ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)
เก็บประสบการณ์การสอนในประเทศไทยผ่านโครงการผู้ช่วยสอนภาษาเยอรมันภาพ (คัดเลือกมา): สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ©

โครงการผู้ช่วยสอนภาษาเยอรมัน

เก็บประสบการณ์การสอนในประเทศไทย

โครงการผู้ช่วยสอนภาษาเยอรมันเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยได้เข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันอย่างใกล้ชิด ที่ไม่อาจจะหาได้ในหนังสือเรียน ผ่านตัวแทนจากประเทศเยอรมนีที่จะมาใช้ชีวิตในระบบโรงเรียนของไทยเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านวิชาชีพให้ตนเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นแรงสนับสนุนที่ดีต่อการเรียนภาษาเยอรมันให้แก่นักเรียนไทยอีกด้วย


“DAS” คืออะไร

กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมกันจัดโครงการผู้ช่วยสอนภาษาเยอรมันขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากประเทศเยอรมนี สาขาการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ หรือครุศาสตร์มาใช้ชีวิตในประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาเยอรมัน กว่า 51 โรง ทั่วทั้งประเทศไทย สำหรับนักศึกษา การเข้าร่วมโครงการฯ นับเป็นโอกาสที่ดีในการสั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการสอนในต่างประเทศ ทั้งนี้ผู้ช่วยสอนยังสามารถกระตุ้นหรือสร้างแรงบันดาลใจดีดีให้กับผู้เรียนภาษาเยอรมันได้อีกด้วย

ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ช่วยสอนจะได้รับการดูแลจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยผ่านงานปฐมนิเทศเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย และจะได้รับการดูแลจากครูสอนภาษาเยอรมันชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียน รวมถึงการจัดหาที่พัก และมอบทุน

เป้าหมายของโครงการ

  • เก็บประสบการณ์การด้านการสอน
  • เสริมทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ความสามารถในการบริหารจัดการและการสื่อสาร การทำงานด้วยตัวเองและทำงานเป็นทีม
  • สัมผัสวัฒนธรรม (โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการเรียน) ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
  • เรียนรู้ระบบการศึกษาในโรงเรียนนอกเหนือจากทวีปยุโรป


ภารกิจที่โรงเรียน

สำหรับนักเรียนไทย ประเทศเยอรมนีเป็นดินแดนอันไกลโพ้น มีเพียงน้อยครั้งที่พวกเขาจะมีโอกาสได้พบเจอหรือพูดคุยกับคนเยอรมันโดยตรง การได้พบกับครูผู้สอนชาวเยอรมันในคาบเรียนภาษาเป็นสิ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี
ผู้ช่วยสอนจะช่วยให้นักเรียนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมเยอรมันในแบบที่ไม่สามารถหาได้ในตำราเรียนที่ไหน ดังนั้นภารกิจหลักๆ ของเหล่าผู้ช่วยสอนก็คือ การส่งมอบความสุขและความสนุกในการเรียนภาษาเยอรมัน รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในประเทศเยอรมนี ผลักดันให้ผู้เรียนกล้าที่จะพูด และสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาให้กับผู้เรียนมากขึ้น

ถ้าระบุหน้าที่ให้ชัดเจน คือ :

  • คอยสังเกตการณ์ในระหว่างการเรียนการสอนภาษาเยอรมันของครูท่านอื่น
  • สอนด้วยตัวเองในบางส่วนของชั่วโมงเรียน (สูงสุด 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยปกติในช่วงชั้นม.4-6)
  • เข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนภาษาเยอรมัน
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภูมิศาสตร์ และกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร เพิ่มเติมจากชั่วโมงเรียน
  • เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน

 


ประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมโครงการ

  • โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ภาพ (คัดมาบางส่วน): ส่วนตัว
    เอ็มมา มึลเลอร์ และอาจารย์ธันยพร ใคร้วงศ์เรือน
    โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก


    ฉันคอยสนับสนุนให้นักเรียนของฉันกล้าพูด และช่วยปรับปรุงการออกเสียงของพวกเขา ซึ่งทำให้ทักษะภาษาของชั้นเรียนพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก มันงดงามมากที่ได้เห็นชั่วโมงเรียนมีชีวิตชีวาขึ้น และได้เห็นว่าเราสามารถดึงเอาประเทศเยอรมนี และวัฒนธรรมเยอรมันมาให้เด็กๆได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
  • โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ภาพ (คัดมาบางส่วน): ส่วนตัว
    มูฮัมเม็ด อาลี โดกาเนย์ และอาจารย์พิชามญชุ์ พิณศรี
    โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง


    มาลี: ต้องขอบอกเลยว่า ในบรรดาการตัดสินใจต่างๆ ในชีวิต การสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ผมภาคภูมิใจที่สุด ในสัปดาห์แรกของการสอนเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับผม เพราะต้องเริ่มต้นด้วยการสอนออนไลน์ ในช่วงที่เรียนที่มหาวิทยาลัย ผมยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์นี้ ความสุขใจสูงสุดของผมก็คงจะเป็นตอนที่เห็นนักเรียนที่ขี้อายในช่วงสัปดาห์แรก กลายเป็นนักเรียนช่างพูด ช่างเจรจา และสามารถบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองได้อย่างมั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ
    ครูพี่เลี้ยง: การได้ฝึกฝนกับเจ้าของภาษาโดยตรงถือเป็นหนทางการเรียนภาษาเยอรมันให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในระยะเวลาอันสั้น การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ดังเช่นตัวครูเองที่ก็ได้มีโอกาสพัฒนาภาษาเยอรมันของตัวเองมากขึ้นจากผู้ช่วยสอน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ เลยค่ะ
  • โรงเรียนพิงครัตน เชียงใหม่ ภาพ (คัดมาบางส่วน): ส่วนตัว
    พารีนาซ ฟาเซเลียน และอาจารย์สุพัตรา จงชานสิทโธ
    โรงเรียนพิงครัตน เชียงใหม่


    สำหรับฉัน การได้มีโอกาสได้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพราะโดยปกติแล้วฉันมีโอกาสได้สอนผู้ใหญ่มากกว่า บรรยากาศอันอบอุ่นในห้องเรียนทำให้ฉันรู้สึกสุขใจทุกครั้ง ปกติแล้วฉันจะเข้าสอนร่วมกันกับครูพี่เลี้ยง ฉันคิดว่ามันทำให้นักเรียนรู้สึกอุ่นใจ สบายใจและสามารถซักถามครูพี่เลี้ยงเป็นภาษาไทยได้ตลอดเวลาถ้าไม่เข้าใจ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยทำให้นักเรียนที่ขี้อายมากๆ รู้สึกสบายใจในการเรียน นอกจากนั้นฉันยังรู้สึกว่า ในห้องเรียนที่มีฉันอยู่ด้วยจะมีการสื่อสารกันด้วยภาษาเยอรมันหรือไม่ก็อังกฤษมากขึ้น โดยรวมฉันมองว่านี่เป็นกำไรสำหรับชีวิตฉัน ที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับระบบการศึกษาในโรงเรียนที่แตกต่างไป รวมถึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย อาหารไทยอร่อยมากๆ ฉันยังโชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสร่วมงานประเพณีลอยกระทงที่โรงเรียนฉันอีกด้วย
  • โรงเรียนกัลยาณวัตร ขอนแก่น ภาพ (คัดมาบางส่วน): ส่วนตัว
    คาร์เมน แมร์กเคิล & อาจารย์ณัฐวุฒิ รัตนภิรมย์
    โรงเรียนกัลยาณวัตร ขอนแก่น


    สำหรับนักเรียนไทย การฟัง และการพูดเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการเรียนภาษา แต่ฉันเชื่อว่า การที่พวกเขาได้มีโอกาสมาคุยกับเจ้าของภาษาอย่างฉันจะช่วยบรรเทาปัญหาตรงนี้ไปได้มาก ฉันคิดว่า ผู้ช่วยสอนจะสามารถนำแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาสู่ชั้นเรียนได้ ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนตั้งใจเรียนภาษาต่อไปแม้ต้องเรียนออนไลน์ และผลักดันให้นักเรียนเรียนภาษาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น

ถาม-ตอบ

เราประกาศหานักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในสาขาการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ และสาขาครุศาสตร์ (โดยเฉพาะในเอกภาษาต่างประเทศปัจจุบัน) ที่มีทักษะภาษาอังกฤษพอใช้ และสามารถใช้ภาษาเยอรมันได้เทียบเท่าเจ้าของภาษา โครงการของเราเหมาะกับคุณ ถ้าหากคุณ:
  • กำลังหาประสบการณ์การสอนภาษาต่างประเทศให้กับเด็กในช่วงอายุ 15 – 17 ปี
  • มีความสนใจจะช่วยให้นักเรียนไทยใกล้ชิดกับภาษาเยอรมันมากขึ้น ผ่านตัวคุณ และกิจกรรมทั้งในและนอกชั้นเรียน
  • อยากจะรู้จักประเทศไทย และคนไทย ในมุมมองที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว
  • พร้อมที่จะใช้ชีวิตตามกิจวัตรประจำวันของครูโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย และพร้อมปรับตัวกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบอื่น
นางสาวปรัศนีย์ ศิลปนาวิน
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ/ฝ่ายความร่วมมือทางการศึกษาภาษาเยอรมัน
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
Prasanee.Sinlapanawin@goethe.de
จำนวนผู้เข้าร่วมจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2556 มีผู้เข้าร่วมระหว่าง 2-10 คน ปี 2563 เป็นครั้งแรก ที่เราไม่สามารถจัดโครงการได้เนื่องจากภาวะโรคระบาด
 
ระหว่างที่ปฎิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเป็นเวลาสามเดือน (โรงเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย) คุณจะได้รับ:

จากสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ:
  • การดำเนินการและการดูแลภายใต้ความร่วมมือกับสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการยื่นขอวีซ่า โดยการออกหนังสือที่จำเป็น (บันทึกข้อความ) เพื่อที่จะนำไปประกอบกับเอกสารอื่นๆ ในการยื่นวีซ่า
  • การจัดงานปฐมนิเทศในช่วงต้นของโครงการและงานสัมมนาระหว่างที่อยู่โครงการ ที่สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ (ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาล) รวมถึงการดูแลเรื่องที่พัก และอาหาร ระหว่างการเข้าร่วมงาน
  • ค่าเดินทางจำนวน 500 ยูโร (อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการจัดสรรงบประมาณ)
จากโรงเรียน:
  • ครูพี่เลี้ยงที่พูดภาษาเยอรมันได้ ดูแลและให้ความช่วยเหลือตลอดโครงการฯ
  • จัดหาที่พักในละแวกโรงเรียน
  • มอบทุนจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน (ณ ตอนนี้เทียบเท่ากับประมาณ 250 ยูโร ซึ่งเป็นไปตาม 2/3 ของเงินเดือนเริ่มต้นของครู) และสนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับค่าน้ำ ค่าไฟในที่พัก
  • อาหารกลางวัน 1 มื้อในวันทำงาน
หมายเหตุ:
  • โปรแกรมและรายละเอียดต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการจัดสรรงบประมาณของทางการเยอรมัน และไทย
  • โปรแกรมและรายละเอียดต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ระบาดโควิด 19 (เช่น ข้อกำหนดการเดินทางเข้าประเทศ มาตรการการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน หรือ จำนวนการติดเชื้อในประเทศไทย ฯลฯ)
สิ่งที่คุณต้องจ่ายด้วยตัวเอง ได้แก่:
  • ค่าทำวีซ่าขาเข้า
  • ค่าเดินทางจากเยอรมนี-ไทยและกลับ
  • ค่าประกันการเดินทาง หรือประกันสุขภาพ
  • ค่าฉีดวัคซีนป้องกันโรคเชื้อโควิด ที่ครบสมบูรณ์ และได้รับการยอมรับ
สิ่งที่ต้องคำนึง เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ เกิดขึ้น ตามข้อกำหนดการเดินทางเข้าประเทศไทย
โครงการนี้จะจัดขึ้นหนึ่งครั้งต่อปี –ช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม สำหรับรอบมิถุนายนถึงสิงหาคม 2566 สามารถสมัครเข้ามาได้จนถึง 31 มกราคม 2566 (อ่านต่อที่ วิธีการสมัคร)
คุณจะต้องเขียนรายงานจำนวนขั้นต่ำ 3 หน้า ซึ่งสามารถส่งได้หลังจากจบโครงการไม่เกิน 2 เดือน

จากประสบการณ์ในปีที่ผ่านๆมา ทำให้เห็นว่า การทำโครงการในระดับนานาชาติทำให้เกิดเครือข่ายใหม่ขึ้นระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี ในฐานะผู้จัดทำโครงการฯ เราจะสนับสนุนเครือข่ายนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย

วิธีการสมัคร

 

โครงการนี้จะจัดขึ้นหนึ่งครั้งต่อปี –ช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม สำหรับรอบมิถุนายนถึงสิงหาคม 2566 สามารถสมัครเข้ามาได้จนถึง 31 มกราคม 2566

เอกสารใบสมัครต่างๆ (motivation letter, CV, ใบรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา) สามารถส่งเข้ามาได้ทางอีเมลของ คุณปรัศนีย์ ศิลปนาวิน รวมไปถึงคำถาม หรือข้อสงสัยต่างๆ


ติดต่อ

นางสาวปรัศนีย์ ศิลปนาวิน
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ/ฝ่ายความร่วมมือทางการศึกษาภาษาเยอรมัน
Tel.: +66 2108 8222
Fax: +66 2108 8299
Prasanee.Sinlapanawin@goethe.de


ภายใต้ความร่วมมือกับ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

Logo Bureau of International Cooperation (BIC) © Bureau of International Cooperation (BIC)