ขอบเขตทางวัฒนธรรม

Premiere of the German-Korean co-production “Walls - Iphigenia in Exile“ at the  Asia Culture Centre
Premiere of the German-Korean co-production “Walls - Iphigenia in Exile“ at the Asia Culture Centre | Photo: ICKHEO

ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ผู้กำกับละครเวทีชาวเกาหลีได้ร่วมมือกับคณะละครเยอรมัน Berlin der Theaterabend สร้างละครเวทีเรื่อง “Walls - Iphigenia in Exile” ขณะเดียวกันที่กรุงเทพฯ ก็ได้เกิดความร่วมมือระหว่างเดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโอกับโรงละครประจำรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก เมืองคาล์สรูเฮอขึ้นเพื่อพัฒนาโปรเจ็คร่วมกันในชื่อ “Happy Hunting Ground” ผลงานทั้งสองนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดการสร้างละครเวทีนานาชาติ แต่ยังช่วยกระตุ้นแรงผลักดันในการทำงานร่วมกันอีกด้วย

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดในระหว่างการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาตินั้นคงหนีไม่พ้นการปะทะกันทางความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อมีการพบปะพูดคุยกัน อันเนื่องมาจากความต่างทางแนวคิดทางศิลปะและรูปแบบขององค์กร เมื่อใดที่ผู้กำกับจากประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันได้ก้าวเข้าไปร่วมงาน ความแตกต่างทั้งในด้านสุนทรียศาสตร์และด้านโครงสร้างการทำงานของโรงละครที่มาร่วมงานกันก็จะเกิดขึ้น สาเหตุหนึ่งก็คือ ไม่มีที่ใดในโลกที่จะมีระบบการจัดการโรงละครที่ครอบคลุม พร้อมด้วยตารางการแสดงที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอด ทั้งยังมีนักแสดง นักเต้นและนักร้องประจำอยู่ถาวรได้เทียบเท่ากับในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน สำหรับในประเทศแถบอเมริกาใต้ แอฟริกาและเอเชียนั้นเรียกได้ว่าแทบไม่มีการแสดงในโรงละครที่สร้างโดยกลุ่มอิสระซึ่งรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อสร้างโปรเจ็คร่วมกัน หรือแทบไม่มีสถานที่สำหรับซ้อมหรือเปิดการแสดงเลย

การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม

หนึ่งในผลที่ตามมาระยะแรกๆ คือ เมื่อมีการร่วมงานกันในระดับนานาชาติ ผู้ร่วมงานมักจะต้องมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งอาจกินเวลามากกว่าการที่ผู้กำกับละครเวทีสักคนจะทำงานตามโครงสร้างที่ตนเองคุ้นเคย เนื่องจากการแลกเปลี่ยนที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงเรื่องการพัฒนาแนวคิด วิธีการเล่าเรื่องและการนำเสนอการแสดงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความต่างทางวัฒนธรรมทางการพูดคุยสื่อสารและวัฒนธรรมทางการละครในบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากอีกด้วย สิ่งนี้สร้างความรู้สึกแปลกแยกเหมือนกับการสื่อสารในภาษาต่างประเทศและทำให้เกิดความรู้สึกในช่วงแรกเหมือนกับเมื่อครั้งที่ผู้กำกับชาวเยอรมันและชาวเกาหลีใต้พบกันครั้งแรกที่กรุงโซล เป้าหมายของพวกเขานั้นคือละคร “Walls - Iphigenia in Exile” ซึ่งเป็นการนำเอาบทละครคลาสสิก “Iphigenie auf Tauris” ของกวีเอกเกอเธ่ มาผนวกเข้ากับเรื่องราวของพรมแดน, การถูกเนรเทศ, การอพยพและการลี้ภัยในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
Trailer “Walls – Iphigenia in Exile“ from the German Theatre Berlin(source: YouTube)

จุดเชื่อมโยงที่น่าจะเป็นไปได้ที่นำมาซึ่งแนวคิดในการสร้างละครดังกล่าวนี้คือการที่เยอรมนีเคยเป็นประเทศที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนเมื่อหลายทศวรรษก่อน รวมไปถึงการที่คนเยอรมันในทุกวันนี้เผชิญหน้าและยอมรับกับเรื่องราวในอดีตเหล่านั้นได้แล้ว ในขณะที่สำหรับเกาหลีใต้นั้น เรื่องเกี่ยวกับพรมแดนติดเกาหลีเหนือ รวมไปถึงจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของชาวเกาหลีเหนือที่พยายามลี้ภัยยังถือเป็นเรื่องที่ขมขื่นในใจพวกเขาอยู่ แม้หัวข้อดังกล่าวจะมีความท้าทายอย่างมาก แต่ทว่ายังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซอนยา อันเดอร์ส นักวิชาการด้านการละครในโปรเจ็คดังกล่าวได้เล่าให้เราฟังว่า “การพบกันครั้งแรกของพวกเราไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไร เราไม่อยากสร้างความกดดันในการทำงาน แค่อยากมารู้จักกันก่อน แล้วจากนั้นหัวข้อที่ทำก็เกิดขึ้นเองระหว่างการพูดคุยกัน”

ความเข้าใจในความต่างทางวัฒนธรรม

เมื่อเราถามซอนยา หัวหน้านักการละครฝั่งโรงละครเยอรมันถึงประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในความคิดของเธอ คำตอบที่ได้คือ เมื่อมีการทำงานร่วมกันแต่ละฝ่ายมักต้องการรูปแบบการสื่อสารและขนบการสร้างงานในแบบของตนเอง “คุณต้องปิดตาและปิดหูตัวเองเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าวัฒนธรรมอื่นนั้นเป็นอย่างไร เช่นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมา คนที่นั่นจะแก้ปัญหอย่างไร ถ้าในเยอรมนีพวกเราก็จะพูดกันเสียงดัง ซึ่งไม่มีใครถือสาอะไร แต่สำหรับในเกาหลีใต้แล้ว เสียงดังนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างแรงและอาจจะหมายความได้ว่าคุณกำลังตำหนิใครอยู่ก็ได้”

The German-Thai co-production „“Happy Hunting Ground“ The German-Thai co-production „“Happy Hunting Ground“ | Photo: Badisches Staatstheater Karlsruhe/Felix Grünschloß สำหรับประสบการณ์ของซาร่า อิสราเอล นักวิชาการด้านการละครและผู้อำนวยการเทศกาลเต้นและละคร Rodeo แห่งเมืองมิวนิคก็ไม่ต่างกันนัก ในระหว่างที่เธอได้ร่วมงานกับธนพล วิรุฬหกุล นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นชาวไทยในการร่วมสร้างการแสดง “Happy Hunting Ground” ในสูจิบัตรเกี่ยวกับงานดังกล่าว ซาร่าได้บันทึกเอาไว้ว่า การทำงานร่วมกันนั้นจะต้องมี “ความเข้าใจในวัฒนธรรมของผู้อื่น รวมไปถึงบ้านเมืองและสภาพชีวิตของผู้คนในที่นั้นๆ ซึ่งแสดงออกมาทางร่างกาย พฤติกรรมและแนวคิด เราต้องมีความอดทนเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังความเงียบของคู่สนทนาเรา”

พลังแห่งการสร้างสรรค์

สำหรับละครเรื่อง “Walls - Iphigenia in Exile” นั้น ทั้งนักแสดง นักการละครและผู้กำกับต่างก็ต้องขะมักเขม้นอยู่กับงานเขียนคลาสสิกของเกอเธ่และช่วยกันเรียบเรียงบทละครและเรื่องราวที่จะสามารถนำเสนอการผสมผสานระหว่างเรื่องของผู้คนต่างๆ ตามลำดับได้อย่างน่าสนใจ ผลลัพธ์ที่ได้คือละครเวทีซึ่งอิงตามวรรณกรรมดั้งเดิม สะท้อนภาพความแตกแยกของประเทศ ซึ่งสำหรับเยอรมนีนั้นคือความจริงในอดีต แต่สำหรับเกาหลีใต้นั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่ นั่นคือชีวิตในประเทศที่ถูกแบ่งแยกดินแดน แต่สำหรับโปรเจ็ค “Happy Hunting Ground” ซึ่งได้ผู้เขียนบทมาร่วมงานด้วยในครั้งนี้นั้นต่างออกไป ในขั้นตอนการค้นคว้าและการสร้างนั้นถูกแยกออกจากกันเป็นอิสระ ปูมหลังของเรื่องราวที่แสดงมีพื้นฐานมาจากบทสัมภาษณ์คู่รักหญิงไทยและชายจากประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันในมุมมองเรื่องการขายบริการทางเพศและการหาคู่ในประเทศไทย เรื่องราวที่นำเสนอใช้บทสัมภาษณ์เหล่านี้มาตีความและถ่ายทอดเป็นรูปแบบของการเต้นและการเคลื่อนไหวของผู้แสดง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความแตกต่างในโปรเจ็คข้ามชาติเหล่านี้ แต่ก็ยังมีจุดร่วมของผลลัพธ์ที่เหมือนกัน นั่นคือโปรเจ็คเหล่านี้ได้ก่อให้เกิด “เชื้อไฟ” ซึ่งถือเป็นพลังสร้างสรรค์ชั้นดีที่จะนำไปใช้ในกระบวนการสร้างงานศิลปะร่วมกันได้ต่อไป
 
Trailer des Badischen Staatstheaters Karlsruhe zu „Happy Hunting Ground“ (Quelle: YouTube)