การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
เยอรมันตะวันออกที่ล่มสลายใน “การสงบศึก”

ฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
© สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

มาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เป็นอดีตผู้สื่อข่าววิทยุชาวเบอร์ลินตะวันตกและเป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์กลางดึกของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 ในเบอร์ลินตะวันออก เมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลายลง

มาเร็นและเพื่อนอีกคนได้รับคำเชิญจากผู้กำกับเยอรมันตะวันออก ไฮเนอร์ คาร็อฟ (Heiner Carow) ให้ไปร่วมงานฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ “Coming Out” ที่โรงภาพยนตร์ชื่อ International เนื่องจากสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองรอบปฐมทัศน์ในครั้งนั้นบังเอิญอยู่ใกล้กับพรมแดนตรงถนนบอร์นโฮล์มเมอ เธอจึงโชคดีได้สัมผัสประสบการณ์ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ตอนที่กำแพงกำลังพังทลายลงและทางข้ามพรมแดนได้เปิดให้ชาวเบอร์ลินตะวันออกทุกคนเดินทางข้ามไปได้อย่างเสรีเป็นครั้งแรก

ไฮเนอร์ คาร็อฟจัดงานฉลองภาพยนตร์ "Coming Out" รอบปฐมทัศน์ในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 แต่มีบางสิ่งเกิดขึ้นในระหว่างนั้น

การฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง "Coming Out" ได้ถูกกำหนดเอาไว้เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวการค้นพบตัวเอง (Coming Out เป็นสำนวนแปลว่าการเปิดเผยตัวตน) ของครูรักร่วมเพศที่มีชีวิตอยู่ในเยอรมันตะวันออก ไฮเนอร์ คาร็อฟ (Heiner Carow) ตั้งใจที่จะฉายภาพยนตร์ของเขารอบแรกตอนทุ่มครึ่งที่โรงภาพยนตร์ชื่อ "International" แต่ทว่า ห่างออกไปเพียงไม่กี่ช่วงถนนและก่อนเวลาฉายจะเริ่มเพียงชั่วโมงเดียว กึนเทอร์ ชาบ็อฟสกี (Günter Schabowski) ก็ได้ออกมาอ่านใบประกาศแห่งประวัติศาสตร์จากทางรัฐบาลที่ถือเป็นการ “เผยตัวตน” ต่อหน้าสื่อมวลชนเช่นกัน ส่วนกระแสความแรงจาก "Coming Out" ของคาร็อฟก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะสำหรับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น “หนังเกย์” เรื่องแรกของเยอรมันตะวันออก หลังจากที่คาร็อฟเคยถูกโทษแบนจากวงการถึงเจ็ดปีเพราะมีแนวคิดต่อต้านพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (SED) และเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ “Die Legende von Paul und Paula” ที่ดัดแปลงจากนิยายของ Plenzdorf เขาได้รับอนุญาตให้กลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นโปรเจ็คของสมาพันธ์ภาพยนตร์เยอรมันตะวันออก หรือ DEFA ที่หลายคนเฝ้ารอ โดยคาร็อฟได้เดินทางไปเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ที่เบอร์ลินตะวันตกอยู่หลายครั้ง

เวลาหกโมงเย็น เหตุการณ์ยังคงดำเนินไปตามปกติที่พรมแดนตรงถนนบอร์นโฮล์มเมอ เนื่องจากเป็นเวลาค่ำแล้ว เราจึงกรอกในช่อง “ขาออก” เป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน แล้วทุกครั้งเจ้าหน้าที่พรมแดนก็จะออกสิ่งที่เหมือนกับ “วีซ่า” ให้เป็น “เอกสารแนบประกอบบัตรประชาชนของชาวเบอร์ลินตะวันตก” ให้กับเรา เอกสารสำแดงสิ่งของและเงินตราลงหมายเลข 2455198 ที่ทางเดินผ่านขั้นตอนทางศุลกากร มีช่องเล็กๆ ให้สอดค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนเข้าไปและจะได้รับใบอนุญาตเดินทางสอดผ่านช่องกลับมา หลังเจ้าหน้าที่ศุลกากรแต่ละช่องจะมีเจ้าหน้าที่อีกคนนั่งอยู่เพื่อคอยดำเนินการและตรวจตราเอกสารการเดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียด ปกคอเสื้อทหารของพวกเขาตั้งขึ้นสู้กับความหนาวของเดือนพฤศจิกายน

  •  © Maren Niemeyer

  •  © Maren Niemeyer

  •  © Maren Niemeyer

  •  © Maren Niemeyer


โรงภาพยนตร์ "International" สั่นสะเทือนไปด้วยแรงคาดหวังของทุกคน ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน คณะกรรมาธิการกลางของพรรค SED เพิ่งจะลาออกตามหลังฝ่ายรัฐบาลไปติดๆ ความทรงจำของวาลเทอร์ ยันกัส (Walter Jankas) ถูกอ่านเสียงดังกึกก้องที่โรงละคร Deutsches Theater และเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุของเยอรมันตะวันออกด้วย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และบัดนี้ก็เป็นคราวของหนังเกย์ที่ได้นักแสดงยอดนิยมอย่าง ดักมาร์ มันเซล (Dagmar Manzel) มารับบทแสดงนำ ร่วมด้วยนักแสดงหน้าใหม่อย่างมัททิอัส ไฟรโฮฟ (Matthias Freihof) และเดือร์ก คุมเมอร์ (Dirk Kummer) ที่งานฉายภาพยนตร์มีเพียงผู้มาร่วมงานไม่กี่คนที่เปิดเผยตนว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกตินักสำหรับงานทางการในเยอรมันตะวันออก แต่บางส่วนก็ยังเขินอาย หลบอยู่ใต้หน้ากากวัฒนธรรมปัญญาชนที่รัฐสร้างมา ทว่าผ้าพันคอ ต่างหูและกลิ่นน้ำหอมของพวกเขา ก็ค่อยๆ เผยแสดงความเป็นชายที่น้อยลงออกมาให้เราเห็น

ภาพยนตร์ได้รับเสียงปรบมืออย่างท่วมท้น แต่อาจจะน้อยไปสักนิดเพราะวิธีการเล่าเรื่องที่มีความแข็งทื่อและราบเรียบไปสักหน่อย สัญญาณแห่งความจริงที่คาร็อฟพยายามเปิดประเด็นก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เหล่าศิลปินต่างปรบมือยินดีไปกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาได้มีส่วนจุดประกายขึ้น ซึ่งได้ประกาศก้องเอาไว้ในการเดินประท้วงครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และความคับแคบทางวัฒนธรรมที่บัดนี้คาร็อฟได้สวมมงกุฏชัยชนะอยู่เหนือมันได้ ดูพวกเราสิ ตอนนี้เราก็แสดงออกได้หมดทุกอย่างแล้ว เราทำอะไรได้มากกว่าเดิม ผู้ชมยืนขึ้นปรบมือให้คาร็อฟอย่างน่าประทับใจ ทุกถ้อยคำ “บราโว่” (ยอดเยี่ยม) ที่ผู้ชมเปล่งออกมาล้วนเป็นการแสดงออกถึงการกอบกู้ชื่อเสียงของนักวิจารณ์วัย 60 ปีผู้ต่อต้านพรรค SED ผู้มีความภัคดีที่ไม่ซื่อตรงนัก แม้จะต่อต้านประเทศของตน แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะอยู่ต่อ แม้มีความพยศ แต่ความพยศของเขาก็ได้รับการตอบแทนจากรัฐเป็นการยอมโอนอ่อนผ่อนตามในท้ายที่สุด

คาร็อฟใช้หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำของเขา ซึ่งเป็นผับเกย์ที่ย่านเพรนซ์เลาเออร์แบร์ก ห่างจากสะพานเชื่อมพรมแดนบอร์นโฮล์เมอร์ออกไปเพียง 15 นาทีเป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้ฉลองรอบปฐมทัศน์กับผู้คนหลักๆ ในแวดวงของเขา ในเวลาเดียวกันนั้นเอง สำนักข่าวต่างๆ ก็กำลังส่งต่อข่าวดีออกไปทั่วโลก กำแพงเบอร์ลินล่มลงแล้ว หลังภาพยนตร์ความยาวสองชั่วโมงจบลง แท็กซี่เถื่อนก็พาเราออกมาจากที่นั่นไปยังงานเลี้ยงโดยไม่มีข่าวใดแทรกเข้ามาให้ได้รู้ งานเลี้ยงที่กำลังเฉลิมฉลองให้กับสิ่งที่จะไม่มีอีกแล้ว นั่นคือ ภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์แห่งชาติเยอรมันตะวันออก ทุกคนในงานต่างสนุกกันสุดเหวี่ยง ไม่มีผู้ใดรู้เลยว่าโลกนอกประตูนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้เลยจริงๆ หรืออาจไม่มีใครอยากรู้ก็เป็นได้Anzeige

ทว่าความจริงครั้งใหม่นั้นร้ายแรงเกินกว่าที่จะถูกเก็บเอาไว้อย่างเงียบงัน มันถาโถมเข้ามาในสถานที่แห่งนั้นในรูปของชายวัยสามสิบที่หัวยุ่งเหยิง พร้อมประโยค “พวกเขาเปิดกำแพงกันแล้ว” ปะทะเข้ากับกลุ่มคนในงานที่อึ้งจนพูดไม่ออก ยืนเรียงหน้ากันอยู่ที่บาร์เหล้าเบื้องหน้าเขา เบื้องหลังของเขาเป็นประตูผับที่แง้มเปิดเพียงครึ่งและมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญรอที่จะเข้าไปร่วมงานอยู่เพียบ แต่กระนั้นกลับไม่มีใครเชื่อเขา บาร์เท็นเดอร์ปลอบเขาด้วยประโยค “มาดื่มอะไรหน่อยมา เดี๋ยวก็ดีขึ้นน่า” เขาจึงรีบกุลีกุจอออกไปจากที่นั่นพลางส่ายหัว หลังจากเริ่มมีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในผับอีกรอบสองรอบตามมา คนในนั้นจึงเริ่มออกจากผับและสำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นภายนอก

ในเวลานั้น กระทั่งตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ก็ยังคลาคล่ำไปด้วยรถวาร์ทบวร์กและทราบี้ที่ต่อคิวกันมุ่งหน้าไปยังจุดหมายเดียวกัน พร้อมเปล่งเสียงผ่านกระจกรถที่เลื่อนลงมาว่า “ไปที่สะพาน ประตูที่ถนนบอร์นโฮร์มเมอร์เปิดแล้ว เราจะขับข้ามไปฝั่งโน้นกัน” ไม่นานงานเลี้ยงก็กลับมาคึกครื้นในผับอีกครั้งอย่างรวดเร็ว แขกเหรื่อต่างมุ่งมาที่คาร็อฟราวกับมีแรงดึงดูด พร้อมสายตาหวั่นกลัวส่งไปยังประตู จะมีใครหรืออะไรเข้ามาในงานนี้อีกไหม ในคืนที่น่าหวาดหวั่นใจเช่นนี้ ทุกคนรู้ดีว่า ไม่นานก็จะมีผู้กำกับคนอื่นเข้ามาแทน และภาพยนตร์เรื่องอื่นเข้ามาฉาย แล้วทุกคนก็เริ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เรื่องก็เป็นเช่นนี้ กำแพงถูกสั่นสะเทือน กำแพงกำลังพังทลายลง มันหมายความว่าอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับประเทศเล็กๆ สีเทาหม่น กับกลุ่มคนในแวดวงวัฒนธรรม กับตัวฉัน นับเป็นครั้งแรกที่ “ผู้ชนะ” ได้พูดออกมา “ใช่แล้ว แบบนั้นเลยใช่มั้ยล่ะ พวกนาย คนจากตะวันตก พวกนายทำสำเร็จแล้วสินะ”

ทั้งข่าวลือและการปลุกปั่นนำไปสู่การตัดสินใจที่ท้าทาย เราจะไม่ข้ามไปไหน เราจะไม่ออกจากที่นี่ เราจะอยู่ที่นี่ เราจะปิดประตูและอยู่ในโลกเยอรมันตะวันออกที่เราสร้างกันเองต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น งานเลี้ยงรอบปฐมทัศน์ยังคงดำเนินต่อไป มีทั้งนักแสดงนำชายและนักวิจารณ์หญิงที่มาอยู่ที่นั่น รวมไปถึงนักแสดงนำหญิง และผู้กำกับเองที่ยังยืนหยัดอยู่ด้วยกัน ผู้ที่รวบรวมคำพูดได้อีกครั้ง แสดงออกมาถึงความกลัว มาร์กิต โวสส์ (Margit Voss) กล่าวขึ้นว่า “ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป” เดือร์ก คุมเมอร์ นักแสดงนำกล่าวเสริม “หวังว่าพวกเขาจะไม่เอาปืนมายิงนะ” ไฮเนอร์ คาร็อฟให้กำลังใจแขกของเขาว่า “ทุกอย่างต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องรีบหรอกนะ” มีเพียงผู้เขียนบท โวล์ฟราม วิทท์ (Wolfram Witt) เท่านั้นที่แสดงความหวังออกมา “นี่อาจจะเป็นโอกาสดีนะที่ฉันจะได้ยาที่ต้องการใช้ด่วนสักที” นั่นเป็นเพราะวิทท์กำลังป่วยหนัก

พวกเราทนอยู่ที่นั่นได้ไม่นานก็ออกมา เพราะงานฉลองที่แท้จริงของเรานั้นอยู่ที่พรมแดน ที่นั่นเต็มไปด้วยคลื่นมหาชนในยามเที่ยงคืนที่ต่างหลั่งไหลกันไปราวกับฝันเพื่อผ่าน “เมืองหลวง” ที่บัดนี้ไม่มีอีกแล้ว ไปยังสะพานบอร์นโฮล์เมอร์ เหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อกำลังเกิดขึ้น มันราวกับไร้เสียงและไร้การเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่พรมแดนเปิดทางให้รถยนต์เคลื่อนผ่านไป คลื่นคนที่แสนเบิกบานต่างพากันแทรกตัวผ่านทางเดินกว้างๆ และป้อมพรมแดนออกไป จากตะวันออกไปยังตะวันตก จากตะวันตกไปยังตะวันออก ไม้กั้นด่านถูกยกขึ้น และคงไม่มีใครเคยจินตนาการมาก่อนเลยว่ามันจะไม่ได้ปิดลงอีกแล้ว เบอร์ลินที่เคยแยกออกเป็นสองฝั่ง บัดนี้ต่างมุ่งหน้าเข้าหากันอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งที่เรามีปัญหากับการต้องอธิบายว่า แม้เราจะข้ามเส้นกั้นพรมแดนมาจากฝั่งตะวันออก แต่ทำไมเราจึงไม่ใช้คนตะวันออก

เป็นเวลากว่าชั่วโมงที่สิ่งเหลือเชื่อเหล่านั้นเกือบทำให้เราลืมไปเลยว่า อะไรพาให้เราข้ามมาฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ความสงสัยใคร่รู้ของเราจึงได้พาเรากลับไปยังงานเลี้ยงของคาร็อฟอีกครั้ง จะว่าไปแล้ว ดูเหมือนทุกคนจะยังอยู่ในผับเหมือนเดิม มีใครบางคนปิดเพลง คนจับกลุ่มกันเป็นวงสนทนาเล็กๆ ถกกันเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางคนก็มีคราบน้ำตาให้เห็น ไม่มีใครสนใจกับภาพเหตุการณ์การเปิดพรมแดนที่เราบรรยายให้ฟัง “บัดนี้เราได้ตกลงมาจากกิ่งไม้ที่เราพยายามเลื่อยทิ้งมาสี่สิบปี” คือประโยคที่นักแสดงตลก เพเทอร์ เอ็นสิคาท (Peter Ensikat) ควรจะใช้กล่าวในวันรุ่งขึ้นบนเวทีการแสดงของเขา ชื่อของภาพยนตร์ "Coming Out" ได้ถูกทำให้ความหมายเปลี่ยนไปและสร้างความกลัวให้กับผู้จัดงานของเราในค่ำคืนนั้นไม่น้อย อีกทั้งยังเปลี่ยนวีซ่าเข้าเยอรมันตะวันออกของเราให้กลายเป็นตั๋วเข้างานปิดตัวของประเทศที่มีนักแสดงเป็นผู้คนที่สับสนมึนงง แถมผับที่เราได้สัมผัสงานฉลองการรวมชาติสุดเศร้าในครั้งนั้นก็ดันมีชื่อว่า “สงบศึก” (Zum Burgfrieden) เสียด้วย

มาร์กิต โวสส์ (Margit Voss) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ซึ่งเป็นคนแรกที่ทำให้คาร็อฟหันมาสนใจในประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ปัจจุบันทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์และวิทยุ Mitteldeutscher Rundfunk และ Neues Deutschland

ผู้เขียนบท โวล์ฟราม วิทท์ (Wolfram Witt) ทนไม่ได้กับข้อกล่าวหาที่ว่าเขาเคยร่วมมือทำงานกับรัฐมาก่อน จึงไม่ปรากฎตัวต่อสาธารณะอีกเลย

เดือร์ก คุมเมอร์ (Dirk Kummer) ไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ ลาออกจากสถาบันสอนการแสดง และปัจจุบันเป็นผู้กำกับอยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี

ผู้กำกับไฮเนอร์ คาร็อฟเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1997 ภายหลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ เขาก็ไม่สามารถสร้างความสำเร็จเหมือนเมื่อครั้งที่อยู่เยอรมันตะวันออกได้อีกเลย