วรรณกรรมแปล โอลก้า
วรรณกรรม ความรัก และอุดมการณ์ทางการเมือง

Olga
© สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

“เรื่องนี้ละม้ายคล้ายข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา ซึ่งจริงๆ จะให้ชื่อว่า กีรติ เหมือนที่เรื่องนี้ชื่อ โอลก้า ยังได้เลย“ มองโอลก้า นวนิยายของแบร์นฮาร์ด ชลิงค์ ในบริบทปัจจุบันในสังคมไทย ผ่านมุมมองของอรรถ บุนนาค

ช่วยเล่าเรื่องย่อให้เราฟังได้ไหม
นิยายเรื่องนี้แบ่งเป็นสามตอน เป็นเรื่องราวของโอลก้า ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสาวโสดตั้งแต่เด็กจนตาย แต่ไม่สดนะ (หัวเราะ) ทั้งหมดถ่ายทอดผ่านการเล่าโดยเฟอร์ดินัน ดังนั้นต้องยอมรับว่ามีความอคติ ฉันทาคติ โมหคติ อยู่ในการมองผู้หญิงคนนี้ และเป็นการเล่าในกรอบของผู้ชาย ทั้งนักเขียนยังเป็นนักเขียนชาย ดังนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องผู้หญิงผ่านมุมมองของผู้ชาย
 
เราเป็นคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเอเชียมากกว่า พอเรามาอ่านเรื่องนี้ คือตัวละครหลักยังชัดเจน จินตนาการได้ แต่พอลองจินตนาการถึงฉากหลัง ชนบทของเยอรมนีเป็นยังไง บ้านเมืองเล็กๆ ของที่นั่นเป็นยังไง จะฟุ้งๆ เบลอๆ ความรู้ด้านวัฒนธรรมเยอรมันที่มีแค่ไส้กรอกกับเบียร์ ตอนอ่านก็เลยค่อนข้างเป็นกลางพอสมควร

เล่มนี้มีสามพาร์ทที่อารมณ์คนละแบบเลย ส่วนแรกสุดจะเป็นนิยายโรแมนติก ส่วนที่สองจะเหมือนสัจนิยม มีความเป็นผู้ชาย เทียบกับพาร์ทแรกที่มีความเป็นผู้หญิงสูง และพาร์ทที่สามจะเหมือนการอ่าน nonfiction เพราะเป็นการนำจดหมายมาเรียงต่อกัน รู้สึกเหมือนการอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือประวัติของใครสักคนที่มีชื่อเสียง
 
เราจะเจาะไปที่ตัวละคร

มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ละม้าย ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา เรื่องนั้นก็เล่าเรื่องของนางเอก ซึ่งจริงๆ จะให้ชื่อว่า กีรติ เหมือนที่เรื่องนี้ชื่อ โอลก้า ยังได้เลย การนำเสนอก็เหมือนกัน คือเล่าผ่านปากผู้ชายคนหนึ่ง แต่เรื่องนั้นอาจมีฉันทาคติมาก เพราะว่าเล่าผ่านนพพร พระเอกที่หลงรักผู้หญิงคนนี้ ส่วนเล่มนี้มีความเป็นกลางหน่อย เพราะเล่าผ่านเฟอร์ดินัน ถึงอย่างนั้นเฟอร์ดินันก็มีความลำเอียง เพราะโอลก้าเลี้ยงและดูแลเขามา แล้วเขาก็ชอบโอลก้าอยู่พอสมควร และมุมมองอีกข้อที่เหมือนกันคือความอ่อนหัดของผู้ชายที่ไม่สามารถตีความหรือมองผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้ง

อันนี้พูดในแง่วรรณกรรมที่ต้องตัดตัวผลงานออกจากนักเขียน เราไม่ได้พูดถึงว่านักเขียนมีเจตคติอย่างไรในการเขียน แต่เราจะวิพากษ์แค่ตัวบทเท่านั้น ว่าสำหรับคนอ่านจะตีความ อย่างไร เป็นเสรีภาพในการตีความ ส่วนตัวเราเป็นพวกชอบนางร้าย เชียร์นางร้าย
งานเสวนาเปิดตัววรรณกรรมแปล โอลก้า ภาพ: Graham Meyer © Goethe-Institut วิกตอเรียแน่เลย
ใช่ วิกตอเรียเป็นตัวละครที่ออกมาน้อยแต่เราเชียร์ มีความรู้สึกว่ายายคนนี้มีสีสันของจริงอยู่ ซึ่งเฟอร์ดินันเองก็ไม่ได้เจอวิกตอเรียตัวต่อตัว ฟังแต่คำบอกเล่าจากโอลก้า แล้วโอลก้าจะไม่ปรักปรำบ้างเหรอให้ตัวเองดูเป็นนางเอก และปูมหลังของโอลก้าก็เหมาะกับการเป็นนางเอกแบบ tragedy romantic เป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ ไปอยู่กับญาติ แต่มีความทะเยอทะยาน ใฝ่รู้ อยากเรียนเปียโน เรียนออร์แกน ชอบอ่านหนังสือ แบบนี้ถูกจริตชนชั้นกลางมากนะ ในเบื้องต้นก็เลยคล้ายวรรณกรรมกระแสหลักของนวนิยายไทยที่เขียนโดยนักเขียนหญิงชนชั้นกลาง ซึ่งต้องมีความวึ่นวืออยู่ แบร์นฮาร์ดเองก็ต้องการประกาศเกียรติภูมิทางวรรณกรรมของนักเขียน ว่าฉันรู้จักคนนี้ คนนั้น เพราะตอนอ่านจะมี reference อ้างอยู่ในหนังสือ ซึ่งนี่เป็นขนบของนักเขียน genre ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมบริสุทธิ์

อย่างเมืองไทย วรรณกรรมกระแสหลักที่เขียนโดยนักเขียนหญิงชนชั้นกลางไทยก็ชอบใช้ขนบนี้ในการอ้างอิง ว่าเราอ้างอิงวรรณกรรมอันนี้ๆ เหมือนสร้างภูมิรู้ให้นักเขียนด้วย แล้วก็เป็นการสร้างภาพตัวละครโอลก้าว่าเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา ใฝ่รู้ มีการเรียกร้องสิทธิสตรี มีแนวคิดทางการเมืองที่ชัดเจน กล้าพูด กล้าแสดงออก คือเป็นภาพแบบฉบับอุดมคติของผู้หญิงที่สมัยใหม่มาก  ซึ่งถ้าเทียบในยุคที่เธอเกิด เธอก็เป็นผู้หญิงจัดจ้าน โดยปทัสฐานของสังคมในยุคนั้น

เพราะในยุคนั้น ถึงจะเป็นวัฒนธรรมตะวันตกนะ ยิ่งเป็นพวกเคร่งศาสนาจะต้องไม่มีความสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน อันนี้มีก่อนแต่งไม่พอ ยังให้ผู้ชายมาแย่งตน ไม่พอ ยังให้ผู้ชายมาค้างอ้างแรมที่บ้านตน ในหอพักของโรงเรียน
 
หลายคนอาจเริ่มไม่อยากเป็นโอลก้าแล้ว เขาอุตส่าห์สร้างให้สวยงาม เป็นผู้หญิงในอุดมคติ
เขาสร้างภาพให้โอลก้าเป็นผู้หญิงที่ดีงามทุกอย่าง เป็นนางเอก แต่ส่วนตัวเราอ่านแล้วก็จะ อุทานว่า ไม่นะ...ยิ่งถ้าอ่านไปถึงพาร์ทสาม จะรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่มโนเก่งมาก มีการเขียนจดหมายไปหาแฮร์แบร์ต ผู้ชายที่เธอหลงรักและคู่รักที่ดั้นด้นออกไปสำรวจอาร์กติกที่ในยุคนั้นเดินทางยากลำบาก ก็คงเป็นปมในชีวิตของแฮร์แบร์ตที่ต้องการพิสูจน์ตัวตนให้พ่อแม่เห็น พ่อแม่นี่ก็อยากให้แต่งงานกับผู้หญิงดีๆ ก็ทะเยอทะยานประมาณนึง แล้วถามว่าพ่อแม่มีเชื้อสายขุนน้ำขุนนางรึเปล่า ก็เป็นเจ้าของที่ดินให้เช่า

มาถึงพาร์ทฝั่งโอลก้า ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ถูกพูดถึงผ่านสายตาผู้ชายมาตลอด ดูแล้วเฟอร์ดินันนี่ก็คงไม่ทันเหลี่ยมมารยาของโอลก้า ก็เชื่อตามที่โอลก้าพรีเซนต์ตัวเอง แล้วก็เป็นผู้หญิงที่มีความมโนสูง มีความปั้นปึ่ง
 
มีงี้ด้วย
จดหมายที่เขียนหาแฮร์แบร์ตจะขึ้นต้นว่า แฮร์แบร์ตที่รัก จนมีอยู่ฉบับหนึ่ง ขึ้นว่า สามีที่รัก เราก็จะแบบ...เดี๋ยวก่อน แต่งงานกันแล้วเหรอ เป็นแค่พฤตินัยนะ จะใช้คำว่าสามีที่รัก แล้วแฮร์แบร์ตเขายอมแล้วเหรอ เป็นแค่ชั่วข้ามคืน แล้วก็มโนว่าผู้ชายรัก แต่ผู้ชายก็อาจเป็นคนขี้แพ้ ที่ทำอันนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ทำอันนั้นไม่ขึ้น เลยหนีไปอาร์กติก จนไปๆ มาๆ ถึงหยุดส่งจดหมายไปพักหนึ่ง ถึงปี 1936 ก็เขียนไปอีกครั้ง มีที่ว่างเว้นไปสิบห้าปีหรือไงนี่แหละ
งานเสวนาเปิดตัววรรณกรรมแปล โอลก้า @ สำนักพิมพ์ Diogenes/ไลบรารี่เฮ้าส์ ช่วงที่หายไป คิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับโอลก้า หรือไปคิดพล็อตอยู่
คือหลังช่วงปี 1913 โอลก้าก็คงงานยุ่ง ต้องดูแลโรงเรียน ย้ายไปโรงเรียนประชาบาล พอถูกไล่ออกตอนแก่ตัว ว่าง ไม่มีอะไรทำ ไปเย็บผ้า เลยมโนถึงผู้ชายเก่า แต่เราก็อ่านแล้วเอ๊ะ ถ้าไม่มีผู้ชายใหม่ ก็แปลว่าโอลก้าไม่ได้สวยจริงสิ ถ้าโอลก้าสวยจริงก็ต้องลืมแฮร์แบร์ตไปแล้ว

จดหมายที่เขียนไป ผู้ชายไม่ได้เขียนจดหมายตอบมา แล้วก็ยังคิดไปเองได้ด้วยว่าผู้ชายตายไปแล้ว ไปค้นหาข้อมูลตามหน่วยผจญภัยอะไรแบบนั้นตั้งกี่หน่วยก็ไม่เจอ แต่ก็ยังเพียรเขียนไป ถึงแฮร์แบร์ตที่รัก เล่าเรื่องไป... แต่อย่างหนึ่งที่เราแอบคิดก็คือ บางทีแฮร์แบร์ตเนี่ยไม่ได้ตายหรอก

จริงๆ คงอยู่กรีนแลนด์แถบนั้น แต่งงาน ตั้งรกราก ส่วนโอลก้าก็มโนไปว่าผู้ชายรักฉันๆ เขาจากไปโดยที่เขารักฉัน แบบคุณหญิงกีรติ ที่ว่า “ฉันตายโดยปราศคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก” แต่ก็ต้องถามว่าเขารักเธอเหรอ ทำภาพวาดมิตาเกะ ภาพสีน้ำให้ โอลก้ากับคุณหญิงกีรตินี่พอๆ กันเลย
 
แล้วตรงที่บอกว่าความรักในอุดมการณ์ทางการเมืองล่ะ เพราะเรื่องรักจริงๆ นี่ก็คงตัดไปเลย อาจเป็นการมโนอยู่ฝ่ายเดียว
แต่นี่ก็คือความรักอย่างหนึ่ง ก็ไม่ผิดนะ ไม่อย่างนั้นพี่อ้อยพี่ฉอดจะโด่งดังไหมล่ะ ถามเถอะว่าเวลาคนเรามีความรัก โทรไปหาศิราณี พี่อ้อยพี่ฉอดเนี่ย เราต้องการคำตอบที่จะนำไปแก้ปัญหาได้จริงไหม ก็ไม่

โอลก้าก็เป็นอะไรประมาณนั้น มีความรักในแบบที่ตัวเองคิด แล้วก็วาดภาพไว้ แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงฉลาด ก็จะรู้จักวิธีพรีเซนต์ตัวเอง แล้วหลอกให้คนรอบข้างเชื่อว่าเป็นแบบนั้น ส่วนที่ดีดไอค์ทิ้ง เพราะไอค์ไม่สยบยอมและไม่เชื่อฟัง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ไอค์มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากโอลก้า เหมือนๆ กับสังคมไทยยุคนี้ที่่พอคนนี้ไม่ใช่ก็อันเฟรนด์ทิ้ง ส่วนเฟอร์ดินันเชื่อฟัง ก็ป้อนข้อมูลไป แบบเลี้ยงต้อยสร้างจักรวาลภาพของฉัน ฝังชิปใส่เฟอร์ดินัน ถามว่าสำเร็จไหม ก็สำเร็จ
 
ฉากในเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างเก่า ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไล่เรียงมาจนสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน (อรรถ: จนถึงปี 1970 กว่าๆ เลย) คุณอรรถคิดว่าเล่มนี้จะเชื่อมร้อยกับปัจจุบันกับบ้านเมืองเราได้มั้ย
ถ้าบ้านเมืองเรานี่ได้เลยนะ มีหลายจุดมากเลยที่ตบหน้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในปัจจุบันเรื่องการเมืองจะแทรกซึมออกมาในบทพูดของตัวละคร ในการบ่นของโอลก้า เรื่องที่เห็นแล้วคลิกพอดีกับสังคมไทยปัจจุบันก็คือความไม่ลงรอยระหว่างวัย และในระหว่างวัยนั้นก็มีความไม่ลงรอยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย ซึ่งก็จะแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า คุณแบร์นฮาร์ดคงเขียนจากสิ่งที่ประสบการณ์ของตัวเองด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของยุคสมัย ตั้งแต่อดีตก็มีการกีดกันระหว่างวัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สังคมไทยเองก็เช่นกัน
 
ไม่รู้ว่าของเรามีจดหมายแบบนี้บ้างรึเปล่านะ ที่เขียนถึงกัน
น่าจะมีนะ [ในเฟสบุ๊ค]  เดี๋ยวนี้ง่าย การไปตามสืบตามจิกว่าใครเคยพูดอะไรไว้เมื่อห้าปีที่แล้วเนี่ย รื้อๆๆ จิกออกมาประจานได้เลยว่าห้าปีที่แล้วมันเคยเป็นแบบนี้ ดังนั้นเวลาใครเขียนอะไรไป เวลามันขึ้น memory วันนี้ในอดีตเนี่ย รีบไปเช็กแล้วลบเลยนะ

อยากรู้ความรู้สึกของคนอื่นบ้าง อ่านแล้วเป็นยังไง

เราชอบพาร์ทสองของเฟอร์ดินัน มันให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา ชอบตอนหนึ่งที่โอลก้ากับเฟอร์ดินันไปเจอวิกตอเรีย แล้วโอลก้าก็บอกว่า ยายคนนี้อยู่เป็น ไม่อย่างนั้นไม่รอดมาถึงขนาดนี้หรอก
โอลก้าเป็นคนแบบนั้นไง รู้ว่าอยู่เป็นต้องทำยังไง เลยไปวิพากษ์คนอื่นได้ ในใจอาจจะคิดก็ได้ว่าผู้หญิงคนนี้ชนะฉัน วิกตอเรียได้สามีรวยด้วย แต่ของเรานี่หายไปไหนก็ไม่รู้ ต้องเป็นสาวแก่ทึนทึก ซึ่งในยุคนั้นการเป็นสาวแก่ทึนทึกก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ก็เลยต้องบิด แต่ก็เทิร์นไวนะ ว่าชั้นเป็นครู ทุ่มเทให้เด็ก พอถึงตอนหูหนวกก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดเรื่องขายกินได้หมด พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ทุกอัน งานเสวนาเปิดตัววรรณกรรมแปล โอลก้า ภาพ: Graham Meyer © Goethe-Institut แล้วความรักและอุดมการณ์ทางการเมืองของนางในมุมของคุณอรรถเป็นยังไง
ก็ต้องให้อย่างหนึ่งว่าตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงยุคนี้สะท้อนได้ว่า ถ้าอุดมการณ์ทางการเมืองไปด้วยกันไม่ได้ ความรักก็ล่มสลาย ตัวแฮร์แบร์ตกับโอลก้าก็อยู่กันได้เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกัน ไอค์ถึงโดนบีบเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน กับเด็กที่ชื่อไอค์นี่ก็คือนางเลี้ยงต้อยให้ได้ผู้ชายอย่างที่ต้องการ

ที่ผ่านมาในขนบของงานวรรณกรรมจะมีงานที่เรียกว่า Pygmalion Complex ที่ทำให้เกิดภาพว่าผู้หญิงต้องสวย เป็นปกรณัมกรีกเรื่องเทพ ว่าผู้ชายประกอบสร้างผู้หญิง วาดให้เป็นผู้หญิงในอุดมคติ โอลก้านี่เจ๋งเลยนะ เลี้ยงผู้ชายให้เป็นผู้ชายในอุดมคติ ส่วนที่นางปั้นรูปปั้นเหมือนในเรื่อง My Fair Lady แล้วทุบรูปที่นางปั้นขึ้นทิ้ง ก็เพราะไอค์ไม่ใช่อย่างที่คิด

เพราะแฮร์แบร์ตหายตัวไปด้วยหรือเปล่า เลยต้องสร้างคนขึ้นมาแทนในช่วงนั้น
ใช่ จริงๆ แฮร์แบร์ตก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมานะ ไอค์ก็ด้วย ซึ่งแฮร์แบร์ตคงอึดอัดที่ถูกข่ม เลยหนีไปดีกว่า กลับมาหาแต่ก็ต้องหนีไปอีกเพราะทนไม่ได้ โอลก้าคงมีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการและข่มสามี ถ้าเธอไม่ใช่คนแบบนั้น คงได้แฮร์แบร์ตเป็นสามีทางนิตินัยไปแล้ว

พอผู้ชายหนี ก็สร้างเด็กมา พอเด็กนี่โตเป็นหนุ่ม กำลังภาคภูมิ ตายแล้ว กบฏ คิดไม่เหมือนเรา ก็ทุบทิ้ง สร้างคนใหม่ เป็นเฟอร์ดินัน อันนี้ถึงได้ตามที่คิด
 
แล้วพาร์ทที่สองก็มีเรื่องการอ่านหนังสือของเขาด้วยเนอะ ที่มีรายชื่อหนังสือเยอะมาก จนเราอยากอ่านตามเลย
น่าทำอ่านตามโอลก้านะ มีหลายคนเลยที่เราไม่รู้จัก แล้วก็มีที่ไม่มีเชิงอรรถจนเราได้แต่สงสัย

และในเล่มก็มีไคลแม็กซ์ที่เราห้ามพูด ตอนอ่านครั้งแรกก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องแบบโรแมนติก และเป็นโรแมนติกที่ไม่สะใจเราเลย ตอนแรกเลยคิดว่า โรแมนติกของนักเขียนที่เป็นสายวรรณกรรมบริสุทธิ์ก็คงประมาณนี้ละวะ น่าเบื่อฉิบหายเลย แต่พอถึงหน้า 60...คนที่เป็นสายชอบอ่านนิยายกระแสหลักทนอ่านให้เลยหน้า 60 ไปนะ พูดให้เป๊ะๆ ก็คือหน้าที่ 63 มันจะมีจุด turning point ที่ทำให้รู้สึกว่าแซ่บขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นก็จะรู้สึกว่าลื่น อ่านเร็วขึ้น จนถึงพาร์ทสองได้เลย
 
มันจะชวนให้อยากรู้ต่อ
ใช่ๆ แล้วอ่านต่อไป ตอนแรกจะคิดว่าเป็นแบบ Sandra Brown หรือเปล่า ด้วยความที่อยู่ในกรอบ pure literature จะมีความ romantic suspense แทรกเป็นกลิ่นเข้ามา มีหลายรส แต่จะไม่ไปสุดทางสักรส ก็อาจเป็นข้อด้อยของเล่มนี้ นักเขียนก็คงกั๊กแบบฉันกลัวเสียชื่อว่าเป็นนักเขียนนิยาย pure lit จะเขียนหวือหวามากไม่ได้ เรารู้สึกว่าถ้าเขาไม่กั๊ก เล่มนี้จะดังระดับโลก เป็น New York Times Bestseller เลย เพราะตัวโครงหลักมีอะไรที่ทำให้เป็น popular literature ได้ แต่สาย pure lit จะชอบ หรือสายป๊อปก็อ่านได้ แค่จะฟินไม่สุด ต้องเอาไปแต่งต่อ...เพราะเราก็แต่งทำ ว่ามันต้องไม่จบแค่นี้สิ ต้องมีอะไรอีก
 
ก็ต้องทิ้งให้คิดต่อได้ มีแฟนฟิคได้ อาจเป็นเล่มหน้า ไม่รู้นักเขียนจะเขียนต่อมั้ย เขาทิ้งท้ายไว้น่าสนใจนะ แต่เราจะไม่พูดถึงไคลแม็กซ์ในเรื่องและอุบตอนท้ายไว้ก่อน
 
เรียบเรียงจากงานเสวนาเปิดตัววรรณกรรมแปล โอลก้า วันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2563 ที่ ร้านหนังสือฟาท่อม บุ๊คสเปซ กรุงเทพฯ

โอลก้า © สำนักพิมพ์ Library House
โอลก้า
แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ จัดพิมพ์
ได้รับทุนจากโครงการสนับสนุนการแปลของสถาบันเกอเธ่