ หรือกระทั่งตัวละครกัปตันนีโม ในวรรณกรรมเรื่อง Twenty Leagues Under the Seas ของฌูล แวร์น (Jules Verne) ก็ยังมีส่วนที่ระบุเอาไว้ว่ากัปตันนีโมมีงานเขียนครบทุกชิ้นของฮุมโบลท์ในครอบครอง อีกทั้งนักประพันธ์ ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) ยังได้เคยประกาศเอาไว้อีกด้วยว่าฮุมโบลท์นั้นได้ปัดกวาด “ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยหยากไย่” เอาไว้จนเอี่ยม

การระลึกถึงความยำเกรง ความภาคภูมิหรือความตื่นตะลึง ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในปัจจุบันที่จะต้องนำไปเผยแพร่สู่วงเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ฮุมโบลท์เชื่อว่าการศึกษาธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโลกภายนอกมากพอๆ กับที่เกี่ยวกับเรื่องโลกภายใน เขากล่าวไว้ว่า ธรรมชาติดำรงอยู่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เรารับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัส และดังนั้น “โลกภายนอก ความคิดและความรู้สึกของเราจึงหลอมรวมเข้าหากันและกัน” เขายังเขียนเอาไว้อีกด้วยว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้นเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล และสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่รวมเอาวิทยาศาสตร์ ศิลปะและกวีเข้าไว้ด้วยกัน

 

บทความจาก NewPhilosopher และ Andrea Wulf

 

แอนเดรีย วูล์ฟ (Andrea Wulf) เป็นนักเขียนหนังสือมือรางวัลที่มีผลงานมาแล้วมากมาย รวมถึงหนังสือ “The Invention of Nature” (2015) ว่าด้วยเรื่องของอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ผู้เป็นนักธรรมชาตินิยม นักสำรวจและนักภูมิศาสตร์ วูล์ฟได้ยกเอากรณีของฮุมโบลท์ ซึ่งเป็นผู้ที่นำความรู้จากวิชาการต่างแขนงมาสังเคราะห์เข้าด้วยกัน นำไปสู่แนวคิดที่ว่า ธรรมชาตินั้นเป็นระบบที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งส่งผลไปยังแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวและประชาชนต่อไป หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับรางวัล Royal Society Science Book Award 2016, รางวัล Costa Biography Award 2015, รางวัล James Wright Award for Nature Writing 2016 ครั้งแรก และรางวัล LA Times Book Prize 2016 รวมไปถึงรางวัลต่างๆ ในเยอมนี จีน ฝรั่งเศสและอิตาลีอีกด้วย