ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

เขียนโดยอันโทน เรเก็นแบร์ก
สยามแสนสุข ... วันวาร(ของผม)ที่สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ

 ในช่วง 35 ปีของการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มีครั้งหนึ่งครั้งเดียวที่แผนกบุคคลของสถาบันเกอเธ่ สำนักงานใหญ่ที่เยอรมนี เสนอเมืองสองเมืองให้ผมเลือกออกไปประจำการ: นครเซาเปาโลหรือกรุงเทพฯ นั่นเป็นข้อเลือกที่ไม่ยากเลยสำหรับผม ดังนั้น ผมจึงได้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ในกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลานานเกือบสิบปี (ค.ศ. 1969-1978 / พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2521) ตามด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมมากรุงเทพฯ โดยย้ายจาก สาธารณรัฐอาหรับกามาลอับเดลนัสเซอร์ - ไม่ช้าต้องกลับมาใช้ชื่อว่าอียิปต์ - ซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างอึกทึก มาสู่ประเทศที่ค่อนข้างเงียบสงบ ในประเทศที่แม่บ้านและคนงานค่อย ๆ ย่องเดินกันเบา ๆ บนพื้นไม้สัก ในประเทศที่นักเรียนคลานเข่าเข้าไปหาอาจารย์ ในประเทศที่ประเพณี สิทธิทางวัฒนธรรม และอภิสิทธิ์ต่างๆ ขึ้นอยู่กับระบบค่านิยมของดินแดนนั้น วันเวลาผ่านไปพักใหญ่เลยก่อนที่ผมจะเริ่มรู้สึกสงสัยในแบบฉบับเดิม ๆ บางอย่างของสยามแสนสุข ใบหน้าคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ชาวนาผู้อดทนไถนาตามคำขวัญ "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" เยาวชนคนหนุ่มสาวผู้เคารพตรีเอกภาพของชาติศาสน์กษัตริย์แต่โดยดี แบบฉบับเดิม ๆ ที่บดบังความจริงในชีวิตที่เป็นอยู่ ความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อในประเทศ แค่ในเก้าเดือนแรกของปี พ.ศ. 2516  (ค.ศ. 1973) ก็มีการนัดหยุดงานในไทยไปแล้วมากกว่า 800 ครั้ง ข้าวสารแพงขึ้นเป็นสองเท่าตัว จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
แน่นอน ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในชั่วโมงสนทนาภาษาเยอรมันที่ผมเป็นผู้สอน ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท นักการทูตในอนาคต ศิลปิน และคนทำงาน มาเข้าเรียน ส่วนใหญ่นั่งรถเมล์มาบางลำภู ด้วยสถาบันเกอเธ่ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ บางคนต้องใช้เวลาเดินทางนานถึงสองชั่วโมง ในห้องสนทนา พวกเขาตั้งประเด็นกันขึ้นมาเอง เช่น รถติดสาหัส สาเหตุจากอะไร? ถนนยางมะตอยแทนคลอง จะเอาไหม? ตึกระฟ้าขึ้นมาแทนที่บ้านไม้? พฤติกรรมของมนุษย์มีมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากการเรียนรู้  ทฤษฎีของดาร์วินแย้งกับลัทธิมาร์กซ์ คนเมืองทิ้งกรุงไปอยู่บ้านนอก-คนบ้านนอกทิ้งนาไปอยู่กรุง การค้าฝิ่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง โสเภณี ไปจนถึงการท่องเที่ยวทางเพศ โดยในชั่วโมงเรียน นักเรียนได้ฝึกเกมคำศัพท์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เก็บเกี่ยวความรู้ สะท้อนความเข้าใจ และแน่นอน มีการเปรียบเทียบ อุปมานระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์ มนุษย์ผู้สร้างแห่งโลกตะวันตกกับมนุษย์โฮโมเซเปี้ยน (มนุษย์หิน) แห่งโลกตะวันออก ผู้เข้าเรียนหลายคนตั้งคำถามถึงการที่คนในประเทศตะวันตกยึดติดค่านิยมทางวัตถุ มีการวิเคราะห์คำสำคัญเช่น ไม่เป็นไร, เกรงใจ, สนุก และสบายใจ เพื่อค้นหาความหมายเชิงสังคม คำเหล่านี้ยังคงเป็นหลักให้คนไทยได้ยึดถือ เพื่อใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสมดุลอย่างที่เป็นมาตลอดหลายศตวรรษหรือไม่? การปกครองร่วมกัน ระหว่างพลเรือนกับกองทัพที่ค่อนข้างไปด้วยกันได้ ก่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่มีรูปแบบพิเศษน่าประหลาดใจ  แต่ขนบเหล่านี้จะใช้พึ่งพาได้นานแค่ไหน เราควรเดินตามขนบเหล่านี้หรือไม่? สำหรับผมแล้ว มันเป็นช่วงเวลาของกระบวนการเรียนรู้ที่ยาวนาน ... สี่ปีต่อมา ในช่วงระหว่างวันที่ 6 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) เยาวชนไทยได้สร้างอนุสรณ์ให้กับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขาอย่างน่าทึ่ง ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืมเลือน เมื่อนักศึกษา 100,000 คน มาชุมนุมประท้วงที่ลานหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516  มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เอาหนังสือพิมพ์เก่า ๆ จากห้องสมุดของเรามาทำที่คลุมหัวบังแดด เป็นผลพลอยให้นสพ. เยอรมัน อย่างเช่น Die Zeit (ดี ไซท์), Die FAZ (ดี เอฟอาแซ่ด), Die Süddeutsche (ดี ซืดด๊อยเชอ), Der Spiegel (แดร์ ชปีเกิล) ได้รับการยกย่องในหมู่ปัญญาชนอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
ความกล้าหาญที่ต้องจดจำของ "หน่วยเสือเหลือง (และฟันเฟือง)" ซึ่งส่วนใหญ่เป็น นักเรียนอาชีวะช่างกลช่างก่อสร้างจากวิทยาลัยเทคนิคที่พร้อมกันคาดหน้าผากด้วยเชือกสีเหลืองส้ม พากันเดินขบวนประจันหน้ากับกระสุนปืนไรเฟิลของหน่วยแม่นปืนราว 600 นาย รถถังอีก 50 คัน ทั้งๆที่พวกเขามีแค่ก้อนหิน ไม้คมแฝก กับระเบิดขวดสองสามขวดติดมือเป็นอาวุธ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถต่อสู้กับรถถังยานเกราะได้ แต่ในหลวงรัชกาลที่เก้าอยู่ข้างพวกเขา พระองค์ท่านทรงเข้ามายุติความขัดแย้ง จอมพลผู้กุมอำนาจรัฐบาลจึงยอมลาออกและได้หนีออกนอกประเทศไป ต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป

ฤดูประชาธิปไตยผลิบานในประเทศไทยกินเวลาสามปี เป็นเวลาที่ดอกไม้ในฝันเบ่งบานในใจ แล้วทันใด วรรณกรรมหนุ่มสาวของไทยที่ผมถามหาอยู่บ่อย ๆ ก็เผยตัวออกมา อย่างเช่น ผลงานรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น”  จากชาวนาผู้ผันตัวเป็นนักเขียน คำสิงห์ ศรีนอก ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Politician and Other Stories เพื่ออุทิศให้กับ "ถึงแม่ของฉันที่อ่านหนังสือไม่ออก" รวมเรื่องราวที่เล่าถึงชีวิตในชนบทด้วยโวหารเสียดสี รสชาติขมขื่น อดทนสู้ไม่ยอมเสียน้ำตา ไปจนถึงนิทานชาวบ้าน เราเคยสบโอกาสไปเยี่ยมคำสิงห์ที่บ้านด้วย  แล้วก็ยังมีวรรณกรรมเรื่องสั้นของศิลปินนักเขียน สุวรรณี สุคนธา ผู้กำลังได้รับการยกย่องว่าเป็น Françoise Sagan ของเมืองไทย อีกทั้งเพ็ญศรี เคียงศิริ นักประพันธ์หญิงผู้เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนานและใส่ใจกระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากชีวิตวัยเด็กของเธอที่ภาคใต้ของประเทศไทย แล้วเธอก็ยังเขียนบทภาพยนตร์สั้นและบทละครโทรทัศน์ แต่งบทกวีและบทเพลงประท้วงเพื่อสังคมด้วย งานสร้างสรรค์สาขาภาพยนตร์ก็สำแดงนัยเสียดสีในการตีแผ่ความจริง ด้วยเนื้อหาบนประเด็นการค้าประเวณีในกรุงเทพเมืองสวรรค์ (The Angel) หรือไม่ก็เรื่องราวของครูใหญ่ในโรงเรียนชนบท (ครูบ้านนอก) ซึ่งตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมทุจริตในสังคมไทย ขณะที่วรรณกรรมของกอร์กี้และเบรคชท์ ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งกลุ่มละครร่วมสมัย พระจันทร์เสี้ยวการละคร จากเชียงใหม่ ได้นำบทละครสั้น "ข้อยกเว้นและกฎเณฑ์” (Die Ausnahme und die Regel / The Exception and the Rule) ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ละครบทเรียน” ของ แบร์โทลท์ เบรคชท์ มารังสรรค์เป็นละครรำไทย (ลิเก) แล้วนำไปแสดงที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านโดยให้ บรูซ แกสตัน แต่งเพลงลิเก ส่วนชูโชค กับ วอล์ฟรัม แมห์ริง ขึ้นเวที พวกเขายังได้รับเชิญไปแสดงที่สิงคโปร์กับฮ่องกง และในฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) ก็ไปแสดง ในเทศกาลดนตรี Metamusikfestival ครั้งที่ 3 ที่เบอร์ลิน ทั่วทุกหนแห่งของประเทศไทยคนหนุ่มสาวเปี่ยมด้วยศรัทธาอันแรงกล้า อุทิศยอมตน แบกความหวังการเปลี่ยนแปลง พวกเขาใช้เสรีภาพที่ต่อสู้ได้มา ทุ่มตัวมุ่งมั่นในอุดมการณ์ ละเว้นอนาคตทางการศึกษาและอาชีพการงาน เพื่อก้าวหาปวงชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงผู้ใช้แรงงานในโรงงาน เพื่อให้ข้อมูล สร้างการเรียนรู้ ขุดต้นตอของปัญหา - เพียงเพื่อเรียนรู้สัจธรรมความจริงที่ว่า ท้องต้องอิ่มก่อน แล้วศีลธรรมจะตามมา ชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ รู้ดีว่าอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้ตกอยู่ในมือใคร ชาวบ้านถูกคุกคามจากการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง ถูกซื้อตัวด้วยเล่ห์และเงินตรา ชาวบ้านจึงไม่อาจทำอย่างที่คนหนุ่มสาว พร่ำบอกได้ ในขณะเดียวกัน ที่สถาบันเกอเธ่ คอร์สเรียนภาษาเยอรมันยังคงดำเนินต่อไป แม้ต้องจัดชั้นเรียนเพิ่มเติมอีกแปดชั้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ ในห้องสมุดนักเรียนและนักการเมือง ก้มหน้าอ่านรัฐธรรมนูญเยอรมันและกฎหมายการเลือกตั้งของเยอรมัน พร้อมกันนั้นฮานส์-กึนเทอร์ มอมเมอร์ (Hans-Günther Mommer) ก็มุ่งซ้อมดนตรีกับวง Pro Musica Orchestra (ม.ล อัศนีย์ ปราโมช หัวหน้าวง ผู้จัดคอนเสิร์ต) อยู่ในหอแสดงงานของสถาบันฯ ขณะที่เด็ก ๆ เตรียมตัวทาสีรั้วกำแพงสถาบันให้เป็นสีขาว ผนังกำแพงมีความกว้าง 1.50 เมตร จำนวน 20 ผนัง ซึ่งอาจกลายเป็นงานศิลปะเล็ก ๆ  เด็กๆ 60 คน กำลังทาสีอย่างขะมักเขม้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ทำการบันทึกเทป "Let's paint the wall" เพื่อนำไปออกอากาศในรายการทีวีตอนเย็น ในประเทศไทยหนังสือเด็กยังมีไม่มาก เราเชิญนักแต่งหนังสือสำหรับเด็กและนักวาดภาพประกอบมาจากเยอรมนี แล้วจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้ง กิจกรรมสังสรรค์ทั้งหลายที่เราจัดขึ้นมา ทำให้สถาบันเกอเธ่กลายเป็นสถานที่แห่งการพบปะทักทาย การให้ และการรับ หัวข้องานแต่ละกิจกรรมก็แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่การพบทำความรู้จักกับศิลปิน (คนไทยชอบหัวเราะ นักเขียนการ์ตูนจึงเป็นที่ชื่นชอบ) การพบปะกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมเจ้าชายผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ การพบกับวิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินเชิญไปร่วม ไปจนถึงเข้าพบพระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ท่านเจ้าอาวาสวัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี พระสงฆ์ผู้ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้หลุดพันจากวัฏจักรนรกของการเสพยาเสพติด ด้วยการบำบัดถอนพิษยาและฟื้นฟูจิตใจจนเลิกได้และไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก ด้านเยอรมนี สมาคมเยอรมัน - ไทยในกรุงบอนน์ (DTG) จับมือกับเราจัดนิทรรศการภาพวาดและภาพกราฟิกโดยศิลปินไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งตระเวนไปแสดงในหกเมืองของเยอรมนีเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย เราเชื้อเชิญคุณประทีป อึ้งทรงธรรม อาจารย์หญิงผู้ก่อตั้งโรงเรียนให้แก่ "เด็กไม่มีทะเบียน" (เด็กที่ไม่มีสูติบัตรรับรองการเกิดจากราชการ) ในพื้นที่สลัมคลองเตย เราสนับสนุนครูประทีปด้านคำแนะนำและบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอน กระดานดำ ชอล์ค สมุดนักเรียน ดินสอสี และกึนเทอร์ กราสก็ไปเยี่ยมโรงเรียนที่คลองเตยด้วย ขณะที่ องค์การเพื่อมนุษยชน แตร์ เด ซอม เยอรมนี (Terre des Hommes) บริจาคนมถั่วเหลืองให้เด็ก ๆ เป็นเวลาหนึ่งปี
 
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ประชาธิปไตยของไทยที่ค่อนข้างอ่อนแอก็ต้องพบจุดจบอีกครั้ง (มันจะเป็นครั้งสุดท้ายหรือเปล่า?) กับการสังหารหมู่นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถานที่จุดชนวนการต่อต้าน ที่นำไปสู่ความล่มสลายของเผด็จการทหารเมื่อสามปีก่อนหน้า สามทรราชย์ผู้เคยกดขี่ข่มเหงประชาชนแอบเดินทางกลับเข้ามาในไทยจนได้ และสำเร็จผลในการสร้างความแตกแยกระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยกับนักเรียนอาชีวศึกษา
"เสือเหลือง" ผู้กล้าหาญกลายเป็น "ควายแดง" กระหายเลือด ภาพนักศึกษาคนที่ถูกตีจนเลือดท่วมร่าง แล้วถูกแขวนคอห้อยอยู่กับต้นไม้ที่ท้องสนามหลวง ตามหลอกหลอนผมในภาพฝันหลายสัปดาห์ติด ๆ กัน สีแดงต่อต้านสีเหลืองรึ? ความสงสัยผุดวาบขึ้นในหัวเมื่อผมเห็นภาพข่าวความรุนแรงแบบนั้นกลับมาวิ่งผ่านหน้าจอทีวีในฤดูร้อน พ.ศ. 2553 ความขัดแย้งระหว่างสีแดงกับสีเหลืองคุกรุ่นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ในเดือนธันวาคม 2551 มวลชน "คนเสื้อเหลือง" หลายพันคนได้เข้าทำการปิดล้อมท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอาศยานสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติโก้หรูแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
 
แต่การประท้วงเป็นไปอย่างสงบ  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเกรงโทษจำคุก อันเนื่องจากการทุจริตและใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จึงได้หลบหนีไปต่างประเทศ เขาได้รับแรงสนับสนุนส่วนใหญ่จากเกษตรกรและคนจนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถูกนักการเมืองหลอกอีกครั้งด้วยการติดสินบน คำสัญญาลมๆแล้งๆ เล่ห์ลวงสารพัด และการหว่านเงิน
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคน "เสื้อแดง" นับหมื่นคนพากันเดินขบวนไปตามถนน ส่งผลให้ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ กลายเป็นอัมพาต ผู้ชุมนุมสร้างสิ่งกีดขวาง จุดไฟเผาสถานที่ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก่อนที่กองทัพจะยุติการจลาจลที่ดำเนินมาหลายวันลงได้ ผมแทบไม่เชื่อว่าครูประทีป อึ้งทรงธรรม เข้าร่วมในการประท้วงชุมนุม ซึ่งเธอก็เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมตัดสินใจในการประกาศยุติการชุมนุม (ไว้ระยะหนึ่งเท่านั้นหรือเปล่า?) เพราะไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อมากขึ้นไปอีก คุณประทีป อึ้งทรงธรรม เป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัล รามอน แม็กไซไซ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2521 ด้วยเงินรางวัลจำนวน 30,000 เหรียญดอลลาร์ ต่อมาได้รับรางวัลของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จากโครงการโรงเรียนวันละบาทที่เธอก่อตั้งขึ้น และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เมื่อมูลนิธิดวงประทีปฉลองครบรอบ 20 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี วันนั้นผมบังเอิญอยู่ที่สลัมคลองเตยกับประธานมูลนิธิ ดร. สุเมธ ชุมสาย ผมจึงได้แสดงความยินดีกับคุณประทีปในความสำเร็จของเธอ
 
ตั้งแต่การปฏิวัติสยามในปีพ.ศ. 2475 ปีเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา สิ่งที่เกิดขึ้นกับสยามแสนสุขเรื่อยมาก็คือการปฏิวัติ 18 ครั้ง และความหวังที่จะให้นับการจลาจลครั้งล่าสุดว่าเป็นครั้งสุดท้ายนั้น มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน?