แนวคิดของคูเรเตอร์ กูกิ กูมิลาง (Gugi Gumilang) ต่อเทศกาล KinoFest 2023
ความเชื่อมโยง การย้ายถิ่นฐาน และการพัวพันในภาพยนตร์เยอรมันร่วมสมัย

โดยกูกิ กูมิลาง (Gugi Gumilang) คูเรเตอร์

การดูแลจัดการภาพยนตร์ในเทศกาล KinoFest นั้นเริ่มมาจากแนวคิดที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์เยอรมันคือม่านที่ถูกถักทอขึ้นด้วยความหลากหลายซึ่งอุดมด้วยอิทธิพลและเสียงที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของประเทศ รวมถึงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่กำลังพัฒนา จากภาพยนตร์แนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ในยุคแรกๆ มาจนถึงผลงานสมัยใหม่ของผู้กำกับร่วมสมัย ภาพยนตร์เยอรมันได้ก้าวข้ามขอบเขตของการเป็นสื่อ และนำเสนอวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญและกระตุ้นความคิดของโลกนี้ ปัจจุบันภาพยนตร์เยอรมันยังคงเป็นกำลังสำคัญและมีอิทธิพลในโลกภาพยนตร์ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ผู้กำกับอย่าง คริสเตียน เพ็ตโซลด์ ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าภาพยนตร์ของเขานั้นมีความสร้างสรรค์และกระตุ้นความคิด อีกทั้งภาพยนตร์เยอรมันยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในแง่ของความหลากหลายและการสร้างภาพหรือสัญลักษณ์แทนอะไรบางอย่าง โดยมีผู้สร้างภาพยนตร์และนักแสดงจากชุมชนชายขอบที่คนมองเห็นและกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

บทบาทของการย้ายถิ่นฐาน
ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวตุรกี-เยอรมัน

บางทีหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญที่สุดของอิทธิพลในการย้ายถิ่นฐานที่มีต่อภาพยนตร์เยอรมันก็คือการเกิดกระแสภาพยนตร์ "ตุรกี-เยอรมัน" ขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งกระแสนี้มีลักษณะเฉพาะก็คือภาพยนตร์มักถูกสร้างโดยผู้กำกับชาวตุรกี-เยอรมัน และมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของประชากรชาวตุรกีในประเทศ ภาพยนตร์เหล่านี้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ การหลอมรวมเข้ากับสังคม และการเลือกปฏิบัติ และยังช่วยดึงความสนใจมายังประสบการณ์ของชุมชนชายขอบ

ผู้กำกับอย่าง เจม คายา ยังคงเป็นบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เยอรมันในปัจจุบัน และผลงานของเขาก็ได้ช่วยปูทางให้ผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่กำลังสำรวจค้นหาประสบการณ์ของชุมชนผู้อพยพในเยอรมนี

ยุโรปตะวันออก

การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 และการสิ้นสุดสงครามเย็นหลังจากนั้น ส่งผลให้มีผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก คลื่นผู้อพยพในครั้งนี้ได้นำเอาเรื่องราวใหม่ๆ มาสู่ภาพยนตร์เยอรมัน และช่วยขยายจุดสนใจในอุตสาหกรรมนี้ให้กว้างออกไปกว่าเรื่องประสบการณ์ของผู้อพยพชาวตุรกี

ภาพยนตร์อย่าง We Might As Well Be Dead โดย นาตาเลีย ซีเนลนิโควา อาจไม่ได้พูดถึงอะไรใหม่ๆในเรื่องเกี่ยวกับภัยของการคล้อยตามและลัทธิเผด็จการ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้อยู่อาศัยมุ่งเน้นการรักษาตัวรอดอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องชนชั้น

ผู้ลี้ภัยและภาพสะท้อนในภาพยนตร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การอพยพของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่องได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในเยอรมนี และยังได้แพร่กระจายเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ในประเทศอีกด้วย ภาพยนตร์อย่าง Republic of Silence และ Nasim ได้พาไปสำรวจประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพโดยนำเสนอประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรงที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคของเรา

ภาพยนตร์เหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่ของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพต้องประสบมากยิ่งขึ้น และยังเป็นเวทีสำหรับการสนทนาเรื่องความท้าทายที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ อีกทั้งภาพยนตร์เหล่านี้ยังช่วยเน้นย้ำถึงทิศทางที่การย้ายถิ่นฐานเป็นตัวกำหนดและส่งอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมเยอรมัน

ได้รับความสนใจ

โดยรวมแล้วบทบาทของการย้ายถิ่นฐานที่ส่งผลต่อการสร้างภาพยนตร์เยอรมันนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง นับตั้งแต่ช่วงแรกของขบวนการภาพยนตร์ตุรกี-เยอรมันมาจนถึงภาพสะท้อนการอพยพของผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน ผู้อพยพถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขยายจุดสนใจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดึงความสนใจไปยังประเด็นทางสังคมที่สำคัญ ในขณะที่เยอรมนียังคงต่อสู้กับความท้าทายในการอพยพและการหลอมรวมผู้อพยพเข้าในสังคม จึงมีแนวโน้มว่าอิทธิพลของชุมชนผู้อพยพที่มีต่อภาพยนตร์เยอรมันจะยังคงเติบโตต่อไป

การจัดฉายภาพยนตร์ของเราจะมีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ สถานที่จัดฉายต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมาร์ เวียดนาม ติมอร์เลสเต และนิวซีแลนด์ เราหวังว่าจะได้ต้อนรับคุณเพื่อเข้าชมภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์ KinoFest!