วัฒนธรรมพริกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนี

วัฒนธรรมพริกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนี
© สถาบันเกอเธ่

สถาบันเกอเธ่ จาการ์ต้า ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ในเมืองบันดุง กรุงเทพฯ และย่างกุ้ง ร่วมมือกันจัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “Chili Culture in Southeast Asia and Germany” (วัฒนธรรมพริกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Goethe is(s)t scharf”

โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนซึ่งเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารและพริกจากอินโดนีเซีย พม่า และเยอรมนี ได้แก่ William Wongso, Petty Elliot, Vincent Rumahloine, Alexander Hicks, Daw Phyu Phyu Tin, และ Ade Putri Paramadita เป็นผู้ดำเนินรายการ

พริกเป็นทั้งอาหารและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อาหารในภูมิภาคนี้มีความแตกต่าง เอกลักษณ์ และสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สำหรับในอินโดนีเซียนั้น พริกมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซียราคาพริกที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ดังนั้น การเสวนาครั้งนี้จึงไม่ได้มีแต่เรื่องราวของพริก และความเผ็ด เท่านั้น แต่จะพาไปค้นพบวัฒนธรรมพริกที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในบริบทต่างๆ

ซัมบัล: ความเผ็ดกับความทรงจำ

ซัมบัล (Sambal) หรือน้ำพริก หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอาหารและการกินของอินโดนีเซียมาเป็นเวลานาน William  Wongso กล่าวว่า ชาวอินโดส่วนใหญ่นึกถึงซัมบัลก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อกินอาหาร และไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางใกล้หรือไกลก็มักจะพกพาซัมบัลแบบที่ชอบไปด้วย ซัมบัลจึงกลายเป็นของเผ็ดสามัญประจำชีวิตของชาวอินโดแบบแยกจากกันไม่ได้

Vincent Rumahloine กล่าวว่า ซัมบัลสะท้อนความผูกพันระหว่างคนกินกับความทรงจำร่วมที่แต่ละคนมีต่อผู้คนกับชุมชน เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างคนกินกับบ้านที่อยู่และบ้านที่จากมา นอกจากนี้ เขายังยกคำกล่าวหนึ่งที่ชาวอินโดพูดว่า “ภรรยาที่ดีคือภรรยาที่ทำซัมบัลเก่ง”
เมนูพริก © © สถาบันเกอเธ่ / วิทมน นิวัติชัย เมนูพริก © สถาบันเกอเธ่ / วิทมน นิวัติชัย
ส่วน Petty Elliot  กล่าวถึงพริกกับอาหารเผ็ดในประเทศที่ไม่กินเผ็ดว่าควรระมัดระวังเรื่องระดับความเผ็ด คนในแต่ละที่กินเผ็ดน้อยเผ็ดมากต่างกัน ดังนั้น การปรุงอาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบให้คนต่างชาติกิน ควรปรับลดระดับความเผ็ดลงซึ่งจะทำให้คนต่างวัฒนธรรมได้รู้จักอาหารไปด้วยในตัว การกินพริกของชาวพม่าไม่ค่อยต่างจากอินโดนีเซียมากนัก คนพม่ากินพริกสด พริกป่น น้ำพริก ใช้พริกเป็นเครื่องปรุง เครื่องหมัก และประกอบอาหาร ซึ่งพริกแห้งและพริกสดต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับอาหารแต่ละอย่าง โดย Daw Phyu Phyu Tin กล่าวว่า พริกทำให้คนได้กินรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ดังนั้น พริกของคนอินโดนีเซียและพม่าจึงมีอีกบทบาทคือการเป็นตัวแทนของความรู้สึก ความทรงจำ สถานะของผู้หญิง บ้าน สังคม และประเทศ  

พริก: ค้นพบโลกผ่านชุมทางความเผ็ด

Alexander Hicks ผู้เชี่ยวชาญด้านพริกจากเยอรมนี รู้จักพริกกับความเผ็ดครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ จากการที่พ่อและแม่ของเขาให้กินซัลช่าซึ่งเป็นอาหารเม็กซิกัน คนยุโรปคุ้นเคยกับพริกจากพิซซ่าของอิตาลีและอาหารกรีก ประวัติศาสตร์ของพริกเริ่มจากอเมริกาใต้ จากนั้นถูกนำมาปลูกในยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภายหลัง พริกทำให้ได้ค้นพบโลกและครัวของแต่ละชาติพันธุ์ ทำให้คนกินคิดถึงบ้าน และทำให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้ ประยุกต์ พยายามปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบจากพริก เพิ่มระดับความเผ็ดตามที่ตัวเองต้องการ

ความสนใจที่มีต่อพริก ทำให้เขาเริ่มปลูกพริกและมีสายพันธุ์หลายร้อยสายพันธุ์จากทั่วมุมโลก ต่อมาพริกได้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนสนใจในสิ่งเดียวกัน เกิดเป็นเครือข่ายและชุมชนให้กับคนได้เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับพริกทั้งเรื่องทั่วไปและในเชิงลึก ความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันจึงเผ็ดไม่แพ้พริก

ขณะที่ Vincent  Rumahloine ได้โครงการวิจัยและทดลองใช้เสียงดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกพริก เพื่อสังเกตการเจริญเติบโต โดยใช้ทั้งหลักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความรู้ทางนิเวศวิทยาแบบดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่เชื่อว่าต้นไม้และสัตว์มีขวัญและที่ทางของตัวเอง โครงการนี้เป็นอีกช่องทางในการเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน และสร้างเครือข่ายการศึกษาเรื่องพริกในอินโดนีเซียและต่างประเทศ
ต้นพริก © © สถาบันเกอเธ่ ต้นพริก © สถาบันเกอเธ่

ทำอย่างไรให้หายเผ็ด

ผู้ร่วมเสวนาแนะนำเคล็ดลับทางออกเพื่อทุเลาความเผ็ด ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม ผู้ร่วมเสวนาจากอินโดนีเซียแนะนำว่าให้กินน้ำตาลทรายหนึ่งช้อน ดื่มน้ำอุ่นห้ามดื่มน้ำเย็น ดื่มน้ำมะพร้าว ดื่มนม หรือกินโยเกิร์ต ส่วนที่พม่าการดื่มชาดำช่วยให้หายเผ็ด หรือกินน้ำตาลโตนดก็ได้ และเยอรมนีมีเบียร์เป็นทางออกสำหรับการคลายความเผ็ด

อาหารและพริก: วัฒนธรรมแห่งการดำรงชีวิต

ความสำคัญและบทบาทของพริก สะท้อนความแตกต่างของวัฒนธรรมแห่งการดำรงชีวิตในอินโดนีเซีย พม่า และเยอรมนี นอกจากนี้วัฒนธรรมพริกยังถูกพัฒนาเพื่อสร้างเครือข่าย ชุมชน และโครงการที่เชื่อมพริกไปยังบริบทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความเผ็ดของพริกหรืออาหารยังเป็นสิ่งที่น่าลิ้มลอง ท้าทายการเปิดประสบการณ์สู่โลกแห่งอาหาร และเชื่อมโยงสู่ความรู้สึก ความทรงจำ เรื่องราวอีกมากมาย เพราะพริกทำให้เรามีความทรงจำร่วมเผ็ดๆ ที่แตกต่างกัน

รับชมย้อนหลังได้ที่นี่

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม