บทสัมภาษณ์แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล
“หนังสือจะต้องเป็นศิลปวัตถุ”

”อุตสาหกรรมการพิมพ์ในตอนนี้ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนา”: Gerhard Steidl เจ้าของสำนักพิมพ์ Steidl
”อุตสาหกรรมการพิมพ์ในตอนนี้ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนา”: Gerhard Steidl เจ้าของสำนักพิมพ์ Steidl | © Joakim Eskildsen

แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล เจ้าของสำนักพิมพ์ผู้เผยแพร่ผลงานของกึนเทอร์ กรัสส์ และคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เชื่อมั่นในอนาคตของหนังสือประเภทตีพิมพ์ ชไตเดิลได้ร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ผลิตหนังสือด้วยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน ในบทสัมภาษณ์ เขาได้กล่าวถึงที่มาที่ไปและอธิบายความคล้ายคลึงกันของหนังสือประเภทตีพิมพ์กับนาฬิกาข้อมือราคาแพง

อุตสาหกรรมการพิมพ์ถือได้ว่าทำลายสิ่งแวดล้อม  จะดีกว่าไหมคะถ้าเราหยุดตีพิมพ์หนังสือและเผยแพร่เฉพาะในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแทน

โรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ที่ไม่มีความรู้ด้านกรรมวิธีผลิตหนังสือที่มีรูปเล่ม สวยงามและเก็บรักษาได้นานควรจะเลิกตีพิมพ์และหันมาเผยแพร่ผลงานบนอินเตอร์เน็ตแทนครับ เพราะถ้าจะผลิตแบบตีพิมพ์แล้ว หนังสือต้องมีคุณภาพที่ดีเป็นประกัน นอกเหนือจากตัวนักเขียนหรือศิลปินเองแล้ว นักออกแบบ คนปรับแต่งภาพ โรงพิมพ์และผู้เย็บเล่มจะต้องลงทุนลงแรงเพื่อที่จะผลิตหนังสือให้เก็บรักษาได้นาน พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่เลือกซื้อหนังสือแบบตีพิมพ์จะต้องได้รับศิลปวัตถุซึ่งสามารถเก็บอยู่ในห้องสมุดแม้ในอีก 100-200 ปีข้างหน้าโดยไม่เสื่อมสภาพ หนังสือที่เราซื้อจะต้องสามารถเก็บรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เหมือนกับนาฬิกาข้อมือหรูๆ ในขณะที่หนังสือสำหรับอ่านเล่นตอนเดินทางผมสามารถดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องตีพิมพ์ครับ

ที่ว่าหนังสือ “ภูมิอากาศ ศิลปะ วัฒนธรรม” (“Klima, Kunst, Kultur”) ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหมายความว่าอย่างไรคะ

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว สถาบันนิเวศวิทยาเมืองดาร์มชตัดท์ได้บันทึกขั้นตอนการผลิตทุกกระบวนการของเรา มีการตรวจสอบว่าใช้สารเคมีในขั้นตอนใดบ้าง ส่วนไหนใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ส่วนไหนใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ ตลอดจนมีสัดส่วนการใช้พลังงานอย่างไรบ้าง เมื่อเสร็จขั้นตอนตรวจสอบเราก็ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ตั้งแต่นั้นมาผมก็ได้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมาโดยตลอดเพื่อจะได้นำไปพัฒนาสิ่งต่างๆ ยกตัวอย่างนะครับ เมื่อ 15 ปีที่แล้วเราใช้สารไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ประมาณ 2000 ลิตรต่อปี ซึ่งจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งและมีคุณสมบัติทำลายโอโซน แต่ตอนนี้ปริมาณการใช้สารดังกล่าวกลายเป็น 0 แล้วครับ

เมื่อทางสถาบันเกอเธ่สนใจหนังสือ “ภูมิอากาศ ศิลปะ วัฒนธรรม” (“Klima, Kunst, Kultur”) ของคุณ...

ผมก็เล็งเห็นทันทีว่าเราต้องทำให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือประเภทนี้ผลิตขึ้นตรงตามขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร วิธีการที่ว่านี้หลักๆ เขียนไว้ในหนังสือแล้วครับ แน่นอนว่าในขั้นตอนการผลิต ทั้งผู้เขียน ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายภาพ สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์จะต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะได้ผลิตผลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกมา

แล้วผู้อ่านจะสัมผัสถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหนังสือได้ไหมคะ 

Klima Kunst Kultur. Der Klimawandel in Kunst und Kulturwissenschaften. Herausgegeben von Andrea Zell und Johannes Ebert für das Goethe-Institut, 168 Seiten, 32 Euro. Klima Kunst Kultur. Der Klimawandel in Kunst und Kulturwissenschaften. Herausgegeben von Andrea Zell und Johannes Ebert für das Goethe-Institut, 168 Seiten, 32 Euro. | Copyright: Steidl สัมผัสได้แน่นอนครับ เริ่มตั้งแต่ปกหุ้มหนังสือเลยที่ทำจากกระดาษธรรมชาติ อย่างการเคลือบผิวกันรอยขีดข่วนบนปกหุ้มซึ่งปกติแล้วจะเคลือบด้วยพลาสติก  หนังสือของเราจะเคลือบด้วยตัวเคลือบพิเศษที่สัมผัสเหมือนพลาสติก
แต่จริงๆ แล้วผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ ถัดมาก็คือตัวปกหนังสือซึ่งไม่ฟอกสีและมองผิวเผินเหมือนกระสอบ เราใช้กาวธรรมชาติ ปกในของหนังสือก็ใช้กระดาษที่ทำจากฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์และย้อมสีโดยใช้ใยไม้ครับ

แล้วกระดาษข้างในเล่มทำจากอะไรคะ 

เป็นกระดาษพิเศษจากประเทศสหรัฐอเมริกาครับ ทำจากกระดาษรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีจุดสังเกตแค่ตรงเศษใยเล็กๆ บนกระดาษเท่านั้น โรงงานจะแยกกระดาษขาวและกระดาษที่ตีพิมพ์แล้วออกจากกัน จากนั้นจะใช้กรรมวิธีดึงสีออกจากกระดาษ ผลผลิตอันน่าประทับใจที่ออกมาก็คือกระดาษที่ไม่ทำลายทรัพยากรป่าไม้เลยครับ

แล้วการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นอย่างไรบ้างคะ

ในโรงงานกระดาษที่ว่ามีการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นระบบปิดเหมือนกับโรงงานผลิตกระดาษส่วนใหญ่ในยุโรปครับ แต่แน่นอนว่าต้องมีการเติมน้ำใหม่ลงไปด้วยเพราะน้ำจะระเหยระหว่างการผลิต ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่มีการระบายน้ำเสียออกมา ในวงการการพิมพ์มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากครับ ซึ่งเราได้อธิบายไว้แล้วในหนังสือ “ภูมิอากาศ ศิลปะ วัฒนธรรม” (“Klima, Kunst, Kultur”)

คุณบอกว่าวิทยาการการผลิตหนังสือได้ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์แล้ว ไม่สามารถจะทัดเทียมได้อีก

เพราะตลาดการผลิตหนังสือจะไม่โตไปกว่านี้แล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่เราเคยเผยแพร่ด้วยการตีพิมพ์กลับกลายเป็นข้อมูลดิจิตอลในระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงไม่คุ้มที่จะลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไว้ในโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ โรงงานผลิตสี หรือในโรงงานกระดาษ อย่างเช่นตอนนี้ทั้งโลกเหลือผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตกระดาษแค่เพียงรายเดียว คือบริษัทวอยธ์ (Voith) ในประเทศเยอรมนี ซึ่งทางบริษัทนี้ไม่ได้รับคำสั่งผลิตเครื่องมากว่า 14 ปีแล้ว แต่ยังดำเนินกิจการอยู่ได้ด้วยการรับซ่อม และถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งผลิตเครื่องใหม่สักเครื่อง ก็ต้องใช้เวลากว่า 7 ปีกว่าจะเสร็จและนำไปใช้งานได้ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นเลยครับว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์หยุดการพัฒนาแล้ว โชคดีที่ว่าเครื่องจักรที่ใช้ผลิตกระดาษอยู่ทุกวันนี้ยังสามารถผลิตกระดาษได้แม้ในอีก 100 ปีข้างหน้า เพียงแต่จะไม่มีวิวัฒนาการแล้วครับ เช่นเดียวกันกับพวกเครื่องพิมพ์สี เครื่องผลิตด้ายเย็บเล่มหรือกระดาษปกใน ทุกอย่างดำเนินมาถึงขีดสุดแล้วและขาดแรงกระตุ้นที่จะพัฒนาต่อไป ผมมองว่าผู้คนในอีก 100 ปีข้างหน้าจะอยากให้วิทยาการการพิมพ์ในเวลานั้นทัดเทียมกับสิ่งที่เรามีในปัจจุบันครับ

แล้วมีผู้สนใจหนังสือที่มีรูปเล่มประณีตสวยงามมากขึ้นไหมคะ 

มีครับ เห็นได้จากสำนักพิมพ์ของผมเลยครับ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ เพดานราคาของหนังสือภาพจะอยู่ที่ 50 ยูโรเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมันไม่สำคัญอีกแล้วว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะมีราคา 100 ยูโรหรือ 120 ยูโร เพราะผู้คนยินดีที่จะซื้อ สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็เป็นแบบเดียวกันครับ อย่างเช่นสำนักพิมพ์เกชตัลเทน (Gestalten) ที่กรุงเบอร์ลินมีนโยบายผลิตเพียงหนังสือปกแข็งเย็บด้ายเท่านั้น พวกเขากล่าวว่าพวกเขาเลือกที่จะตีพิมพ์หนังสือออกมาในราคาสูงขึ้นเล็กน้อย แต่จะผลิตให้มีคุณภาพดีเยี่ยม ซึ่งก็ทำให้พวกเขาได้ผลกำไรครับ ในขณะที่สำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ผลิตหนังสือแบบราคาประหยัด เสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่คะ

สักประมาณ 5 ปีที่แล้วครับ ผมเองก็ตัดสินใจในตอนนั้นว่าจะเลิกผลิตหนังสือต้นทุนต่ำแบบถาวร ซึ่งหมายความว่าสินค้าทั้งหมดของเราจะเป็นหนังสือประณีตแบบเย็บด้าย ปกในทำด้วยกระดาษอัดลายอย่างดี สำนักพิมพ์หลายแห่งก็ตัดสินใจทำแบบเดียวกันเพื่อความอยู่รอด กล่าวคือ เพิ่มคุณภาพและเพิ่มราคาอย่างระมัดระวัง ในขณะที่ผู้ซื้อก็สามารถยอมรับราคาได้ครับ

มีตลาดต่างประเทศที่ไหนน่าสนใจบ้างคะ 

ยกตัวอย่างก็ที่เอเชียครับ กล่าวได้ว่าตอนนี้วิทยาการการผลิตหนังสือที่นั่นแบบที่เรารู้จักกันในยุโรปไม่มีให้เห็นแล้วครับ ในประเทศเกาหลีใต้ยังพอมีสำนักพิมพ์จำพวกนี้หลายแห่ง แต่ทุกอย่างผลิตขึ้นในฮ่องกงหรือประเทศจีนซึ่งไม่มีวัฒนธรรมการพิมพ์อีกแล้ว แต่ก็ยังพอมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่สนใจศึกษาด้านการพิมพ์และอยากสร้างวัฒนธรรมการพิมพ์ให้เกิดในประเทศของเขา ที่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างกันมากครับ แม้ว่าจะสามารถผลิตหนังสือที่เข้าเล่มแบบเย็บด้าย แต่ต้องส่งไปเย็บเล่มที่ประเทศแคนาดาอยู่ดี เพราะที่อเมริกาไม่มีโรงงานเย็บเล่มแล้ว

แล้วสถานการณ์ที่ยุโรปกลางเป็นอย่างไรบ้างคะ

เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปแลนด์ และฮังการีถือว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการพิมพ์ครับ เพราะวิทยาการต่างๆ กระจุกตัวอยู่ที่นั่น รัฐบาลของประเทศดังกล่าวควรสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์และควรพิจารณาเป็นสินค้าส่งออก ส่วนทางสถาบันเกอเธ่ผมเห็นว่าอาจช่วยเรื่องนี้ได้โดยการเชิญชวนให้นักออกแบบ นักเขียน สำนักพิมพ์ ผู้ตีพิมพ์และผู้เย็บเล่มหนังสือในแต่ละประเทศมารวมตัวกันและจัดสัมมนาให้กับคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้คนในประเทศอย่างอินเดียหรือประเทศแองโกลาในทวีปแอฟริกาเข้าใจว่าจะผลิตหนังสือคุณภาพสูงออกมาได้อย่างไร ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นครับ

ขออนุญาตถามเรื่องส่วนตัวบ้างนะคะ คุณทำงานทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ คุณมีเวลาไหนอ่านหนังสือคะ 

ช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ไม่ได้อ่านแน่นอนครับ แต่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ผมอ่านเยอะทีเดียว โดยเฉพาะพวกบทกลอนต่างๆ ผมมักจะเลือกกลอนมา 1 บท อ่านสัก 3-4 รอบ รอบแรกอ่านในใจ หลังจากนั้นก็อ่านออกเสียง สนุกมากเลยครับ ผมก็เลยอ่านหนังสือรวมบทกลอนต่างๆ จบเล่มภายในเวลาไม่กี่วัน ส่วนงานเขียนร้อยแก้วผมจะเก็บไว้อ่านตอนวันหยุดยาวครับ แต่โดยส่วนตัวผมไม่ชอบอ่านหนังสือระหว่างการเดินทาง เพราะผมจะหลับทันทีเวลานั่งเครื่องบิน รถไฟ หรือรถยนต์