อีโมจิ
อีโมจิพลิกการสื่อสาร

อีโมจิรูปแบบต่างๆ
อีโมจิรูปแบบต่างๆ | © DigiClack - Fotolia.com

ในอีเมล์ ข้อความแชทและแมสเซ็นเจอร์ สัญลักษณ์ภาพมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน มาดูกันว่าชาวเยอรมันชอบใช้อีโมจิตัวไหนและอีโมจิมีผลต่อภาษาของเราอย่างไร

ชาวเยอรมันเริ่มกังวลเกี่ยวกับภาษาของตน โยฮันนา อดอร์ยาน ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งตั้งคำถามในหนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 ว่าทำไมการเขียนในชีวิตประจำวันของเราถึงแทบจะขาดอีโมจิไม่ได้เลย ในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก WhatsApp หรือ SMS เกิดการผสมระหว่างข้อความ สัญลักษณ์ใบหน้าและสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย เราลืมวิธีสื่อสารโดยคำพูดไปแล้วหรือเราจะส่งความข้อความอย่างมั่นใจได้เฉพาะตอนที่เราประดับข้อความด้วยรูปภาพเท่านั้นหรือ
 
เรากำลังพูดถึงอีโมจิ (ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าอักษรภาพ) ซึ่งเป็นรูปภาพเล็กๆ เป็นรูปใบหน้า มือ เครื่องบิน อาหาร ตัวเลือกอีโมจิจะมีให้เลือกมากขึ้นๆ ทุกปี ตอนนี้บทบาทของอีโมจิในการสื่อสารประจำวันมีมากขึ้นจนต้องถามว่า “เราใช้มันทำอะไรกันแน่” มันเป็นภาษาใหม่หรือเป็นอักษรเฮียโรกราฟฟิคแบบใหม่ที่สามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องมีตัวอักษรเลยหรือไม่
 
“เรากำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ”  มิชาเอล ไบซ์เวงเงอร์ นักภาษาศาสตร์กล่าว เขาศึกษาการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตมาหลายปี     มิชาเอลมองว่าอักษรภาพเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงของการใช้ข้อความ “การสนทนาออนไลน์เริ่มใกล้จะเหมือนการพูดคุยตัวต่อตัวเข้าไปทุกที ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการพูดและการเขียนเพราะในข้อความไม่มีสีหน้าและท่าทาง ซึ่งเราพยายามทดแทนด้วยการใช้อีโมจิ”
 
  Commicconexions

อีโมจิทำให้บทสนทนามีรสชาติ
 
ไบซ์เวงเงอร์ไม่รู้สึกแปลกใจที่ผู้คนโดยเฉพาะในเยอรมนีจะวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ “เพราะผู้คนชอบวิจารณ์เรื่องความวิบัติของภาษากันมาหลายทศวรรษแล้ว” แต่ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องกังวลเรื่องนี้ “ภาษาไม่ใช่หน่วยนามธรรมที่คนใช้ภาษาอย่างเราต้องรับผิดชอบเรื่องคุณภาพ แต่มันมีอยู่เพื่อรับใช้ผู้พูด” การคิดว่าภาษาเปลี่ยนไปจนมีประสิทธิภาพน้อยลงกว่าแต่ก่อนเป็นเรื่องไร้สาระ ตามความเห็นของนักภาษาศาสตร์อย่างไบซ์เวงเงอร์แล้ว มันกลับ “ตรงกันข้ามเสียอีก” อีโมจิทำให้การสนทนาดิจิทัลมีความรุ่มรวยมากขึ้น เพราะมันทำให้ตัวอักษรมีการตอบสนองต่อกันมากขึ้น การที่คนเราใช้อักษรภาพเพื่อจุดประสงค์นี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นความคิดที่เก่าแก่พอๆ กับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว
 
กำเนิด Smiley

เมื่อมนุษย์เริ่มติดต่อกันด้วยช่องทางออนไลน์ในต้นทศวรรษที่ 1980 พวกเขาก็สังเกตเห็นปัญหาในการแยกแยะว่าข้อความใดล้อเล่น ข้อความใดจริงจัง สก็อต ฟาลมันน์ นักสารสนเทศชาวสหรัฐจึงพบทางแก้ คือการใส่รูปหน้ายิ้มไว้ด้านข้าง อันประกอบด้วยจุดสองจุด เส้นขีดกลางและวงเล็บเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ขันหรือการล้อเล่น Smiley ที่มีชื่อเสียงจึงเป็นอีโมติคอนรุ่นแรก ใบหน้าที่ประกอบจากสัญลักษณ์ต่างๆ จะใช้แทนอารมณ์ในแต่ละรูปแบบเฉพาะตัว ดังนั้นคำว่า Emotion และ Icon เมื่อนำมารวมกันจึงได้เป็นคำว่า Emoticon (อีโมติคอน)
 
นอกจากอีโมติคอนยังมีอีโมจิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกจำนวนออกไปมากกว่าแค่สัญลักษณ์ใบหน้า อีโมจิถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 โดยวิศวกรซอฟท์แวร์ชาวญี่ปุ่นเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดใจสำหรับวัยรุ่นที่ใช้เพจเจอร์ส่งข้อความ เขาสร้างรูปภาพพิกเซล 176 รูปซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมมังงะและการประดิษฐ์ตัวอักษร ตัวอย่างเช่น รูปปากจูบและรูปหลอดไฟ ในปี 2010 สัญลักษณ์นี้ถูกบรรจุไว้ใน Unicode ซึ่งเป็นตัวอักษรมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก ทำให้เกิดการสื่อสารที่ไม่จำกัดเวทีและเครื่องมือ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อีโมจิก็ปรากฎมากขึ้นใน ห้องแชท อีเมลและฟอรั่มออนไลน์มาโดยตลอด แม้แต่ในบริษัทโฆษณา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ยังทดลองใช้สัญลักษณ์ใหม่ๆ เหล่านี้
 
ความชอบที่ต่างกันของแต่ละประเทศ

สำหรับมิชาเอล ไบซ์เวงเงอร์แล้ว อีโมจิถือเป็นหัวข้อศึกษาที่น่าสนใจ เขาเป็นนักภาษาศาสตร์ผู้เป็นสมาชิกโครงการ Whats up, Deutschland? (เป็นไงบ้างเยอรมนี?) โดยการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเมืองดอร์ทมุนท์นี้มุ่งศึกษาการใช้อีโมจิในบริการส่งข้อความสั้นอย่าง Whats Appคาดว่าผลการวิจัยช่วงแรกจะสรุปได้ในช่วงต้นปี 2016
 
แต่ตอนนี้มีการวิจัยของ Swiftkey ซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์จากอังกฤษ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2015 นักพัฒนาแอพแป้นพิมพ์สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ตีพิมพ์ผลการใช้อีโมจิของผู้ใช้กว่าหนึ่งล้านคนจาก 16 ประเทศ สื่อชี้ว่าข้อมูลนี้คือรายงานการใช้อีโมจิฉบับแรกของโลกที่แสดงให้เห็นถึงความชอบในแต่ละประเทศ แม้ว่าจะมีช่องว่างให้ตีความอยู่บ้างจากการวิเคราะห์ของ Swiftkey ชาวเยอรมัน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ จะส่งอีโมจิที่เป็นแง่บวก คือรูปหน้าหัวเราะมากที่สุด อันดับต่อมาคือรูปหัวใจหลากหลายรูปแบบและรูปใบหน้าเศร้า ส่วนอันดับรั้งท้ายที่ชาวเยอรมันชอบส่งคือรูปปรบมือหรือสัญลักษณ์สันติภาพ ผู้ใช้ชาวเยอรมันและฝรั่งเศสอยู่ในอันดับท้ายๆ ของผู้ใช้ไอคอนรูปเงินสำหรับสัญลักษณ์รูปสัตว์ในตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชาวเยอรมันยังชอบส่งรูปหนูมากที่สุด แต่ผลการวิจัยเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง นักข่าวเยอรมันถามติดตลกว่าเราเป็นแค่คนขี้เบื่อที่อารมณ์ดีหรือเปล่า
 
แต่มิชาเอล ไบซ์เวงเงอร์กลับจริงจังกับผลการศึกษาของ Swiftkey มาก “แน่นอนว่าต้องมีการวิเคราะห์ต่อไปอีก” หากต้องการรู้ว่าข้อมูลเหล่านี้หมายความว่าอย่างไรก็ต้องวิเคราะห์บริบทในการใช้อีโมจิ “อีโมจิจะมีศักยภาพเต็มเปี่ยมที่สุดเมื่อใช้คู่กับการแสดงออกทางภาษาในการพูดคุยแบบดิจิทัล”