การเรียนรู้ออนไลน์ในห้องสมุดสาธารณะ
บริการยืมความรู้ออนไลน์

E-Learning
E-Learning | รูปภาพ (รายละเอียด): © viperagp - Fotolia.com

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล ห้องสมุดสาธารณะที่ได้รับโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ หลายแห่งจึงเปิดให้บริการอีเลิร์นนิง (E-Learning) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สืบค้นข้อมูลที่เปลี่ยนไป

ในปัจจุบัน ห้องสมุดสาธารณะในประเทศเยอรมนีไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ให้บริการยืมหนังสืออีกต่อไป ห้องสมุดหลายแห่งได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้คนจำนวนมากหันมาสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต  ซเวน อินสติงสเกอ หัวหน้าแผนกเว็บไซต์และการบริการออนไลน์ประจำห้องสมุด Bücherhallen เมืองฮัมบวร์กตั้งโจทย์ไว้ว่า “ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการความรู้ เราจะวางตัวอย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในขณะนี้ และเราจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ได้อย่างไร” ซเวนและเพื่อนได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาตัวแบบ “ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา” ห้องสมุด Bücherhallen เคยเป็นห้องสมุดต้นแบบที่นำระบบคลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และในปี 2009 ห้องสมุดได้เริ่มเปิดให้บริการชั้นเรียนออนไลน์

ตัวแบบสำหรับอีเลิร์นนิง

อินสติงสเกอเล่าว่า ปัญหาหลักของโครงการนี้คือการหานักพัฒนาซอฟท์แวร์ บริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบโปรแกรมอีเลิร์นนิงสำหรับใช้ภายในองค์กรเอกชนจึงไม่มีประสบการณ์พัฒนาซอฟท์แวร์ให้แก่องค์กรสาธารณะ แต่สุดท้ายเขาก็ได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้องสมุดสาธารณะ

ทุกวันนี้ ห้องสมุด Bücherhallen ให้บริการชั้นเรียนออนไลน์แบบโต้ตอบจำนวนมากกว่า 100 ชั้นเรียน หรือที่เรียกว่า สื่อฝึกอบรมออนไลน์ (WBTs: Web-based trainings) บทเรียนส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษา การบริหารจัดการธุรกิจ และการใช้งานโปรแกรม Microsoft Office “ที่จริงแล้วเราอยากให้บริการบทเรียนที่กว้างกว่านี้ แต่เราได้รับอนุญาตให้ใช้ตัวแบบจากบริษัทที่ให้บริการยืมเท่านั้น" เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับกรณีการยืมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในห้องสมุดสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีอีเลิร์นนิงสำหรับเด็กผ่านระบบการจัดการเรียนรู้ scoyo ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2013  ผู้เรียนสามารถเลือกแบบฝึกหัดและแบบทดสอบของรายวิชาหลักที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-7 ได้อย่างอิสระตามระบบการศึกษา ชั้นปี และแผนการเรียนของแต่ละรัฐ

กระแสการเรียนออนไลน์

ผู้ที่สนใจจะใช้บริการชั้นเรียนออนไลน์ต้องล็อกอินเข้าไปในระบบห้องสมุด อิเล็กทรอนิกส์ eBuecherhalle ผ่านหน้าเว็บไซต์ของห้องสมุด และลงทะเบียนยืนยันโดยใช้หมายเลขสมาชิกก่อนจึงจะสามารถใช้บริการได้ สมาชิกสามารถเลือกเรียนได้มากถึง 10 หลักสูตรพร้อมกันภายในระยะเวลา 90 วัน และยังสามารถหยุดพักระหว่างเรียนได้มากเท่าที่ต้องการอีกด้วย จนถึงตอนนี้ ผู้เรียนส่วนใหญ่พอใจมาก ห้องสมุดสาธารณะในเยอรมนีอีก 5 แห่งได้นำระบบการจัดการเรียนรู้นี้ไปใช้เช่นกัน อินสติงสเกอมั่นใจว่า การเรียนออนไลน์จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ที่ห้องสมุดสาธารณะจะได้รับจากการให้บริการชั้นเรียนออนไลน์คือ ห้องสมุดสามารถให้บริการช่อง ทางเข้าถึงบทเรียนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ การให้บริการอีเลิร์นนิงยังช่วยให้ห้องสมุดเข้าถึงผู้ใช้บริการกลุ่มใหม่ที่ชอบอินเตอร์เน็ตแต่ไม่เคยเป็นสมาชิกของห้องสมุดมาก่อน

การประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้ทั่วถึง

โครงการนี้ยังมีอุปสรรคที่ต้องผ่านไปให้ได้ คือ การใช้งานชั้นเรียนออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟนและแทบเล็ต “การเรียนคำศัพท์ผ่านแอพฯ ใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่การอบรมการนำเสนอโดยใช้ PowerPoint นั้นยังทำได้ไม่ดีนัก” อินสติงสเกอกล่าว “เราต้องกระตุ้นให้มีการพัฒนาการออกแบบเว็บไซต์ที่ สามารถแสดงผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ (Responsive Design) ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินอีกมากนัก”

โจทย์ข้อถัดมา คือ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชั้นเรียนออนไลน์ผ่านทางหลักสูตรที่จัดโดยห้องสมุด เช่น หลักสูตรอีเลิร์นนิงเบื้องต้น ด้วยจำนวนสมาชิกที่ใช้บริการสม่ำเสมอมากถึง 160,000 คน จนอาจเรียกได้ว่าห้องสมุด Bücherhallen เป็นห้องสมุดที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในเมืองฮัมบวร์ก แต่กระนั้น การแข่งขันกันสร้างความโดดเด่นในหมู่องค์กรทางวัฒนธรรมยังคงสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ การโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบธรรมดาอย่างเดียวจึงไม่พอ อินสติงสเกอกล่าวพร้อมกับแนะนำว่า เราต้องประชาสัมพันธ์แบบเจาะจงถึงรายละเอียดเนื้อหาของบทเรียน และพื้นที่ที่เหมาะแก่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งก็คือ สื่อสังคมออนไลน์

การเรียนแบบบูรณาการ

ในอนาคต อินสติงสเกอสามารถนำแนวคิดเรื่องการเรียนแบบบูรณาการมาใช้ในระบบห้องสมุด กล่าวคือ การผสมผสานการเรียนแบบอีเลิร์นนิงกับการเรียนในห้องเรียนปกติ ห้องสมุดนอร์เดอร์ชเต็ดท์ได้นำระบบการจัดการเรียนรู้นี้มาทดลองใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตัวเองผ่านทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ กลุ่มผู้เรียนยังพบผู้สอนอย่างสม่ำเสมอที่ห้องสมุด และอภิปรายข้อสงสัย ตลอดจนฝึกทำแบบฝึกหัดร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง โรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการ ด้วยเช่นกัน

อินสติงสเกอมองว่า ห้องสมุดสาธารณะมีความเหมาะสมในการเป็นสะพานเชื่อมโยงการเรียนแบบดิจิตอลและ การเรียนในห้องเรียน “เรามีพื้นที่บริการสำหรับการพบปะพูดคุย และเรายังสามารถให้บริการชั้นเรียน ออนไลน์ได้ด้วย มีแต่ดีกับดี”