ตำราอาหาร “เพื่อนบ้านใหม่”
มาก “กุ๊ก” มากความ
โทนี โฮห์ลเฟลด์ เชฟคนดังร่วมงานกับพ่อครัวอีก 7 คนที่มาจากประเทศผู้ลี้ภัย และนักวิจารณ์ร้านอาหาร โรแบร์ท โครท ทั้งหมดร่วมกันทำอาหาร ทดลองสิ่งใหม่และพัฒนาสูตรอาหารใหม่ๆ ขึ้น แล้ว “50 สูตรอาหารเพื่อให้เราใกล้กันยิ่งขึ้น” (“50 Rezepte für mehr Miteinander”) ของเชฟคนดังจะเหมาะกับครัวของเรามากเพียงใด นักเขียน อันเดรีย เกห์โวล์ฟจะได้ลองใช้สูตรของเขาทำอาหารร่วมกับแม่ของเธอ มาร์ทินา ครูโรงเรียนอาชีวะที่สอนวิชาการทำอาหารด้วย
เราจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนจากต่างวัฒนธรรมที่มาหาบ้านหลังใหม่ในเยอรมนีและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเขาได้อย่างไร อะไรที่จะเชื่อมโยงเราเข้าหากัน สำหรับนักวิจารณ์อาหารและนักเขียน โรแบร์ท โครทแล้ว คำตอบนั้นอยู่ไม่ไกล “อาหารมีภาษาของตัวเอง อาหารเชื่อมโยงเราได้ จุดประกายความกระหายใคร่รู้และเล่าเรื่องราวได้” และถึงแม้ว่าเราจะกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับเพื่อนๆ และเพื่อนบ้านใหม่ที่เพิ่งรู้จัก แต่อาหารของพวกเขาก็จะยังเผยเรื่องราวไม่น้อยเกี่ยวกับบ้านเกิดและวัฒนธรรมของพวกเขา
ความกระหายในสิ่งใหม่
ฉันและแม่ได้นำเอารสชาติอาหารแบบซีเรียและเนปาลมาสู่ครัวของเรา “การทำอาหารต้องใช้เวลา ความรัก และจินตนาการ” เป็นข้อความจากหนังสือ “Neue Nachbarn Kochbuch” (ตำราอาหารเพื่อนบ้านใหม่) นอกจากนั้น ความสุขที่ได้ทดลองสิ่งใหม่และความอยากรู้นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย โดยเฉพาะในเยอรมนี ที่ซึ่งวัตถุดิบหน้าตาแปลกๆ ไม่ได้หามาได้ง่ายๆแม่ไม่เหมือนกับฉันตรงที่แม่เป็นแม่ครัวที่เก่งมาก เราสองคนชอบที่จะทำอะไรแบบด้นสดเหมือนกัน แม้จะมีแรงบันดาลใจที่ต่างกันก็ตาม แม่เองเป็นคนที่รู้อะไรเยอะ ส่วนฉันก็รู้น้อยกว่ามาก พอเราทำสลัดฟาทูสซึ่งเป็นสลัดแบบอาหรับด้วยกัน เราก็เลยไม่ใส่สิ่งที่ฉันไม่ชอบลงไป นั่นคือมะกอก “ส่วนผสมที่ไม่ปกติอย่างเดียวก็คือใบมินท์ แต่รสเข้มข้นของกระเทียมก็ยังคงเป็นรสที่เด่นอยู่” แม่ออกความเห็น ชับส์ ขนมปังแฟลทเบรดแบบอาหรับนั้นเป็นเครื่องเคียงที่เข้ากันที่สุด แล้วเราจะทำขนมปังนี้เองได้ไหม “โดยหลักแล้วมันเป็นแค่แป้งโดว์หมักยีสต์ที่เอามาจี่บนกระทะโดยไม่ทาน้ำมัน โดยต้องทิ้งไว้ให้แป้งฟูขึ้นเสียก่อน” อย่างไรก็ตาม การที่สูตรไม่ให้ทาไขมันที่กระทะก็ทำให้แม่ของฉันงงมาก และแม่ก็ยังคงทากระทะด้วยกระดาษชุบน้ำมันเล็กน้อยอยู่ดีเพื่อความมั่นใจ แม้ขนมปังจะออกมาหน้าตาไม่เหมือนในหนังสือ แต่ก็รสชาติเยี่ยมทีเดียว
รสชาติสร้างสัมพันธ์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่
โทนี โฮห์ลเฟลด์ กล่าวว่า “การทำอาหารร่วมกันนั้นเหมือนการร่วมเล่นกีฬาเป็นทีม” เขาได้ร่วมกับพ่อครัวอีก 7 คนจากแอลจีเรีย แกมเบีย อิหร่าน ซูดาน ซีเรีย เนปาลและปากีสถาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเพณีร่วมกัน ทั้งหมดต่างก็เป็นพ่อครัวและเชฟมืออาชีพในบ้านเกิดของตนก่อนที่จะลี้ภัยมาเยอรมนี นักเขียนหนังสือเล่มนี้ไปพบพวกเขาเข้าที่ศูนย์ชุมชนในโบสถ์ โรงเรียนและแคมป์ผู้ลี้ภัย ทุกคนต่างตื่นเต้นอยากร่วมโครงการนี้ในทันที่ได้ฟังเรื่องราวในขณะที่ทำอาหารร่วมกับพวกเขา โทนี โฮห์ลเฟลด์เปิดรับแรงบันดาลใจจากพวกเขาและร่วมกันสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมอาหารให้รุ่มรวยยิ่งขึ้น เราได้ลองทำตามสูตรหนึ่ง โดยการเปิดรับสิ่งแปลกใหม่และในขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นใจความรู้สึกและประสาทรับรสของตนเอง แทนที่แม่จะใช้น้ำเชื่อมรสทับทิม แม่ของฉันเลือกใช้แยมราสเบอรีที่ทำเองผสมในบาบา กานุช (ครีมมะเขือม่วง) แทน มีความเป็นอาหารซีเรียนิดๆ เยอรมันหน่อยๆ
แตกต่างแต่คุ้นเคย
โดยรวมแล้ว สูตรอาหารในหนังสือ “Neue Nachbarn Kochbuch” (ตำราอาหารเพื่อนบ้านใหม่) นั้นไม่ได้มีความแปลกแตกต่างมากอย่างที่หลายคนคิด แม้บางสูตรจะมีขั้นตอนการทำที่นำเอาวัตถุดิบพิเศษมาผสมกับส่วนผสมที่น่าตื่นเต้นก็ตาม เช่น การใส่แครอทในขนม ซึ่งเป็นการค้นพบที่น่าทึ่งมาก อีกทั้งยังมีที่ว่างให้เราได้ลองตีความเอาเอง เช่น การใช้ลูกแครนเบอรีแห้งมาใส่แทนลูกพรุนและลูกเกดแห้ง ใช้เนื้อมะม่วงสดใส่แทนมะม่วงบดที่หาไม่ได้จากร้านค้าเอเชียใกล้บ้าน และแทนที่จะใช้ลูกกระวานถึง 25 กรัม เราก็ใช้เพียงหนึ่งในสิบส่วน เป็นต้น และเนื่องจากบางบ้านอาจไม่มีพิมพ์เค้กรูปวงกลมสำหรับทำให้เค้กได้รูปสวยงาม เราจึงเทส่วนผสมลงไปในโถแยมขนาดเล็กแทน แม้เราจะดัดแปลงสูตรเค้กแครอทสไตล์เนปาล “กาจาร์ ฮัลวา” ไปบ้าง แต่มันก็ยังอร่อยสุดๆ แถมยังหน้าตาดีมากเลยทีเดียวสูตรอาหารที่คัดสรรค์มานั้นมีความยืดหยุ่นและปริมาณอาหารก็เหลือเฟือ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดหวังได้จากอาหารของเชฟดังๆ บ้านเรา วิธีการทำที่บรรยายที่นำเสนอในหนังสือนั้นชัดเจนและเข้าใจง่าย รูปภาพกระตุ้นความอยากอาหารได้เป็นอย่างดี เหล่าพ่อครัวและอาหารประจำชาติของพวกเขานั้นถูกนำเสนอคู่กันเป็นภาพถ่ายของแต่ละคน นับเป็นการเดินทางสำรวจทางอาหารที่มาพร้อมกับตำราอาหารที่ออกแบบไว้อย่างลงตัว นอกจากนั้น กำไรจากการขายหนังสือเล่มนี้ยังมอบให้กับองค์การไม่แสวงหาผลกำไร HELDEN e.V เพื่อสนับสนุนโครงการ HAPPY BOX ของผู้ลี้ภัยอีกด้วย