แพลตฟอร์มรูปแบบออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
Living Rooms

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2020 ได้มีการจัดโปรเจค Living Rooms เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบออนไลน์สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับช่างศิลป์และผู้ผลิตผลงานทางวัฒนธรรมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศเยอรมนี

เนื่องด้วยสถาบันเกอเธ่ทั้งจากอินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ต้องการสนับสนุนและช่วยเสริมสร้างเครือข่ายให้แก่เหล่าศิลปินและผู้ที่ทำงานด้านวัฒนธรรมจากภูมิภาคดังกล่าวในช่วงวิกฤตการณ์โควิด ทางสถาบันจึงได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือ safe space ผ่านโปรแกรม ZOOM เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับการสนทนาและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การสร้างสรรค์ศิลปะล่าสุดในช่วงระหว่าง (หรือหลังจาก) วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรน่า โดยเป็นความพยายามในการตระหนักและไตร่ตรองถึงสถานการณ์ที่มีผลในหลายด้านและที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีความหลากหลายจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เรียกร้องและช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สามคำถามหลักที่เป็นหัวข้อการสนทนาทั้งหกรอบมีดังนี้

  • เราจะเริ่มงานอีกครั้งได้ (หรือไม่) อย่างไร
  • เราจะอยู่รอดได้ (หรือไม่) อย่างไร
  • เราจะเริ่มสร้างสรรค์งานได้ (หรือไม่) ได้อย่างไร

เนื้อหาส่วนหนึ่งของโปรเจคมีดังต่อไปนี้

“วิกฤติการณ์โควิดเป็นช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์และคุณก็จะมีเรื่องให้เล่า”

Living Rooms © © Keni s. Living Rooms © Keni s.
ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศิลปินสามคนได้เดินทางไปยังประเทศเยอรมนีด้วยทุน Pacific-Leipzig-Stipendium ของสถาบันเกอเธ่ เพื่อเป็นศิลปินรับเชิญเข้าร่วมหลักสูตรศิลปะ Leipzig International Arts Programme (LIAp) ในเยอรมนีเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากมาถึงได้สองอาทิตย์ รัฐบาลเยอรมนีก็ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ขึ้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่ศิลปินทั้งสามคนที่ได้รับทุนก็ตัดสินใจอยู่เยอรมนีต่อ ถึงแม้ว่าจะต้องลดการติดต่อระหว่างกันและกันก็ตาม คุณอันนาหลุยส์ โรลันด์ (Anna-Louise Rolland) ผู้ก่อตั้งหลักสูตร LIAp ได้บรรยายกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะในช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นเสมือนอีกรูปแบบหนึ่งของการรักษากายและใจ โดยเหล่าศิลปินต่างก็คิดคำนึงถึงความกังวล ความโดดเดี่ยว รวมถึงความปรารถนาในการสัมผัสในการทำงานของตัวเอง และได้ใช้หน้าต่างสตูดิโอแสดงผลงานเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการ พร้อมกับพัฒนากลยุทธ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิลปินอื่นๆ ในสถานที่จริง
 
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหล่าศิลปินและองค์กรทางวัฒนธรรมต่างก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางสังคมใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยกระแสการปรับตัวที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ เช่น ศิลปินหลายคนได้รวมกลุ่มกันริเริ่มจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางสังคม และผลิตผลงานต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย หรือนำข้าวกล่องไปแจกตามสถานที่โดยรอบที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้ไม่มากนัก องค์กรทางวัฒนธรรมหลายองค์กรได้พัฒนาโปรแกรมต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์เพื่อสนับสนุนศิลปิน และจัดกิจกรรมสำหรับการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในหลากหลายกลุ่มศิลปินอีกด้วย อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณเดลัน โรบิลโย (Delan Robillos)  สมาชิกคณะกรรมาธิการแห่งชาติสำหรับศิลปะและวัฒนธรรมในฟิลิปปินส์ (National Commission for Culture and the Arts) เป็นปรากฏการณ์ที่ชื่อว่า “จากกระแสหลักสู่กระแสชน หรือ Mainstream to Downstream” โดยเหล่าศิลปินต่างก็ผลิตผลงานทางศิลปะในรูปแบบที่เล็กลง หรือผลิตภัณฑ์ทั่วไปอย่างอื่นเพื่อนำไปขายในราคาย่อมเยาผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ต่อไปแล้ว รูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวก็ยังเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ อีกด้วย โดยคุณอาร์ทาที สิรมัน (Artati Sirman) จากองค์กร Selasar Sunaryo Art Space Bandung ยังได้ตั้งคำถามต่อว่า รูปแบบใหม่ดังกล่าวของการผลิตผลงานศิลปะจะสามารถเปลี่ยนแปลงตลาดวงการทางศิลปะและทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงศิลปะได้มากขึ้นแค่ไหนในอนาคต

นวัตกรรมทางดิจิตอลและรูปแบบใหม่ทางการสื่อสาร

Living Rooms
© Goethe-Institut Indonesien
หากวิกฤตการณ์ไโควิดมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน ผู้เข้าร่วมโปรเจค Living Rooms หลายคนก็จะต้องรับมือกับเทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงการพัฒนาความสามารถและรูปแบบผลงานใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น คุณเฟลิกซ์ รูเฮอเฟอร์ (Felix Ruhöfer) หัวหน้าองค์กรทางศิลปะ Kunst- und Ausstellungsplattform basis e.V. ในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี คิดว่ามีสองหัวข้อหลักที่สำคัญสองหัวข้อ ได้แก่  หนึ่ง คำถามที่ว่ารูปแบบการนำเสนอแบบดิจิตอลจะเปลี่ยนแนวการปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะได้อย่างไร และ สอง ผลงานทางศิลปะในรูปแบบออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อคนทั่วไปได้อย่างไร เช่น ในตัวอย่างของโรงละคร Papermoon Theatre ที่ได้จัดเทศกาลโรงละครหุ่นออนไลน์ และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าชมมากกว่าปรกติ โดยข้อดีอีกข้อหนึ่งของการจัดเทศกาลแบบออนไลน์ คือการจัดฉากโรงละครแบบออนไลน์ทำให้ทางโรงละครไม่ต้องคอยจัดตั้งและแยกย้ายฉากที่ใช้บนเวทีลงในทุกครั้งที่ต้องออกทัวร์ไปแต่ละสถานที่ คณะผู้จัดโรงละครจึงสามารถใช้วัสดุที่บอบบางและแตกหักได้ง่ายมากขึ้น สำหรับคุณมาเรีย ตรี ซุลิสต์ยนี (Maria Tri Sulistyani) ที่เป็นหัวหน้าโรงละคร สิ่งที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นการโต้ตอบซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนอยู่ โดยต้องมีการจัดรูปแบบกิจกรรมแลกเปลี่ยนและช่องว่างทางความคิดอยู่ตลอดเวลา โดยโรงละคร Komunitas Salihara ในกรุงจาการ์ต้า ได้มีผู้เข้าชมในบางครั้งถึงกว่า 30.000 คนในการจัดแสดงการแสดงออกทางศิลปะแบบออนไลน์ นี่เป็นเพียงแค่ตัวเลขผู้เข้าชมที่มาจากการผลิตผลงานของโรงละคร หากแต่ยังเป็นการสร้างชุมชนขนาดย่อมแบบเฉพาะกิจอีกด้วย นอกจากนี้ อีกหนึ่งรูปแบบใหม่ ได้แก่ การพูดคุยและการเขียนความคิดเห็นอย่างอึกทึกครึกโครมเพื่อการโต้ตอบโดยตรงระหว่างผู้เข้าชมระหว่างการแสดงออนไลน์สดผ่านวีดีโอ ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว การรวมตัวและการจัดรูปแบบทางสังคมแบบใหม่ดังกล่าวจะดำเนินออกมาในรูปแบบไหนในภายคาคหน้า
 
การจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่สำหรับคอร์สเพื่อการศึกษาและการคิดไตร่ตรองก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน นักลีลาศอิสระที่ไม่มีโครงสร้างที่เป็นสถาบันมารองรับต่างก็ไม่มีเวทีการแสดงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันคอร์สเรียนเต้นแบบออนไลน์สำหรับเยาวชนและการแข่งประกวดแบบออนไลน์ต่างก็กำลังเป็นที่นิยมอย่างเห็นได้ชัด เช่น แพลตฟอร์ม “dokumen.tari” ขององค์กร Sasikirana Dance Camp Bandung ที่เพิ่มศักยภาพการถ่ายทอดศิลปะการเต้นรำแบบร่วมสมัย ผ่านรูปแบบการเล่าเรื่อง การนำเสนอบทความผ่านภาพถ่ายและภาพยนตร์แนวสารคดีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ ในคอร์สอบรมออนไลน์ที่มีระยะเวลานานหลายสัปดาห์ เหล่านักเต้นจากทั่วภูมิภาคในอินโดเนเซียต่างก็ได้สัมผัสการปฏิบัตงานทางศิลปะ และเรียนรู้ความสามารถใหม่เพื่อส่งต่อศิลปะการเต้นผ่านการมองเห็น และให้คนทั่วไปเข้าใจศิลปะดังกล่าวได้มากขึ้น นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเปิดเส้นทางใหม่ๆ ในการศึกษาการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและเปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้มากขึ้น

“การดูแลกันและกันในชุมชน หรือ Community Care” โครงการเพื่อสวัสดิการของเหล่าศิลปินและเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน

นอกจากหัวข้อทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นที่มีการพูดถึง วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้ผู้คนสนใจปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมมากขึ้นเป็นพิเศษ กลุ่มประชากรจำนวนมากหลายกลุ่มกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ รวมถึงศิลปินหลายคนที่ต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากโครงสร้างการสนับสนุนจากภาครัฐ ถึงแม้ว่าศิลปินหลายคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำงานแบบเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้การหาเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดด้วยการทำงานด้านศิลปะของเหล่าศิลปินเป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้นไปอีก องค์กรอิสระเพื่อสวัสดิภาพของศิลปิน Artist Welfare Project Inc. จากกรุงมะนิลา จึงมีข้อเสนอในการช่วยเหล่าศิลปินอิสระให้เข้าถึงประกันสุขภาพที่มีราคาไม่แพงมาก และยังพัฒนาโปรแกรมพิเศษเพื่อสนับสนุนศิลปินทั้งในและนอกประเทศ ที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเปราะบางทางร่างกาย สุขภาพจิตและการเอาใจใส่ระหว่างกันและกันกับผู้อื่นมากขึ้น คุณ Abhijan Toto ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์จากกรุงเทพ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่เหล่าศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพยายามดูแลช่วยเหลือคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสังคม กลุ่มชุมชนเพื่อนบ้านและชุมชนอื่นในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการสร้างชุมชนที่ช่วยเหลือกันและกันผ่านการปฏิบัติทางศิลปะนั้น เป็นการพัฒนาและการผลักดันที่สำคัญ ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะทางภูมิภาคได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ชัดเจนของชุมชน รวมถึงคำถามที่ว่าใครเป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกชุมชน และพื้นที่ไหนที่เปิดให้ผู้คนได้เข้าถึง หรือพื้นที่ไหนปิดกั้นการเข้าถึงดังกล่าวนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องระบุจัดเจนให้คลอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มต่อไป
ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ คุณยันฟิลิป โพสมัน (Jan-Philipp Possmann) หัวหน้าแผนกงานศิลป์ของโรงละครอิสระ zeitraumexit ในเมืองมันไฮม์ (Mannheim) ประเทศเยอรมนี ได้ลองนึกภาพว่า หากโรงละคร แกลอรี่ภาพและพิพิธภัณฑ์ทุกที่จะต้องปิดทำการตลอดปีเนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด จะเกิดอะไรขึ้นหากกลุ่มผู้ไร้บ้านจะย้ายเข้าไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าวแทน พร้อมกับให้เยาวชนได้ใช้เวทีละครเป็นที่พักผ่อนสังสรรค์ โดยให้แต่ละกลุ่มจัดการดูแลกันเอง สำหรับคำถามที่ว่าการคืนพื้นที่ต่างๆ ให้กับศิลปะจะมีข้อดีอย่างไรบ้างนั้น เมื่อหลายปีก่อน คุณลิซ่า (Liza Ho) ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ได้ทำการบูรณะเปลี่ยนแปลงอาคาร The Zhongshan Building ซึ่งเป็นอดีตอาคารสำนักงานของสมาคม Selangor Zhongshan Association ให้เป็นศูนย์รวมศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ โดยหลังจากมาตรการล็อกดาวร์ในมาเลเซียได้ผ่านไปแล้ว เธอจึงสังเกตและค้นพบว่า ผู้คนหันมาสนใจกิจกรรมทางศิลปะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยต่างก็อยากมีพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ และไม่ต้องการห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป
และวิกฤตการณ์ระลอกที่สองในหลายประเทศในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ก็ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคต่างก็ออกมาตรการล็อกดาวน์ (เป็นบางส่วน) อีกครั้งหนึ่ง และก็เป็นอีกครั้งที่ทุกคนจะต้องรีบปรับตัวใหม่อีกครั้ง โดยสำหรับคุณฮาร์เดช สิงห์ (Hardesh Singh) และทีมงานผู้จัดเทศการ The Cooler Lumpur Festival ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการจัดเทศกาลที่นำเสนอไอเดียความคิดต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว