รางวัลหนังสือเยอรมัน 2021
ท่ามกลางผู้หญิงมากมาย

รางวัลหนังสือเยอรมัน 2021 อันท์เย ราวิค ชตรูเบล
© ภาพ alliance/dpa/dpa POOL | Sebastian Gollnow

“Blaue Frau” (หญิงสีน้ำเงิน) นิยายของอันท์เย ราวิค ชตรูเบลคว้ารางวัลนิยายดีเด่นประจำปี รางวัลหนังสือเยอรมัน 2021 ตกเป็นของนักเขียนผู้เรียกร้องและมีความมุ่งมั่น

คืนวันจันทร์ อันท์เย ราวิค ชตรูเบล นักเขียนและนักแปลได้รับรางวัลหนังสือเยอรมัน เธอคว้ารางวัลประเภทนิยายดีเด่นแห่งปีจากเรื่อง Blaue Frau (หญิงสีน้ำเงิน) เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องพยายามรวบรวมความสามารถให้กลับมาคิดและพูดได้อีกครั้งหลังจากที่เธอถูกข่มขืน เธอปลีกวิเวกไปอยู่ในตึกคอนกรีตสำเร็จรูปในเมืองเฮลซิงกิ สุดขอบทางเหนือของยุโรป จากที่นั่น การเล่าเรื่องราวค่อยๆ ย้อนกลับมาสู่ประสบการณ์ที่อดินา หญิงสาวจากประเทศเชคเคยประสบในสมัยที่เธอเป็นนักศึกษาและเด็กฝึกงานอยู่ในกรุงเบอร์ลินและรีสอร์ตในเมืองอุคเคอร์มาร์ค พื้นเพที่มาจากยุโรปตะวันออกของเธอมักกระตุ้นให้ผู้คนมากมายที่ได้พบเธอนึกถึงภาพลักษณ์มากกว่าที่จะสนใจในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

ว่าด้วยความรุนแรง

ในหนังสือเล่มนี้ราวิค ชตรูเบลใช้โครงสร้างเวลาแบบย้อนกลับไปกลับมาไม่เป็นเส้นตรง เธอแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาษากฎหมายที่ใช้พูดคุยเรื่องการกระทำชำเรา กับประสบการณ์ของตัวละคร ผู้ซึ่งพยายามหาคำบรรยายเหตุการณ์นั้นได้อย่างยากลำบาก ในบทกลางของหนังสือ ผู้หญิงสีน้ำเงิน ที่มาจากชื่อเรื่อง คล้ายจะเป็นนางฟ้าที่ผู้เล่าเรื่องสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการเขียนเรื่องความรุนแรงได้

“หญิงสีน้ำเงิน” เป็นเรื่องเล่าที่ซับซ้อนทั้งรูปแบบและสุนทรียะ ผู้อ่านที่มีความรู้สึกร่วมกับขบวนการ Metoo น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่า แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมามากนักเนื่องจากเป็นสไตล์การเขียนแนวสะท้อนตัวเอง (self-reflexivity)

แม้กระนั้นราวิค ชตรูเบลใช้โอกาสในตอนกล่าวรับรางวัลกล่าวข้อความที่มีนัยยะทางการเมือง เธอปฏิเสธเรื่องที่การเรียกร้องให้คนเราต้องมีความอ่อนไหวเมื่อโครงสร้างสังคมใช้ความรุนแรง และการที่ผู้หญิงกำหนดตัวตนด้วยตนเองกลับถูกมองเป็นแค่ความถูกต้องทางการเมือง ทั้งที่อันที่จริงการเรียกร้องเช่นนั้นดูเป็นเรื่องธรรมดามาก

การเขียนของผู้หญิง

“บางทีเรื่องธรรมดาอาจจะต้องกลับไปเป็นเรื่องเข้าใจยากเสียก่อน เพื่อที่จะได้เป็นเรื่องธรรมดาต่อไป” เธออ้างคำพูดของนักเขียนอิลเซอ ไอชิงเงอร์ ราวิค ชตรูเบลยังกล่าวถึงเวอร์จิเนีย วูลฟ์และขอบคุณผู้ชี้แนะของเธอ ซิลเวีย โบเฟนเชน ผู้ซึ่งเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2560 ซึ่งเธออุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ โบเฟนเชนเป็นผู้เขียนงานวิจัย “Die imaginierte Weiblichkeit” (ความเป็นหญิงที่จินตนาการขึ้น) (2522) ซึ่งมีเนื้อหาที่ทันสมัยจนถึงทุกวันนี้ หนังสือตั้งคำถามว่าสิ่งใดที่น่าจะทำให้เสียงของผู้หญิงในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเงียบ งานของราวิค ชตรูเบลที่โจแอน ดิดีออนและลูเซีย แบร์ลีนแปลเป็นภาษาเยอรมันอ้างถึงการเขียนของสตรีที่ไม่ได้ตอบสนองแค่การยืนยันความคิดของตน (self-assertion) เท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจต่อความไม่แน่นอนและความแปรปรวนของภาษาและสภาพสังคมอย่างมากด้วย

รางวัลหนังสือเยอรมันมีความโดดเด่นอยู่ที่มีร้านหนังสือ ผู้จัดงานวรรณกรรมและนักวิจารณ์เป็นผู้ร่วมกันตัดสินรางวัล โดยคณะกรรมการตัดสินจะเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ในปีนี้ คนุท คอร์ดเซน นักวิจารณ์จากสถานีวิทยุบาวาเรียทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นที่อาคารฟรังฟวร์ทเทอร์เรอเมอร์ นับว่าเป็นงานใหญ่งานแรกของสัปดาห์เทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ต ปีพ.ศ. 2564 ที่อย่างน้อยก็ยังจัดได้แม้ว่าจะต้องมอบรางวัลท่ามกลางผู้ชมกลุ่มเล็กก็ตาม มีนักเขียนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมพร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็นนอร์แบร์ต เกสไตรน์ โมนิก้า เฮลเฟอร์ คริสเตียน ครัคท์ โธมัส คุนสท์และมิธู ซันยาล