การแต่งงานของคู่รักร่วมเพศ
บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย

ไอร์แลนด์มีการลงประชามติเรื่องการแต่งงานของคู่รักร่วมเพศไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 ที่ผ่านมา ในเยอรมนีก็มีการถกเถียงประเด็นนี้กันอย่างเข้มข้นเช่นกัน

การสมรสไม่ได้หมายความอย่างที่เคยเป็นตามความหมายในภาษาแบบเก่าอีกต่อไป ประมาณหนึ่งในสามของคู่แต่งงานในเยอรมนีมีการหย่าร้าง แม้ว่าในประมวลกฎหมาย (BGB) จะกำหนดว่า “เป็นการสมรสตลอดชีวิต” ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่ง ความเข้าใจเรื่องการสมรสตามแบบขนบกำลังเผชิญแรงกดดันมากกว่าคู่รักร่วมเพศมากมายต้องการได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมในการสมรสเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ ในเยอรมนีมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมานานหลายปี การเปลี่ยนแปลงในการลงประชามติที่ไอร์แลนด์ซึ่งยอมรับการสมรสของคู่รักร่วมเพศ และการตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 ที่ตัดสินให้การห้ามสมรสในหมู่คู่รักร่วมเพศใน 14 รัฐของสหรัฐฯ เป็นเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญยิ่งช่วยเติมเชื้อไฟให้การอภิปรายหัวข้อนี้มากยิ่งขึ้น
 
 ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา เยอรมนีอนุญาตให้มี “คู่ร่วมชีวิตจดทะเบียน” (Civil Union) ซึ่งหมายถึงการผูกพันตามกฎหมายของคู่ชีวิตเพศเดียวกันและมีกฎหมายเฉพาะรับรอง แต่ตามประมวลกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสมรสต้องเป็นคนต่างเพศกันเท่านั้น
 
การสมรสและคู่ร่วมชีวิตมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

คู่ร่วมชีวิตจดทะเบียนสำหรับคู่รักเพศเดียวกันไม่ใช่กฎหมายที่เยอรมนีคิดค้นขึ้น แต่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในเดนมาร์กเมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 ในทศวรรษที่ 1990 หลายประเทศเริ่มมีการเรียกร้องให้อนุญาตให้เกย์และเลสเบี้ยนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยได้รับการรับรองจากรัฐ ในเบลเยียมและสเปนมีนโยบายเปิดให้คู่รักร่วมเพศสามารถสมรสกันตามประเพณีได้ เยอรมนีใช้กฎหมายคู่ชีวิตตามแบบของสแกนดิเนเวีย แต่ก็มีกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกแห่งคือ แม้ว่าการสมรสและคู่ชีวิตจะมีสิทธิ์ที่แตกต่างกันหลายอย่าง แต่ก็เริ่มจะใกล้เคียงกันมากขึ้นทุกทีฝ่ายนิติบัญญัติอาจเป็นตัวตั้งตัวตีเองหรืออาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ยืนยันให้มีความเสมอภาคกันก็เป็นได้ เช่นศาลรัฐธรรมนูญในคาร์ลสรูเฮอ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการรักษากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ (Grundgesetz) มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญระบุว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย รัฐต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อผู้ที่มีความเท่าเทียม และต้องเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อผู้ที่ไม่เท่าเทียม
 
ยืนเคียงข้างกัน รับผิดชอบซึ่งกันและกัน
คู่ชีวิตและคู่สมรส “ส่วนใหญ่แล้วเหมือนกัน”  ใช่หรือไม่ ผู้พิพากษาตอบว่า “ใช่” เพราะเกย์และเลสเบี้ยนต่างต้องการยืนเคียงข้างกันและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน คดีเกย์และเลสเบี้ยนซึ่งเป็นคู่ชีวิตจดทะเบียนฟ้องร้องเรื่องความเสมอภาคจึงมักจะชนะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ปัจจุบันคู่ชีวิตในเยอรมนีจึงมีสิทธิ์ในด้านเงินบำนาญและสวัสดิการเหมือนคู่สมรสและสามารถได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีเช่นเดียวกัน ความเสมอภาคทางกฎหมายจึงใกล้เป็นความจริงขึ้นทุกที กระนั้น การถกเถียงก็ยังไม่จบ เพราะยังมีประเด็นถกเถียงสุดท้ายอยู่ นั่นคือประเด็นเรื่องการรับบุตรบุญธรรม และประเด็นที่ว่าเหตุใดเกย์และเลสเบี้ยนจึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฏหมายได้
 
ข้อถกเถียงเรื่องภาพครอบครัว “ที่สมบูรณ์

การรับบุตรบุญธรรมนั้นถือเป็นประเด็นอ่อนไหวเป็นพิเศษ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าเด็กจะได้รับการเลี้ยงดูดีที่สุดจากพ่อและแม่ แต่จากผลการวิจัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อ้างในการตัดสินให้คดีรับบุตรบุญธรรมในปี 2013 กลับชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีพ่อแม่เพศเดียวกันก็สามารถเติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน ตามปกติชาวเยอรมันมักถกเถียงเรื่องการปฏิบัติต่อเด็กและภาพครอบครัวที่ “สมบูรณ์” กันอย่างเผ็ดร้อนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการอภิปรายเรื่องเงินช่วยเหลือครอบครัวหรือเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กจากรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจต้องใช้อำนาจตัดสินอีกครั้ง
 
กรณีตัวอย่างเช่น เมื่อพฤษภาคม 2014 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้สามารถทำการรับบุตรบุญธรรมต่อ กล่าวคือคู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมของอีกฝ่ายมาเป็นบุตรของตนต่อได้ในด้านของฝ่ายการเมืองนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าในรัฐบาลผสมของพรรค CDU (Christian Democratic Union) และ CSU (Christian Social Union) และ SPD (Social Democratic Party) จะประกาศว่า “เราตระหนักว่าคู่ชีวิตเพศเดียวกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมเรา” พรรค SPD ต้องการให้ยอมรับการสมรสทางกฎหมายของคู่รักร่วมเพศ แต่พรรค CDU และ CSU ยังไม่เห็นด้วย การสมรสในเยอรมนีจึงยังสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น
 
ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องเป็นผู้ตัดสินว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนั้นไปก่อน แต่จากการตัดสินที่ผ่านมาได้ตอกย้ำแล้วว่าการสมรสที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย (มาตรา 6) สงวนไว้สำหรับการผูกพันระหว่างชายและหญิงเท่านั้น เหล่านักกฎหมายต่างมีความเห็นว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นจึงทำให้ทุกคนสามารถมีสิทธิ์สมรสได้ แต่การจะแก้รัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องใช้เสียงสองในสามของรัฐสภา กลุ่มรักร่วมเพศเรียกร้องให้ดำเนินการโดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ พวกเขาหวังว่าผู้พิพากษาจะตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ “อย่างมีพลวัต” หรือปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยที่ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาและไม่มีการแบ่งแยก