ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

SPIEGEL: สัมภาษณ์ Thomas Melle „Ein hirnversengter Clown“
ตัวตลกหัวร้อน

Thomas Melle
Foto: Gene Glover

Thomas Melle นักเขียนวัย 41 ปี เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล German Book Prize หลายต่อหลายครั้ง เช่น ในปี 2011 ผลงานเรื่อง “Sickster” ของเขาอยู่ในลองลิสต์ และในปี 2014 ผลงานเรื่อง “3000 Euro” เข้าชิงรอบสุดท้าย ในหนังสือเล่มล่าสุด Melle ได้เขียนถึงอาการป่วยทางจิตที่เขาต้องเผชิญอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก

คุณ Thomas ครับ ผมประทับใจหนังสือของคุณมากแบบที่ไม่ได้รู้สึกกับเล่มไหนมานานแล้ว ผมเอามานั่งอ่านในร้านกาแฟท่ามกลางผู้คน เพราะไม่อาจนั่งอ่านตามลำพังคนเดียวในตอนเย็นที่บ้านได้ มันทำให้ผมรู้สึกกลัว เศร้า แล้วจู่ๆ ก็ทำให้ระเบิดหัวเราะออกมา เรื่องเล่าบางเรื่องก็แปลกเสียจนผมรู้สึกมึนงงเหมือนเมากัญชา
 

มีคนเคยบอกว่า งานวรรณกรรมไม่ก่อให้เกิดผลอะไร เอาจริงๆ เลยนะครับ ผมชอบที่คุณพูดและมันก็เข้ากับตรงนี้พอดี เพราะอันที่จริงกัญชาทำให้เกิดอาการหวาดระแวงและเป็นอันตรายสำหรับคนที่เป็นแบบผม

การเขียนบันทึกทำให้คุณตกอยู่ในภวังค์หรือเปล่าครับ
 

การเขียนนำผมกลับสู่ห้วงแห่งความสับสนที่ผมเคยรู้จักมาก่อน  แต่ผมก็ก้าวเข้าสู่ตรงนั้นโดยมีเกราะป้องกัน นั่นคือ การอยู่ในโหมดการเล่าเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงอยู่ ณ ที่นั้น ราวกับฉากละครที่ถูกลืม แต่มันก็ทำอันตรายผมไม่ได้ครับ เพราะผมใส่เกราะป้องกันอยู่
 
คุณเขียนเล่าถึงอาการไบโพลาร์ที่คุณเป็น
 

ผมไม่ค่อยชอบคำนี้เลยครับ มันไม่มีน้ำหนักหรือบอกอะไรได้มากนัก ความหมายของมันรวมเอาทุกอาการของโรคนี้มาไว้ด้วยกัน รวมถึงอาการเล็กๆ น้อยๆ และไม่แยกแยะความแตกต่างของอาการในแต่ละคน ผู้คนไม่เข้าใจคำว่า “ไบโพลาร์” หรอกครับ ผมแทบจะรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนจะดีใจด้วยที่เป็นโรคนี้ คำว่า “อาการฟุ้งพล่าน-ซึมเศร้า” ตรงมากกว่าครับ คือผมจะฟุ้งพล่าน แล้วก็จะซึมเศร้าตามมา

Thomas Melleภาพ: Gene Glover
ประเภทอาการที่คุณเป็นคือแบบไหนครับ
 

ไบโพลาร์ประเภท 1 ครับ เป็นแบบที่รุนแรงสุด และผมยังเป็นชนิดที่หนัก จนทำให้มีอาการฟุ้งพล่านและซึมเศร้านาน คือนานถึงหนึ่งปีครึ่ง และมีอาการรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นผมยังเกิดภาพหลอน แบบที่เรียกทั่วไปว่าบ้าน่ะครับ ทำให้ตัวเองและชีวิตพังไปหมด

ในช่วงที่ฟุ้งพล่าน คุณทำอะไรบ้างครับ

ผมพล่านไปทั่วครับ กินเหล้าเมาแต่เช้า สร้างหนี้สิน เดินทางท่องเที่ยวบ้าง เข้าร้านอาหารหรู เข้าผับบาร์ ผมชอบซื้อหนังสือด้วยครับ แล้วพอวันถัดมาก็จะขายต่อในราคาถูกๆ บางครั้งผมเหลือเงินน้อยจนต้องเอาแม็กกี้มาเหยาะใส่ปาก เพียงแค่ให้มีรสชาติอาหารสัมผัสลิ้นเท่านั้น
 
คุณหาเงินด้วยวิธีไหนครับ
 

คนที่มีอาการฟุ้งพล่านจะมีพลังและความสามารถในการจูงใจเหลือล้นครับ แต่จะขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น เราสามารถชักจูงให้นายธนาคารเชื่อได้ว่าจะไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ดภายในครึ่งปี คือเหมือนกับกำลังแสดงละครในบทบาทตนเองน่ะครับ

ตอนนั้นเกรี้ยวกราดด้วยไหมครับ
 

มีบ้างครับ อย่างเช่น ผมเคยล่วงเกินเจ้าของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือผมในขณะนั้นอยู่หนหนึ่ง ตอนนั้นเธอใส่เฝือกที่แขนมางานเลี้ยงรับรองงานหนึ่ง แล้วผมบอกไปว่ามันเป็นเฝือกปลอม
 
แล้วเป็นยังไงครับ
 

มันเป็นเฝือกจริงน่ะครับ แล้วหลังจากนั้นสำนักพิมพ์ก็ไม่รับงานของผมอีก

คุณเลยเปลี่ยนจากสำนักพิมพ์ Suhrkamp มาเป็น Rowohlt Berlin แทน เวลาผมอ่านเกร็ดเรื่องเล่าแบบนี้แล้วขำจะผิดไหมครับ
 

ขำได้เลยครับ ควรขำ ต้องขำด้วยซ้ำครับ แม้จะเป็นความขายหน้าหรือเรื่องเศร้าที่เกิดกับผมก็ตาม เพราะไม่อย่างนั้น เราจะอยู่ร่วมกับมันหรือจัดการมันไม่ได้ครับ  มันคือตัวตลกหัวร้อนคนหนึ่งที่พล่านไปทั่วเมืองและก่อเรื่องครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนตลกเจ็บตัวที่เป็นชีวิตจริง


ในฐานะนักเขียน มีอดไม่ได้บ้างไหมครับ ที่จะเล่าบรรยายประสบการณ์บางอย่างให้ออกมาพิลึกพิลั่นกว่าที่เป็นจริงๆ
 

ผมไม่เห็นว่ามีอะไรที่พิลึกพิลั่นนะครับ หรือหมายถึงบ้าหรือเปล่าครับ ผมไม่ได้เล่าอะไรให้บ้ามากไปกว่าที่เกิดขึ้นจริงเลยครับ มันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด


คุณคิดจริงๆ หรือครับว่าได้พบปิกัสโซที่ Berghain ในเบอร์ลิน
 

ไม่ใช่ปิกัสโซตอนสูงวัยนะครับ แต่เป็นปิกัสโซตอนหนุ่ม ตอนนั้นคนที่ผมคิดว่าเป็นปิกัสโซกำลังนั่งอยู่บนโถส้วมและพูดคุยกับเหล่าฮิปสเตอร์ทั้งหลาย บนเส้นเข็มขัดของเขามีตัวหนังสือสีทอง “F.U.C.K.“ ผมราดไวน์แดงลงตักเขา ผมทนปิกัสโซกับภาพวาดของเขาไม่เคยได้เลย
 
ใน Wuppertal คุณก็คิดว่าได้พบกับโธมัส แบร์นฮาร์ด


ในร้านแมคโดนัลด์ตรงสถานีรถไฟ ใช่ครับ เขากำลังกินบิ๊กแม็คอยู่ และมันก็ไม่ถูกปากเขา
 
แล้วจริงไหมครับ ที่คุณเคยมีเซ็กซ์กับมาดอนนา
 

ตอนนั้นผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะครับ
 
 
แล้วมาดอนนาเป็นยังไงบ้างครับ
 

ผมจำได้เลย ตอนแรกผมทึ่งตะลึงว่าเธอช่างรูปร่างทรวดทรงงามเหลือเกิน อย่างกับที่อยู่ในหนังสือภาพนู้ดปลายปี 1970
 
ตอนนี้คุณนึกถึงเรื่องนี้แล้วขำไหมครับ
 

สำหรับผมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตและในการเขียน คือการไม่ขมขื่นหรือไม่ประชดเสียดสี ไม่ว่าจะยังไงก็ตามครับ ผมว่าบางอย่างก็ตลกนะครับ แต่ก็ตลกแบบบ้าบอ จนผมเองยังอึ้ง


โลกทัศน์แบบไหนครับที่เป็นพื้นฐานของภาพต่างๆ เหล่านี้

มันคือภาพแบบเมสสิยาห์ (พระผู้ปลดปล่อย) ครับ ทุกสิ่งทุกอย่างถาโถมมาหาผม ทั้งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ผมสามารถหาหลักฐานได้ทั้งในข้อเขียน เพลง เอกสารต่างๆ ว่าชายผู้หนึ่งได้มาถึงราวช่วงเปลี่ยนศตวรรษ และโลกกำลังจะเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาผ่านชายผู้นี้ และชายผู้นั้นก็คือผม  ในปี 1999 ปีที่ผู้คนคลั่งวิตกกับการเปลี่ยนศตวรรษ/ปรากฏการณ์ Y2K ผมก็เริ่มมีอาการฟุ้งพล่านครั้งแรก และตามมาอีกสองครั้งในปี 2006 และ 2010
 
เพลงป๊อปมีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้อาการของคุณกำเริบ อะไรที่ทำให้เพลงเหล่านี้เป็นเหมือนประตูเข้าสู่อาการหลอนครับ
 

สำหรับผู้ป่วยฟุ้งพล่านแบบเฉียบพลันมันค่อนข้างยากที่จะอ่านงานเขียนของตอลสตอย (Tolstoy) ให้จบทั้งเล่มครับ ความคิดมันจะฟุ้งไม่สามารถจดจ่อได้ ในขณะที่เพลงป๊อปนั้นสั้นและเข้าสู่ความคิดได้ทันที การเข้าถึงเช่นนี้ รวมถึงเนื้อเพลงที่ชวนให้ตีความ ตลอดจนสรรพนามที่ใช้ในเพลงส่วนมากมักกล่าวถึง “เธอ” ซึ่ง “เธอ” นั้นอาจเป็น “ฉัน” ก็ได้ ลักษณะเหล่านี้เหมาะแก่การทำให้อาการวิตกระแวงกำเริบขึ้นทีละเล็กละน้อยครับ

เหตุใดคุณถึงได้จดจ่อกับศิลปินที่มีชื่อเสียงครับ
 

ผมเป็นผลิตผลของยุคสมัยครับ พวกเขาเหล่านี้อยู่กับเราตลอด ทวีตเกี่ยวกับอาหารมื้อกลางวันของตน พวกเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตพวกเขาและรอคอยฟังข่าวคราวใหม่ๆ

Bernhard ไม่ทวีตนี่ครับ เขาเสียชีวิตไปแล้ว

เราต้องมองในบริบทแบบเมสสิอาห์ครับ นั่นคือ ผมเป็นคนดังผู้ไม่เผยตัวตน ผู้คนที่มีผลงานเกี่ยวกับตัวผมต่างมาช่วยผมไว้ พวกเขาปรากฏตัวชั่วขณะบนถนน เหลียวกลับมามองและส่งซิกให้ผม คนที่เสียชีวิตแล้วก็เช่นกัน พวกเขาเหมือนยังมีชีวิตด้วยซ้ำ ผมคิดนะครับว่า ตรงไหนสักแห่งในเทือกเขาแอลป์คงมีรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่โธมัส แบร์นฮาร์ด อิงเงอบอร์ก บาคมันน์ ซามูเอล เบ็คเค็ทท์กำลังนั่งกันอยู่

ฟังดูเหมือนไอเดียตอนจบนิยายแฟนตาซีเลยครับ
 

แต่นั่นคือชีวิตจริงของผมครับ อย่างที่เราพอจะนึกออก บทบาทเมสซิอาห์ทำนองนี้ไม่ได้ง่ายเลย อยู่ๆ วันดีคืนดี ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวก็กลับมืดมน


คุณถามตัวเองในหนังสือว่า “เราจะเล่าถึงตัวเองในแบบที่เป็นคนทึ่มงี่เง่ายังไงดี”

ผมมองตัวละครที่ผมเป็น แบบเดียวกับที่มองตัวละครเอกในละครทีวีเพี้ยนๆ จนคิดว่า ละครเรื่องนี้คือชีวิตผมนี่! และมันก็อาจมีการประชดเสียดสีเกิดขึ้นได้ตลอด แต่มันจะไม่ถูกต้องและไม่สมควรนะครับหากว่าเราเล่าในแบบละครที่มีทั้งโศกนาฏกรรมและตลกขบขันภายในเรื่องเดียวกัน (tragic comedy) พร้อมมุกตลกอีกมากมาย  เพราะอันที่จริงแล้วมันเป็นละครชีวิตที่ขมขื่น


คุณพยายามที่จะฆ่าตัวตายสองครั้งใช่ไหมครับ

หากจะมีสิ่งแน่นอนในชีวิตของคนที่เป็นโรคฟุ้งพล่านสักอย่างแล้วล่ะก็ คงเป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดตามหลังอาการฟุ้งพล่านนี่ล่ะครับ ยิ่งอาการฟุ้งพล่านหนักและนานเท่าไร อาการซึมเศร้าก็จะหนักและนานตามๆ กันมา  อาการนี้เด่นชัดเนื่องจากความละอายและความหวาดกลัวที่ไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างเคย อีกทั้งยังได้ทำลายชื่อเสียงและชีวิตของตนเอง


คุณไปสถานบำบัดทางจิตเวชบ่อยแค่ไหนครับ

ที่แน่ๆ เป็นสิบครั้งครับ บางครั้งยาวเป็นเดือนในช่วงที่มีอาการซึมเศร้า บางครั้งแค่ไม่กี่วันครับ ในช่วงที่มีอาการฟุ้งพล่าน เราจะไม่รู้ตัวว่าป่วย จนพวกเพื่อนๆ ต้องส่งผมเข้าโรงพยาบาล มีบางครั้งต้องแจ้งให้ตำรวจช่วยจัดการ ซึ่งหากมองย้อนกลับไป นั่นก็ถูกต้องแล้วครับ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมว่ามันแย่มากที่ทำแบบนั้น


กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ล่ะครับ เป็นอย่างไรบ้าง

เวลาบ้านี่ เรามักจะเห็นความบ้าของผู้อื่น แต่ไม่เห็นของตัวเองเลย มีเด็กผู้หญิงอยู่คนหนึ่งคิดว่าโอซามา บิน ลาเดนเป็นพ่อ ผมพูดตอกใส่เธอไปว่ามันไม่ใช่ แต่ตอนนั้นผมเองก็คิดว่าตัวเองเป็นลูกของ Sting นักร้องชื่อดัง


สถานบำบัดทางจิตนี่เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าใช่ไหมครับ

สถานบำบัดจิต - หากได้รู้จักจริง ๆ แล้วล่ะก็ – เป็นสถานที่ที่น่าเบื่อที่สุดในโลกเลยครับ สถานที่ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและความว่างเปล่าในขณะเดียวกัน บางครั้งมีความรุนแรงและความเป็นศัตรู แต่โดยมากก็ไร้สาระ ไม่มีอะไรครับ การรอคอยอันไร้จุดหมาย คล้ายๆ กับดูหนังของ Christoph Mathaler น่ะครับ เพียงแต่อันนี้ยาวนานนับสัปดาห์ นับเดือน
 

ใครที่ซึมเศร้าจะถูกมองว่าแปลกแยก มันมีแนวโน้มในการแบ่งแยกกีดกันผู้ป่วยทางจิตเวชแต่ละประเภทครับ

การที่ไม่มีใครเข้าใจชัดเจนว่ามีอะไรผิดปกติในหัวของผู้ป่วยฟุ้งพล่านซึมเศร้า เรื่องนี้คุณมีวิธีจัดการยังไงครับ
 

หากยาได้ผลก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรครับ เพราะมันเป็นเรื่องความเป็นความตายเลยทีเดียว ซึ่งมันก็ตอกย้ำความจริงที่ไม่น่าอภิรมย์ว่าแม้แต่หมอเองยังจนปัญญากับบางประเด็น ผมต้องการคลายความลึกลับของโรคนี้ด้วยหนังสือของผม อีกทั้งให้ความกระจ่างกับสิ่งอันน่าสะพรึงกลัว และเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจได้


ตอนนั้นคุณพอใจกับการดูแลในสถานบำบัดจิตเวชไหมครับ
 

สิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น บางส่วนก็โหดร้ายครับ คุณจะถูกปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึก ร่างกายถูกรัดตรึง แล้วจะมีหมอมาตรวจแบบเร็วๆ แบบเดียวกับเรื่องเล่าลือที่แย่ที่สุดน่ะครับ  มันควรต้องมีงบมากขึ้น พื้นที่มากขึ้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่มากขึ้นด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ สังคมเราควรพิจารณาอีกครั้งว่าปฏิบัติต่ออดีตผู้ป่วยหรืออาจเรียกว่าผู้มีประสบการณ์ป่วยทางจิตอย่างไร ทุกวันนี้พวกเขาถูกตีตราไว้ คนจำนวนมากคิดว่า เมื่อป่วยแล้วก็คือป่วยตลอด ว่าตามทฤษฎีแล้วคนเราพร้อมที่จะเปิดกว้างเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติกลับปิดกั้นอย่างมากครับ และปัจจุบันยิ่งแย่หนักกว่าเดิม


คุณดูจากตรงไหนครับ

โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายก็จัดว่าเป็นเทรนด์และกระแสครับ ช่วงปี 2000 ต้นๆ ภาวะซึมเศร้าของนักกีฬาบางคนได้กลายเป็นข่าวสาธารณะ อาทิ Sebastian Deisler, Robert Enke ในตอนนั้นก็มีกระแสความเห็นอกเห็นใจนะครับ ซึ่งมันผ่านไปแล้ว ส่วนตอนนี้น่ะหรือครับ ใครที่ซึมเศร้าจะถูกมองว่าแปลกประหลาด ตอนนี้มีแนวโน้มกระทั่งว่าจะจัดผู้ป่วยทางจิตเป็นอาชญากรเลยล่ะครับ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงมนุษย์ที่ชีวิตพังทลายและต้องการที่จะกลับยืนหยัดด้วยตนเองอีกครั้งเท่านั้น ตรงนี้มีความบ้าคลั่งในการพยายามอธิบายซึ่งก็บ้าสิ้นดีครับ


คุณกำลังพูดถึงการถกความคิดเห็นหลังเหตุการณ์กราดยิงในมิวนิคหรือเปล่าครับ
 

ไม่ใช่แค่นั้นครับ ผมได้สังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์ว่าผู้คนพูดถึงนักบินของ Germanwings เมื่อปี 2015 อย่างไรบ้าง ความซึมเศร้ากลายมาเป็นเครื่องมือในการอธิบายเหตุอาชญากรรม ซึ่งจริงๆ แล้วมันตรงกันข้ามเลยครับ เรื่องนี้ถือเป็นการโจมตีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในสภาพการณ์ปัจจุบันนี้ คงไม่มีนักกีฬาคนไหนอีกที่จะออกมายอมรับว่าตัวเองซึมเศร้า


คุณจะอธิบายกระแสใหม่นี้อย่างไรครับ

ในกลุ่มคนที่กราดยิงน่าจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง ซึ่งความผิดปกติลักษณะนี้มีไม่น้อยครับ โดยเฉพาะในยุคเซลฟี่นี่ถือว่าเป็นปัญหาสังคมโดยรวมเลยครับ การที่เราไปเน้นว่าเป็นความซึมเศร้าของผู้ก่อเหตุ ทำให้เราดึงปัญหานี้ให้ห่างออกจากสังคม ปัญหาที่ว่ากลายเป็นเรื่องของโรงพยาบาล ถูกแยกออกไปเป็นเรื่องทางการแพทย์ ขณะเดียวกันการแบ่งแยกกีดกันก็ฝังลึกลงมากขึ้น


อาการป่วยของคุณเกิดจากอะไรครับ

นักวิจัยบางคนบอกว่าคนที่เป็นไบโพลาร์มีเซลล์ประสาทในก้านสมองและในส่วนของสมองที่เรียกว่าทาลามัสมากกว่าคนปกติประมาณ 1/3 เท่า  ขณะเดียวกันก็มีเนื้อเทาและเนื้อขาวในบริเวณเฉพาะของสมองที่น้อยกว่าปกติ เช่น ในเปลือกสมอง ตรงบริเวณนั้นซึ่งเป็นศูนย์รวมประสาทรับความรู้สึกต่างๆ และควบคุมการทำงานของสมองมีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นมากเกินไป นอกจากนี้บริเวณผิวสมองยังมีรอยแยกที่กว้างเกินไป และเปลือกสมองบาง  ทำให้ปกป้องได้ไม่เพียงพอ


อันที่จริงผมตั้งใจจะถามว่า เพราะอะไรโรคนี้ถึงเกิดกับคุณได้

สำหรับคำถามนี้ผมคงต้องอ่านหนังสือทั้งเล่มให้คุณฟังละครับ มันคือการค้นหาสาเหตุ โดยที่รู้แก่ใจว่ายังไงก็คงหาสาเหตุที่ว่านี้ไม่ได้ทั้งหมด  ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นโปรเจคต์อันโรแมนติกครับ


คุณเขียนเล่าว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวนมากมีประวัติการติดยาเสพติด คุณเองด้วยหรือเปล่าครับ

ผมมีแนวโน้มไปทางติดแอลกอฮอล์ครับ บางทีก็ดื่มเกินขนาด นอกจากนั้นก็ไม่มีเรื่องอย่างว่า


คุณเรียกตัวเองว่าพวกชอบเสพสื่อ พวกเมล ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊คมีผลยังไงต่อคนฟุ้งพล่านครับ

รับข้อมูลตลอดเวลา แยกเป็นส่วนๆ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดพลังการทำลายล้าง มันง่ายที่จะทำตามแรงกระตุ้นและตั้งข้อสังเกตอันแสนวุ่นวายสู่โลกภายนอก เพียงเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ คุณก็อาจทำลายสัมพันธภาพกับบางคนไปตลอดชีวิต


คุณหาสาเหตุของโรคนี้จากประวัติของคุณได้มั้ยครับ
 

ผมไม่เชื่อว่าจะมีเหตุผลเพียงหนึ่งเดียว ไม่เชื่อว่าสาเหตุในทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับวัยเยาว์ ไม่เช่นนั้นคงมีผู้ป่วยไบโพลาร์ที่มาจากครอบครัวมีปัญหามากกว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ จากข้อมูลต่างๆ ประมาณร้อยละสามถึงห้าของประชากรที่เคยป่วยเป็นไบโพลาร์จะกระจายอยู่ในทุกชนชั้น


แต่ก็จะพบสาเหตุได้จากประวัติของพวกเขานี่ครับ

ครับ การบอกว่ามีเหตุผลเพียงหนึ่งเดียวมันงี่เง่า การจะบอกว่าไม่มีเหตุผลเลยก็เช่นกัน ผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างที่ยากลำบาก มีพ่อเลี้ยงที่ติดเหล้า และเข้าเรียนที่โรงเรียนเยซูอิตในบอนน์


โรงเรียน Aloisiuskolleg เป็นโรงเรียนชนชั้นสูงที่ Thomas de Maizière, Florian Henckel von Donnersmarck และ Johannes B. Kerner เคยเรียนใช่ไหมครับ
 

ใช่ครับ เด็กชนชั้นกรรมาชีพในหมู่เศรษฐีและชนชั้นสูง  ผมเรียนดีที่สุดในชั้นเรียน หลังจากนั้นไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย และต้องการเป็นนักเขียน มีทฤษฎีว่าโรคไบโพลาร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวโน้มบางอย่างในการปรับตัว คุณต้องการเอาใจคนรอบตัวทุกคนจนเหนื่อยล้ากับความคาดหวังต่างๆ สุดท้ายก็ลงเอยที่การเปลี่ยนไปมาระหว่างสองขั้ว กล่าวคือ การปรับตัวและความเป็นปัจเจก
 

โรงเรียนประจำทำให้คุณโหยหาการเป็นส่วนหนึ่งมากยิ่งขึ้นใช่ไหมครับ
 

โอ ฟังดูเหมือนกำลังบำบัดอยู่เลยครับ ผมชักกลัวแล้วสิครับ ถ้าพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้สัก 2-3 ประโยคคงดีสำหรับคุณและ SPIEGEL แต่แย่สำหรับผม  ผมน่าจะต้องเขียนวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เพื่อจะได้รายละเอียดที่แม่นยำมากพอ


ไม่กี่ปีก่อนข่าวฉาวเรื่องการล่วงละเมิดเด็กที่ Aloisiuskolleg ขึ้นหน้าหนึ่ง คุณได้รับผลกระทบด้วยหรือเปล่าครับ

ไม่ครับ ไม่ได้โดนโดยตรง แต่ที่โรงเรียนเยซูอิตนี่ล่ะครับที่นิยายชีวิตช่วงรอยต่อวัยรุ่นของผมได้เริ่มขึ้น ข่าวฉาวนั้นได้ทำให้พื้นฐานการเล่าเรื่องซึ่งเป็นชีวิตจิตใจของผมสั่นคลอน แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย


อาการฟุ้งพล่านช่วงที่สองของคุณเกิดขึ้นระหว่างทำโปรเจคต์ละครเวทีเรื่องหนึ่งอยู่ อันนี้เป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าครับ

โรงละครคือชมรมคนขี้เมานั่นล่ะครับ โดยเฉพาะตามเมืองเล็กๆ รอบนอก แล้วก็ยังเป็นผืนดินอันอุดมสำหรับอาการทางจิตทั้งหลาย เวลาซ้อมละครจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ลักษณะคล้ายกับที่เกิดในครอบครัวที่มีปัญหา เพียงแต่เวลาซ้อมมันจะเปลี่ยนแปลงแบบไฮสปีดครับ ผมยังจำการซ้อมคราวหนึ่งได้ ที่ทุกคนกลายเป็นบ้าและตะโกนใส่กันและกัน แล้วนักแสดงหญิงซึ่งเป็นที่รู้จักคนหนึ่งก็ได้เปลื้องผ้าเปลือยอก จนผมซึ่งเป็นคนบ้าจริงๆ เนี่ยต้องขอร้องให้สงบลง


โรคที่คุณเป็นมีอิทธิพลต่อนิยายต่างๆ ของคุณอย่างไรบ้างครับ

ตัวละครที่บุคลิกลักษณะเหมือนผมจะปรากฏอยู่ในงานเขียนทุกงาน รวมถึงบทละครของผมด้วยครับ อย่างนักข่าวชื่อ Magnus ในนิยายเรื่อง “Sickster“ ก็ฟุ้งพล่านและมีอาการทางจิต หรือ Anton อดีตนักศึกษากฎหมายผู้ติดหนี้สินและไร้บ้านในเรื่อง “3000 Euro“ ก็ชีวิตพังในช่วงที่มีอาการฟุ้งพล่าน ซึ่งในตัวละคร Anton นี้ผมไม่ได้บอกออกมาตรงๆ เพราะผมต้องการให้เขามีเกียรติศักดิ์ศรีเหลืออยู่


คุณเขียนงานในช่วงเวลาที่ฟุ้งพล่านหรือซึมเศร้าครับ

ในช่วงระหว่างนั้นครับ เพราะในช่วงเวลาซึมเศร้าเราจะไม่ทำอะไรเลย ส่วนในช่วงฟุ้งพล่านก็จะทำแต่เรื่องบ้าบอ


ผมเกือบจะท้าพนันแล้วว่าหลายๆ ย่อหน้าใน “Sickster”  ต้องเป็นผลงานของคนฟุ้งพล่านแน่ๆ  เพราะคุณเล่นกับความหมายของคำ การเปรียบเปรย ระดับการกระทำต่างๆ --- เป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องรวดเร็ว

แน่นอนครับว่าประสบการณ์ต่างๆ ของผมมีส่วนร่วมอยู่ในนั้นด้วย แต่ผมต้องบอกว่าคุณเข้าใจผิด พวกงานเขียนต่างๆ ที่เกิดในช่วงอาการฟุ้งพล่านนั้น อย่างดีที่สุดก็เป็นเหมือนงานศิลป์แบบดาดาอิสม์ (Dadaism) อันแสนยุ่งเหยิงและไม่อาจเข้าใจได้


บ่อยครั้งที่งานวรรณกรรมทำให้ขอบเขตระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งเลือนราง อะไรทำนองนี้เกิดในสมองของผู้ป่วยทางจิตเช่นกัน แล้วสำหรับผู้ป่วยไบโพลาร์ล่ะครับ มันอันตรายไหมที่จะทำอาชีพนักเขียน

มันมีความคล้ายคลึงกันจริงๆ ครับ ยิ่งงานวรรณกรรมมักพยายามตีความสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายหลายแบบและใส่ความไม่แน่ใจเพิ่มเข้าไป เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์เขียนวรรณกรรมลักษณะนี้ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแปลกๆ กับสภาพจิตใจของเขาได้ครับ เรื่องแต่งจะแทรกซึมเรื่องจริงและปล้นสะดม ณ ตรงนั้น การใช้สัญลักษณ์เกินขนาด คลั่งกับความหมายคำ


คุณควรหยุดเขียนไหมครับถ้าแบบนั้น

อะไรนะครับ สำหรับผม ที่เป็นปัญหายุ่งยากคือการใช้ชีวิตครับ ไม่ใช่การเขียน การเขียนเป็นเหมือนเทคนิคที่ช่วยให้สิ่งต่างๆ เข้าที่เข้าทางมากกว่าครับ หรือช่วยสร้างความผิดปกติเลียนแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มันคลายความน่ากลัวลง


เห็นว่าในบรรดานักเขียนและศิลปินมีหลายคนที่เป็นไบโพลาร์

เดาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นครับ Kay Redfield Jamison นักจิตวิทยาชาวอเมริกันซึ่งตัวเธอเองก็เป็นไบโพลาร์ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ ว่ากันว่า Herman Melville ก็เป็นโรคฟุ้งพล่าน-ซึมเศร้า หรือ Heinrich von Kleist, Virginia Woolf รวมถึงนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง Sarah Kane ก็เช่นกันครับ


ในบทความหนึ่งของนักเขียน Sibylle Mulot ที่ตีพิมพ์ใน SPIEGEL เมื่อสองสามปีก่อน มีการพูดถึงคนฟุ้งพล่าน-สร้างสรรค์ อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยไบโพลาร์กับศิลปินครับ

ทั้งคู่มีแนวโน้มที่จะคิดในมิติขนาดใหญ่ ทำทุกสิ่ง “larger than life“ (ใหญ่กว่าชีวิต) ช่วงเวลาแห่งความปลื้มปีติยินดี ท่าทียิ่งใหญ่ แนวคิดอันพรั่งพรู แต่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่เป็นโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นไบโพลาร์ประเภทสองครับ กล่าวคือจะมีอาการฟุ้งพล่านอย่างอ่อนๆ พวกเขา “แค่” ฟุ้งมากไปหน่อย แต่ไม่ทำร้ายตัวเองอย่างงี่เง่า และยังสามารถจดจ่อดำดิ่งอยู่กับงานของตนเองได้ครับ
Thomas Melleภาพ: Gene Glover
 

ผมต้องนำเรื่องราวของผมกลับคืนมา ผมต้องตีตราตนเอง เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากการถูกตีตรา

นั่นหมายความว่า บ้ามากไปอันตราย แต่บ้านิดหน่อยช่วยได้

ผมต่อต้านมุมมองเรื่องอัจฉริยภาพกับความวิกลจริตครับ มันทั้งสรรเสริญและสาปส่งผู้ป่วยในขณะเดียวกัน เหมือนกับ “mad scientists“ (นักวิทยาศาสตร์เพี้ยนๆ) ในการ์ตูนหรือหนังน่ะครับ มุมมองแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยยิ่งถูกแยกออกจากคนปกติที่แข็งแรงและดำเนินชีวิตได้อย่างไม่มีปัญหา


ในความเชื่อเกี่ยวกับศิลปินมีเรื่องของความบ้าแฝงอยู่ส่วนหนึ่ง

ในมุมมองคนภายนอกทั่วไปอาจจะใช่ครับ ความเชื่อนี้ตอบสนองผู้คนที่โหยหาความรุนแรง ความตื่นเต้น ความเกินเลยขีดจำกัด แต่พวกเขาลืมไปว่ามันต้องแลกมาด้วยราคาแพง ผมเองคงจะขอลาออกจากการเป็นสมาชิกชมรมอันรุ่งโรจน์นี้โดยให้มีผลทันทีเลยครับ


หนังสือเล่มใหม่ของคุณเหมือนหรือต่างอย่างไรกับเล่มก่อนๆ ครับ

มันเป็นงานวรรณกรรม แต่ทุกสิ่งเป็นเรื่องจริง ไม่มีเรื่องที่แต่งขึ้นมาครับ และไม่ได้เป็นเรื่องผลที่มุ่งหมายและการแสดงออกที่ชัดเจนรุนแรง แต่เป็นเรื่องราวชีวิตของผม เป็นเรื่องอาการป่วยของผมล้วนๆ เลยครับ ผมต้องนำเรื่องราวของผมกลับคืนมาใหม่ ทำให้เป็นเรื่องเล่า และไม่เป็นเรื่องต้องห้าม ผมต้องตีตราตนเอง เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากการถูกตีตรา


มีหลายคนไหมครับที่ทราบว่าคุณป่วย

ประเด็นคือ ผมเองไม่เคยทราบว่าใครรู้บ้างครับ ผมสัมผัสได้ว่ามีการกระซิบกระซาบบางอย่างกันมากขึ้น โรคนี้เป็นเรื่องต้องห้ามครับ ผู้คนจะไม่รู้ว่าจะถามอะไรได้บ้าง หรือไม่พวกเขาก็พูดคุยตัดสินกันเองลับหลังครับ แต่ตอนนี้ใครอยากรู้อะไร สามารถตามอ่านได้ครับ


แล้วตอนนี้คุณเป็นยังไงบ้างครับ

ผมหายใจโล่งขึ้นครับ


กลับมาเป็นคนเดิมไหมครับ

อันนั้นเป็นไปไม่ได้เลยครับ แต่มันยังมีส่วนที่สำคัญอยู่ ตัวตนผมที่หลงเหลือ ตัวตนที่เป็นก่อนที่จะป่วยและผมยังคงยึดไว้ ฟังดูเหมือนเพลงฮิตของ Peter Maffay เพลงหนึ่งนะครับ: ตรงไหนสักแห่งลึกลงไปในตัวผม ผมยังคงเป็นนักศึกษาปี 1999 ซึ่งเป็นคนก่อนที่จะเริ่มป่วย ผมว่ามันก็ไม่ได้แย่นักนะครับ การเป็นเช่นนี้ทำให้ผมไม่ต้องเติบโตขึ้นอย่างคนอื่นๆ


ใครหรืออะไรที่ได้ช่วยคุณไว้ครับ

มีเพื่อนคนหนึ่งที่คอยอยู่เคียงข้างผมเสมอ แล้วก็มีผู้จัดการส่วนตัวของผม ตอนที่แย่ๆ ก็มีแม่อยู่ด้วยตลอด และมีความโชคดีในเรื่องความรักในช่วงเวลามืดมนที่สุดครับ นอกจากนี้ยังมีความคิดแบบอินดี้ ผมชอบเรียกมันแบบนั้น หมอใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่าลิเธียมมีอยู่ในธรรมชาติ ทำให้บริษัทขายยาไม่สามารถทำเงินได้จากสิ่งนี้ ผมเลยคิดว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นมันคงช่วยได้


ยาต่างๆ ทำให้เกิดผลอย่างไรบ้างครับ
 

ยาเหล่านั้นช่วยชีวิตผมไว้ครับ แต่ขณะเดียวกันก็มีปฏิกิริยาต้านผมด้วย ลิเธียมทำให้ผมเป็นสิวอย่างรุนแรง ผมจึงเปลี่ยนมาใช้ยากรดวาลโปรอิกแทน แต่มันก็มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้น้ำหนักขึ้น ผมร่วง อ่อนล้า ความรู้สึกและความคิดเฉื่อยชา และความต้องการทางเพศลดลงจนไม่เหลือ


ยามีผลต่อการเขียนยังไงครับ

ผมไม่ทราบครับ บางครั้งผมถามตัวเองว่าสไตล์การเขียนของผมมันปรับลดลงมาขนาดไหนจนเป็นแบบคลาสสิกได้ มันเป็นเพราะอายุมากขึ้น และเป็นจุดสิ้นสุดของยุค “Sturm und Drang“ หรือเปล่าที่ทำให้ผมเล่าเรื่องแบบเกรี้ยวกราดน้อยลงและแสดงอารมณ์น้อยลง  หรือว่าเป็นเพราะกรดวาลโปรอิกที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกขึ้นลงต่างๆ ผมสันนิษฐานว่าพวกยานี่เข้ามาแทรกซึมในประโยคต่างๆ ของผม จนถึงโครงสร้างประโยค แต่ตอนนี้ผมดีขึ้นแล้วครับ ดีขึ้นเรื่อยๆ


คุณกลัวที่จะกลับไปเป็นอีกรอบไหมครับ

ผมหวังและสวดมนต์อ้อนวอนให้ได้รับความปรานีครับ อย่างไรก็ตาม หากว่าผมจะต้องกลับไปฟุ้งพล่านอีกรอบ ใครก็ได้สักคนช่วยเอาหนังสือของผมยัดใส่มือให้ผมที มันอาจช่วยผมได้

คุณ Melle ขอบคุณมากครับที่มาให้สัมภาษณ์กับพวกเรา
 

** Berghain เป็นไนต์คลับในเบอร์ลิน