Cut it out – ภาพยนตร์ต่อต้านการเซ็นเซอร์
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วยเหตุที่แนวทางของเขาไม่เป็นไปตามหลักคิดเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของชาติ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกยกเลิกใบอนุญาตโดยไม่แจ้งเหตุผล กองทุนสนับสนุนด้านภาพยนตร์กองทุนหนึ่งถูกกดดันจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมให้เปิดเผยชื่อบรรณาธิการที่สนับสนุนภาพยนตร์ที่มีแนวคิดการเมืองไม่สอดคล้องกับรัฐ นักข่าวคนหนึ่งสืบหาความจริงเรื่องการคอรัปชั่นในประเทศและต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
เราคือสิ่งใหม่
อัตตาธิปไตยหรือแนวคิดที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดนั้นเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว ไม่ว่าในรูปแบบของการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง ความคิดที่ขัดแย้ง และกลุ่มต่อต้านทางการเมืองต่างๆ ปัจจุบัน การเซ็นเซอร์นั้นกำลังถูกรัฐนำมาใช้มากขึ้นในฐานะเครื่องมือทางการเมือง(เชิงวัฒนธรรม) พบมากโดยเฉพาะในประเทศที่เรียกตนเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด ทว่าเจตนาที่แท้จริงของพวกเขานั้นแตกต่างไปมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 นายเดวิด เคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของสหประชาชาติได้ระบุเอาไว้ว่า
“ความกังวลอย่างมากที่ผมมีในตอนนี้ คือการที่รัฐบาลหลายชาติได้อ้างเหตุผลอันชอบธรรมในการควบคุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อใช้ปิดกั้นแนวคิดที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ” ภายใต้ความท้าทายทางด้านการเมือง สังคม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจอันยิ่งยวดของโลกทุกวันนี้ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับใครหลายคน อย่างไรก็ตาม ความไม่จำเป็นที่ว่านี้กลับเป็นสิ่งหลอกลวง เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและทางศิลปะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการก่อร้างสร้างอนาคต ช่วยสร้างพื้นฐานสำหรับกระบวนการแลกเปลี่ยนทางความคิด ซึ่งหากขาดไปแล้ว เราก็จะไม่อาจพบกับความท้าทายใดๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อีกเลย
สิ่งที่ไม่มีอยู่ที่ไม่อาจหายไป
สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่ากระบวนการเซ็นเซอร์ที่เราเห็นนั้นก็คือผลทางจิตวิทยาที่ตามมา การเซ็นเซอร์นั้นนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่ง เมื่อก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว การเซ็นเซอร์ก็สร้างผลข้างเคียงที่ตามมาได้มากมายซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของมัน แม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะจัดการกับการปฏิบัติการเซ็นเซอร์ต่างๆ ในสถานการณ์หลายๆ ครั้ง ซึ่งในทางทฤษฎีจะเป็นสิ่งที่โต้แย้งได้ก็ตาม แต่การเซ็นเซอร์ตัวเองกลับไม่แสดงหลักฐานอันเป็นรูปธรรมใดๆ เพราะจะไม่มีใครได้ยินเสียงที่ไม่ได้พูดออกมา มันคือสิ่งที่ไม่อาจหายไปจากโลกนี้ได้ แต่ก็ไม่เคยมีอยู่ที่นั่นเช่นกัน เป็นเวลาเกือบสี่สิบปีมาแล้วที่นักเขียน Ingeborg Drewitz ได้เตือนเอาไว้ในงานรวมเล่มบทความตีพิมพ์ที่ชื่อ Mut zur Meinung ของเธอว่า “คงไม่ถูกนักที่จะมองว่า การกระทำการเซ็นเซอร์ที่ได้ระบุในหนึ่งสือเล่มนี้นั้นเป็นผลจากโรคจิตหวาดผวาของสาธารณะและการตัดขาด ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนบทสรุปรวบรวมการพัฒนาที่เลวร้าย และในอีกด้านหนึ่ง นิสัยความเคยชินที่จะต้องคอยระวังตัวนั้นก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ ‘อย่าพูดถึงดีกว่า’ ไปแล้ว”
ราชาในสนามล่า
หากถามถึงปรากฏการณ์ของการเซ็นเซอร์นั้น Temur Butikashvili หนึ่งในผู้กำกับที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้เผยเรื่องราวในศตวรรษที่ 18 ของชายสูงศักดิ์นามว่า Sulkhan-Saba Orbeliani ซึ่งเป็นทั้งนักบวช นักการทูตและนักเขียนที่อาศัยอยู่ในจอร์เจียและเป็นผู้แต่งนิทานสอนใจเรื่อง “The King and the Painter” เอาไว้ โดยในงานเขียนดังกล่าว ผู้เขียนเล่าถึงอาณาจักรแห่งหนึ่ง เมื่อกษัตริย์เกิดอยากได้ภาพเหมือนของตนเอง จิตรกรที่ถูกเรียกตัวมาวาดภาพนั้นมีความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความจริงที่ว่า กษัตริย์ผู้นี้ตาบอดข้างหนึ่ง จิตรกรรำพึงกับตนเองว่า “หากฉันวาดภาพเขาตาดีทั้งสองข้าง ฉันก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นจอมโกหก แต่หากฉันวาดภาพเขาตาบอดข้างหนึ่งก็อาจทำให้เขาไม่พอใจและฉันก็อาจจะไม่รอดชีวิตไปได้” หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน จิตรกรก็เกิดความคิดขึ้นมา เนื่องด้วยกษัตริย์ผู้นี้มีความหลงใหลในการล่าสัตว์ เขาจึงวาดภาพกษัตริย์ดังกล่าวในลักษณะที่กำลังถือปืนยาวอยู่ในมือและเล็งยิงด้วยตาข้างหนึ่งอยู่ ภาพดังกล่าวทำให้กษัตริย์พอใจอย่างมากและทำให้จิตรกรรอดชีวิตมาได้
[1] David Kaye, New York, 20.10.2016): United Nations Human Rights Office of the High Commissioner
https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=20717&LangID=E
[2] Drewitz, Ingeborg; Eilers, Wolfhart (Hrsg.): Mut zur Meinung. Gegen die zensierte Freiheit, Fischer Taschenbuch Verlag, 1980.