เมื่อห้องสมุดกลายเป็นสถานที่เล่นเกม
เรียนรู้ด้วยการเล่น

เกมในห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญ
เกมในห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญ | เกมในห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญ © ห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญ

นอกเหนือจากหนังสือแล้ว เกมคอมพิวเตอร์ก็เป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่เริ่มปรากฏในคลังของห้องสมุดหลาย แห่ง  ห้องสมุดจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้จัดพื้นที่สำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ  เป็นไปได้หรือไม่ว่าการใช้บริการห้องสมุดในอนาคตจะกลายเป็นการเล่นเกมรูปแบบหนึ่ง?

ในสมัยก่อนคนเรามักมองการเล่นกับการเรียนเป็นเส้นขนานที่ไม่อาจมาบรรจบกัน อย่างไรก็ตามคำกล่าวนี้เป็นจริงแค่เพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น เนื่องจากผู้คนรุ่นที่โตมากับเกมคอมพิวเตอร์ได้พิสูจน์แล้วว่าความสนุกในการ เล่น การเรียน และการทำงานสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้  เพราะในโลกของเกมคอมพิวเตอร์นั้น ผู้เล่นสามารถฝึกจัดการกับปัญหาที่ยากที่สุดด้วยความเพลิดเพลิน นอกจากนี้เกมคอมพิวเตอร์สามารถทำให้ผู้เล่นได้รับประสบการณ์การเรียนที่สัมฤทธิ์ผล กล่าวคือ เกมคอมพิวเตอร์ตั้งและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถแสดงผลการเล่นได้ทันที ช่วยผู้เล่นบรรเทาความรู้สึกกลัวความล้มเหลว เปิดพื้นที่ให้จินตนาการ และก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้นโลกแห่งเกมนั้นสามารถลดความยุ่งยากวุ่นวาย สนับสนุนการรับรู้และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ลองทำสิ่งต่างๆ อีกด้วย

ปัจจุบัน เกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นสื่อกระแสหลักในสังคมเนื่องจากมีผู้ใช้ทุกวัยและทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งจะคุ้นเคยกับกฎกติกาการเล่นแม้กระทั่งในสถานการณ์หรือบริบทที่ไม่ใช่เกม ด้วยเหตุนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริงทุกวันนี้เราจึงพบกิจกรรมต่างๆ ที่ดูคล้ายกับภารกิจในเกมด้วย กระแสสังคมที่เกิดขึ้นนี้มีชื่อว่า “การทำให้เป็นเกม” หมายความถึงการใช้ระบบวิธีคิดแบบในเกมเพื่อที่จะปลุกแรงบันดาลใจของผู้คนและกระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ 

คะแนนและเข็มกลัดสำหรับผู้ใช้ห้องสมุด

Bibliotheken als Spielorte?
Bibliotheken als Spielorte? | © digital cat via flickr.com, Lizenz CC BY 2.0
กระแสดังกล่าวที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกนำไปปรับใช้ในโลกหนังสือเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุดเมืองแอนน์อาร์เบอร์ในรัฐมิชิแกนซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้สนุกกับเกมที่ชื่อว่า Summer Game แล้วยังได้คิดค้นวิธีใหม่ในการนำเสนอบริการต่างๆ ของห้องสมุด รวมถึงสอนการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น แนวคิดจากเกมคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสะสมคะแนนและเข็มกลัดจากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสืบค้นชื่อเรื่องในแค็ตตาล็อกของห้องสมุด หรือการเขียนบทความในบล็อกซึ่งคะแนนที่ได้มายังสามารถนำไปแลกเป็นรางวัล ต่างๆ ได้อีกด้วย

โปรแกรม LibraryGame ก็มีลักษณะคล้ายกับเกมที่กล่าว โดยสามารถใช้ร่วมกับระบบภายในของห้องสมุดและสามารถทำให้การใช้ห้องสมุดกลายเป็นการเล่นเกมรูปแบบหนึ่งได้ เช่น การแจกรางวัลและประกาศผลเมื่อผู้ใช้ยืม คืน แนะนำ หรือวิจารณ์หนังสือ นอกจากนี้ผู้ใช้บริการยังสามารถพัฒนาลำดับขั้นของตนเองในเกมขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หากผู้ใช้สามารถทำชุดภารกิจได้สำเร็จ อาทิ เมื่อผู้ใช้เข้าใช้บริการห้องสมุดสามครั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ อ่านหนังสือทุกเล่มของนักเขียนคนใดคนหนึ่ง หรือเมื่อยืมหนังสือต่างสาขาให้ได้มากที่สุด กิจกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในห้องสมุด

และเนื่องจากเกมคอมพิวเตอร์เป็นสื่อที่มีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิตอล รวมถึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผลิตผลทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับสื่อคลาสสิกอย่างหนังสือตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 เกมคอมพิวเตอร์จึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเผยแพร่วัฒนธรรมและความคิด  ด้วยเหตุนี้ “ห้องสมุดจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้เป็นสถานที่ที่มีวัฒนธรรมของเกมตามยุคสมัยด้วย” คริสทอฟ ดีก ผู้เขียนหนังสือ “เกมและห้องสมุด” และที่ปรึกษาด้านสื่อสังคมและเกมกล่าว การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อห้องสมุดกลายเป็นสถานที่เล่นเกม

ทุกวันนี้ เกมคอมพิวเตอร์เริ่มกลายเป็นวัสดุที่ห้องสมุดหลายแห่งมีให้บริการ ยิ่งไปกว่านั้นห้องสมุดแห่งแรกๆ ที่เห็นความสำคัญของเกมคอมพิวเตอร์ได้ทดลองเปิดบริการห้องเล่นเกมให้ผู้คนเข้ามาเล่นร่วมกัน อาทิ ห้องสมุดเมืองโคโลญจน์ซึ่งมีการจัดงานสำหรับนักเล่นเกมเป็นประจำ หรือห้องสมุดเขตคัลค์ของเมืองโคโลญจน์ได้จัดทำโครงการนำร่องชื่อ games4kalk เพื่อการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ มีการจัดเกมโซนในห้องสมุด โดยทุกสัปดาห์จะมีบรรดานักทดลองเกมมาทดสอบ นอกจากนี้ทางห้องสมุดยังมีแผนการจัดกิจกรรมเล่นเกมแบบคละรุ่นอายุตลอดจนการแข่งขันเล่นเกมอีกด้วย  อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ห้องสมุดเมืองนอยเคียร์เชน-ฟลึนที่ได้เชิญชวนเด็กๆ และวัยรุ่นเข้าสู่ระบบ daddleBIB เพื่อทดลองเล่นเกมร่วมกันในห้องสมุดโดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล นอกเหนือจากนี้ยังมีโครงการใช้สื่อการสอน Dr.Ghosthacker หรือ “ห้องสมุดในยามค่ำคืน” ซึ่งเป็นเกมที่ให้ผู้เล่นเด็กและวัยรุ่นทำภารกิจตามหาตัวผู้ร้ายในห้องสมุด เกมนี้จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกับประเภทของสื่อที่ห้องสมุดมีให้บริการ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างทักษะการใช้สื่อดังกล่าว

“จำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของห้องสมุดได้ทำให้เราตระหนักว่า เกมคอมพิวเตอร์สามารถใช้เป็นสื่อดึงดูดผู้ใช้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เกมเหล่านี้เพื่อเผยแพร่ความรู้อีกด้วย” คอร์ดูลา เนิทเซลมันน์ หัวหน้าแผนกระบบห้องสมุดอิสระประจำเมืองโคโลญจน์กล่าว  อย่างไรก็ดี ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของห้องสมุดในประเทศเยอรมนีทุกวันนี้ยังไม่มีการผสมผสานให้เป็นสื่อการเรียนแบบเกมคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อมีต้นแบบอย่าง Summer Game ที่สามารถทำให้คลังหนังสือในห้องสมุดกลายเป็นเกมและทำให้การสืบค้นข้อมูล เป็นเรื่องน่าสนุกแล้ว วิธีการเรียนรูปแบบใหม่จึงน่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า และในท้ายที่สุด เมื่อผู้ใช้สนุกกับการค้นคว้าหาข้อมูลแล้ว การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน