ขับรถ VW Bulli เข้าห้างสรรพสินค้า ย้อนมองประวัติศาสตร์
10 ปีของกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจร

เยอรมัน (ส์) สัญจรในปี 2555
เยอรมัน (ส์) สัญจรในปี 2555 | ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

ในปี 2554 ทีมงานทั้งสี่คนของสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ ได้ร่วมนั่งรถออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจเกี่ยวกับภาษาเยอรมันให้กับนักเรียนไทยเป็นครั้งแรก ผู้ร่วมงานทั้งสามคนได้บรรยายประสบการณ์เริ่มแรกและพูดถึงอนาคตของการเรียนภาษาเยอรมัน

ไอเดียแรกเริ่มของเยอรมัน (ส์) สัญจรมีที่มาที่ไปอย่างไร
 
ทีโม โคสโลวสกี: ผมได้ทำงานในสถาบันเกอเธ่เป็นเวลากว่า 16 ปี และได้เป็นผู้ดูแล โครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต PASCH ตั้งแต่ปี 2551 ในขณะนั้นเราได้สังเกตเห็นว่า มีนักเรียนที่เลือกเรียนภาษาเยอรมันในโรงเรียนน้อยลงทุกปี ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะให้นักเรียนไทยสนใจเรียนภาษาเยอรมันมากขึ้น
 
แนวความคิดเกี่ยวกับกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรมาจากเพื่อนร่วมงานจากเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยเราได้นำแนวความคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยเราต้องการจัดโชว์ที่ทั้งสนุกและให้ความรู้เกี่ยวประเทศเยอรมนี พร้อมกับจัดคอร์สทดลองเรียนภาษา หลายคนมักคิดว่าเยอรมันเป็นภาษาที่เรียนยาก เราจึงจัดคอร์สทดลองเรียนภาษาเพื่อขจัดความคิดดังกล่าวและชี้ให้เห็นว่า เราสามารถพูดแนะนำตัวเองและถามชื่อของคนอื่นเป็นภาษาเยอรมันได้ภายในเวลาเพียงสิบห้านาที
 
คุณมีความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรครั้งแรกอย่างไรบ้าง
 
ทีโม: ตอนนั้นเรายังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินกิจกรรมและเริ่มจัดกิจกรรมในตอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในขอนแก่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยติดต่อให้เราไปทำกิจกรรมที่นั่น โดยเราได้ทำสื่อการสอนแทบทั้งหมดด้วยตัวเอง พวกเราเหล่าทีมงานทั้งสี่คนได้เช่ารถ แพ็คอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าไปในรถและขับรถไปขอนแก่นเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
 
แพรวศุลี นิโครธานนท์ (แป้ง) ฉันยังจำความรู้สึกในการทำกิจกรรมครั้งแรกเริ่มได้ดี ตอนนั้นฉันรู้สึกเครียดมากว่า อุปกรณ์ทั้งหมดที่เตรียมมาจะมีที่พอในรถหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็มีที่พอ เรานำอุปกรณ์ต่างๆ ใส่เข้าไปในรถได้เช่น กล่อง กระเป๋าเดินทาง ขาตั้งเหล็ก โต๊ะ แผนที่ประเทศ ตุ๊กตากระดาษ ชุดเครื่องเสียง พัดลม โทรโข่ง หรือแม้แต่เต๊นจัดกิจกรรม
 
เราได้รับการต้อนรับจากเหล่าคุณครูในโรงเรียนอย่างดีมาก ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก แต่เราก็ได้จัดโชว์ครั้งแรกให้กับนักเรียนถึง 150 คน และในวันเดียวกัน เราก็ยังจัดโชว์ต่ออีกหนึ่งโชว์ให้กับผู้เข้าร่วมเกือบ 400 คน ถือเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและทุกคนได้ให้ความร่วมมือทำกิจกรรมอย่างดีมากเลย ถือเป็นช่างเวลาที่น่าประทับใจจริงๆ ค่ะ
 
กิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรได้พัฒนาต่อไปอย่างไรบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
ทีโม: เยอรมัน (ส์) สัญจรได้พิสูจน์ตัวเองตั้งแต่เริ่มแรกว่า เป็นรูปแบบกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จ โดยเราได้ใช้ประสบการณ์ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งในการปรับพัฒนาทั้งตัวโปรแกรมและสื่อการสอนให้ดีขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่ารถที่เราใช้เดินทางควรจะเป็นตัวประชาสัมพันธ์ประเทศเยอรมนีด้วยตัวของมันเอง และผู้สนับสนุนจาก Volkswagen ก็เป็นผู้ให้เราใช้รถรุ่น VW Bulli ในช่วงปีแรกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

  • สื่อพิมพ์ฉบับแรกของเยอรมัน (ส์) สัญจร ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    สื่อพิมพ์ฉบับแรกของเยอรมัน (ส์) สัญจร
  • โชว์แรกในกรุงเทพ ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    โชว์แรกในกรุงเทพ
  • เยอรมัน (ส์) สัญจรในปี 2555 ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    เยอรมัน (ส์) สัญจรในปี 2555
  • คอร์สเรียนภาษาเยอรมันเบื้องต้น ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    คอร์สเรียนภาษาเยอรมันเบื้องต้น
  • ร่วมกับรถรุ่น VW Bulli ในห้างสรรพสินค้า ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © ทิโม โคสโลวสกี I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    ร่วมกับรถรุ่น VW Bulli ในห้างสรรพสินค้า
  • ผลิตภัณฑ์จากเยอรมนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์และลิคสไทน์ ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © แพรวศุลี นิโครธานนท์ I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    ผลิตภัณฑ์จากเยอรมนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์และลิคสไทน์
  • เยอรมัน (ส์) สัญจรในภาคกลาง ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย ชมรมถ่ายภาพโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์
    เยอรมัน (ส์) สัญจรในภาคกลาง
  • การเตะบอลเข้าโกลก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © แพรวศุลี นิโครธานนท์ I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    การเตะบอลเข้าโกลก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม
  • เรื่องเล่าของพี่น้องกริมม์ ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย ชมรมถ่ายภาพโรงเรียนแก่นนคร
    เรื่องเล่าของพี่น้องกริมม์
  • กิจกรรมแยกขยะ การพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นหัวข้อหลักในเยอรมัน (ส์) สัญจร ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย: © แพรวศุลี นิโครธานนท์ I สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    กิจกรรมแยกขยะ การพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นหัวข้อหลักในเยอรมัน (ส์) สัญจร

วิกฤตการณ์โรคระบาดได้ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรอย่างไร 

แป้ง: วิกฤตการณ์โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานทั้งหมด ด้วยเหตุที่เราไม่สามารถจัดกิจกรรมในโรงเรียนต่างๆ ได้เลยในช่วงแรก ทำให้เราได้คิดค้นพัฒนากิจกรรมแบบออนไลน์ เช่น กิจกรรมสร้างความท้าทายของโครงการเกอเธ่รักษ์สิ่งแวดล้อมผ่าน TikTok กิจกรรมเขียนไดอารี่ออนไลน์กับโครงการเกอเธ่รักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการจัดการแข่งขันความสามารถภาษาเยอรมันในระดับนานาชาติแบบดิจิตอล เราได้เรียนรู้ที่จะเข้าถึงกลุ่มนักเรียนในรูปแบบต่างๆ

คุณคิดว่าทัศนคติของผู้เรียนภาษาเยอรมันในโรงเรียนได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คุณคิดว่าการเรียนภาษาเยอรมันในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต  

ปรัศนีย์ ศิลปนาวิน (เหมียว): การเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยได้ปรับให้มีความทันสมัยขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครูผู้สอนหลายคนได้ปลดเกษียณ และด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการศึกษาทำให้เราได้มีครูผู้สอนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการการศึกษาเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จำนวนผู้เรียนภาษาเยอรมันในโรงเรียนแห่งใหม่จึงเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ในช่วงนั้นครูผู้สอนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเยอรมัน เราในฐานะบุคลากรของสถาบันเกอเธ่จึงสนับสนุนด้านการพัฒนาการศึกษาของครูผู้สอนอย่างเต็มที่ 

แป้ง: การพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในรูปแบบต่างๆ ทำให้การแข่งขันการเรียนภาษากับภาษาอื่นๆ มีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้คนต่างให้ความสนใจกับสื่อกระแสนิยมจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกทั้งในรูปแบบของภาพยนตร์ ดนตรีหรือการ์ตูนมากขึ้น และทำให้ความสนใจทางภาษาของประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นหลายคนก็สามารถศึกษาหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเกี่ยวกับวัฒนธรรมเยอรมันและข้อดีของการเรียนภาษาเยอรมัน 

เหมียว: ภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศได้ขยายตัวในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ผู้เรียนภาษาเยอรมันไม่เพียงแต่จะสามารถเลือกเรียนภาษาเป็นวิชาหลัก หากแต่ยังสามารถเลือกเป็นวิชารองหรือวิชาที่ตัวเองสนใจในโรงเรียนได้ ความร่วมมือระหว่างสถาบันเกอเธ่และหน่วยงานในประเทศเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือสมาคมครูภาษาเยอรมันในประเทศไทย จะทำให้การเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยมีการพัฒนาการต่อไปอย่างแน่นอน การเรียนการสอนภาษาเยอรมันยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปอย่างมาก 
 
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณประทับใจมากที่สุด

แป้ง: กิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรทำให้ผู้ร่วมงานคนหนึ่งจากแผนกวัฒนธรรมของสถาบันเกอเธ่ กรงเทพ ตัดสินใจเลือกเรียนภาษาเยอรมันในระหว่างที่กำลังเรียนในโรงเรียนอยู่ เธอได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมเยอรมันผ่านเยอรมัน (ส์) สัญจรและท้ายที่สุดก็ได้ทำงานในสถาบันเกอเธ่ สิ่งนี้ถือเป็นสื่งที่สร้างความประทับใจให้กับตัวฉันเองมากที่สุด

ทีโม: ความทรงจำที่ผมไม่มีวันลืมได้นั้นเป็นช่วงที่ หอการค้าจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ โดยได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศเยอรมนีในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพ สถาบันเกอเธ่ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรในงาน หนึ่งความทรงจำที่ผมประทับใจมากที่สุดคือ การที่ผมได้ขับรถรุ่น VW Bulli เข้าไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อจัดเตรียมงาน ตอนที่ประตูกระจกเปิดออกนั้น ผมมีที่ระหว่างกระจกรถที่ปิดแนบตัวรถทั้งซ้ายและขวาในระหว่างที่ขับเข้าไปเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แล้วก็ได้ค่อยๆ ขับผ่านกระจกแสดงสินค้าแสนแพงไปอย่างช้าๆ ข้างในห้าง ผมไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนเลยจริงๆ เยอรมัน (ส์) สัญจรทำให้เราได้เรียนรู้การขับรถไปยังที่ต่างๆ รวมถึงสถานที่ที่เราไม่คาดฝันอีกด้วย
 

ผู้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนา

ปรัศนีย์ ศิลปนาวิน (เหมียว) ผู้ดูแลโครงการเยอรมัน (ส์) สัญจรของทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความร่วมมือทางการศึกษา ด้านภาษาเยอรมันของสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ

แพรวศุลี นิโครธานนท์ (แป้ง) ครูสอนภาษาเยอรมันในสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2552 และทำงานร่วมกับคุณปรัศนีย์ ศิลปนาวิน ในการดำเนินกิจกรรมเยอรมัน (ส์) สัญจรในประเทศไทย

ทิโม โคสโลวสกี เคยเป็นผู้ดูแล โครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต PASCH เป็นเวลากว่า 16 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาแผนกภาษาในศูนย์หลักของสถาบันเกอเธ่ในมิวนิค